“16 ศพแรงงานพม่า กับการถามหาความปลอดภัย”

โดย บัณฑิต  แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง

เมื่อไม่กี่วันมานี้มีความเคลื่อนไหวในเรื่องความตายของแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในเขตอุตสาหกรรมมหาชัย 16 คนที่เสียชีวิตจากการถูกรถบรรทุกเสยชน กับรถขนส่งแรงงานขณะรับส่งคนงานเพื่อมา

ทำงาน มีคำถามเกิดขึ้นมากมายถึงความรับผิดชอบ และระบบป้องกันการเกิดอุบัติภัยความไม่ปลอดภัยของแรงงาน กับการเดินทางทั้งระบบในพื้นที่อุตสาหกรรม ความจริงที่ต้องพูดถึงโศกนาฎกรรมชีวิตความตายในครั้งนี้ มิใช่เพียงครั้งแรกที่เกิดขึ้น ถ้าย้อนหลังกลับไปเกือบยี่สิบปีมีตัวอย่างความตายจากการเดินทางไป-กลับของแรงงานทั้งคนไทยและข้ามชาติหลายกรณี เช่น รถสองแถวขนส่งคนงานชนกับรถบรรทุกที่สงขลาทำให้คนงานเสียชีวิต และบาดเจ็บหลายสิบคน กรณีรถสองแถวใหญ่ส่งคนงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่กลับบ้านหลังฉลองปีใหม่มีคนงานเสียชีวิตสามคนและบาดเจ็บอีกนับสิบคน อาจกล่าวได้ว่ากรณีความไม่ปลอดภัยจากการเดินทางของคนงานในย่านอุตสาหกรรมนั้นเกิดขึ้นมากมาย เพียงแต่ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นข่าว และให้ความสำคัญป้องกันแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย และพื้นที่อย่างจริงจัง การเกิดเหตุการณ์แต่ละครั้งกลับกลายเป็นเรื่องการดำเนินคดีความระหว่างบริษัทประกันภัยรถ กับตัวแรงงาน หรือครอบครัว

มีคำถามว่าความรับผิดชอบของนายจ้างอยู่ตรงไหน ประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน โดยกระทรวงแรงงานได้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบในการรักษา เยียวยา และจ่ายค่าชดเชยอย่างไร กรมทางหลวง กรมการขนส่ง กระทรวงคมนาคม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และตำรวจทางหลวง สำนักงานตำรวจแห่ชาติ เข้ามาวางมาตรการ ออกแบบการขนส่งแรงงานกับการเดินทางไปทำงานและกลับบ้านที่ปลอดภัย จากการลงพื้นที่ทำงานกับสหภาพแรงงานในย่านอุตสาหกรรม มีข้อพบเห็นเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยในชีวิตด้านการเดินทางทั้งไปทำงาน และกลับจากการทำงานโดยผ่านการใช้ระบบบริการรถรับส่งของบริษัทในหลายประการกล่าวคือ หนึ่งการลดต้นทุนการจัดจ้างรถขนส่งคนงานมักใช้รูปแบบรถสองแถวใหญ่ หรือสองแถวเล็ก มีรถบริการน้อยกว่าความต้องการเดินทางของคนงาน และ ไม่มีประตูปิดท้ายหรือที่กั้นแบบมาตราฐาน สำคัญคือคนงานขึ้นรถแบบอัดแน่นไม่มีที่ว่างในการยืน และนั่ง ต้องห้อยโหนออกมาท้ายรถ จนก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตร่างกาย  สองการจัดจ้างรถยนต์ที่มารับส่งคนงานส่วนมากจะใช้การจัดจ้างแบบรายวันเพื่อสามมารถปรับลด เพิ่มตามความต้องการในการขนส่งแต่ละวัน อีกทั้งการจัดจ้างในลักษณะนี้ยังช่วยให้นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการขนส่ง เพราะเหมาจ่าย หรือเก็บเงินจากแรงงานโดยทำเป็นการออกเงินจ้างรถมารับ-ส่งโดยแรงงานเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์นายจ้างมักรอดตัวกับการชดใช้ความเสียหาย และการดำเนินคดี สามพฤติกรรมของพนักงานขับรถส่วนใหญ่มักเป็นคนของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ดังนั้นการจัดจ้างรถรับ-ส่งคนงานส่วนใหญ่นายจ้างหลายแห่งต้องตกอยู่ในสภาพการถูกบังคับให้ต้องจัดจ้างรถของกลุ่มผู้มีอิทธิพล จากการพูดคุยกับแรงงานในย่านอุตสาหกรรมสมุทรสาคร-นครปฐมบอกว่า “พูดอะไรมากไม่ได้เดี่ยวเขาแกล้งไม่ให้ขึ้นรถ หรือบางทีก็ปล่อยรถช้าทำให้เพื่อนกลับบ้านช้าไปด้วย เขาเป็นนักเลงขับรถเร็วมาก หรือคิดอยากจะจอดตรงไหนก็จอด เกิดอุบัติเหตุหลายครั้งแล้ว เดี่ยวเรื่องก็เงียบ ที่พูดก็มีคนขับรถนิสัยดีๆก็มีแต่มีไม่มาก บริษัทฯควรทำคือก่อนจัดจ้างต้องมีการอบรม ทำสัญญา เพื่อควบคุมความประพฤติ

จากสถานการณ์ด้านความไม่ปลอดภัยจากการเดินทางไปทำงาน และการตายของแรงงานชาวพม่า 16คนที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาครล่าสุด ทำให้ถูกนำมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข องค์กรแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ  ต้องหันมาปรึกษาหารือกัน ในการยกระดับการแก้ไขปัญหา ข้ามพ้นการกล่าวโทษ หรือโยนความรับผิดชอบไปให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ผมจึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาใน 2 ระดับ

ระดับที่หนึ่ง ระยะเร่งด่วน การดำเนินคดีให้ดำเนินการไปตามกระบวนการกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างการรักษา หรือดำเนินการฟ้องร้องจะต้องไม่มีการใช้กฎหมายหลบหนีเข้าเมืองมาใช้เพื่อการส่งกลับแรงงานข้ามชาติที่บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต รวมถึงครอบครัวของแรงงาน จนกว่าการดำเนินคดีจะสิ้นสุดและได้รับความเป็นธรรม ส่วนแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายนั้น การจ่ายค่าชดเชย การฟื้นฟู เยียวยา สำนักงานประกันสังคมจะต้องเข้ามาพิทักษ์สิทธิในฐานะแรงงานข้ามชาติที่ประสบภัยได้เข้าเป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา33 หรือในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าแรงงานที่ประสบอุบัติเหตุรถชนเป็นช่วงที่ไปทำงานให้นายจ้างก็ต้องให้ไปใช้พรบ.กองทุนเงินทดแทนในการรักษา เยียวยา ชดเชยการสูญเสีย เป็นต้น

ระดับที่สอง ระยะยาว จังหวัด พื้นที่ปกครองท้องถิ่น และระดับนโยบาย ต้องจัดประชุมสหวิชาชีพเชิงปฎิบัติการด้านความปลอดภัยในการเดินทางของแรงงานที่มีมาตรฐาน โดยใช้กรณีปัญหานี้เป็นตัวอย่างการจัดระเบียบระบบของการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยการเดินทางของแรงงานที่ได้มาตรฐาน เช่น ระบบการจัดจ้างรถรับส่งคนงานที่มีสัญญาการจ้างเหมาที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงรูปแบบของรถที่มีมาตรฐานความปลอดภัยในการบรรทุกขนส่ง มีการจัดอบรมและมีใบอนุญาตรับรองความประพฤติของพนักงานขับรถรับส่งคนงาน ส่วนกรณีการจอดรับส่งคนงานเพื่อเดินทางไปทำงาน หรือกลับจากการทำงาน กรมทางหลวง กรมการขนส่ง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีการพัฒนาสถานที่จอดรถอย่างปลอดภัย มีการทำสัญญาณ หรือสัญลักษณ์ที่ชัดเจน รวมถึงมีการรณรงค์เตือนภัยในการใช้รถใช้ถนนโดยเฉพาะเขตพื้นทีเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งคัด ส่วนกระทรวงแรงงานโดยประกันสังคมต้องเร่งออกประกาศกระทรวงเรื่องการเพิ่ม ส่งเสริมให้สถานประกอบการมีมาตรฐาน และมาตราการด้านความปลอดภัยในการเดินทางขนส่งพนักงาน โดยใช้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย(จป.) และคณะกรรมการความปลอดภัย(คปอ.)เป็นกลไกการตรวจสอบยานพาหนะขนส่งแรงงานทั้งไป-กลับอย่างปลอดภัย

จากข้อเสนอการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการเดินทางของแรงงานในสองระดับดังกล่าว เป็นข้อเสนอที่ผู้เขียนมองจากความเป็นจริงที่ได้พบเห็นในขณะเดียวกันก็เกิดสถานการณ์จริง 16 ศพคนงานพม่าที่ต้องสังเวยการเดินทางที่ไม่ปลอดภัยจากการทำงาน นับแต่นี้ไปผมคิดว่าหน่วยงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และองค์กรแรงงานทั้งไทยและต่างประเทศจะหยิบยกประเด็นนี้ กรณีศึกษานี้มาเป็นตัวกระตุ้นและพัฒนาความร่วมมือการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นต้องได้รับความร่วมมือและจริงใจต่อการแก้ไขปัญหา เป็นเรื่องที่ทุกคนไม่อาจปฎิเสธได้ เพราะความปลอดภัยจากการเดินทางสามารถป้องกันได้ถ้าเราไม่ประมาท การเคารพกฎหมายที่เคร่งครัด การพัฒนายกระดับจิตสำนึกของสถานประกอบการ นายจ้าง การให้ความรู้ความเข้าใจของคนงานและพนักงานขับรถต่อการสูญเสียเมื่อเกิดอุบัติภัยจากการใช้รถใช้ถนน สุดท้ายนี้คงหวังว่าการเดินทางที่ปลอดภัยของแรงงานจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดมาแล้วหายไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นไม่ว่าเขาจะเป็นคนไทยหรือคนข้ามชาติใครๆก็รักชีวิตถ้าเลือกได้คงไม่อยากจากคนที่รักในสภาพแบบนี้ 

/////////////////////////////////////////////////////////////////