แรงงานอ้าง กฎหมายชุมนุมสาธารณะกระทบสิทธิแรงงานสัมพันธ์

2015-12-15 19.54.56

สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมฯ อบรม “พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ผลกระทบต่อการใช้สิทธิของแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518” หลังกระทบการชุมนุมของสหภาพแรงงาน เพราะกฎหมายกำหนดผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้ง หากไม่แจ้งเจออาญาจำคุก

เมื่อวันศุกร์ที่ 25  มีนาคม 2559 เวลา 10.00-16.00 น. ณ ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อคนทำงาน ต.บางเกลือ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) ร่วมกับ INDUSTRIALL GLOBAL UNION ได้จัดเสวนาเรื่อง“พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ผลกระทบต่อการใช้สิทธิของแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518” สามารถสรุปสาระสำคัญได้ 3 ประเด็น คือ

นายชาลี ลอยสูง  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ได้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 อย่างเป็นทางการ ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้เป็นไปเพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเกิดความเรียบร้อย ไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยของประชาชน รวมทั้งไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

ภายหลังจากการบังคับใช้มาจนปัจจุบัน กลับพบปัญหาสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของแรงงานที่เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ได้กำหนดไว้แล้ว ทั้งการประชุมใหญ่ขององค์กรแรงงานทั้งระดับสหภาพแรงงานและสหพันธ์แรงงาน , การชุมนุมที่เป็นผลมาจากการพิพาทแรงงานทั้งในระดับสหภาพแรงงานระดับจังหวัดและระดับชาติ ทั้งเพื่อติดตามผลการเจรจาตลอดจนการเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายที่มีอำนาจลงมาแก้ไขปัญหา เช่น การใช้สิทธิตามมาตรา 35 ในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานใช้อำนาจในการจัดการปัญหาพิพาทแรงงานให้ยุติลงโดยพลัน เป็นต้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวกลับพบว่า ได้เปิดช่องให้มีการตีความกฎหมายการชุมนุมสาธารณะอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมถึงการใช้สิทธิการชุมนุมที่เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ได้กำหนดไว้ด้วยเช่นเดียวกัน และนำมาซึ่งการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของกลุ่มแรงงานตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ได้บัญญัติไว้ โดยเฉพาะในมาตรา 99 (4) ที่ได้ระบุเรื่องการให้สิทธิสหภาพแรงงานและลูกจ้างชุมนุมกันได้โดยตรง อีกทั้งในมาตรา 3 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ก็ได้ระบุไว้ว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในกรณีใดบ้าง ซึ่งในวงเล็บ (5) ได้ยกเว้นการชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งถ้าตีความที่เป็นคุณจะเห็นได้ว่า การชุมนุมของแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก็ควรย่อมได้รับการยกเว้น

อย่างไรก็ตามกลายกลับเป็นตรงกันข้าม ดังที่พบในกรณีของสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทยที่มาชุมนุมที่กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 และถูกกระทรวงแรงงานอ้างเรื่องการไม่ให้ชุมนุมเพราะผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ทั้งๆที่เป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ระบุไว้ในมาตรา 35 จนนำมาสู่การควบคุมตัวผู้จัดการชุมนุมชั่วขณะ

หรือในกรณีการชี้แจงข้อเรียกร้องภายหลังการเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานกับสถานประกอบการของสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทย ที่ จ.สมุทรสาคร แต่กลับต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ทราบก่อนการชี้แจง เป็นต้น เนื่องจากในกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ได้ระบุชุดเจนว่า ถ้าผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่รัฐให้มีโทษทางอาญา คือ จำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท เป็นต้น

เหล่านี้ได้สร้างความสับสนต่อกลุ่มแรงงานเป็นอย่างมาก ถึงความร้ายแรงของกฎหมายการชุมนุมสาธารณะที่ส่งผลต่อการใช้สิทธิตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ว่าต้องปฏิบัติอย่างไรที่เป็นบรรทัดฐานหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจน

Untitled-3

เสวนา “พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ผลกระทบต่อการใช้สิทธิของแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518”

พันตำรวจเอก ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ สถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (International Law Enforcement Academy-ILEA) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคนยกร่างกฎหมายคนหนึ่งยืนยันว่า ไม่ได้คิดถึงเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของแรงงานแต่อย่างใด แต่มองในเรื่องการจัดระเบียบการชุมนุมเป็นสำคัญมากกว่า

ในฐานะที่ผมเองก็ทำวิทยานิพนธ์สมัยศึกษาชั้นปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงานในระบบราชการ และเสนอเป็นตัวแบบกฎหมายขึ้นมา ซึ่งเห็นว่าข้าราชการไทยควรมีกฎหมายคุ้มครองในการรวมตัว และในที่สุดกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 ก็ได้นำเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงานในภาคราชการไปบรรจุในรัฐธรรมนูญดังกล่าว และรวมถึงมีการยกร่างพระราชกฤษฎีกาประกอบเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน จึงเข้าใจดีเรื่องการรวมตัวและเจรจาต่อรองเพื่อการเข้าถึงสวัสดิการ นี้เป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน

ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของการยกร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จะเห็นว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2498 แล้ว แต่เป็นไปเพื่อการจัดระเบียบไม่ใช่จำกัดสิทธิแต่อย่างใด ต่อมามีความพยายามเสนออีกครั้งในปี 2543 ครั้งนี้เป็นการจำกัดสิทธิพอสมควร แต่ก็มีความแตกต่างกับฉบับปี 2549 ช่วงรัฐประหารที่มีการจำกัดสิทธิประชาชนอย่างมาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ช่วงนั้นจึงไม่รับรองกฎหมายฉบับนี้ให้ผ่าน โดยเสนอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาแทน

ต่อมาในปี 2552 ช่วงนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการเสนอกลับมาอีกครั้ง มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมาย แต่ครั้งนี้ได้กำหนดให้ศาลเป็นคนสั่งว่าควรเลิกหรือไม่เลิกชุมนุม แต่เกิดเหตุการณ์ยุบสภาก่อน กฎหมายจึงไม่ได้รับการพิจารณาต่อ

ปี 2551 ช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีการปิดล้อมอาคารรัฐสภา เพื่อไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบายได้ในวันที่ 7 ตุลาคม ตำรวจจึงได้ระดมยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม และต่อมาก็บอกว่าการกระทำของตำรวจเป็นสิ่งที่ผิด เพราะมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ใหญ่กว่าและให้ความคุ้มครองผู้ชุมนุมอยู่ ช่วงนั้นมีตำรวจต้องออกจากราชการจำนวนไม่น้อยเพราะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว

ต่อมาในปี 2553 ก็มีการชุมนุมของ นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ที่ช่วงนั้นมีการนำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาใช้เพื่อควบคุมการชุมนุมแทน ซึ่งก็เห็นแล้วว่ามีความรุนแรงกว่ากฎหมายชุมนุมสาธารณะอย่างมาก

ต่อมาถึงยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ ก็มองว่ากฎหมายนี้จะกระทบสิทธิคนมากไป จึงไม่รับหลักการตั้งแต่เริ่มเปิดรัฐสภาในช่วงต้นเลย ทำให้กฎหมายจึงตกไปโดยอัตโนมัติ

ในปี 2556-2557 มีการชุมนุมใหญ่ของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ถนนถูกปิดกั้น ตำรวจถูกสั่งห้ามใช้กระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา แต่ผู้ชุมนุมกลับสามารถใช้ได้ นี้จึงเป็นปัญหาของตำรวจมากในการจัดการผู้ชุมนุมไม่ได้

ดังนั้นพอปี 2557 เกิดรัฐประหารอีกรอบ กฎหมายฉบับนี้ก็ถูกนำมาพิจารณาอีกรอบ มีการนำหลักกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เยอรมัน มาพิจารณาร่วมด้วย ตอนเสนอกฎหมายจะให้ตำรวจเป็นคนบริหารทุกขั้นตอน ไม่อยากให้ศาลเข้ามายุ่งหรือเกี่ยวข้อง เพราะทำให้ศาลดูไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่สุดท้ายในกฎหมายก็ระบุว่าให้ศาลสั่งว่าจะระงับ ไม่ระงับการชุมนุมแทน

ช่วงนี้ไปนำเสนอที่ไหนก็มีแต่เสียงคัดค้านไม่ให้มีพ.ร.บ.ชุมนุม แต่ถ้าไปใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ก็จะยิ่งรุนแรงกว่าในการควบคุม

หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การจัดระเบียบการชุมนุมใน 3 เรื่อง คือ เวลา สถานที่ และวิธีการชุมนุม เช่น การใช้ระดับเสียง หรือการปิดถนน ก็ต้องกระทำภายใต้ขอบเขตและไม่ลำบากต่อผู้อื่น เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งผู้ชุมนุมและคนไม่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เขามีชีวิตปกติ เพราะไม่ใช่แค่ผู้ชุมนุมจะแสดงสิทธิได้ แต่คนทั่วไปก็ต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการแสดงสิทธิเหล่านั้นด้วยเช่นกัน การชุมนุมจึงต้องคุ้มครองคนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมด้วยเช่นกัน

การจัดระเบียบเรื่องสถานที่ชุมนุม ก็จะคำนึงถึงประชาชนหรือคนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมแต่ต้องใช้สถานที่แห่งนั้น จะมีวิธีการจัดการอย่างไร หรือบางสถานที่ก็ต้องห้ามเข้าไปชุมนุมเลย มีการกำหนดพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด เช่น กรณีการชุมนุมที่รัฐสภาเมื่อปี 2551 มีการไปปิดกั้นไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบาย จึงต้องจำกัดไม่ให้ทำได้อีกต่อไปแล้ว ซึ่งการชุมนุมปิดกั้นสถานที่ราชการแบบนี้ มีประเทศไทยประเทศเดียวในโลกที่ทำ

กฎหมายนี้ถือเป็นการจัดระเบียบวิธีการแสดงออกในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะการพูดที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการชุมนุม เพราะจะยั่วเย้าอารมณ์ รุกเร้าอารมณ์ นำไปสู่ม็อบที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่แค่ชุมนุมแล้วจบ แต่ยังสามารถนำไปสู่การยั่วยุและใช้ความรุนแรง เช่น กรณีการกระทืบป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นี้ถือว่าผิดร้ายแรงมาก เป็นต้น

ต่อมาถ้าต้องชุมนุมสาธารณะต้องทำอย่างไร ก็จะเห็นว่าจะมีแบบฟอร์มจำนวนมากกำหนดไว้ ก็แจ้งไปตามแบบฟอร์มนั้น หลังจากนั้นตำรวจก็จะสรุปออกมาว่ากี่คน ใช้เส้นทางไหน อะไร อย่างไร สถานที่ใดจัดชุมนุมได้หรือไม่  เป็นการที่ผู้ชุมนุมแจ้งเพื่อทราบ ไม่ใช่ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ตำรวจแค่รับทราบเพียงเท่านั้น

มีการห้ามกีดขวางสถานที่ราชการ ห้ามปิดทางเข้าออกสถานที่ราชการ ซึ่งในต่างประเทศไม่มีใครทำแบบนี้ และแม้จะแจ้งว่าได้เปิดช่องไว้ 1 ช่องหรือให้คนเดินผ่านได้ คำถาม คือ คนอื่นจะกล้าเดินผ่านคนที่ชุมนุมเข้าไปไหม ซึ่งในข้อเท็จจริงก็ไม่มีใครเข้าไปหรอก ก็จะห้ามตรงนี้

เมื่อตำรวจได้รับแบบฟอร์มแล้ว ก็จะแจ้งกลับไปและถ้าตรงไหนที่ไม่ตรงกับที่กฎหมายกำหนดไว้  เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะสั่งให้แก้ไขก่อนให้ตรง ถ้าไม่แก้ไขถึงใช้มาตรการห้ามชุมนุม

ศาลมีหน้าที่สั่งให้สลายการชุมนุม ตำรวจก็จะกระชับวงล้อมไม่ให้ชุมนุมต่อ ห้ามคนภายนอกเข้าไป ให้คนภายในออกมา ตลอดจนการกำหนดบทบาทของหน่วยราชการต่างๆในการสนับสนุนเรื่องชุมนุม และการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธได้ และกระสุนจริงใช้ได้ในกรณีร้ายแรงที่สุด อีกทั้งยังมีการระบุว่าสถานที่ราชการต้องจัดหาสถานที่ชุมนุมให้ผู้ชุมนุมได้

เมื่อมาพิจารณาในมาตรา 3 ของกฎหมายระบุว่า ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ ดังต่อไปนี้

(1) การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี

(2) การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น

(3) การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น

(4) การชุมนุมภายในสถานศึกษา

(5) การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมเสวนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ

(6) การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกและการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

แต่เมื่อถึงวิธีปฏิบัติจริงกลับไม่ใช่เช่นนั้น เช่น เวลาแรงงานไปยื่นหนังสือที่กระทรวงแรงงาน หรือการไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้าไป 4-5 คน อาจตีความว่าไปยื่นหนังสือไม่ใช่ชุมนุม เพราะถือว่าแค่ไปคัดค้าน ไปยื่นข้อเรียกร้อง ซึ่งคนละเรื่องกันกับการชุมนุม แต่ในทางปฏิบัติก็พบว่ากลายเป็นเรื่องเดียวกันไป

หรือการใช้สถานที่ที่หอศิลป์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวังสระปทุม แม้ว่าผู้จัดการชุมนุมจะบอกว่าแค่มารวมตัว แสดงความคิดเห็น ไม่ว่าอย่างไรก็จะถูกตีความว่าชุมนุม เป็นต้น

หรือกรณีการชุมนุมที่พุทธมณฑลเรื่องสังฆราชก็เข้าข่าย

การแสดงทางการเมืองทุกกรณีก็ห้ามชุมนุมเด็ดขาด

ทั้งนี้การตีความแบบนี้อาจเป็นเพราะปัจจุบันเป็นช่วงบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ ทำให้การตีความกฎหมายจึงนำไปสู่การจำกัดสิทธิมากกว่าเวลาปกติไปด้วย

แม้ว่าข้อเท็จจริงตามกฎหมายไม่ใช่อย่างนั้นก็ตาม แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายก็มักจะมีการตีความเพื่อจำกัดสิทธิ เป็นลักษณะการเอาตัวรอดของผู้บังคับใช้กฎหมายมากกว่า

แน่นอนแม้ว่าจะมีข้อยกเว้นตามที่กล่าวมานั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้เช่นเดียวกันหรือจะไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น กรณีงานบวช งานแต่ง เมื่อจะมีการปิดถนนหรือใช้พื้นที่ถนน ถือเป็นพื้นที่สาธารณะ อย่างไรก็ต้องไปแจ้งตำรวจอยู่ดี เพราะถือว่ามีขบวนบนท้องถนนที่จะปิดถนนระยะเวลาหนึ่งพอสมควร เป็นต้น

เมื่อมาพิจารณาที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์โดยตรงก็จะเห็นว่าอยู่ในข้อยกเว้นมาตรา 3 (5) ที่กฎหมายอนุญาตให้ชุมนุมได้ เพราะเมื่อไม่สามารถประนอมข้อพิพาทได้แล้ว ลูกจ้างก็อาจใช้มาตรการนัดหยุดงาน ก็ไม่ต้องไปแจ้งตำรวจ เพราะถือว่าต้องแจ้งสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอยู่แล้ว แต่ถ้าการนัดหยุดงานนั้นเลยขอบเขตมากระทบกับเรื่องสาธารณะก็ต้องไปแจ้งตำรวจเช่นกัน

10307428_995455037182384_3186608531736688080_n

ว่าที่ร้อยตรีกิตติวัฒน์ ยิ้มย่อง นิติกรชำนาญการ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวหากดูที่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เรื่องการเจรจาต่อรอง เห็นว่า มีความเกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้องโดยใช้มาตรการที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมี 2 กรณี คือ ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างซึ่งต้องมีผู้ลงมือชื่อไม่น้อยกว่า 15 % กับสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างโดยตรง หรือนายจ้างยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้าง

ดังนั้น เมื่อมาพิจารณาที่มาตรา 3 (5) โดยตรง แปลว่า การชุมนุมที่จะได้รับการยกเว้นจึงต้องมีที่มาโดยชอบก่อน และถ้าไม่สามารถเจรจาตกลงได้ และต้องแจ้งพิพาทแรงงาน ซึ่งมีเพียงการนัดหยุดงาน หรือนายจ้างปิดงานเท่านั้น ถือว่าเป็นการกระทำชั่วคราว แต่ต้องไม่กระทบสิทธิผู้อื่น การชุมนุมโดยชอบแต่กระทบสิทธิผู้อื่นก็อาจเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบก็ได้เช่นเดียวกัน เช่น การผละงานที่ไม่ชอบแล้วไปชุมนุมเรียกร้องที่กระทรวงแรงงาน กรณีนี้อาจไม่ได้รับการคุ้มครอง สำหรับการนัดหยุดงานก็น่าจะเกิดในพื้นที่โรงงาน ซึ่งเป็นพื้นที่เอกชนไม่ใช่พื้นที่สาธารณะอย่างกระทรวงแรงงาน

สำหรับพื้นที่ในกระทรวงแรงงานนั้น มีหลายหน่วยงานโดยมีสำนักปลัดกระทรวงแรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น เวลาไปยื่นหนังสือที่กระทรวงแรงงาน ถ้าไปแค่ 4-5 คน ไม่ต้องขออนุญาต แต่ถ้าไปจำนวน 100-300 คน ย่อมกีดขวางทางสาธารณะ อย่างในกระทรวงแรงงาน มีตึก 15 ชั้น ตึกเดียว ที่มีพื้นที่ด้านล่าง มีตรงนั้นที่เดียว แต่มีหน่วยงานอื่นที่คนอื่นต้องมาใช้บริการติดต่อเรื่องต่างๆอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าแรงงานจะมาหลายร้อยคนก็ต้องไม่กีดขวางใคร และเมื่อเป็นพื้นที่สาธารณก็ต้องขออนุญาตเพื่อดำเนินการให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้นเสนอว่า แรงงานน่าจะแค่ทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงานให้ทราบเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้นนี้เพียงพอ เข้าใจว่า ต้องแสดงพลังโดยพาคนมาเป็นร้อยๆ แต่ไม่เกิดประโยชน์อันใด แค่ไปยื่นหนังสือ ผู้ใหญ่ในกระทรวงก็อาจสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่มาคุยกับนายจ้างแล้ว คิดว่าการสร้างพลังแบบนี้ คือการสร้างพลังแบบใหม่และน่าจะได้ผลมากกว่ามาหลายร้อยคนที่กระทรวงแรงงานแบบที่เคยปฏิบัติกันมา

ทางกระทรวงไม่ขัดข้องที่จะมาที่กระทรวง แต่ก็ต้องทำตามระเบียบเพราะพื้นที่กระทรวงดูแลโดยสำนักงานปลัดกระทรวงโดยตรงว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต และให้แจ้งมาที่กระทรวงแรงงานล่วงหน้า แจ้งที่ สน.ดินแดงด้วยเช่นกัน แต่ก็เห็นแล้วว่าวันนี้กระทรวงแรงงานถูกใช้พื้นที่เต็มทุกพื้นที่ ดังนั้นอย่ามาเลยจะดีกว่า

ผมเคยไปติดต่อที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดงเพื่อให้แรงงานไปชุมนุมที่นี่แทน แต่ทางสนามกีฬาก็บอกว่าที่นั่นไม่ใช่พื้นที่ชุมนุม เป็นที่เล่นกีฬา อาจเกิดความเสียหายได้ หรือในพื้นที่รั้วสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน บางทีจะมีสนามหญ้า เช่น ชลบุรี ราชบุรี ขอนแก่น ในอนาคตอาจมีการเสนอให้จัดพื้นที่ตรงนี้ไว้ให้แรงงานชุมนุม จะได้ไม่ต้องเดินทางมาที่กระทรวงแรงงาน

พันตำรวจโทปรีชา เรืองศรี สารวัตรป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรบางปะกง กล่าวว่า การชุมนุมและมีการเคลื่อนย้ายใกล้ๆถือว่า ไม่จำเป็นต้องแจ้ง แต่ถ้ามีการเคลื่อนภายในตัวอำเภอก็แจ้งเพื่อทราบเท่านั้น การแจ้งชุมนุมแค่แจ้งไม่ใช่เพื่ออนุมัติ และการชุมนุมก็รู้ล่วงหน้าแล้วว่า จะยืดเยื้อก็ไปยื่นขอตามแบบที่กำหนดไว้ ไม่ได้ยุ่งยากอะไร

สำหรับในกรณีที่นายจ้างสั่งปิดงานลูกจ้าง และมีลูกจ้างมายืนออหน้าโรงงานเพราะมีความประสงค์จะเข้าทำงานแต่นายจ้างไม่ให้เข้าในโรงงาน ถ้าเป็นกรณีแบบนี้ นายจ้างก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว และก่อนปิดงานก็ต้องแจ้งสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมาก่อนแล้วด้วย ถือว่า “ เมื่อนายจ้างปิดงาน ลูกจ้างมายืนออจึงไม่ใช่การชุมนุม” กรณีแบบนี้ “ทางโรงงานต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาอำนวยการ” เพราะลูกจ้างถูกปฏิเสธทำงาน จึงมารวมตัวกัน แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะไปหาผู้แทนต่อเองว่าเป็นใคร เพราะที่ลูกจ้างชุมนุมเพราะเป็นคนเสียหายเข้าทำงานไม่ได้

สำหรับการชุมนุมที่เกิดขึ้นในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมถือว่า เป็นพื้นที่เอกชนไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ ก็ไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เสนอว่า ให้สหภาพแรงงานไปคุยกับนิคมฯเพื่อขอพื้นที่ว่างๆในการชุมนุม ตัดปัญหาเรื่องการกีดขวางจราจร

นายจ้างมาประกอบกิจการในประเทศไทยก็เอากำไรกลับประเทศตนเอง อะไรที่ลูกจ้างควรได้ก็ต้องได้ แต่ต้องอยู่ในกติกาที่ให้ไว้ ผมเคยไปแล้วบางที่เจอแรงงานโห่ใส่ ผมมา 5-10 คน โห่ใส่ ดังนั้นแรงงานอย่าถีบคนที่อยู่ตรงกลางไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ผมขอเลย และเวลาเห็นตำรวจอยู่ในโรงงานเวลามีการชุมนุม คือ กลัวคนงานหรือมือที่สามที่คุมไม่ได้จะก่อเหตุทำลาย เผา โรงงานมากกว่า เลยต้องเข้าไปควบคุมไว้ก่อน

1452245997813

นายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย ทนายความ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การมาฟังวันนี้คาดหวังว่าจะเกิดความกระจ่างในตัวพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เพราะก็ต้องไปบรรยายในหลายที่ให้แรงงานได้รับรู้และเข้าใจเช่นกัน เข้าใจได้ว่ากระบวนการยกร่างกฎหมายมีมายาวนานหลายรัฐบาล แต่มาสำเร็จลุล่วงในยุค คสช. ทำให้เจตนารมณ์จึงเน้นเรื่องในการควบคุมทางการเมืองเป็นหลัก ในร่างแรกจะเห็นว่ามาตรา 3 (5) ไม่มีระบุไว้ เป็นการเหมารวมไปหมด แต่พอมาฉบับนี้มีการระบุยกเว้นชัดเจนในวงเล็บ 5 ซึ่งแน่นอนพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก็ควรน่าจะได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกัน

แต่พอถึงวิธีปฏิบัติจริงกลายเป็นว่า ผู้นำต้องเสียสละ อาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก ถ้าเจตนารมณ์ในการออกกฎหมายฉบับนี้ไม่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น ก็ต้องหาทางแก้ไข เพราะขบวนการแรงงานได้รับผลกระทบมากมาย

เสนอแนะว่าถึงเวลาแล้วที่กระทรวงแรงงานต้องออกแนวปฏิบัติเรื่องการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ให้ชัดเจน ออกมาเป็นแผ่นพับก็จะดีมาก หรือทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายก็ควรส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในเรื่องนี้ เพราะพ.ร.บ.นี้ คือ การลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของคนยากคนจนโดยสมบูรณ์ในการเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ชาวนาชาวไร่จะมาเรียกร้องสิทธิก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ต่อกรณีเหล่านี้มีประเด็นแลกเปลี่ยน ดังนี้

(1) แน่นอนในพ.ร.บ.ไม่มีข้อความใดบอกว่าให้แรงงานชุมนุมได้ แม้กระทั่งกรณีการปิดงานหรือนัดหยุดงานเพื่อชุมนุมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก็ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แรงงานจึงปฏิเสธไม่ได้ ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.นี้เช่นกัน ดังนั้นคนงานต้องเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาสาระสำคัญของพ.ร.บ.นี้ วันนี้จึงไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ตราบใดที่จะชุมนุมและขยับมาใช้พื้นที่สาธารณะก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง และแม้ว่าเราจะรังเกียจพ.ร.บ.ฉบับนี้เพียงใด เราก็ต้องอยู่กับกฎหมายนี้ให้ได้

(2) พ.ร.บ.ฉบับนี้ หลักการ คือ การใช้คำสั่งทางปกครอง แต่กลับกลายเป็นว่าผลักภาระการตีความต่างๆไปสู่กระบวนการยุติธรรมภาคปกติ เป็นการดึงกระบวนการยุติธรรมมาสู่คำสั่งทางปกครอง จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติพอสมควร

(3) การปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน แต่กลับไม่มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมาย ทั้งๆที่ต้องนำมาใช้กับภาคประชาชน ทำให้กระบวนการที่ออกมาจึงมีลักษณะพิกลพิการ เน้นความมั่นคง แต่ไม่สนใจเรื่องชีวิต จิตใจ ที่แรงงานต้องเจอ จึงดูผิดฝาผิดตัวมิใช่น้อย

(4) เมื่อมาดูในตัว พ.ร.บ.ก็จะเห็นว่าไม่มีการกำหนดนิยามคำว่า “ชุมนุม” โดยเฉพาะ เช่น กี่คนถึงเรียกว่าการชุมนุม ถ้าไปเปิด Dictionary 2 คน ก็เรียกว่าชุมนุมแล้ว บางฉบับก็บอกว่า 5 คน กฎหมายกฎอัยการศึกก็ระบุว่า 5 คน จะมีขอบเขตกำหนดตรงไหนในเรื่องนี้ หรือถ้าจะไม่เข้าข่ายการชุมนุม ก็ต้องเดินไปทีละ 4 คน เป็นแบบนี้ไป อย่างนี้จะเรียกว่าชุมนุมไหม

(5) ผู้จัดการชุมนุม หมายถึงใคร ขอยกตัวอย่างจริงประกอบ เช่น ประธาน คสรท. จะไปยื่นหนังสือกับอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่กระทรวงแรงงานในวันพรุ่งนี้ และโพสต์ลงใน facebook แจ้งข่าวสาร ต่อมามีการแชร์จากบุคคลอื่นๆเชิญชวนต่อๆกันไป จนมีคนมาร่วมชุมนุมจำนวนมากจากการแชร์ออกไปนี้ แบบนี้จะเรียกผู้ที่แชร์ไปว่า เป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่

(6) ในการชุมนุมของแรงงาน ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีการทำอาหาร เช่น การทำส้มตำ ที่มีทั้งครก มีด สาก ในการใช้ประกอบอาหาร ในกฎหมายระบุว่าห้ามนำอาวุธทุกชนิดเข้ามาในที่ชุมนุม กรณีแบบนี้จะถือว่าอุปกรณ์การทำครัวเหล่านี้เป็นอาวุธหรือไม่ เพราะถ้ามีการตีความที่ไม่เอื้อต่อการชุมนุมของแรงงานจะเกิดปัญหาโดยทันที จะมีวิธีการปิดช่องว่างเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

(7) ที่กระทรวงแรงงานในทุกๆวันอังคารก็จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของเต็มพื้นที่ ถ้ายึดหลักพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะก็จะถือว่ากีดขวางสถานที่สาธารณะเช่นกัน คนอื่นมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เช่นเดียวกัน ไม่แตกต่างกับที่เวลาแรงงานมาชุมนุม ดังนั้นหลักการปฏิบัติก็ควรต้องใช้หลักการเดียวกันกับเวลาแรงงานมาชุมนุม

(8) ถ้าเวลาชุมนุมบนท้องถนน แล้วถนนมี 2-3 เลน ถ้าแรงงานปิดถนน 1 เลน ถือว่ากีดขวางการจราจรและเข้าข่ายการแจ้งตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่

(9) เสนอแนะว่ากระทรวงแรงงานหรือแรงงานจังหวัดต้องมีการจัดสถานที่เพื่อให้แรงงานสามารถชุมนุมได้อย่างชัดเจน อย่าอ้างเรื่องไม่มีสถานที่ ไม่มีงบประมาณในการจัดการ เพราะเป็นการผลักภาระให้ผู้นำชุมนุมต้องเอาขาข้างหนึ่งแหย่เข้าไปในคุกแล้ว รัฐต้องหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนให้ได้เข้าถึงสิทธิมากขึ้น

(10) ตราบใดที่กระทรวงแรงงานยังไม่จัดทำแนวปฏิบัติออกมา สิ่งที่แรงงานจะต้องเตรียมไว้ก่อนที่จะจัดชุมนุม ได้แก่ (10.1) เตรียมลาหยุดงานในวันทำงานอย่างน้อยควรมากกว่า 3 วัน เพราะตามกฎหมายแล้วถ้าคนงานขาดงานติดต่อกัน 3 วัน สามารถถูกให้ออกจากงานถูกเลิกจ้างได้ ถ้าเกิดมีการชุมนุมยืดเยื้อหรือผู้นำแรงงานมีเหตุให้ต้องถูกดำเนินคดี (10.2) การเตรียมเครื่องสแกนวัตถุระเบิด อาวุธต่างๆ เพราะคงไม่สามารถควบคุมได้ว่าใครจะนำหรือไม่นำอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุม (10.3) การเตรียมเงินประกันตัวให้พร้อมยามเกิดกรณีคดีความต่างๆ

นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อมาดูที่หมวด 7 ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เรื่องสหภาพแรงงาน ในมาตรา 90 จะระบุเรื่อง “การจัดประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงาน” และในมาตรา 99 ได้ระบุไว้ว่า “เมื่อสหภาพแรงงานปฏิบัติการดังต่อไปนี้ เพื่อประโยชน์ของสมาชิกอันมิใช่เป็นกิจการเกี่ยวกับการเมือง ให้ลูกจ้าง สหภาพแรงงาน กรรมการ อนุกรรมการ และ เจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงาน ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญา หรือทางแพ่ง

(1) เข้าร่วมเจรจาทำความตกลงกับนายจ้าง สมาคมนายจ้าง ลูกจ้างสหภาพแรงงานอื่น สหพันธ์นายจ้าง หรือสหพันธ์แรงงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ที่สมาชิกสมควรได้รับ

(2) นัดหยุดงานหรือช่วยเหลือ ชักชวนหรือสนับสนุนให้สมาชิกนัดหยุดงาน

(3) ชี้แจงหรือโฆษณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงาน

(4) จัดให้มีการชุมนุมหรือเข้าร่วมโดยสงบในการนัดหยุดงาน….”

การกระทำของสหภาพแรงงานที่เป็นไปตามมาตรา 90 และมาตรา 99 ตามที่กล่าวมานี้ จะได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 หรือไม่อย่างไร และเข้าข่ายตามมาตรา 3 (5) ด้วยใช่หรือไม่

เพราะที่มีตัวอย่างจริงเกิดในพื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จ.สมุทรสาคร กรณีที่สหภาพแรงงานอยู่ในระหว่างการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง และต้องแจ้งผลให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทราบเป็นระยะ เช่น ช่วงเย็นหลังคนงานเลิกงาน แน่นอนมีเวลาแจ้งไม่ถึง 24 ชั่วโมง ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และก็ต้องใช้พื้นที่พอสมควร อาจเป็นถนนหน้าโรงงาน หรือโรงเรียน หรือวัด ซึ่งแนวปฏิบัติที่ผ่านมาก็ดำเนินการไปโดยปกติ และพอสหภาพแรงงานชี้แจงเสร็จก็แยกย้ายกันไป เหล่านี้ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ และพอถึงเวลาจริงก็พบว่า ตำรวจก็บอกว่าทั้งแจ้งและไม่แจ้ง บางคนก็บ่ายเบี่ยงไปมา ไม่ให้ความร่วมมือ มีการให้ข้อมูลไม่ตรงกัน ไม่แตกต่างจากเวลาประสานไปที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดก็ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันเช่นกัน[1]

เสนอว่ากระทรวงแรงงานต้องออกแนวปฏิบัติให้แต่ละจังหวัดมีหลักการที่ชัดเจนในการดำเนินการเรื่องนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้แรงงานต้องพิจารณาหรือวินิจฉัยเองว่าควรต้องทำอย่างไร

นายลาเร่ อยู่เป็นสุข ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้สามารถมองได้หลายมิติทั้งดีและไม่ดี อย่างไรก็ตามถ้ามาพิจารณาในมาตรา 9 ของ พ.ร.บ. ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า

“หน่วยงานของรัฐอาจจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สําหรับการชุมนุมสาธารณะก็ได้การจัดให้มีสถานที่เพื่อการชุมนุมสาธารณะตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชนที่จะจัดการชุมนุมสาธารณะในที่สาธารณะอื่น

มิให้นําความในหมวด 2 การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ มาใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นภายในสถานที่ตามวรรคหนึ่ง”

ดังนั้นเสนอแนะว่ากระทรวงแรงงานต้องนำมาตรา 9 นี้ มาใช้อย่างจริงจัง

ทั้งนี้อาจเริ่มจากในพื้นที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมที่มีข้อพิพาทบ่อยครั้งและมีการจัดการชุมนุมบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ที่ควรต้องจัดสถานที่ชุมนุมยามเกิดข้อพิพาทแรงงานให้ชัดเจน เพื่อให้แรงงานสามารถไปใช้สถานที่ดังกล่าวนั้นได้และไม่ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 แต่อย่างใด

นายไพฑูรย์ บางหลง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวถึงกรณีตัวอย่างว่าสหภาพแรงงานได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจตามลำดับขั้นตอนที่กำหนดไว้แล้ว แต่พอมีการชุมนุมเกิดขึ้นจริง กลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐจากส่วนอื่น เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด กลับมาแจ้งให้คนงานเลิกชุมนุม ให้รื้อถอนเต็นท์ต่างๆที่กันแดดกันฝน ในกรณีแบบนี้คนงานจะต้องปฏิบัติอย่างไรถึงจะถูกต้องและสามารถชุมนุมได้ตามที่แจ้งไว้ล่วงหน้าแล้ว

 ภายหลังจากที่ประชุมได้ตั้งคำถามและร่วมแลกเปลี่ยนอย่างหลากหลาย รวมทั้งจากผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆที่ร่วมแสดงความคิดเห็นแต่ไม่ได้นำมาบันทึกไว้ในเอกสารฉบับนี้ เนื่องจากเป็นประเด็นที่คล้ายคลึงกันและขยายความเพิ่มเติมจากประสบการณ์จริงของแต่ละคน ทางวิทยากรได้ตอบคำถามแต่ละประเด็นที่ถูกถาม

สามารถสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

  1. ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่จะเขียนขึ้นมาแล้วสมบูรณ์ ทุกฉบับต่างมีช่องว่างอย่างแน่นอน ประธานยกร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ นายวิษณุ เครืองาม ดังนั้นการตีความจะเป็นอย่างไร มองว่าถ้าเป็นเวลาช่วงบ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติ โอกาสที่การตีความจะเอื้อกับแรงงาน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก็จะมีมากกว่าในภาวะบ้านเมืองแบบนี้ ที่มองว่าการชุมนุมเป็นเรื่องการก่อความรำคาญและทำให้สังคมได้รับผลกระทบมาก จึงถูกมองในแง่ของการเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เป็นตัวตั้งในการตัดสินใจมากกว่า เช่น ไปปิดถนน ให้คนอื่นสัญจรไม่ได้ ไม่กล้าสัญจร
  2. การที่ไม่ระบุว่าการชุมนุมต้องเป็นการรวมตัวของคนจำนวนกี่คนขึ้นไปนั้น เห็นว่าเป็นการเข้มงวดและจำกัดสิทธิประชาชนมากเกินไป
  3. กรณีการให้ศาลยุติธรรมเข้ามาวินิจฉัยการชุมนุมนั้น เป็นเพราะศาลปกครองไม่ได้ตั้งอยู่ทั่วประเทศ จึงกลายเป็นข้อจำกัดในการพิจารณาและทำให้ต้องไปใช้กลไกของศาลยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องแทน
  4. กรณีเรื่องผู้จัดการชุมนุมนั้น เห็นด้วยว่าคนที่แชร์หรือโพสต์ข้อความเชิญชวนให้ชุมนุมนั้น ก็จะถือว่าเข้าข่ายเป็นผู้จัดการชุมนุมคนหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน เป็นข้อที่ควรต้องคำนึงถึงเพราะตอนที่ยกร่างไม่ได้มีการพิจารณาหรือไตร่ตรองเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านระบบเทคโนโลยี
  5. ทางตัวแทนจากกระทรวงแรงงานเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเพราะยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน จึงส่งผลต่อความลักลั่นในการดำเนินการที่คาบเกี่ยวกับการชุมนุมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หลายประการ โดยเฉพาะระยะเวลาการชุมนุมที่มีความยากมากที่จะแจ้งก่อน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้รับปากว่าจะนำประเด็นที่เป็นช่องว่างและไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าควรจะดำเนินการอย่างไร กลับไปหารือกับกระทรวงแรงงานต่อไป รวมทั้งการหารือกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัดถึงกรณีการชุมนุมของแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518
  6. การดำเนินการในตอนนี้เมื่อยังไม่ชัดเจนและไม่มีแนวปฏิบัติ ตัวแทนจากกระทรวงแรงงานเสนอแนะว่าให้แจ้งสถานีตำรวจในพื้นที่ตามขั้นตอนจะเป็นทางที่เหมาะสมและเพื่อเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งกันและกัน เป็นการแจ้งเพื่อทราบ ไม่ใช่เพื่ออนุมัติหรือต้องอนุญาตว่าทำได้ไม่ได้แต่อย่างใด

สำหรับการชุมนุมในพื้นที่เอกชนทุกกรณีถือว่าไม่ใช่สถานที่สาธารณะ จึงไม่เข้าเงื่อนไขกฎหมายการชุมนุมสาธารณะจึงไม่ต้องแจ้งตำรวจ นอกจากว่าจะเลยออกมาใช้พื้นที่สาธารณะ นั้นก็เป็นอีกกรณีที่ต้องแจ้ง ถ้าตำรวจไม่เข้าใจในกรณีนี้ก็ต้องอธิบายให้เข้าใจ เพราะตำรวจจำนวนมากก็ยังใหม่กับกฎหมายนี้และยังไม่เข้าใจแนวปฏิบัติเช่นเดียวกัน เป็นข้อสัญญาของเอกชนกับเอกชน รัฐไม่สามารถแทรกแซงได้

[1] กรณีเรื่องการแจ้ง-ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเมื่อแจ้งแล้วตำรวจบางคนไม่ทราบแนวปฏิบัติว่าควรทำอย่างไร ยิ่งส่งผลต่อความไม่ชัดเจนของสหภาพแรงงานในการดำเนินการมากขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนได้กล่าวถึงประเด็นนี้อย่างหลากหลายและยกตัวอย่างจริงประกอบ เช่น กรณีของนายไพฑูรย์ บางหลง , นายเสมา สืบตระกูล , นางสาวเรืองรุ่ง วิเชียรพงษ์ , นายเฉลย สุขหิรันต์  ที่ร่วมแลกเปลี่ยนในเวที เป็นต้น

บุญยรัตน์ กาญจนดิษย์ รายงาน