ใครคือ “นายจ้างที่แท้จริง” ? ของลูกจ้างบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัทลูกของการบินไทย

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

1 สิงหาคม 2555 เที่ยวบินขาเข้า ณ สนามบินสุวรรณภูมิ

แม้ไม่ใช่เทศกาลวันหยุดยาว แต่ 1 ชั่วโมงกว่าแล้ว ที่ฉันและผู้คนอีกจำนวนมากต่างยืนรอกระเป๋าที่จะลำเลียงมาตามสายพานอย่างกระสับกระส่าย นี้ไม่นับที่ต้องเสียเวลาอยู่ที่สนามบินต้นทางกว่า 3 ชั่วโมงก่อนจะถึงเวลาบินมาที่นี่ แต่ดูราวกับว่าการรอคอยเช้าวันนี้ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด ใครบางคน ณ ที่นั้น พูดให้ได้ยินขึ้นมาว่า “ลูกจ้างบริษัทวิงสแปนฯ บริษัท Outsource ของการบินไทย ที่ทำหน้าที่ลากกระเป๋าและขับรถลาก-ดันเครื่องบิน ต่างพร้อมใจกันหยุดงานประท้วงฝ่ายบริหาร ที่ไม่ทำตามข้อตกลงเรื่องผลตอบแทนตามสัญญาจ้างงาน ทำให้มีพนักงานเหลือทำงานเพียงไม่กี่คน”
ผ่านเหตุการณ์วันนั้นมาชื่อ “บริษัทวิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด” ก็ดูราวจะผ่านเลยไป

แต่นั้นเองหลังจากคนใกล้ชิดเล่าให้ฟังว่า “ตนเองไปสมัครงานเป็นพนักงานบริการลูกค้าภาคพื้น (Customer Service Agent) ที่สนามบินสุวรรณภูมิผ่านบริษัทแห่งนี้” ประจวบกับที่ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ก็เล่าให้ฟังเรื่องการลงไปพูดคุยกับพนักงานบริษัทแห่งนี้ เพื่อการเข้าถึงสิทธิและการคุ้มครองแรงงาน รวมถึงได้รับข่าวสารมาว่าพนักงานที่นี่มีการจัดตั้งเป็น “สหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์” ภายใต้ความร่วมมือกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย และสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศแห่งประเทศไทย (ITF-THAILAND) เมื่อประมาณปลายเดือนตุลาคม 2556 เรียบร้อยแล้ว

Untitled-1Untitled-4

ชื่อ “บริษัทวิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด” จึงกลับมาอยู่ในความสนใจของฉันอีกครั้งหนึ่ง

ย้อนกลับไปเมื่อธันวาคม 2553 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทครัวการบินภูเก็ต จำกัด ได้ร่วมกันจัดตั้ง“บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด” ขึ้นมา ซึ่งเป็นบริษัทที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 49 % เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นรัฐวิสาหกิจ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับจัดหาบุคลากรให้กับบริษัทการบินไทยฯเพื่อปฏิบัติงานเป็นพนักงานบริการภาคพื้น ปฏิบัติหน้าที่และอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้โดยสารภาคพื้น โดยเป็นงานที่จ้างในระยะเวลาสั้น รายปี มีอัตราการจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทการบินไทยฯ ซึ่งเป็นไปเพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายในด้านบุคลากรและต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร

ทั้งนี้มีผู้แทนของบริษัทการบินไทยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัทและผู้จัดการทั่วไป ปัจจุบันมีนายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธานกรรมการบริษัท และมีนายสมชาย วัฒนะพยุงกุล อดีตผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานจัดซื้อ พัสดุบริการบนเครื่องบิน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นกรรมการผู้จัดการ
คำถามแรกที่ปรากฏ คือ ลูกจ้างบริษัทวิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด มีสถานะอย่างไร ?
เมื่อมาพิจารณาสภาพการจ้างงานของบริษัทวิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด พบว่า

(1) บริษัทการบินไทยฯให้บริษัทวิงสแปนฯเป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงานให้ตน โดยผู้ที่จัดหาลูกจ้างมาให้นั้นไม่ต้องรับช่วงงานไปควบคุมดูแลต่อ

(2) บริษัทวิงสแปนฯเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้างที่มาทำงานให้บริษัทการบินไทยฯ

(3) งานที่บริษัทการบินไทยฯให้บริษัทวิงสแปนฯไปทำนั้นเป็นส่วนประกอบหนึ่งในธุรกิจการบินของบริษัทการบินไทยฯ โดยบริษัทการบินไทยฯเป็นผู้จัดหาวัสดุ เครื่องมือ และสัมภาระในการทำงานให้แก่ลูกจ้างบริษัทวิงสแปนฯทั้งหมด

(4) อำนาจในการคัดเลือก รับ และเลิกจ้างลูกจ้างบริษัทวิงสแปนฯ ถูกกำหนดจากบริษัทการบินไทยฯ อีกทั้งยังเป็นผู้กำหนดรายละเอียดในเรื่องเวลาการทำงานและจำนวนชั่วโมงทำงานของลูกจ้างบริษัทวิงสแปนฯอีกด้วย

(5) การจัดหาลูกจ้างดังกล่าวของบริษัทวิงสแปนฯไม่ใช่การประกอบธุรกิจการจัดหางานตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528

จากสภาพการจ้างงานดังกล่าว ก็คือ การจ้างงานแบบเหมาค่าแรงนั้นเอง ซึ่งเมื่อมาพิจารณาในมาตรา 5 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 พบว่ามีการอธิบายเรื่องการจ้างด้วยวิธีการเหมาค่าแรงใน 2 ลักษณะ กล่าวคือ

(1) เป็นการมอบหมายให้บุคคลอื่นรับช่วงงานไปควบคุมและเหมาค่าแรง โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ

(2) เป็นการให้ผู้อื่นจัดหาลูกจ้างมาทำงานส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการโดยมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน

ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่าการจ้างงานของบริษัทวิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งทำหน้าที่จัดส่งบุคลากรไปปฏิบัติงานในหน้าที่เกี่ยวกับผู้โดยสารภาคพื้น ในบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับการจ้างเหมาค่าแรงในแบบที่สอง จึงถือได้ว่าสัญญาการจ้างงานลูกจ้างแบบนี้จึงเป็นสัญญาประเภทจ้างเหมาค่าแรง

พนักงานบริการภาคพื้นกลุ่มนี้ จึงมีสถานะเป็น “ลูกจ้างเหมาค่าแรง” ของบริษัทวิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด

จากสภาพการณ์ดังกล่าว จึงมีคำถามที่สองต่อมาว่า เนื่องจากบริษัทการบินไทยฯเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีการว่าจ้างด้วยวิธีการเหมาค่าแรง บริษัทการบินไทยฯมีสถานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างเหมาค่าแรงเหล่านั้นด้วยหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ซึ่งใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจมิได้กำหนดในเรื่องความเป็นนายจ้างของผู้ประกอบการที่มีการจ้างเหมาค่าแรงไว้เหมือนกับที่พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้กำหนดไว้

กล่าวคือ ขอบเขตความหมายของคำว่า “นายจ้าง” ตามกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจ ได้ระบุไว้ในมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ได้กำหนดความหมายของคำว่า “นายจ้าง” ไว้ดังนี้

“นายจ้าง” หมายถึง รัฐวิสาหกิจซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงาน โดยจ่ายค่าจ้างให้และให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจด้วย

ดังนั้นจากนิยามดังกล่าว จึงไม่รวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำการแทนรัฐวิสาหกิจ และมิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจที่ว่าจ้างด้วยวิธีการเหมาค่าแรงแต่อย่างใด

กล่าวได้ว่าแม้ว่ารัฐวิสาหกิจจะเป็นผู้ประกอบกิจการก็ไม่ถือว่ารัฐวิสาหกิจเป็นนายจ้าง เนื่องจากได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และไม่ถือเป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 เช่นกัน รัฐวิสาหกิจจึงไม่มีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างบริษัทวิงสแปนฯ ดังนั้นรัฐวิสาหกิจจึงไม่ต้องร่วมรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

แต่อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ เมื่อมีนาคม 2553 นายสมชาย ชุ่มรัตน์ อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ทำหนังสือกระทรวงแรงงาน ที่ รง 0507/ว 0339 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2553 ถึงหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ เรื่องการคุ้มครองแรงงานเหมาค่าแรงในหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ สืบเนื่องจากการที่หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจมีการจ้างเหมาค่าแรงโดยให้เอกชนจัดหาคนเข้าไปทำงานเป็นส่วนหนึ่งส่วนใด ในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจจึงเป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงด้วย อีกทั้งต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกรณีมีการจ้างงานในลักษณะดังกล่าวในหน่วยงานราชการระดับกรมและรัฐวิสาหกิจ ให้ประสานแจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทราบ เพื่อดำเนินการตรวจคุ้มครองให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมาย

จากหนังสือฉบับนี้ เมื่อบริษัทการบินไทยฯได้มอบหมายให้บริษัทวิงสแปนฯไปจัดหาลูกจ้างมาทำงานในหน้าที่พนักงานบริการภาคพื้นด้านต่างๆ ซึ่งงานในหน้าที่พนักงานภาคพื้นนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจของการบินไทยฯ ดังนั้นถือได้ว่าบริษัทการบินไทยฯเป็นนายจ้างของลูกจ้างที่บริษัทวิงสแปนฯด้วย

อีกทั้งบริษัทการบินไทยฯก็เป็นผู้กำหนดสภาพการจ้าง ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินเดือน เงินเบี้ยเลี้ยง เงินสมทบกองทุนประกันสังคม และเงินอื่นๆตามกฎหมาย โดยบริษัทวิงสแปนฯต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการจ่ายเงินตามที่บริษัทการบินไทยฯกำหนดโดยมิอาจปฏิเสธได้ ดังนั้นเมื่อสภาพการจ้างของลูกจ้างเหล่านี้มิได้เกิดจากการทำความตกลงระหว่างนายจ้างบริษัทวิงสแปนฯกับลูกจ้าง หากบริษัทวิงสแปนฯไม่ปฏิบัติต่อลูกจ้างให้ถูกต้องตามสภาพการจ้าง บริษัทการบินไทยฯจึงต้องเข้ามารับผิดชอบต่อลูกจ้างในเรื่องสภาพการจ้างนี้ร่วมด้วย

โดยสรุปจึงชัดเจนแล้วว่า “ลูกจ้างเหมาค่าแรง” บริษัทวิงสแปนฯ จึงมีนายจ้างทั้งนายจ้างในนามบริษัทวิงสแปนฯโดยตรง และนายจ้างในนามบริษัทการบินไทยฯ ที่มีนายสรจักร เกษมสุวรรณเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

อีกประเด็นสำคัญประการต่อมา คือ ที่ผ่านมามักพบว่าลูกจ้างเหมาค่าแรงต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำด้านรูปแบบการจ้างงานในองค์กรเดียวกันเอง คือ ในบริษัทการบินไทยฯ เพราะเป็นกลุ่มลูกจ้างที่ถูกกำหนดระยะเวลาการจ้าง ทำให้แรงงานยิ่งเกิดความไม่เท่าเทียมกันและมีข้อจ้ากัดในการเข้าถึงสิทธิแรงงานมากขึ้น กล่าวคือ มีการต่อสัญญาจ้างไปเรื่อยๆ หรือไม่มีการต่อสัญญา ไม่ได้รับสิทธิบางอย่างเท่าเทียมกับพนักงานประจำของบริษัทการบินไทยฯ เช่น ได้รับค่าจ้างเพียงอัตราขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกำหนดและไม่ได้รับการขึ้นค่าจ้างประจำปี ไม่ได้รับโบนัส มีโอกาสถูกเลิกจ้างก่อนกลุ่มอื่นๆ
ทั้งนี้ตามมาตรา 29 แห่งพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ได้กำหนดไว้ว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แต่ในทางปฏิบัติเมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้ยื่นต่อบริษัทการบินไทยฯบรรลุผลแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นก็มักใช้กับพนักงานของบริษัทการบินไทยฯทุกคน มิใช่เฉพาะแต่พนักงานที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานเทานั้น

ซึ่งสมาชิกสหภาพแรงงานต้องเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ ดังนั้นพนักงานบริษัทวิงสแปนฯจึงไม่มีสิทธิสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆแม้แต่น้อยจากการเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย

ดังนั้นในกรณีดังกล่าวนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ต้องเข้ามาเกื้อกูลสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ เพื่อปรับสวัสดิการที่เป็นธรรมให้แก่แรงงานกลุ่มนี้ต่อไป

ในอนาคตแม้บริษัทการบินไทยฯมีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงความรับผิดชอบตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่อลูกจ้างบริษัทวิงสแปนฯ โดยอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อลดค่าใช้จ่ายตามนโยบายกระทรวงการคลังก็ตาม แต่โดยที่บริษัทการบินไทยฯเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่า 50% จึงถือได้ว่ารัฐมีส่วนในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการ ดังนั้นการที่รัฐซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองลูกจ้างเหมาค่าแรงให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย บริษัทการบินไทยฯจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

//////////////////////////////////