The Institute for International Workers Education (IIWE) จัดการศึกษาเรียนรู้การเจรจาทางสังคม Social Dialogue

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561  มีการจัดสัมมนาและเรียนรู้เรื่องการเจรจาทางสังคม (Social Dialogue) ระหว่างสหภาพแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับสหภาพแรงงานยุโรป  โดยสรุปได้ดังนี้
สหภาพแรงงานในยุโรปมีแผนกศึกษาและวิจัย เป็นแผนกที่ทำงานด้านข้อมูล เพื่อองค์กรสหภาพสามารถวางแผนงานระยะยาว ระยะกลาง ระยะสั้น โดยเฉพาะการรณรงค์ในเรื่องที่มีความสำคัญต่อคนงานกลุ่มต่างๆ
สหภาพแรงงานในกัมพูชาและพม่าบอกว่า “พวกเขายังไม่มีแผนกศึกษาวิจัย แต่ใช้ที่ปรึกษารายบุคคล เป็นคนให้คำแนะนำในด้านยุทธศาสตร์ของสหภาพ”

สหภาพแรงงานในเอเชียหลายประเทศ กล่าวว่า ประสบการณ์ของพวกเขาที่ผ่านมาคือ พวกเขาต้องการการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ต่อประเด็นปัญหาต่างๆ รวมถึงเมื่อเกิดความขัดแย้งทางด้านแรงงาน แต่หลายครั้งพวกเขาถูกปฏิเสธการเจรจา  สำหรับเรื่องนี้ สหภาพแรงงานยุโรป เสนอว่าการเจรจาที่ดีนั้นทุกฝ่ายต้องมีเจตนาที่จะแก้ไขความขัดแย้ง การเจรจาทางสังคม (Social Dialogue) เป็นกลไกสำหรับสหภาพ นายจ้าง และรัฐ ในการทำงานร่วมกันซึ่งจะเป็นการช่วยลดการเผชิญหน้าและความตึงเครียดที่มีต่อกัน

การเจรจาทางสังคม (Social Dialogue) จะได้ผลต่อเมื่อทุกฝ่ายต้องเห็นคุณค่า มีความเข้าใจเหมือนกัน และช่วยกันอำนวยให้มันเกิดขึ้น  อาทิเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน หรือปรับโครงสร้างองค์กร ผู้แทนนายจ้างและสหภาพแรงงานต้องประชุมกันและหาทางออกร่วมกัน ผลจากการประชุมหรือการเจรจากัน นำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกัน เช่นการันตีว่าจะไม่ลดค่าจ้างหลังการปรับโครงสร้าง รวมถึงข้อตกลงที่เกี่ยวกับคนงานซับคอนแทรค

การเจรจาทางสังคม (Social Dialogue) ยังรวมถึงการเปิดเผยข้อมูล อาทิ ทิศทางการดำเนินงานของบริษัท แผนงานในอนาคตของบริษัท

การเจรจาทางสังคม (Social Dialogue) จะใช้ได้ผลดี  ผู้แทนทุกฝ่ายต้องมีความรู้และมีทักษะการเจรจาที่ดี  รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมและช่วยอำนวยความสะดวก

การเจรจาทางสังคม (Social Dialogue) ไม่ได้ใช้เพื่อคุยกันในเรื่องทางเศรษฐกิจหรือกิจกรรมสหภาพแรงงานเท่านั้น แต่เป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ความเท่าเทียมทางสังคม สันติภาพและประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

ด้านสหภาพแรงงานยุโรปเสนอว่า การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายของคนงานในบรรษัทข้ามชาติและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในบรรษัทข้ามชาติและในห่วงโซ่อุปทาน  บรรษัทข้ามชาติหลายบรรษัทมีซัพคอนแทรกเตอร์จำนวนมาก เราจะใช้รูปแบบการเจรจาทางสังคม (Social Dialogue)และแนวคิดเรื่องห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อย่างไรเพื่อทำให้เกิดความสมดุล

รูปธรรมของการเจรจาทางสังคม (Social Dialogue) ที่สหภาพแรงงานยุโรปได้ทำสำเร็จล่าสุด คือการเจรจาและทำข้อตกลงเรื่องความสัมพันธ์การจ้างงาน โดยบริษัทที่ทำหน้าที่ส่งอาหารให้กับลูกค้าตามบ้านเข้าสู่ข้อตกลงกับสหภาพแรงงานทำให้คนงานที่ขี่มอเตอร์ไซด์ส่งอาหารตามบ้านได้รับการคุ้มครองจากข้อตกลงสภาพการจ้างคนงานขนส่ง

สหภาพแรงงานในยุโรปขณะนี้ได้ทำงานสร้างเครือข่ายไปถึงคนงานตามบ้านและที่ทำงานในบ้าน (Domestic workers) และล่าสุดคือเครือข่ายคนงานข้ามชาติ (Migrant workers)

มุมมองของนักสหภาพแรงงานต่อคนงานข้ามชาติคือคนงานทุกคนเป็นคนงานไม่ว่า พวกเขาจะมาจากที่แห่งใดและเป็นภารกิจของสหภาพแรงงานในการทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนนของคนงานข้ามชาติทุกคน

นักสหภาพแรงงานยุโรปฝากถึงนักสหภาพแรงงานในประเทศไทยว่า เป็นเรื่องดีที่คนงานจะต้องสื่อสารกันให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ชายแดนทุกประเทศเปิด คนงานเดินทางมาทำงานจากหลายประเทศ ทักษะการสื่อสารและภาษาเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงกันและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

สหภาพแรงงานยุโรปได้ยกตัวอย่างการเรียนรู้ระหว่างสหภาพแรงงานอินโดนีเซียและบราซิล อาทิ ในอุตสาหกรรมโรงแรม ซึ่งมีการรีไซเคิลของเสียและแปลงของเสียให้เป็นเงินสวัสดิการสำหรับคนงาน การรีไซเคิลของเสียดังกล่าวยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยสหภาพแรงงานสามารถบรรจุเป็นข้อตกลงสภาพการจ้าง เรื่องการรีไซเคิลของเสียเพื่อนำไปใช้ในการเกษตรและนำไปสู่การเพิ่มสวัสดิการให้กับคนงาน

(report by Aranya Pakapath)