แรงงาน4.0 เร่งผลิตช่างป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์

กระทรวงแรงงาน จับมือโตโยต้าพัฒนาทักษะช่างป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้สอดคล้องกับการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 กระทรวงแรงงานโดยหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานได้เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างนายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดว่า ด้วยการพัฒนาศักยภาพให้แก่กำลังแรงงานช่างซ่อมตัวถัง ช่างสีรถยนต์ และงานบริการรถยนต์ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม และเทคโนโลยีด้านยานยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์จึงมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ  จึงเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มีสมรรถนะสูงสุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รองรับการพัฒนาทักษะในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สอดคล้องกับการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนกำลังแรงงานในสาขานี้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ กระทรวงแรงงานโดยกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงร่วมกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ให้มีทักษะทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ

หม่อมหลวงปุณฑริก กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันพัฒนาครูฝึกของกพร. ในหลักสูตรช่างเทคนิคระดับสูงโตโยต้า ช่างเทคนิคสีรถยนต์ ช่างเทคนิคซ่อมตัวถังรถยนต์ มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 61 คน นำความรู้ไปขยายผลการฝึกอบรมให้แก่แรงงาน ร่วมกันจัดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างซ่อมตัวถัง ช่างสีรถยนต์ ช่างตรวจเช็คระยะ และสาขาอื่นๆ ที่ผ่านมีผู้ผ่านการฝึกอบรมกว่า 2,323 คน ส่วนในปี 2560 ต้องเป้าพัฒนาอีกกว่า 350 คน โดยบริษัทให้การสนับสนุนอุปกรณ์เป็นชุดสาธิตเครื่องยนต์ดีเซล ชุดสาธิตเครื่องยนต์เบนซิน และอะไหล่สำหรับใช้ในการฝึกอบรม จำนวน 12 ชุด และมอบรถยนต์ จำนวน 12 คัน เป็นมูลค่ากว่า 13.5 ล้านบาท ร่วมกันจัดตั้งศูนย์อบรมช่างซ่อมตัวถังและพ่นสีรถยนต์โดยเริ่มนำร่องในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่แรก และจังหวัดขอนแก่นเป็นแห่งที่ สอง ในปี2560นี้ จะขยายเพิ่มเติมในอีก 4 จังหวัด จังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ ลำปาง และสงขลา เพื่อรองรับการฝึกอบรมในสาขาดังกล่าว  และความร่วมมือครั้งนี้ เน้นพัฒนาทักษะ พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและทันต่อเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านการอบรมก็สามารถเข้าทำงานกับบริษัทโตโยต้าฯได้ทันที และบางส่วนก็สามารถนำไปประกอบอาชีพหรือทำงานกับบริษัทชั้นนำได้ และแม้ทิศทางการผลิตรถยนต์จะเปลี่ยนไปจากรถใช้น้ำมันไปเป็นไฟฟ้า แต่ก็ยังไม่กระทบมากนัก เพราะเชื่อว่าอีก 5-15 ปี ถึงจะมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย จึงต้องมีการพัฒนาและปรับตัว เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งใน 3 สาขาอาชีพ คือ ช่างซ่อมตัวถัง ช่างสีรถยนต์ และงานบริการรถยนต์ หากมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อนำไปสู่การจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย