แรงงานแถลงปฏิรูปประกันสังคมต้องโปร่งใสมีส่วนร่วม

สมานฉันท์แถลงข่าวประกันสังคมต้องเป็นอิสระ  สมัชชาประกันสังคม บทพิสูจน์นักการเมือง

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 53 นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้จัดแถลงข่าว เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันสังคม ที่ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตในเวที “เปลี่ยนประเทศไทยด้วยพลังพลเมือง” กับทีวีไทย และการสื่อสารภาคพลเมือง ระดมสมองแสวงหาแนวทางเปลี่ยนประเทศไทยด้วยพลังพลเมือง ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม พ.ศ.โดย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (ส.ส.ท.) สำนักเครือข่ายสาธารณะ โครงการเปลี่ยนประเทศไทย

นายชาลี ลอยสูง กล่าวว่า “กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนใหญ่มากมีเงินในกองทุนกว่า 7 แสนล้านบาท ต้องดูแลผู้ประกันตนประมาณ 10 ล้านคน จึงต้องมีระบบการบริหารจัดการที่คล่องตัวและโปร่งใสตรวจสอบได้  ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ อีกทั้งกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมที่บังคับใช้ในปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับการบริหารจัดการงานประกันสังคม จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ขบวนการแรงงานได้มีการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงาน แก้ไขทั้งในเรื่องนิยามคำว่า ลูกจ้าง นายจ้าง ค่าจ้าง ทุพพลภาพ ให้มีขอบเขตการคุ้มครองที่ครอบคลุมกับลูกจ้างทุกประเภท รวมถึงการขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆให้สอดคล้องและเป็นธรรมมากขึ้น การปรับปรุงโครงสร้าง และระบบการบริหารงานรวมถึงกำหนดบทบาทของคณะกรรมการประกันสังคมเพื่อสร้างหลักประกันในการตรวจสอบการบริหารกองทุนให้เกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

ฉะนั้นจึงต้องทำให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระที่มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเพื่อรองรับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของกองทุนประกันสังคมและเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนครั้งนี้จึงได้จัดเวทีสาธารณะสมัชชาประกันสังคมขึ้นในวันที่ 13 มกราคม 2554 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานครโดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้ประกันตน ราชการ นักการเมืองและนายจ้างมาร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิรูปประกันสังคมในครั้งนี้”

หลังจากแถลงข่าวเสร็จสิ้นลงนายชาลี ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักสื่อสารแรงงานว่า

1.  ขณะนี้ปัญหาที่นายจ้างหักเงินสมทบจากลูกจ้างแล้วไม่นำส่งจะแก้ไขได้อย่างไร? ซึ่งในร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่ขบวนการแรงงานกำลังผลักดันอยู่นี้ได้มีการเพิ่มบทลงโทษแก่นายจ้างประเภทนี้ โดยให้ปรับเป็นเงินเพิ่มร้อยละ 4 จากเดิมร้อยละ 2 และหากมีการทำผิดซ้ำอีกจะปรับเพิ่มอีกกึ่งหนึ่งของอัตราโทษปรับและ 1 ใน 3 ของอัตราโทษจำคุกและเพื่อเป็นการป้องกันปัญหา

2.  ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินผู้ประกันสามารถไปใช้บริการจากโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดแต่แพทย์กลับบอกว่าไม่ใช่เป็นการป่วยฉุกเฉินต้องสำรองจ่ายเงินเองผู้ประกันตนจะรู้ได้อย่างไรว่ากรณีไหนถึงเรียกว่าป่วยฉุกเฉิน  ในกรณีนี้เป็นปัญหามากตามหลักก็ คือ ถ้าอาการนั้นอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก็ถือว่าเป็นเจ็บป่วยฉุกเฉินแต่ตามความเป็นจริงผู้ประกันตนไม่ใช่แพทย์จะรู้ได้อย่างไรดังนั้นเราจึงแก้ไขให้ผู้ประกันตนสามารถใช้บริการทางการแพทย์ได้ทุกโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับประกันสังคมก็ไม่ต้องห่วงว่าเป็นการป่วยฉุกเฉินหรือไม่และให้สามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันแรกที่สมัครเป็นผู้ประกันตนไม่ต้องรอให้ส่งสมทบถึงสามเดือนตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้

3.  ในขณะที่การให้บริการของโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมยังไม่เป็นที่พอใจแม้ในระบบเดิมจะทำให้เกิดการแข่งขันกันถ้าในกรณีที่ผู้ประกันตนสามารถรักษาที่ไหนก็ได้จะไม่ทำให้บริการยิ่งแย่ไปกว่าเดิมเหรอ  คิดว่าไม่เพราะเรามีข้อเสนอที่ให้ตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ 2 องค์กรเพื่อตรวจสอบการบริการทางการแพทย์และการนำเงินไปลงทุนต่างๆ

4.  ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการใช้ยาอื่นที่อยู่นอกทะเบียนยาของประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินเพิ่มซึ่งผู้ประกันตนจะไม่มีวันรู้เลยว่าส่วนที่จ่ายเพิ่มไปนั้นหักออกจากที่ประกันสังคมจ่ายให้โรงพยาบาลหรือไม่โรงพยาบาลไม่เคยบอกให้ผู้ประกันตนรับทราบส่วนต่างนี้เลยหรือแม้แต่กรณีการใช้ห้องพิเศษก็เหมือนกันจะมีวิธีไหนที่จะทำให้ผู้ประกันตนถูกเอาเปรียบจากกรณีอย่างนี้ต้องมีการตรวจสอบเพราะถือเป็นการเอาเปรียบผู้ประกันตนโดยปกติยาที่กำหนดให้ใช้ก็เป็นยาที่ได้มาตรฐานแต่ถ้าต้องการยาที่มีคุณภาพสูงกว่าก็ต้องจ่ายเพิ่มและโรงพยาบาลควรที่จะต้องชี้แจงรายละเอียดให้ผู้ประกันตนทราบ

5.  คิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรกลับการแถลงข่าวครั้งนี้สื่อกระแสหลักจะช่วยได้อย่างไรสื่อของฝ่ายแรงงานเองมีพลังน้อยเกินไปหรือเปล่า การที่เลือกใช้สื่อกระแสหลักเพื่อใช้เผยแพร่และสนับสนุนประเด็นสะท้อนปัญหาให้กระจายสู่ภาพรวมให้สังคมได้เข้าใจสิ่งที่เรานำเสนอมากยิ่งขึ้นซึ่งทางทีวีไทยเองก็ช่วยเราได้มากและให้ความสำคัญกับประเด็นแรงงานพอสมควรแต่สื่อของฝ่ายแรงงานเองก็ได้ใช้ประโยชน์ในการรณรงค์และเผยแพร่ในพื้นที่ให้ผู้ใช้แรงงานได้เข้าใจปัญหาไปพร้อมๆกันด้วย

จากนั้นนายชาลีได้เดินทางไปให้ความรู้ในประเด็นการขับเคลื่อนพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับบูรณาการแรงงานให้กับผู้ใช้แรงงานในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง

ด้านนางสาวกนกวรรณ แย้มบุญมี ผู้ประกันตนตาม ม.39ได้กล่าวว่า “ผู้ประกันตนม.39 ต้องจ่ายเงินสมทบถึงสองเท่าแต่สิทธิประโยชน์กลับได้ไม่เต็มที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้ก็ยุ่งยากต้องหาพยานกันวุ่นวายแถมให้ 80 บาทต่อใบรับรองแพทย์ 1ใบ ถามว่า เราหารายได้แค่วันละ 80 บาทจะพอกินหรือไม่ เจ้าหน้าที่เองก็บริการไม่ดี แทนที่จะให้คำแนะนำอย่างสุภาพกลับใช้อำนาจพูดจาตะคอกกับผู้ประกันตน อย่างนี้ใครจะไปกล้าถาม”น.ส.กนกวรรณ  กล่าวอย่างมีอารมณ์

นางสาว.วิไลวรรณ แซ่เตีย ปรานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้กล่าวถึงการจัดเวทีสมัชชาประกันสังคม ว่า “อยากให้ผู้ประกันตนและผู้ที่สนใจเรื่องการประกันสังคมเข้าร่วมเยอะๆมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพราะเวทีนี้เป็นเวทีสาธารณะซึ่งได้คุณนาตยา แวววีรคุปต์มาเป็นผู้ดำเนินรายการ เวทีนี้จะเป็นเวทีที่จะสะท้อนจุดยืนของผู้ใช้แรงงานและจะพิสูจน์ว่านักการเมืองมีความจริงใจกับการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานแค่ไหนโดยนายกรัฐมนตรีจะมาเป็นผู้เปิดงาน

มงคล ยางงาม นักสื่อสารแรงงานศูนย์อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงาน


สังคมสวัสดิการ ไร้การกีดกัน ลดช่องว่าง สร้างความเป็นธรรม ประกันสังคมถ้วนหน้า อิสระ โปร่งใส

ขอเชิญร่วมงานสมัชชาแรงงาน “ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน”  ในวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ.2554

ณ.ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดี หลักสี่ กรุงเทพมหานคร ประสานงานสมัชชาแรงงาน โทร/FAX02-279-1611