แรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่เสนอประชาธิปไตย แท้ ต้องมีส่วนร่วม

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2554 กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ร่วมกับมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาพัฒนาการเมือง จัดเวที พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สัญจร สอนประวัติศาสตร์ สร้างสำนึกประชาธิปไตย ณ ตลาดพันล้าน ตำบลอ้อมน้อย จังหวัดนครปฐม โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมราว 100 คน  
 
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กรรมการสภาพัฒนาการเมืองตัวแทนฝ่ายแรงงานได้กล่าวว่า ตัวแทนสภาฯมาจากการคัดสรรหาจากแต่ละจังหวัด และยังประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาอาชีพเข้าไปเป็นตัวแทนรวมทั้งหมด 120 คน สภาพัฒนาการเมืองทำหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง การเสนอกฎหมายเป็นต้น 
 
การให้การศึกษาทางการเมือง เช่น สิทธิการเลือกตั้ง เป็นสิทธิพลเมือง แรงงานมีสิทธิในการเลือกตั้งอีกคนหนึ่ง ซึ่งการเลือกคนมาออกกฎหมาย มาออกกฎระเบียบกำหนดสิทธิสวัสดิการให้กับประชาชน เช่นที่ขบวนการแรงงานได้มีการเสนอกฎหมายประกันสังคมผ่านการล่าลายมือชื่อเสนอผ่านสภา และยังมีการเสนอต่อพรรคการเมืองให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงลายมือชื่อ 20 ชื่อเสนอเข้าสภา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประชุมพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. และมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ใช้การเสนอผ่านส.ส. 
 
ฉะนั้นหากแรงงานเลือกคนที่มาทำหน้าที่ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของแรงงานก็จะได้รับการดูแลมีกฎหมายที่เป็นธรรมมาคุ้มครอง แรงงานต้องการที่จะเลือกตั้งส.ส.นักการเมืองในพื้นที่อยู่อาศัย เพราะการที่กลับไปเลือกตั้งส.ส.ที่บ้านเกิด เราไม่รู้จักส.ส.คนนั้นแล้วจะให้เขามาช่วยเหลืออะไรได้ เพราะนักการเมืองในพื้นที่ที่ทำงานสามารถดูแลเราได้ งบประมาณจากรัฐก็ควรลงมาดูแลเราที่อาศัยทรัพยากรในพื้นที่ด้วย แรงงานจะได้อยู่ในพื้นอย่างภาคภูมิไม้ถูกมองว่าเป็นประชากรแฝงอีกต่อไป
นายจาตุรณต์  ประธานเครือข่ายชุมชน กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว การเมืองไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองแต่เพียงผู้เดียว รัฐไม่มีแนวนโยบายที่จะให้การศึกษากับประชาชนเรื่องสิทธิทางการเมือง สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาระบบประชาธิปไตย ให้ประชาชนมองเห็นการเมืองเป็นการใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย 
 
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เปรียบเหมือนว่าเป็นการมอบอำนาจให้ตัวแทนไปทำการบริหารประเทศ แต่การมอบอำนาจนั้นเราก็มีสิทธิในการถอดถอนได้หากเห็นว่าตัวแทนทำการขัดต่อเจตนาของประชาชน  จะไปถึงสิทธิพลเมืองได้ต่อเมืองประชาชนเข้าใจเรื่องการเมือง เรื่องสิทธิทางการเมือง และเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณ 
 
การจัดตั้งสภาพัฒนาการเมืองเป็นการตั้งขึ้นเพื่อให้รัฐจัดสรรงบประมาณมาจัดการศึกษาเรื่องสิทธิหน้าที่พลเมืองให้กับประชาชน โดยมีการของบประมาณไปจัดการศึกษาเช่นเดียวกับการจัดงานวันนี้(5 มีนา) การจัดการศึกษางบประมาณที่รับมาจัดเพียงเล็กน้อยไม่ทั่วถึงคนทุกกลุ่มทั้งที่มีความจำเป็นในการอบรมให้ประชาชนได้เข้าใจเรื่องการเมือง เช่นปัญหาเรื่องที่ไม่สามารถกำหนดค่าจ้างได้ด้วยตัวเอง ยังเป็นการกำหนดด้วยการเมือง สินค้าที่ราคาแพงก็มาจากการเมืองที่กำหนดขึ้นลงของราคา ฉะนั้นการให้การศึกษาเรื่องการเมืองจึงจำเป็น
 
นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นำเสนอว่า การเมืองมีความเกี่ยวข้องกับแรงงาน ขณะนี้พรรคการเมืองเริ่มหาเสียงเตรียมตัวเลือกตั้งแล้ว นายกรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์ เอาใจคนจน ประกาศเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีกร้อยละ 25 ปีที่ผ่านมามีการเสนอปรับ 250 บาท แต่ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 10 บาทสูงสุด ซึ่งก็เห็นได้ว่าการหาเสียงเริ่มแล้ว ซึ่งแรงงานก็ควรมีการนำเสนอข้อเสนอแก้พรรคการเมือง ให้นำมากำหนดเป็นนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางว่าแรงงานจะเลือกใคร เลือกคน หรือนโยบาย
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า แรงงานไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมือง ไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองนอกจากการใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนแรงงานรวม 37 ล้านคน หากนำเสียงของแรงงานมากำหนดทิศทางการเมืองสามารถทำได้ โดยต้องมีการรวมตัวกันต่อรองตั้งแต่กลุ่มเล็กๆและขยายแนวทางการรวมตัวเพิ่มมากขึ้น เพื่อการต่อรองทางการเมือง จนสามารถส่งตัวแทนของตนเองเข้าไปเป็นตัวแทนได้ 
 
การที่แรงงานต้องกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่บ้านตนเองเป็นประเด็นปัญหาเรื่องบประมาณบริหารจัดการที่จะลงไปในพื้นที่นั้น แต่ในความเป็นจริงแรงงานจะอยู่อาศัยในพื้นที่ทำงาน หากแรงงานมีสิทธิในการเลือกตั้งตัวแทนในเขตพื้นที่ ที่ทำงานอยู่ จะส่งผลกระทบเกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองท้องถิ่น จนถึงการเมืองเขตพื้นที่ได้ เพราะแรงงานคือคนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ อำนาจต่อรองให้การเมืองมาดูแลทั้งค่าจ้าง สวัสดิการสามารถเสนอผ่านระบบตัวแทนในสภาได้
 
1. แรงงานจึงได้มีการเสนอให้แรงงานควรมีสิทธิในการเลือกตั้งส.ส. ส.ว. นักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่อยู่อาศัย 
 
2. รัฐควรมีการกำหนดนโยบายเรื่องสวัสดิการประกันสังคมให้แรงงานนอกระบบได้อย่างจริงจัง การใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การรักษาพยาบาลฟรีทุกคน แรงงานทำไมต้องจ่ายเงินรักษาพยาบาลอยู่ ทำไมไม่ฟรี 
 
3. ควรมีการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง โดยเก็บเงินนักลงทุนก่อนการลงทุน หากนายจ้างปิดกิจการ เลิกจ้างกองทุนนี้จะนำเงินมาจ่ายค่าชดเชยแทน เพราะปัจจุบันนายจ้างมักอ้างว่าเจ้ง ไม่มีเงินจ่าย
 
สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเสนอเป็นกฎหมาย ต้องผ่านการพิจารณากฎหมาย เขาเหล่านั้นมาจากการเลือกตั้งเรามีส่วนในการเลือกเขาเข้าไป การใช้สิทธิเลือกตั้งแรงงานต้องคิดว่าจะเลือกใครเข้าเป็นตัวควรดูว่าเราพึ่งได้ เป็นตัวแทนอย่างแท้จริง ซึ่งในอนาคตเราอาจมีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง และมีแรงงานเป็นส.ส. ส.ว. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแน่นอน
นางสาวสงวน  ขุนทรง ผู้ประสานงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เล่าว่า เมื่อช่วงเกิดพ่อแม่จะต้องแจ้งเกิด การแจ้งเกิดก็เกี่ยวข้องกับรัฐ การปกครองซึ่งมีผลกระทบทางการเมือง การใช้สิทธิเป็นสิทธิเสรีภาพที่แรงงานจะเลือกตั้งใครก็ได้ แต่ลองคิดอีกครั้งว่าหากเรามีการกำหนดว่าจะเลือกนักการเมืองคนนี้เพราะให้ผลประโยชน์กับแรงงานได้จริง
 
น้องมาลัย หนึ่งในผู้เข้าร่วมเล่าถึงความรู้สึกในการเข้าร่วมว่า การจัดการศึกษาทางการเมืองแบบนี้ไม่เคยได้เข้าร่วม รู้สึกว่าเป็นเวทีของตนเอง มีส่วนร่วมและได้รับความรู้จากนิทรรศการ และวิทยากร มุมมองว่าประชาธิปไตย แรงงานทุกคนควรมีส่วนร่วมมากกว่าการเลือกตั้งหย่อนบัตรเท่านั้น ควรมีการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมแสดงความคิดเห็น ตนทำงานในโรงงานไม่มีเวลาได้เรียนรู้ทำงานรวมการทำงานล่วงเวลาก็มากว่า 10 ชั่วโมงกลับถึงบ้านก็หมดแรง มีเพียงทีวีเป็นเพื่อนดูข่าวบ้าง
 
วันนี้ได้มีเวทีที่ให้ความรู้เห็นคนนั่งอยู่ใส่ชุดทำงานเลยเดินมาร่วมรับฟัง อยากให้เพื่อนๆได้เข้ามาเรียนรู้แบบนี้ ดีใจที่ไม่ได้ทำงานล่วงเวลา ได้ศึกษาเรื่องการเมือง เข้าใจว่ามันใกล้ตัว ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน การออกกฎหมายก็ควรให้ประชาชนได้รับรู้ด้วยเพราะทุกเรื่องเกี่ยวกับเรา ทั้งค่าจ้างที่ปรับการเมืองก็กำหนด ราคาสินค้าที่ปรับขึ้นสูงจนค่าจ้างไม่พอกิน
 
ทั้งนี้ ได้มีการตั้งคำถามต่อประเด็นการเมืองเกี่ยวกับแรงงานอย่างไร? ประชาธิปไตย คืออะไร หน้าที่พลเมืองคืออะไร? ใครคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ? การเสนอกฎหมายของแรงงานใช้ช่องทางใดบ้าง? ใครกำหนดเรื่องค่าจ้างแรงงาน และใครกำหนดราคาสินค้า? ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนพร้อมตอบคำถามจำนวนมาก และมีการซักถามต่อประเด็นที่สงสัย เช่นประเด็นการขยายประกันสังคมครอบคลุมแรงงานนอกระบบ การได้รับสิทธิ รวมถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพให้วิทยากรตอบคำถาม
 
โดยสรุปผู้เข้าร่วมได้ตอบคำถามต่อประเด็นการเมืองมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย การแจ้งเกิด การทำงานการกำหนดค่าจ้าง การกินอยู่ราคาอาหาร การรักษาพยาบาลทั้งประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แรงงานไม่ควรมองสิทธิพลเมืองแค่การเลือกตั้งเท่านั้น หน้าที่พลเมืองคือการเข้าไปตรวจสอบ เสนอแน่ มีส่วนร่วมทางการเมือง เช่นอาจเสนอกฎหมาย ฯลฯ 
 
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อฯ รายงาน