แพะรับบาป

2

แพะรับบาปเป็นสำนวนที่หมายถึงคนที่รับเคราะห์กรรมแทนผู้อื่นที่ทำกรรมนั้น ก็เลยสงสัยว่าทำไมต้องเป็นแพะ และทำไมแพะต้องรับบาป เลยไปสืบค้นที่มาของสำนวนนี้ ซึ่งในพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับบัณฑิตยสถาน ได้อ้างถึงคัมภีร์ของชาวอิสราเอล ซึ่งเดิมทีมีอาชีพเลี้ยงแพะและแกะ จึงใช้แพะเป็นส่วนหนึ่งในพิธีวันลบบาปประจำปี ซึ่งเริ่มพิธีด้วยปุโรหิตจะใช้วัวบูชายัญแด่พระเป็นเจ้าเพื่อถ่ายบาปให้ตนเองและครอบครัว จากนั้นจะนำแพะ 2ตัว มาถวายพระเป็นเจ้า แล้วจับฉลากให้มีตัวหนึ่งรอด ตัวหนึ่งต้องตาย ตัวที่ตายคือแพะที่ใช้บูชายัญเพื่อไถ่บาปของประชาชน ส่วนตัวที่รอดก็ถวายพระเป็นเจ้าทั้งที่มีชีวิตอยู่ แล้วทำพิธีลบบาปโดยยกให้บาปไปตกที่ตัวแพะแล้วปล่อยให้เข้าป่าไป ให้แพะนำพาบาปนั้นให้หายไปในที่สุด แพะตัวนี้ เรียกว่า“แพะรับบาป” ส่วนอีกที่มาเขาบอกว่า ฝรั่งที่เลี้ยงแกะมักจะเลี้ยงแพะปะปน  ไปด้วยเพื่อช่วยรักษาจำนวนแกะเอาไว้ เนื่องจากแพะเวลาตกใจ กระดูกข้อต่อของมันจะล็อคและวิ่งต่อไปไม่ได้ เวลาหมาป่าจะเข้ามากินแกะ แพะก็จะกลายเป็นเหยื่อแทน เนื่องจากแกะมีราคาแพงกว่า

สำนวนแพะรับบาปนี้ น่าจะเข้ากันได้ดีกับเหตุการณ์ที่บริษัทค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่เปิดโครงการจากกันด้วยใจ เพราะดูแล้วมีที่มาใกล้เคียงกับที่มาของสำนวนแพะรับบาป เพราะลูกจ้างที่ถูกเลือกให้เข้าโครงการก็คือลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ที่เข้าไปทำงานปะปนกับลูกจ้างประจำของบริษัทฯ ซึ่งแม้จะมีการกล่าวว่าได้ปฏิบัติต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเสมือนเป็นลูกจ้างประจำ ซึ่งผู้เขียนไม่ขอก้าวล่วงในส่วนนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความมั่นคงในการทำงานนั้นไม่เท่ากัน เพราะลูกจ้างรับเหมาค่าแรงคือผู้รับเคราะห์ที่มักถูกเลือกก่อนเสมอ ในทุกครั้งที่มีการอ้างถึงวิกฤติทางเศรษฐกิจ ไม่ต่างอะไรกับแพะที่เอามาเลี้ยงปนกับแกะเพื่อให้หมาป่าเลือกกินแพะ หรือในส่วนที่เป็นลูกจ้างประจำที่ยังคงทำงานอยู่ต่อไปก็อาจจะดูเหมือนแพะที่จับฉลากให้รอดเพื่อทำพิธีลบบาป  ส่วนลูกจ้างรับเหมาค่าแรงก็จะเหมือนแพะที่ถูกจับฉลากให้ตายเพื่อนำมาทำพิธีบูชายัญ  เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ใช่พึ่งจะเกิด แต่เกิดขึ้นปล่อยครั้งเกิดขึ้นซ้ำๆและยังคงเกิดขึ้นอยู่ เพียงแต่เหตุการณ์นี้เกิดกับบริษัทฯยักษ์ใหญ่ที่มีภาพพจน์ที่งดงามในทางสังคม จึงมีกระแสออกมาค่อนข้างแรงทั้งด้านบวกและด้านลบ

ผู้เขียนนึกถึงคำประกาศแห่งฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นการประกาศวัตถุประสงค์เจตนารมณ์ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งข้อแรกได้กล่าวไว้ว่า “แรงงานไม่ใช่สินค้า” ทำให้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับธุรกิจรับจ้างเหมาแรงงาน เพราะเห็นว่าธุรกิจประเภทนี้มีรายได้มาจากการค้าขายมนุษย์ เพียงแค่มีนายทุนต้องการหาคนงานที่ไร้อำนาจต่อรอง ควบคุมง่าย ไม่ต้องมารับผิดชอบใดๆเพราะไม่ใช่นายจ้างโดยตรง แม้มีกฎหมายที่ไม่ให้เลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรง แต่ก็มีเพียงไม่กี่แห่งที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงยังคงไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด หากคิดจะเรียกร้องสิทธิให้เป็นไปตามกฎหมาย อนาคตอันใกล้ก็คือจะถูกส่งตัวคืนต้นสังกัด ซึ่งในทางกฎหมายก็ยังมีการตีความที่แตกต่างกันว่าการส่งตัวคืนต้นสังกัดนั้นถือเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ นี่ยังไม่รวมเรื่องการตีความว่าสิทธิประโยชน์ใดบ้างที่ต้องจ่ายให้เท่ากัน ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหาอีกเลยถ้าไม่มีธุรกิจประเภทรับจ้างเหมาแรงงาน ถ้าเห็นคนงานมีคุณค่า ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่คิดว่าจะจ้างคนงานเพื่อลดความรับผิดชอบ ลดอำนาจต่อรองของลูกจ้าง ธุรกิจจ้างเหมาแรงงานก็ไม่มีความจำเป็น ถึงเวลาหรือยังที่จะยกเลิกการค้ามนุษย์ในรูปของธุรกิจรับจ้างเหมาแรงงาน และถึงเวลาที่กระทรวงแรงงานจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมได้หรือยัง

ยาจกปู..