แรงงานยานยนต์ หวั่นหุ่นยนต์ รุกการจ้างงาน


ผู้นำแรงงานยานยนต์ ชี้เทคโนโลยีใหม่กระทบต่อการจ้างงาน และการรวมตัวเจรจาต่อรอง เห็นร่วมการชุมนุม นัดหยุดงานไม่ใช่ทางออกสหภาพแรงงานต้องสร้างรูปแบบแรงงานสัมพันธ์ใหม่ ต่อรองสภาพการจ้าง 

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 สหภาพแรงงานฮอนด้าประเทศไทยได้จัดเสวนา “ปัญหาและสถานการณ์ทางด้านแรงงานในธุรกิจยานยนต์” โดยเป็นโครงการอบรมสัมมนาสมาชิกสหภาพแรงงานฮอนด้าประเทศไทย ที่ออโรร่าริสอร์ทเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

นายสมศักดิ์ สุขยอด รองประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สหภาพแรงงานฮอนด้าถือว่าเป็นต้นแบบขององค์กรแรงงานยานยนต์ มีการก่อตั้งมีประวัติศาสตร์มายาวนาน มีระบบการเงินเข้มแข็ง เก็บค่าบำรุงเป็นเปอร์เซนต์เป็นแห่งแรก ในส่วนของสหภาพแรงงานโตโยต้านั้นเด่นเรื่องแรงงานสัมพันธ์ส่วนมิซูบิชิหรือมาสด้านั้นต้องต่อสู้ด้านแรงงานค่อนข้างเข้มข้น

“ปัจจุบันเรื่องแรงงานสัมพันธ์ในกลุ่มยานยยนต์ดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้น เช่นการเลิกจ้าง รวมทั้งเรื่องการเจรจาต่อรองที่ขึ้นอยู่ กับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการผลิต สถานการณ์การรวมตัวของแรงงานยานยนต์วันนี้ ถือว่า สภาแรงงานยานยนต์รวมกลุ่มองค์กรแรงงานยานยนต์ยี่ห้อต่างๆมากที่สุด ส่วนการต่อสู้อาจใช้วิธีเก่าๆ เช่นการชุมนุม ปราศรัย นัดหยุดงานไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งต้องหาวิธีใหม่ๆ สหภาพแรงงานในกลุ่มยานยนต์มีทั้งแบบสถานประกอบการเดียวและแบบอุตสาหกรรมการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเปลี่ยนไป จากการมีรถไฟฟ้า มีหุ่นยนต์มาทำงานแทนคน ซึ่งสหภาพแรงงานต้องหาวิธีรับผลกระทบ สหภาพแรงงาน GM ซูซูกิ หนักสุด มีการเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงาน ส่วนสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าปัจจุบันแรงงานสัมพันธ์ดีขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายลาเร่ อยู่เป็นสุข ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประทศไทยนั้นมีสมาชิก 9,400 คน จาก 13 บริษัท และ 20 Plant ใน 6 จังหวัด องค์กรแรงงานยานยนต์เดิมทั้งผู้ผลิต และชิ้นส่วนยานยนต์รวมตัวกันอยู่ในสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมามีการแยกไปตั้งสภาแรงงานยานยนต์ ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ งานวิจัยและพัฒนามีมูลค่าสูงสุด รองลงมาคือการออกแบบ วัตถุดิบ การผลิตการประกอบมูลค่าต่ำสุด ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตสำคัญเพราะค่าแรงต่ำมาก เมื่อผลิตเสร็จมูลค่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากผลผลิต การตลาด การจำหน่าย การเปลี่ยนแปลงในธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ จะเริ่มใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิต การนำเข้าหุ่นยนต์มาทำงานแทนคน และอนาคตจะมีรถระบบไฟฟ้า ซึ่งระบบจะเป็นอัตโนมัติที่ใช้คนน้อยลงในสายพานการผลิต ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์จะกระทบมาก

“สหภาพแรงงานจะมีความเข้มแข็ง มีหลายองค์ประกอบการรวมตัวต้องมีความรู้ความสามารถ มีจำนวนสมาชิกมากเพื่อสร้างอำนาจต่อรองสูง มีกระบวนการสร้างผู้นำแรงงานรุ่นใหม่ๆและต้องมีค่าบำรุ่งที่มากเพียงพอคือจัดเก็บค่าบำรุงเป็นระบบเปร์เซนต์ การต่อสู้แบบเดิมๆ คือการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาต่อรอง การนัดหยุดงานอาจใช้ไม่ได้ผล เพราะบริษัทมีการจัดการเรื่องระบบออเดอร์และการสต็อกผลผลิต ใช้ระบบการจ้างงานซับคอนแทรคแทนลูกจ้างประจำอีกด้วย” นายลาเร่ กล่าว

นายวสันต์ มหิง รองประธานสหภาพแรงงานฮอนด้าประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การผลิตรถยนต์เก๋งฮอนด้าถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย และมีผลกำไรหลายพันล้านบาท รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ 1.75 ล้านคัน  ยี่ฮ้อฮอนด้า 1.3 ล้านคัน สถานการณ์การผลิตของฮอนด้านั้นดีขึ้น มีผลผลิตเพิ่มขึ้น คนงานทำงานหนักขึ้น และคิดว่ามีกำไรมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสหภาพแรงงานจะมีการวิเคราะห์ผลประกอบการเพื่อจัดทำข้อเรียกร้อง เพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างความเจริฐเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือGDPให้กับประเทศ

นายประสิทธิ์ ปาตังคะโร ผู้อำนวยการกลุ่มงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้ง กรมสวัสดิการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เห็นว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน ซึ่งการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให่เกิดการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมไปตามชายแดน เพื่อใช้แรงงานข้ามชาติมากขึ้น ปัญหาแรงงานเกิดจากสาเหตุการบริหารจัดการที่มีการรวมตัวของแรงงานขึ้นมา โดยอาจเกิดจากการใช้อำนาจของการบริหารสมัยใหม่มากกว่าใช้ธรรมาภิบาล พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงในวันนี้ คือ สถานการณ์ที่จังหวัดปราจีนบุรี ที่ผู้บริหารงานบุคคลส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ร้อนแรง ยึดแนวทางใช้อำนาจ และประเทศไทยมีสหภาพแรงงาน 1,400 แห่ง จาก 3 แสนสถานประกอบการคิดเป็นร้อยละ 0.4 ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยมาก

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน