แถลง กรณีกรรมการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลลาออก

ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม  วันนี้ 26 พ.ย. 2559 มีการแถลงข่าวของนักวิชาการ 4 ใน 7 ท่าน ที่ได้ยื่นจดหมายขอลาออกจากคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล  โดยมี อ.สุนี ไชยรส วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต     อ.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล  คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  อ.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการด้านประมง และ อ.พรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักวิชาการด้านสังคม พร้อมมีผู้สังเกตุการณ์จากสำนักนายกรัฐมนตรี และ ทหารจากหน่วยกิจการพลเรือน ร.1 พัน 2 รอ. มาร่วมรับฟังด้วย

อ.สุนี ไชยรส ได้นำเสนอเหตุผลของการลาออกของกรรมการทั้ง 7 คนว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้เกิดจากการผลักดันของชาวบ้านปากมูล เพื่อให้เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมาถึง 25 ปี  โดยคณะกรรมการฯ มีองค์ประกอบจากนักวิชาการในสาขาต่างๆ ร่วมกับผู้แทนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีตัวแทนของชาวบ้าน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีการดำเนินการประชุมและลงพื้นที่หลายครั้ง เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหาการจัดการเขื่อนปากมูลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะเฉพาะหน้าได้มีการร่วมกันกำหนดเกณฑ์การเปิดและปิดเขื่อนปากมูลที่มีความชัดเจน และใช้เป็นฐานในการดำเนินการจัดการเขื่อนตลอดช่วงปี พ.ศ. 2558 และใช้ต่อเนื่องมาสำหรับปี 2559 โดยไม่มีปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ต่อมา จึงได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการอีก 4 ชุด คือ (ก) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล (ข) คณะอนุกรรมการศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างบันไดปลาโจนหรือคลองเทียม หรือระบบวิศวกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงอพยพเข้าและออกจากลำน้ำมูลได้ตามธรรมชาติ (ค) คณะอนุกรรมการส่งเสริมอาชีพ และฟื้นฟูวิถีชีวิตของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจาการก่อสร้างเขื่อนปากมูล และ (ง) คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูลตามหลักมนุษยธรรม เพื่อเป็นกลไกการดำเนินงานและการหาทางออกในระยะยาว

แต่ในวันที่ 20 ตค. 2559 ทางคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและกฟผ.ได้มีมติให้ปิดเขื่อน ทั้งที่เป็นการฝ่าฝืนมติคณะกรรมการอำนวยการ เนื่องจากเป็นการปิดเขื่อนทั้งที่ระดับน้ำและอัตราการไหลของน้ำยังอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นอย่างมาก

ทางกรรมการทั้ง 7 คนมีความเห็นร่วมกันว่า การไม่ทำตามมติคณะกรรมการชุดใหญ่ จะมีผลให้การแก้ปัญหาไม่มีบรรทัดฐาน การดำรงอยู่ของคณะกรรมการฯ ก็จะไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน และ สร้างความขัดแย้งให้ยืดเยื้อต่อไป จึงได้มีหนังสือเสนอต่อ รมต. สำนักนายกรัฐมนตรี มล.ปนัดดา ดิศกุล ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ ขอให้จัดให้มีการประชุมโดยเร่งด่วน เพื่อพิจารณาการฝ่าฝืนมติกก.อำนวยการของคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ 

ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล ชี้แจงถึงเกณฑ์การเปิดปิดเขื่อนตามมติคณะกรรมการฯ ที่มีมติไว้ในปี 2558 ดังนี้คือ เกณฑ์การเปิดประตูเขื่อน เมื่ออัตราการไหลของน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตย ในจังหวัดอุบลราชธานี สูงกว่า 500 ลบ.ม./วินาที หรือ ระดับน้ำที่วัดห้วยสะคาม ท้ายเขื่อนปากมูลสูงกว่าระดับ 95 ม.รทก. และ เกณฑ์การปิดประตูเขื่อน เมื่ออัตราการไหลของน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตย ในจังหวัดอุบลราชธานี ต่ำกว่า 100 ลบ.ม./วินาที หรือ ระดับน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตย ต่ำกว่าระดับ 107 ม.รทก. โดยในส่วนการดำเนินงานในปี 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการได้มีมติมอบหมายหน้าที่ให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล บริหารและวิเคราะห์ความเหมาะสม การเปิดและปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล โดยยึดหลักเกณฑ์ปี 2558 มาเป็นแนวทางปฏิบัติ และให้นำปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2558 มาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ก็ได้ดำเนินงานในส่วนการเปิดเขื่อนที่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่อย่างไรก็ดี ในวันที่ 20 ตค. 2559 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ กลับได้มีมติให้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ดำเนินการปิดเขื่อนปากมูล โดยที่ระดับน้ำและอัตราการไหลของน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตยในวันนี้ อยู่ที่ระดับ 111.4 ม.รทก. และ 1975 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเป็นระดับน้ำที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดมากถึง 4.4 เมตร และ มีอัตราการไหลสูงกว่าเกณฑ์เกือบ 20 เท่า

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ได้เพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับมติคณะกรรมการอำนวยการฯ ที่ได้มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการคลองเทียมฯ ว่าเป็นเพราะบันไดปลาโจนของเขื่อนปากมูลที่มีอยู่ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ปลาสามารถผ่านไปได้น้อยมาก ทำให้กระทบต่อปลาและวิถีชีวิตของประชาชน จึงควรแก้ไขโดยการจัดให้มีการศึกษาและลงทุนจัดสร้าง คลองเทียม หรือ ทางปลาผ่าน ที่มีการทำมาแล้วในหลายประเทศ ซึ่งจะเป็นทางแก้ปัญหาที่ถาวรและสามารถลดความขัดแย้งได้ดีกว่า

อ.สุนี ย้ำว่า กรรมการทั้ง 7 คน ลาออกเพราะเห็นว่า ไม่สามารถผลักดันการแก้ปัญหาได้จริง และต้องการบอกรัฐบาลให้มีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาปากมูลมากกว่านี้ ถ้ากรรมการอำนวยการฯ มีมติที่ผ่านการแลกเปลี่ยนจริงจังทุกฝ่าย แล้วจังหวัดฯหรือ กฟผ. ไม่ปฏิบัติตาม ก็จะเหมือนพายเรือในอ่าง ต้องขัดแย้งต่อเนื่องกันไปทุกปี และ ชาวบ้านปากมูลก็คงยังต้องรับภาระความเดือดร้อนต่อไป