เสวนา ขบวนการแรงงาน พลัง เอกภาพ และความเชื่อมั่น

12088300_1651494915090673_6495428360736445922_n
มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดงานเสวนาเรื่อง ” ขบวนการแรงงาน : พลัง เอกภาพ และความเชื่อมั่น ?” ในโอกาสครบรอบ 22 ปี การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2558 ที่โรงแรมอีสติน มักกะสัน กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมจากองค์กรแรงงานต่างๆกว่า 100 คน ซึ่งในภาคเช้าเป็นการเสวนาของผู้นำที่ทำงานมานาน ส่วนภาคบ่ายเป็นวงเสวนาของผู้นำแรงงานรุ่นหลังๆ

ทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวในการเปิดงานว่า ทุกวันนี้ช่องว่างในสังคมและความไม่เป็นธรรมในชนชั้นแรงงานมีมากจึงต้องสร้างพลังถ่วงดุล ประกอบด้วย สร้างทุนเป็นฐาน เศรษฐกิจ สร้างทุนทางปัญญา และสร้างเอกภาพความสามัคคี โดยต้องมีเป้าหมายร่วม มองข้ามประโยชน์ส่วนตัว ไม่มองกันในแง่ร้าย พยายามแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างเพื่อเชื่อมพลังสร้างเอกภาพในขบวนการแรงงาน

1445170220605สตีเน่อ คลัพเพอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ร่วมกล่าวช่วงเปิดงานว่า ทุกคนคงเชื่อร่วมกันว่าต้องมีการจัดตั้งจึงจะทำให้เกิดเอกภาพ เกิดความสมานฉันท์ มีพลังในการปกป้องคุ้มครองแรงงาน ทุกวันนี้แรงงานได้รับความกดดันจากทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ และจากภายใน ซึ่งก็คือสภาพการจ้างงานที่เลวร้ายในแต่ละประเทศ แนวทางขจัดปัญหาที่ดีสุดคือรวมตัวแก้ปัญหาร่วมกัน ถ้าเป็นองค์กรใหญ่ มีเอกภาพก็จะมีพลังมาก มีอำนาจต่อรองมาก ช่วยยกระดับสภาพการทำงานให้ดีขึ้นได้ ความสมานฉันท์ก็ต้องไม่จำกัดแต่ในสถานประกอบการของตัวเอง ขบวนการแรงงานไทยต้องเป็นหนึ่งเดียวจึงจะบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากเพราะการจัดตั้งของสหภาพก็มีข้อจำกัด การทำงานสหภาพจึงต้องมีใจมุ่งมั่นเพื่อให้ประสบความสำเร็จ

ชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้แรงงานไม่มีขบวนแล้ว แม้มีหลายกลุ่มแต่ก็เหมือนรถไฟที่ถูกแยกออกเป็นโบกี้ ตนเองทำงานตั้งแต่ยุคที่มีแค่ 4 สภาองค์การลูกจ้าง เห็นความแตกแยก ผู้นำทะเลาะกันตลอด แต่ก็ยังเป็นขบวนอยู่เพราะเมื่อมีประเด็นปัญหาแรงงานสำคัญๆ ผู้นำก็จะลืมความบาดหมางหันมาจับมือต่อสู้ปัญหาแรงงานร่วมกัน จึงเห็นว่าทุกวันนี้ น่าจะหาวิธีมองข้ามความขัดแย้งเลิกด่าโจมตีกัน แล้วหาประเด็นแรงงานใหญ่ๆมาทำงานร่วมกัน อาจนำไปสู่เอกภาพในขบวนแรงงานได้ และยังเชื่อมั่นว่าสหภาพแรงานยังเป็นพลังที่จะต่อสู้เพื่อประโยชน์ของแรงงานได้

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)กล่าวถึงการเข้าร่วมทำงานในขบวนการแรงงานตั้งแต่ปี 2526 โดยเห็นว่าสมัยก่อนขบวนแรงงานเข้มแข็งเพราะผู้นำได้รับการยอมรับ การเคลื่อนไหวเรื่องประกันสังคมในปี 2533 ก็มีความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งสภาแรงงาน กลุ่มย่าน และเอ็นจีโอ ยุคหลังๆการขาดความเชื่อมั่นต่อผู้นำสภาแรงงานต่างๆ จึงเกิด คสรท.ขึ้นมาเพื่อติดตามผลักดันประเด็นปัญหาแรงงาน เห็นว่าประเด็นปัญหาใหญ่ในขบวนแรงงาน คือการเลือกตั้งระบบไตรภาคี การใช้เงินประกันสังคมที่ไม่ถูกวัตถุประสงค์ในวันแรงงาน และว่าที่ผ่านมา คสรท.เคยพยามยามร่วมขับเคลื่อนกับสภาต่างๆ แต่ไม่ค่อยเกิดความร่วมมือ เห็นว่าถ้าขบวนการแรงงานจะทำงานร่วมกันต้องมีความจริงจัง มีเป้าหมายร่วมที่ชัดเจน เอาผลประโยชน์ของแรงงานเป็นหลัก

มนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สภาแรงงานฯปี 2522 ยุคนั้นมี 3 สภา ซึ่งมีทั้งสภาที่ใกล้ชิดกับ กอ.รมน. และรับเงินองค์กรต่างประเทศ ส่วนสภาแรงงานของไพศาล ธวัชชัยนันท์ ถือเป็นเบอร์ 1 ที่ได้รับการยอมรับทั้งจากภาครัฐวิสากิจและเอกชน แต่ต่อมาสภาแรงงานก็แตกเป็นสมาพันธ์แรงงาน ส่วนทุกวันนี้เห็นว่าขบวนแรงงานยังมีอยู่ เพียงแต่ความคิดเห็นแตกต่าง แต่คิดว่าเป็นเอกภาพได้หากชูประเด็นแรงงานแล้วทำงานร่วมกัน อย่าเอาแต่ด่ากัน อย่ายึดแต่อัตตาตัวเอง กำหนดทุกอย่างเองโดยไม่ฟังคนอื่น ซึ่งถึงจะเรียกร้องได้กฎหมายมาก็เหมือนไม่ได้เพราะไม่ตอบสนองแรงงาน เห็นว่ามีประเด็นที่หลายฝ่ายจะร่วมเคลื่อนกันได้ เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ ประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ และสวัสดิการที่ครอบคลุมลูกจ้างทุกกลุ่ม

กมล รอดประสิทธิ์ ตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนทำงานแรงงานมา 13 ปี เห็นว่าทุกวันนี้มีสภาแรงงานเกิดขึ้นมาก แต่จุดยืนและอุดมการณ์ไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างขับเคลื่อนปัญหาแรงงาน เป็นเหตุให้ขบวนอ่อนแอ และยังไม่มีการกดดันจากนายจ้างและภาครัฐที่ทำให้แรงงานไม่เป็นขบวน คนที่เขามาทำงานในขบวนก็ยังมีปัญหาเรื่องความรู้เรื่องอุดมการณ์ สุดท้ายก็กลายเป็นขบวนใครขบวนมันไม่มีพลัง เห็นว่าในอนาคตต้องขยายการทำงานร่วมกับแรงงานกลุ่มอื่นๆด้วย เพื่อผลักดันประเด็นปัญหาร่วมที่มากกว่าประโยชน์เฉพาะในรั้วโรงงาน

1445170205229ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชวนตั้งคำถามว่าถ้าขบวนการแรงงานไม่เป็นขบวนจะเป็นอย่างไร องค์กรแรงงานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์แรงงานที่ถูกจัดตั้งโดยรัฐ นายจ้าง หรือ ต่างประเทศ ทุกวันนี้อาจไม่มีเหมือนในอดีต ขบวนแรงงานมีหลายกลุ่มแต่ก็เห็นยังมุ่งไปในทิศทางเดียวกันคือประโยชน์ของแรงงาน แต่อาจแตกต่างกันในอุดมการณ์ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เพราะสภาพหรือทัศนะของลูกจ้างกลุ่มต่างๆนั้นไม่เหมือนกัน กลุ่มรัฐวิสาหกิจก็จะต่างจากเอกชน เอกชนก็ยังมีกลุ่มลูกจ้างที่ต่างกัน ทั้งแรงงานนอกระบบ เหมาค่าแรง หรือข้ามชาติ
ส่วนขบวนการแรงงานนั้นกว้างกว่าขบวนการสหภาพแรงงาน เชื่อว่าหลายองค์กรมีการจัดตั้งคนงานที่ไม่ใช่รูปแบบสหภาพแรงงาน และไม่ห่วงเรื่องการรวม แต่คิดว่าถ้าร่วมกันได้ก็จะเกิดพลังได้ เอกภาพจะเกิดขึ้นได้หากทุกคนรู้ว่าประสบปัญหาเดียวกัน จึงต้องต่อสู้ร่วมกัน ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพเกิดจากมองเห็นภัยคุกคามที่ไม่ตรงกัน เอกภาพระหว่างผู้นำกับสมาชิกก็เป็นปัญหาที่ทำให้ไม่เกิดพลังต่อรอง ส่วนประเด็นร่วมที่จะทำให้เกิดความร่วมมือก็ควรเป็นเรื่องที่ไม่เป็นนามธรรมมาก เช่นเรื่องค่าจ้าง

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นว่า ขบวนการแรงงานในไทยเป็นขบวนการแบบลัทธิสหภาพแรงงานที่มุ่งเจรจาในระดับสถานประกอบการ เช่นเรื่องปากท้องสวัสดิการ แต่ยังมีขบวนการแรงงานที่มุ่งแก้ปัญหาสังคม มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยอย่างในยุโรป
และยังมีลัทธิอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ที่ทำให้ขบวนการแรงงานไปไม่ถึงอุดมการณ์สหภาพแรงงานสักแบบเดียว ซึ่งสหภาพแรงงานในไทยก็ยอมรับเพราะได้ผลประโยชน์ส่วนของตนเอง จึงมีความสับสนในความเป็นขบวน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องเอกภาพ ในด้านอุดมการณ์เห็นว่ามีเหมือนๆกันแต่ขาดแรงจูงใจในการสร้างเอกภาพ ขบวนการแรงงานจึงต้องตอบให้ได้ว่ารวมกันหรือแยกกันอันไหนจะมีประโยชน์กว่ากัน และการรวมตัวกันของแรงงานก็ต้องมองไปถึงแรงงานทั้งประเทศที่ไม่ได้อยู่ในสหภาพแรงงานด้วย

ศิโรฒม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ มองว่าในแง่ประวัติศาสตร์ ขบวนการแรงงานเข้มแข็งมาก่อนกลุ่มอื่น แต่ปัจจุบันพลังอ่อนไปกว่ากลุ่มพลังอื่นในสังคม อาจเป็นเพราะไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางสังคมเหมือนในอดีต จึงกลายเป็นขบวนที่มีสมาชิกน้อยเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ในสังคม ส่วนเงื่อนไขที่จะทำให้แรงงานรวมกันได้ก็คงจะเป็นเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการของคนงานที่มีอัตราลดลง ซึ่งถ้ารวมตัวกันไม่ได้ก็จะกลายเป็นแค่กลุ่มแสดงความคิดเห็น แต่ไม่มีพลังในการต่อสู้ให้ได้ประโยชน์จากรัฐหรือนายจ้างมาสู่แรงงาน

พงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี จากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า ตนเป็นผู้นำแรงงานค่อนข้างใหม่ เข้ามาทำงานแรงงานปี 2551 ได้ศึกษาว่าในอดีตมีผู้นำแรงงานที่ได้รับความเชื่อถือศรัทธามานำขบวนแต่ปัจจุบันแม้มีผู้นำเกิดขึ้นมากแต่ขาดการยอมรับจากแรงงานทั่วไป สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขาดผู้นำที่มีคุณภาพ มีอุดมการณ์ เพราะขาดการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ผู้นำแตกแยกขาดความคิด อย่างภาครัฐวิสาหกิจ องค์กรนำแตกเป็น 2 องค์กรซึ่งยังหาจุดประสานกันได้ยากทำให้พลังอ่อนแอลง แต่ที่เห็นว่าภาครัฐวิสาหกิจในอดีตมีอำนาจต่อรองสูงเพราะกิจการมีความสำคัญกับเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันปัญหาแรงงานซับซ้อนขึ้น แรงงานก็ขาดความสนใจในการร่วมมือกับสหภาพแรงงาน มีความเห็นว่าต้องเริ่มสร้างการยอมรับจากในสหภาพแรงงานก่อนแล้วค่อยหาจุดร่วมในการทำงานระหว่างสหภาพแรงงานต่างๆ ถ้าพูดให้เป็นเสียงเดียวกันก็จะมีพลังที่ทำให้รัฐบาลหรือนายจ้างต้องรับฟัง

และเห็นว่าทุกวันนี้แรงงานยังทำงานตั้งรับมากกว่ารุก ยังใช้วิธีการเดิมๆซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การสื่อสารกับสมาชิก ขบวนแรงงานจะมีพลังได้ก็ต่อเมื่อมีเป้าหมายร่วมที่ชัดเจนเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งอาจต้องฝากความหวังไว้กับนักแรงงานรุ่นใหม่ๆ ต้องมีการสื่อสารให้แรงงานจำนวนมากเข้าใจในเรื่องสหภาพแรงงานที่ถูกต้อง เพื่อสร้างฐานที่มั่นคงให้กับแรงงานระดับที่สูงขึ้น

20151017_123049

ล่าเร่ อยู่เป็นสุข จากสหพันธ์แรงงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้มาเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จึงทำให้เข้าใจและเกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน มีศรัทธาในอดีตผู้นำหลายคนที่สามารถรวมพลังแรงงานได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งแม้จะมีความแตกต่างแต่ก็มีสิ่งยึดเหนี่ยวคือผลประโยชน์ของแรงงาน ปัญหาความมั่นคงในการทำงานจากรูปแบบการจ้างงานทุกวันนี้อาจเป็นเงื่อนไขให้องค์กรแรงงานต่างๆร่วมกันทำงานได้ ในอนาคตคิดว่าผู้นำแรงงานองค์กรต่างๆต้องละวางความขัดแย้งเก่าๆไว้ก่อนแล้วมาร่วมกันกำหนดการทำงานร่วมกัน

ธนัสถา คำมาวงษ์ จากสหพันธ์แรงงานโตโยต้าแห่งประเทศไทย ให้ทรรศนะว่าถ้ายึดตามกฎหมาย ขบวนการแรงงานก็ยังมีอยู่ตั้งแต่ สภา สหพันธ์ สหภาพ แต่ไม่เข้มแข็ง ซึ่งก็อาจเกิดจากปัญหาบุคคล เช่น เป็นประธานตลอดชีพ เมื่อมีผู้ไม่พอใจก็เกิดการแยกไปตั้งกลุ่มใหม่ ทำให้ขบวนแรงงานเล็กลง ขาดพลัง ส่วนแนวทางที่จะทำงานร่วมกันได้นั้น องค์กรแรงงานทุกกลุ่มต้องหาเวทีเพื่อพูดคุยแก้ปัญหาแรงงานร่วมกัน โดยเฉพาะแรงงานรุ่นใหม่ๆที่ทำงานร่วมกันได้ง่ายกว่ารุ่นเก่าๆ

เซีย จำปาทอง จากสหพันธ์แรงงานสิ่งทอฯ คิดว่าขบวนการแรงงานยังมีอยู่ แต่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งถ้าดูจากอดีตเมื่อเกิดเผด็จการ รสช. ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำสภาแรงงาน ก็ลุกขึ้นมาคัดค้าน แต่ปัจจุบันมีมากถึง 15-16 สภาฯกลับไม่เหมือนก่อน จะเห็นว่าในยุคที่เป็นประชาธิปไตย แรงงานแม้มีหลายกลุ่มแต่ก็สามารถเคลื่อนไหวเรียกร้องได้ต่างจากยุคปัจจุบันที่เป็นยุคเผด็จการ ทำให้เคลื่อนไหวได้จำกัด แม้ขบวนการแรงงานจะต่อสู้เพียงแค่เรื่องปากท้องในโรงงานก็ตาม

ส่วนการสร้างเอกภาพในขบวนการแรงงานคิดว่ามีปัญหา 2 ส่วน จากกภายนอกคือรัฐที่มีกฎหมายที่ทำให้เกิดการแตกแยก และจากภายในขบวนเองที่มีการแยกองค์กรมากขึ้น จึงตั้งความหวังกับผู้นำแรงงานรุ่นใหม่ที่ต้องเรียนรู้บทเรียนประวัติศาสตร์แล้วช่วยกันสร้างเอกภาพให้ได้ และต้องทำให้เข้าใจตรงกันว่าต้องการสหภาพแรงงานแบบเจรจาต่อรองในโรงงาน หรือสหภาพแรงงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

ธนพร วิจันทร์ จากกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง มองขบวนการแรงงานว่าเป็นขบวนใครขบวนมัน ซึ่งอาจเกิดจากเมื่อคิดต่างก็ไม่มีการคุยกัน ปัจจัยภายนอกจากการเมืองก็มีส่วนทำให้แตกแยก ทำให้ในที่สุดพลังต่อรองก็ไม่มี การเคลื่อนไหวก็เหมือนการร้องขอ จึงต้องเข้าใจเรื่องชนชั้นว่าต้องทำงานกับชนชั้นแรงงานด้วยกันแม้จะมีความคิดต่าง เพราะชนชั้นอื่นยิ่งจะไม่ช่วยแรงงานแน่ และผู้นำแรงงานต้องฟังเสียงคนอื่นในองค์กรด้วย อาจต้องมีตัวกลาง เช่น 4 มูลนิธิแรงงาน ช่วยประสานในการพูดคุยระหว่างแรงงานกลุ่มต่างๆเพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นเอกภาพได้ ทั้งนี้ต้องเชื่อมั่นในการพึ่งพาพลังของขบวนการแรงงานที่เป็นประชาธิปไตย

20151017_140436

มีข้อคิดเห็นจากในห้องเสวนาว่า

– ต้องทำให้เป็นขบวนการแรงงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น สมัยเคลื่อนไหวเรื่องข้าวสารแพง น้ำมันแพง โดยในปัจจุบันอาจใช้ประเด็นเคลื่อนไหวในเรื่องความเป็นประชาธิปไตยและเรื่องรัฐสวัสดิการ

– ไม่จำเป็นต้องเอาองค์กรแรงงานกลุ่มต่างๆมารวมกันเพราะคนรุ่นเก่ามีความขัดแย้งกันมาก แต่ควรเชื่อมประสานผู้นำรุ่นใหม่ๆให้ทำงาน            ร่วมกันให้ได้

– เสนอให้ไปศึกษาประวัติศาสตร์ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เพื่อเรียนรู้และสรุปบทเรียนจากอดีต

– มีเป้าหมายทางการเมืองสร้างตัวแทนของแรงงานในรัฐสภา

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน

20151018192403

20151018192429 (1)

1445173916233