แรงงานสยามโตโยต้า จัด“ภาวะโลกร้อนคืออะไร เกี่ยวกับแรงงานตรงไหน”

สรุปการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศักยภาพผู้นำแรงงาน “ภาวะโลกร้อนคืออะไร เกี่ยวกับแรงงานตรงไหน” จัดโดย สหพันธ์แรงงานโตโยต้า ร่วมกับ สหภาพแรงงานสยามโตโยต้า มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องประชุมสหพันธ์แรงงานโตโยต้า อมตะนคร จ.ชลบุรี

นายสกล สว่างพระศรีอารย์     เลขาธิการสหภาพแรงงานสยามโตโยต้า กล่าวต้อนรับและกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดอบรมว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์โลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบไปทั่ว อุตสาหกรรมการผลิตมีการปรับตัว จึงต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรวมทั้งแรงงาน และหวังจะให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างแรงงานกับภาคส่วนต่างๆในการลดภาวะโลกร้อนและทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อแรงงานในช่วงการเปลี่ยนผ่าน

นางสาวปรีดา ศิริสวัสดิ์ จากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ (FES) กล่าวแนะนำ FES ว่า เป็นมูลนิธิของเยอรมนี ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำสหภาพแรงงานที่มีโอกาสได้เป็นประธานาธิบดีของเยอรมนี โดย FES ส่งเสริมเรื่องการศึกษาเรื่องการรวมกลุ่มของแรงงานเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการยกระดับคุณภาพชีวิต

โดยที่ในปัจจุบัน สหภาพแรงงานทั่วโลกพูดคุยกันเรื่องนโยบายลดโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อแรงงาน ซึ่งโลกร้อนเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไร้พรมแดน เกิดขึ้นที่ใดก็จะส่งผลกระทบไปที่อื่นด้วย ทั้งยังเกี่ยวข้องกับเรื่องการค้าการผลิตซึ่งก็เกี่ยวข้องกับแรงงานด้วย และในทางสากลก็มีข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบด้วย FES ซึ่งทำงานกับสหภาพแรงงานหลายประเทศจึงส่งเสริมความรู้เรื่องโลกร้อนและการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยหวังว่าจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย (มพร.) กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยนำเสนอเรื่องราวคุณค่าของแรงงานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนจาก FES มาโดยตลอด เรื่องโลกร้อนส่งผลกระทบต่อแรงงานหลายด้าน แต่เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย จึงร่วมกันกับหลายองค์กรแรงงานจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้เกิดความตระหนักขึ้นในสังคมไทย

นายธนัสถา คำมาวงษ์ ประธานสหภาพแรงงานสยามโตโยต้า และกรรมการบริหารสหพันธ์แรงงานโตโยต้า กล่าวเปิดงาน ขอบคุณ FES, มพร. ที่สนับสนุนการจัดอบรมครั้งนี้ และขอบคุณสมาชิกที่สละเวลาวันหยุดมาเข้าร่วมอบรม ซึ่งหลายคนคงตระหนักดีว่า ขณะทำงานอากาศร้อนกว่าแต่ก่อนมาก การอบรมครั้งนี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดความรู้ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและครอบครัว

นายธนัสถา บรรยายเรื่อง “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์ก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายและมาตรการของภาครัฐกับกลไกการลดก๊าซเรือนกระจก” ว่า

สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเกิดจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งที่เป็น เกษตรกร ลูกจ้าง ผู้ประกอบการ อาชีพอิสระ และภาครัฐ โลกร้อนทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น เกิดโรคระบาดรุนแรง

จากนั้นมีการฉายวิดีโอเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน ที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมานับร้อย

ปีที่มีการนำถ่านหินและน้ำมันมาใช้จำนวนมากทำให้เกิดภาวะโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากขึ้นทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ทั้งน้ำท่วม แล้งจัดหนาวจัด ภัยจากคลื่นความร้อน ฯลฯ

ส่วนภาวะโลกร้อน ก็หมายถึงการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น อันเกิดจากการที่มนุษย์ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ใช้สารเคมีที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ปิดกั้นการสะท้อนกลับออกไปของความร้อนจากดวงอาทิตย์ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกก็มีหลายชนิด เช่น คาร์บอนไดออกไซด์เกิดจากควันไอเสีย มีเทนเกิดจากขยะสิ่งปฏิกูล สาร CFC เกิดจากการผลิตอุตสาหกรรมทำความเย็น เป็นต้น

ส่วนสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโลกนี้ ประเทศจีนเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคืออเมริกา ส่วนไทยเป็นลำดับที่ 22 คิดเป็น 0.9% หรือเท่ากับ 2 แสนเจ็ดหมื่นกว่าเมตริกตัน

จากวิกฤตโลกร้อน ทำให้เกิดข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆในความพยายามที่จะทำให้โลกไม่ร้อนมากขึ้น

นายวิชัย นราไพบูลย์ เป็นผู้บรรยายเรื่อง การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม หรือ Just Transition โดย เริ่มจากกล่าวถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า มีตั้งแต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจในสาขาเกษตร พลังงาน กาขนส่ง อุตสาหกรรม และก่อสร้าง ผลกระทบด้านสุขภาพที่อากาศร้อนทำให้เจ็บป่วยง่าย ทำงานลำบาก ทำงานได้น้อยลง และทำให้แรงงานต้องเคลื่อนย้ายถิ่น

แต่นโยบายลดโลกร้อนก็มีทั้งด้านบวกและลบ กล่าวคือ มีทั้งที่ทำให้เกิดงานประเภทใหม่ๆ เช่นในสาขาพลังงานจากธรรมชาติ งานที่ถูกแทนที่เช่นเกิดระบบราง รถไฟฟ้า งานที่หายไปเช่นเหมืองถ่านหิน และงานที่ต้องปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานให้ทันกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสีเขียว

ส่วนแนวนโยบายปฏิบัติเกี่ยวกับแรงงานในการลดโลกร้อนในระดับสากลนั้น ประกอบด้วย การชดเชย การฝึกอาชีพเพิ่มทักษะ การมีมาตรการคุ้มครองทางสังคม และโอกาสการเจรจาต่อรองของผู้ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

ส่วนเรื่อง Just Transition นั้น พัฒนาจากแนวคิดการช่วยเหลือทหารผ่านศึกที่ตกงานจนมาเป็นการช่วยเหลือทางด้านแรงงาน นิยามของ Just Transition คือ ไม่ผลักภาระให้ใคร ไม่มีใครได้ฝ่ายเดียว เสียฝ่ายเดียว นโยบายเพื่อลดภาวะโลกร้อนต้องมีความเป็นธรรมต่อคนงาน ช่วยสร้างงานที่ดี งานที่มีคุณค่า และมีมาตรการคุ้มครองทางสังคม

เรื่องนโยบายลดโลกร้อนมีการรณรงค์จากสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC)จนมีการกำหนดเรื่อง Just Transition ไว้ในข้อตกลงปารีส(เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) รวมทั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ก็ยอมรับ ซึ่งแนวปฏิบัติเรื่อง Just Transition  ของ ITUC เช่น สร้างงานและสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเมินผลกระทบของนโยบายปกป้องสิ่งแวดล้อม ชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ มีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างกว้างขวาง ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใหม่ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ มีการคุ้มครองทางสังคม คุ้มครองเศรษฐกิจของชุมชน เป็นต้น

ทั้งนี้มีตัวอย่างในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก และเยอรมนี ที่สหภาพแรงงานเข้าไปมีส่วนในการเจรจาต่อรองจนเกิดผลดีต่อแรงงาน ทั้งเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น การดูแลแรงงานในสาขาที่ต้องเลิกไปให้ได้รับความเป็นธรรม เช่น มีการฝึกอาชีพพัฒนาทักษะสำหรับงานใหม่ การชดเชยและการมีบำนาญที่เป็นธรรม

การแบ่งกลุ่มย่อยในหัวข้อ “กิจกรรมลดโลกร้อนในโรงงาน”

รายงานของกลุ่มต่างๆ โดยสรุปคือ

  • การนั่งรถรับส่งพนักงาน โดยไม่ใช้รถส่วนตัว
  • ใช้รถจักรยานแทนรถมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์
  • การคัดแยกขยะ กินอาหารไม่ให้เหลือเป็นขยะ
  • ลดการใช้วัสดุสิ้นเปลือง เช่น ถุงมือ ผ้าเช็ด กระดาษ
  • การปิดไฟ ปิดแอร์ ปิดพัดลม เมื่อเลิกงาน
  • ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติค
  • ปลูกต้นไม้ในโรงงาน
  • ฯลฯ

ช่วงท้ายเป็นการเฉลยแบบทดสอบความรู้ ซึ่งเหมือนเป็นการสรุปให้ผู้เข้าร่วมการอบรมได้รู้ถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากการที่โลกร้อนขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ และส่งผลกระทบต่อทุกคนรวมทั้งผู้ใช้แรงงาน จึงต้องมีมาตรการดูแลแรงงานที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายลดโลกร้อน