โรงงานย่านอ้อมน้อยฯย้ายหนีน้ำท่วม อ้างเครื่องจักรเสียทั้งที่เปิดทำโอทีทุกวัน

โรงงานทอผ้าลูกไม้ย่านอ้อมน้อย 2 บริษัทประกาศปิดโรงงาน อ้างน้ำท่วมเครื่องจักรเสียหายส่งของลูกค้าไม่ทันต้องย้ายโรงงานไปลำพูน บอกลูกจ้างไม่ย้ายตามมีสิทธิได้ค่าชดเชยตามกฎหมาย ลูกจ้างร้องศูนย์อ้อมน้อยฯประสานเจ้าหน้าที่แรงงานฯมาเจราจาแต่เหลวเหตุนายจ้างส่งแค่ที่ปรึกษาไม่มีอำนาจตัดสินใจ ลูกจ้างยื่นถ้าปิดจริงให้จ่ายค่าชดเชยและสิทธิต่างๆให้ครบ เตรียมบุกกระทรวงแรงงานหากจังหวัดแก้ปัญหาไม่ได้

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 16.30 น. ตัวแทนนายจ้างบริษัทสุปราณี ยู เนี่ยน จำกัด และ บริษัทโอเรียลตัล เอ็มบรอยเดอรี่ เลส จำกัด ซึ่งมีสถานประกอบการที่เดียวกัน เลขที่ 49 และ 49/1 หมู่ที่ 11 ถนนเพชรเกษม ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ได้ติดประกาศในโรงงานแจ้งปิดและย้ายสถานประกอบการ โดยอ้างเหตุสถานประกอบการเดิมประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ ส่งผลให้เครื่องจักรภายในโรงงานได้รับความเสียหายอย่างมาก และบริษัทฯประสบปัญหาด้านการผลิตที่ไม่สามารถผลิตสินค้าให้แก่ลูกค้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้าได้ตามที่กำหนด จึงจำเป็นต้องย้ายไปยังสถานประกอบการใหม่ที่ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน 2 ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์-ลำพูน ตำบลบ้านกลางลำและตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยบริษัทฯ จะปิดสถานประกอบการแห่งเดิมในวันที่ 31 มีนาคม 2555 ถ้าพนักงานรายใดต้องการจะย้ายไปทำงานที่สถานประกอบการแห่งใหม่ ขอให้พนักงานแจ้งให้ฝ่ายบุคคลบริษัทฯ ทราบภายในกำหนด 7 วัน นับตั้งแต่วันปิดประกาศ หากพนักงานรายใดไม่ประสงค์ที่จะไปมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยในอัตราที่กฎหมายกำหนด

สหภาพแรงงานสิ่งทอสมุทรสาคร ในฐานะตัวแทนพนักงานได้แจ้งเรื่องไปที่ศูนย์กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555 ซึ่งแนะนำให้สหภาพฯ ทำหนังสือถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้ตรวจสอบประกาศปิดกิจการของบริษัทฯ ต่อมาในวันที่ 2 มีนาคม 2555 เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร 2 คน ได้เข้ามาที่บริษัทฯเพื่อเจรจากับตัวแทนนายจ้าง 2 คน และ ตัวแทนสหภาพฯ 3 คน

ตัวแทนสหภาพฯ ได้ถามถึงปัญหาแท้จริงที่ปิดบริษัทฯ เพราะการอ้างว่าเครื่องจักรเสียหายเนื่องจากน้ำท่วมขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะเครื่องเปิดทำงานได้ปกติตั้งแต่ วันที่ 6 ธันวาคม 2554 เป็นต้นมา และมี โอ ที ทำทุกวัน ขณะที่ตัวแทนนายจ้างที่เป็นแค่ที่ปรึกษาไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนและไม่สามารถตัดสินใจได้ ตัวแทนสหภาพฯ จึงเสนอว่าอยากพูดคุยกับนายจ้างมากกว่า ว่าถ้าจะปิดบริษัทฯ ก็ให้จ่ายตามกฎหมายกำหนด เช่น ค่าชดเชย โบนัส เบี้ยขยัน และให้จ่ายเป็นเงินสดพร้อมกันให้หมด เจ้าหน้าที่กำชับว่าให้ทางตัวแทนนายจ้างรีบติดต่อกับนายจ้างเพื่อนำข้อสรุปในวันนี้ไปให้นายจ้างด่วนที่สุด โดยเจ้าหน้าที่แรงงานฯจะได้ทำหนังสือถึงนายจ้างให้มาพูดคุยปัญหากันในวันที่ 9 มีนาคม 2555 ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เวลา 10.00 น.

ซึ่งตัวแทนสหภาพแรงงานกล่าวว่า หากไม่ได้รับการแก้ไขในระดับจังหวัด ก็จะเดินทางไปร้องเรียนที่กระทรวงแรงงานให้ช่วยเหลือต่อไป

อรัญญา ไชยมี

นักสื่อสารแรงงงาน อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงาน