แรงงานหนุนชุมชนมักกะสันตั้งศูนย์เลี้ยงเด็ก หลังช่วยซ่อมแซมอาคาร

P7200253

กลุ่มเพื่อนแรงงานร่วมกับสหภาพแรงงาน ชุมชนมักกะสันซ่อมอาคารตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กเพิ่มอีกแห่ง เนื่องจากที่มีไม่พอรองรับเด็ก ชุมชนปลื้มมีที่ฝากลูกไม่แพงใกล้บ้าน เน้นพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน หวังดูแลเด็กให้เป็นคนดีในอนาคต

วานนี้ (20 กรกฎาคม 2556) กลุ่มเพื่อนแรงงาน ได้มอบอาคารศูนย์เลี้ยงเด็ก ให้แก่ชุมชนวิศวะ ริมทางรถไฟมักกะสัน โดยโครงการซ่อมแซมอาคารศูนย์เลี้ยงเด็ก  นายสพรั่ง มีประดิษฐ์ ประธานกลุ่มเพื่อนแรงงาน เล่าว่า การที่กลุ่มนำงบประมาณมาซ่อมแซมอาคารนี้นั้นเป็นความร่วมมือของสหภาพแรงงานรถไฟฯ ชุมชน และกลุ่มเองก็เห็นความสำคัญการให้การศึกษากับเด็กก่อนวัยเรียน และอยากให้พื้นที่ชุมชนทุกแห่งมีศูนย์เลี้ยงเด็ก จะได้ช่วยพ่อ แม่ ที่ต้องออกไปทำงานได้มีคนที่ไว้ใจมาดูแลลูก ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่มีรายได้น้อยไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายแต่ละวันอยู่แล้ว จึงไม่สามารถที่จะนำลูกไปฝากสถานเลี้ยงเด็กเอกชน การมีศูนย์เลี้ยงเด็กในชุมชนใกล้จึงจำเป็น และถือว่าเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กด้วยการดูแลของผู้ใหญ่ในชุมชน

กลุ่มเพื่อนแรงงานเป็นการรวมตัวกันของผู้นำแรงงาน ที่มีทั้งเกษียณอายุแล้ว และยังไม่เกษียณอายุ เพื่อการมีพื้นที่ทำงานด้านสังคม ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมโบว์ลิ่งการกุศล ได้งบประมาณมาแสนกว่าบาทและนำมาจัดกิจกรรมกลุ่มฯ การซ่อมแซมอาคารแห่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเช่นกัน

P7200252P7200260

นายบุลากร  ธรรมมาภานนท์ เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เดิมศูนย์เลี้ยงเด็กของพนักงานรถไฟมีอยู่หนึ่งแห่งที่กม. 11 ลาดพร้าว ซึ่งทางสหภาพแรงงานได้ร่วมกับผู้บริหารจัดสร้างขึ้นเพื่อจัดเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน แต่ด้วยทางสหภาพแรงงานเห็นความสำคัญว่าควรมีศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการทุกแห่ง จึงได้สำรวจความต้องการ และลงพื้นที่โดยมองมาที่พื้นที่ชุมชนมักกะสัน เนื่องจากเป็นพื้นที่กว้างมีชุมชนหลายแห่ง และมีเด็กเล็กจำนวนมาก และศูนย์เลี้ยงเด็กตรงชุมชนริมคลองแสนแสบก็มีเด็กจำนวนเกือบร้อยคนซึ่งแออัดมาก และในชุมชนวิศวะ ริมทางรถไฟนี้มีอาคารเก่าที่เหมาะสำหรับจัดทำเป็นศูนย์เลี้ยงเด็กอีกแห่ง จึงได้เสนอกับทางกลุ่มเพื่อนแรงงาน ที่มีการรวมกลุ่มของผู้นำแรงงานเพื่อการทำประโยชน์สาธารณะ และต้องการที่จะช่วยกันพัฒนาเรื่อง ศูนย์เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน จึงร่วมมือกับชุมชนช่วยกันซ่อมแซมอาคาร เพื่อทำเป็นศูนย์เลี้ยงเด็ก

นางสุมิตรา วุฒวารี ประธานชุมชนวิศวะ ริททางรถไฟ กล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้มีเด็กเล็กราว 30-40 คนที่พร้อมเข้ามาฝากที่ศูนย์เลี้ยงเด็กแห่งนี้ เดิมอาคารแห่งนี้เป็นการร่วมมือของชุมชนเพื่อส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียนในชุมชน เพื่อการจัดการศึกษาให้กับเด็ก เยาวชนที่ไม่สามารถเข้ารับการศึกษาในระบบปกติ ชุมชนเรานั้นส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มารับจ้างทำงานในเมือง มีทั้งคนไทย และคนต่างชาติ มีรายได้วันละ 200-300 บาท ซึ่งต้องไปจ้างคนเลี้ยงดูลูก พอโตดูแลตัวเองได้ก็ปล่อยไว้ตามบ้านซึ่งชุมชนก็ช่วยกันดูแลบ้าง ซึ่งหากมีศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้านทำให้พ่อ แม่ที่ต้องไปทำงานมีที่ฝากลูกที่ไม่แพง เพราะเดิมก็ต้องจ่ายวันละ 100 บาทขึ้นไป และเด็กยังได้รับการพัฒนาทักษะ เรียนหนังสือ เตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนในภาคปกติ และอยากพัฒนาให้เด็กได้อบอุ่นใกล้บ้าน ปลอดภัยจากอันตรายที่ไม่พึงประสงค์ เป็นเด็กดีในอนาคต ตอนนี้อาคารมีความพร้อมแล้วที่จะเปิดรับเด็ก แต่ศูนย์ฯยังขาดอุปกรณ์การเรียน ที่นอน เครื่องเล่น ครูอาสา เริ่มแรกคงใช้พี่ ป้า น้าอาในชุมชนมาช่วยกันดูแลเด็กไปก่อน

“ไม่อยากให้คนในสังคมภายนอกมองเด็กในชุมชนเป็นเด็กไม่ดี เพราะเวลารัฐ ตำรวจ ทหารเดินเข้ามาในชุมชนมักถามว่ามียาเสพติดในชุมชนไหม มีเด็กติดยา การศึกษาจะทำให้เขาได้รู้ผิด รู้ชั่ว รู้ดี เราจะช่วยกันดูแลเด็กๆแต่ยังเล็ก เพื่อพัฒนาการที่ดี” นางสุมิตรา วุฒวารี

P7200223P7200218

นางผุศดี วงศ์คำแหง สมาชิกสภาเขตราชเทวี กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่เห็นความร่วมมือของกลุ่มสหภาพแรงงาน กับการทำงานร่วมกับชุมชน และช่วยกันพัฒนาให้ชุมชนเกิดศูนย์เลี้ยงเด็ก เป็นการพัฒนาอนาคตของชาติ ทางเขตมีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนบุคลากรครูมาประจำศูนย์

พ.ต.ต.อดิศัย สุภัทโรภาสพงศ์ สถานีตำรวจรถไฟ กล่าวว่าการที่มีการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนนั้นถือว่า ช่วยให้เด็กได้รับการศึกษา ส่งเสริมการพัฒนาทางสมอง  และเป็นการดูแลด้วยชุมชนที่สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเด็ก เป็นสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งตนเองก็มีแนวคิดที่จะสร้างสวนให้เด็กได้มีที่วิ่งเล่นในสถานีตำรวจ เพราะว่าอยู่ใกล้กับชุมชนแต่ก็ต้องรอดูความพร้อมของสถานที่ก่อน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน