เมื่อลูกจ้างที่กำลังจะอดตายกลายเป็นภัยคุกคามความไม่มั่นคงของชาติ

20160115_174836

ภายใต้สถานการณ์การเมืองการปกครองที่รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างความปรองดองและลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยมีกฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมือสำคัญในการผ่าทางตันของทุกๆปัญหา ที่เป็นอุปสรรคต่อนโยบายการทำงานหรือการแก้ไขปัญหาของประเทศ ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังต้องการความสงบเรียบร้อย ทุกอย่างจึงกลายเป็นเรื่องที่ถูกเชื่อมโยงกับมิติด้านความมั่นคงของชาติ แม้แต่ปัญหาข้อพิพาทแรงงาน ปัญหาปากท้องของลูกจ้างที่กระทรวงแรงงานไม่มีปัญญาแก้ไขปัญหา ก็ยังถูกโยงมาเป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติทางด้านเศรษฐกิจ

จากกรณีลูกจ้างซันโคโกเซที่มาชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน เนื่องจากถูกนายจ้างใช้สิทธิปิดงานและไม่สามารถชุมนุมกันหน้าโรงงานได้ เพราะทางนิคมฯได้ขออำนาจศาลออกคำสั่งให้เลิกการชุมนุมพร้อมกับเรียกค่าเสียหายลูกจ้าง 2 คน คนละ 500,000 บาท ต่อวัน รวมทั้งหมด 6,000,000 บาท ปัญหาของลูกจ้างกลุ่มนี้ ทางกระทรวงแรงงานรับรู้รับทราบดี เพราะสุดยอดฝีมือของกระทรวงแรงงาน ถูกส่งมาจนหมดสต๊อคเพื่อมาปฏิบัติการแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เมื่อเจอมุก มึนๆนิ่งๆ ไม่ๆอย่างเดียวของฝ่ายนายจ้าง จึงเป็นที่มาของการมากระทรวงแรงงานเพื่อขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานช่วยออกคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามอำนาจที่มีในพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่ทางฝ่ายลูกจ้างคิด นอกจากจะไม่เจอหน้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแล้ว ยังถูกไล่ให้ไปให้พ้นจากกระทรวงแรงงาน เมื่อนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของสตช.(สนักงานตำรวจแห่งชาติ) เดินทางมาที่กระทรวงแรงงาน และได้เชิญแกนนำลูกจ้างขึ้นไปเจรจาบนชั้น 6 ของกระทรวงแรงงาน ออกคำสั่งให้ลูกจ้าง ปิดเครื่องเสียงหยุดการปราศรัย สั่ง ให้เลิกชุมนุมUntitled-3

โดยแจ้งว่าทางปลัดกระทรวงแรงงาน ได้แจ้งความว่าลูกจ้างบุกรุกสถานที่ราชการ ไม่นานนักกองกำลังตำรวจประมาณสองกองร้อย รถคุมขัง 3 คัน ที่อยู่ภายในกระทรวงแรงงาน เตรียมพร้อมสลายการชุมนุม เหตุการณ์ครั้งนี้ได้สร้างบาดแผลร้าวลึก ให้กับฝ่ายลูกจ้างที่หวังหนีร้อนมาพึ่งเย็น แต่จำต้องกลับบ้านในดึกสงัดของวันที่ 6 มกราคม 2559 พร้อมคำถามที่คาใจ “ลูกจ้างเป็นตัวอะไรในสายตากระทรวงแรงงาน”

คนงานที่ถูกปิดงานทุกคน ไม่ได้รับค่าจ้าง ไม่มีรายได้ ได้รับเพียงจดหมายทวงหนี้สินและหมายศาล มีคู่สามี-ภรรยาหลายคู่ที่ถูกปิดงาน มีหลายคนที่เป็นกำลังหลักในการหารายได้เพียงคนเดียวในครอบครัว หลายคนตั้งครรภ์ เครียด คำถามว่า “จะจบเมื่อไร”หลุดมาจากปากผู้ชุมนุมซ้ำๆแทบทุกวัน จนเป็นคำถามยอดฮิตที่ไม่มีใครตอบได้ วันเวลาที่ผ่านไปในทุกๆวินาที มันได้พาเอาเลือดเนื้อและความหวังของผู้มาร่วมชุมนุมให้หลุดลอก หลุดร่อนไปทีละน้อย ในขณะที่ผู้หวังดีหลายฝ่ายเข้าร่วมขบวนการเถือเลือดเถือเนื้อของผู้ชุมนุม ด้วยมาตรการคุมเข้มต่างๆนาๆ คำถามต่างๆจากปากท่านทั้งหลายพร่างพรูดังห่ากระสุนที่ระดมใส่มวลชนผู้จนตรอก กลายเป็นบาดแผลใหม่จากท่านผู้หวังดีที่อาสามาช่วยเยียวยาบาดแผลเก่าที่ร้าวลึก นี่หรือคือคำตอบ ของคำถามที่คาใจ “เร่งปิดจ๊อบ กลบปัญหา รักษาเก้าอี้  คือสุดยอดวิธีของการแก้ปัญหา”

การที่ลูกจ้างต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่มีผลตอบแทนส่วนแบ่งจากผลกำไร เพื่อขวัญกำลังใจ ผิดด้วยหรือ ความต้องการที่จะได้โบนัสประจำปีที่หากคำนวนเป็นการทำงาน 12 เดือนควรให้ลูกจ้างตามความมุ่งมั่นที่สร้างผลงานในการผลิตอย่างไร การปรับขึ้นค่าจ้างต้องคำนวนให้กี่มากน้อย คำว่าขาดทุนของนายจ้างดูว่าจะมีการCopyกันมา แต่ก็ไม่ว่าหรอกนะ เพราะนั้นคือการบริหารของนายจ้างไม่ลุล่วงก็ได้ว่ามีการจัดการด้านการลงทุนต่อหรือขยายโรงงานไปมากน้อยแค่ไหน แต่ที่ลูกจ้างปวดใจก็เป็นประเด็นที่นายจ้างให้ทำงานล่วงเวลา(OT)จนวินาทีสุดท้ายก่อนปิดงานลูกจ้าง อ้างสารพัดว่ากลัวลูกจ้างจะทำให้เกิดความเสียหายในขณะที่มีการเจรจาต่อรองกัน ถามว่าอยู่กันมายิ่งกว่าแต่งงานกันอีกกว่า 10 ปียังไม่ไว้ใจกันอีกหรือ การให้ออกมาอยู่นอกโรงงานเหมือนถูกไล่ออกจากบ้านมานอนข้างถนน แม้ว่าจะบอกว่าคุยกันไปจนกว่าจะตกลงกันได้

20160115_184220

น่าอนาถ!ลูกจ้างเกือบ 600 ชีวิต ที่กำลังจะอดตายไม่มีสิทธิที่จะดิ้นรนรักษาชีวิตตนเอง ไม่มีสิทธิที่จะปกป้ององค์กรของตนเอง กลับถูกกดทับ ถูกบีบรัดจากรอบด้านจนแทบขาดอากาศหายใจ หมดสิ้นความมั่นคงในชีวิต จะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ก็ถูกมองเป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ ทำลายบรรยากาศการลงทุน กฎหมายพิเศษพร้อมจัดการ ในขณะที่นายทุนต่างชาติเพียงคนเดียวแค่อ้างว่าขาดทุน ไม่มี ไม่ให้ กลับได้รับความทะนุถนอม ห่วงใย เปิดโอกาสให้ยืนหายใจอย่างไร้แรงกดดัน เพื่อรักษาบรรยากาศในการลงทุน สมประโยชน์ทุกฝ่าย ลูกจ้างก็อยู่ได้เท่าที่ยังขยันหายใจ นายทุนก็สบายใจ ทำอะไรตามใจ หายห่วง  ข้าราชการปิดจ๊อบได้ นั่งเก้าอี้อย่างสบายก้น เป็นธรรม ปรองดอง ไม่เหลื่อมล้ำ บรรยากาศของการลงทุนดีเป็นเลิศ มั่นคงแน่ๆประเทศไทย

บรรยากาศการปิดงานลูกจ้างอาจเป็นการใช้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ แต่ว่าการจ้างงานเหมาค่าแรงเข้าไปทำงานแทนลูกจ้างเป็นการใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน แล้วการบริหารจัดการอำนาจเป็นของนายจ้าง จะจ้างใครมาทำงานก็ได้ทั้งที่ลูกจ้างยังร้องกระจองอแงเพื่อการกลับเข้าทำงาน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ตอบแล้วว่า “แม้ลูกจ้างจะยินดีรับข้อเสนอก็ตามแต่รัฐก็ไม่มีอำนาจบังคับได้เพราะนายจ้างทำตามกฎหมาย”  เป็นการรุกลูกจ้างจนถอยลู่ภายใต้อำนาจการต่อรองที่ไม่เท่ากัน เขามีอำนาจรัฐ กับอำนาจทุน ส่วนแรงงานมีเพียงครอบครัวและความมุ่มเทเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและความมั่นคงในการมีงานทำ

ยาจกปู