เมื่อประกันสังคมทอดทิ้งผู้ประกันตน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

โดย ภาสกร จำลองราช

กว่า 6 เดือนแล้วที่ชีวิตผมว่างเปล่าจากหลักประกันสุขภาพ หลังจากที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.)มีหนังสือแจ้งว่าผมสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 เนื่องจากขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือน แม้ผมพยายามอุทธรณ์และให้เหตุผลว่าเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ดูเหมือนเสียงของผมจะเข้าไปไม่ถึง “ใจ” ของผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมเอาซะเลย

กว่า 20 ปีที่เป็นลูกค้าชั้นดีของกองทุนประกันสังคม ดูช่างไม่มีความหมายใดๆเลย หลังจากเรียนจบและเริ่มทำงานเมื่อปี 2536 ในฐานะพนักงานบริษัท ผมถูกบังคับให้จ่ายเงินสมทบเพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขให้กับสำนักงานประกันสังคมมาโดยตลอด ตอนนั้นเคยตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ ว่าในเมื่อเรามีประกันของบริษัทอยู่แล้ว ทำไมเรายังต้องจ่ายประกันสังคมอีก และเคยเอาคำถามนี้ไปหาคำตอบจากผู้บริหารกระทรวงแรงงานและสปส.อยู่บ่อยๆในฐานะนักข่าว คำตอบซ้ำไปซ้ำมาที่ได้คือนอกจากการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขแล้ว ประกันสังคมยังมีหลักประกันอื่นๆ เช่น ชราภาพ คลอดบุตร ว่างงาน

แม้ยังติดใจในคำตอบนั้นเพราะนั่นควรเป็นเรื่องของความสมัครใจ มิใช่บังคับให้ลูกจ้างทุกคนจ่ายพ่วงกันเช่นนี้ แต่สุดท้ายก็ปล่อยเลยตามเลย

แต่สิ่งที่ผมค้นพบในช่วงที่เป็นนักข่าวและติดตามการทำงานของสปส.มา 20 ปี คือเงินกองทุนที่มโหฬารขึ้นทุกวันแห่งนี้สามารถนำดอกผลมาใช้สอยได้อย่างง่ายดายสำหรับคนบางกลุ่ม แต่การจะนำมาใช้เพื่อเอื้ออาทรต่อลูกจ้างนั้น ช่างยากเย็นแสนเข็นมาก

บ่อยครั้งที่ตรวจสอบพบว่า เงินกองทุนประกันสังคมถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีอำนาจมากกว่าความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกันตน

ยุคหนึ่งเคยนำเงินไปซื้อหุ้นธนาคารแห่งหนึ่งตามใบสั่งนักการเมืองจนขาดทุนนับร้อยล้าน

ยุคหนึ่งเคยนำเงินไปทำโครงการบ้านพักที่เรียกว่าบ้าน1506 แต่ผู้ได้ประโยชน์ไปเต็มๆกลับเป็นเจ้าของธุรกิจบ้านสัดสรรและเหล่าลิ่วล้อผู้มีอำนาจ

ยุคหนึ่งฉาวโฉ่จากการจัดซื้อคอมพิวเตอร์มูลค่า 2,800 ล้านบาท โดยใช้เงินกองทุนมาใช้สร้างระบบคอมพิวเตอร์ให้กับทุกหน่วยงานของกระทรวงแรงงาน จนถูกสต.และปปช.ตรวจสอบ

ยุคหนึ่งเคยเปลี่ยนระบบการจ่ายค่าทำฟันและคลอดบุตรโดยโอนอำนาจการจ่ายจากกผู้ประกันตนไปไว้ในมือธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีว่ามีเงินก้อนใหญ่เข้าไปอยู่ในกระเป๋าใครทุกปีมีการขนกันไปทัวร์ต่างประเทศของคณะกรรมการหรือบอร์ดชุดต่างๆ ในข้ออ้างว่าศึกษาดูงาน ซึ่งสื่อมวลชนก็นำมาตีแผ่อยู่เป็นประจำ แต่หิริโอตัปปะกลับไม่บังเกิด

เช่นเดียวกับความอู้ฟู่ของข้าราชการประกันสังคมเมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการกรมอื่นๆ ในกระทรวงแรงงาน ทั้งที่ทำงานหรูหรา มีรถดีๆ ราคาแพงใช้กันแทบทุกจังหวัด ขณะที่ข้าราชการกรมอื่นๆ ยังต้องกระเบียดกระเสียร สวัสดิการต่างๆ ก็มากมายกว่าทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” ที่ว่านี่เป็นการเฉลี่ยให้ใครกันแน่

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ทุกวันนี้ประกันสังคมเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศมีทรัพย์สินมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ในกฎหมายอนุญาตให้นำเงินดอกผลร้อยละ 10 มาใช้ในกิจการได้ ตรงนี้กลายเป็นช่องโหว่ที่เงินกองทุนถูกนำมาสนองความต้องการของคนมีอำนาจมาโดยตลอด ขณะที่ผู้ประกันตนกว่าจะร้องขออะไรสักอย่างก็เลือดตาแทบกระเด็นผู้ถูกว่าจ้างให้มาดูแลเงินทำตัวเป็นเจ้าของเงินมากกว่าผู้ประกันตนที่ควักกระเป๋าจ่ายเงินสมทบทุกเดือน

หลังลาออกจากงาน ผมยังคงจ่ายเงินเข้าประกันสังคมต่อโดยเปลี่ยนจากมาตรา 33 มาเป็นมาตรา 39 (คือจ่ายแทนในส่วนของนายจ้างด้วย) โดยใช้ระบบหักบัญชีธนาคาร เช่นเดียวกับเงินสงเคราะห์บุตรที่ผมมีสิทธิได้รับ เขาก็โอนเข้าช่องทางนี้เช่นเดียวกัน

จู่เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 มีหนังสือจากสำนักงานประกันสังคมส่งมาถึงผมโดยบอกว่า “สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าท่านไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559-มีนาคม 2559 จึงสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน” ทำเอางงซิครับ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเงินในบัญชีที่หักนั้น ขาดไปจริงๆ

ผมก็พยายามอธิบายถึงเหตุสุดวิสัย แต่ดูเหมือนถูกตัดบัวไม่เหลือใยไปเสียแล้ว

“มันเป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องคอยตรวจสอบ เราไม่มีหน้าที่แจ้งเตือนเพราะเขียนไว้ตั้งแต่ทำสัญญาแล้ว คุณลองไปอ่านดู” เจ้าหน้าที่ประกันสังคมให้คำตอบในวันที่ผมเดินขึ้นไปปรึกษา

ผมรู้สึกว่ามัน “ง่าย”เกินไปมั้ย สำหรับคนๆหนึ่งที่เป็นลูกค้าชั้นดีมาตลอดชีวิตและยังอยากทำประกันสังคมต่อ เลยโทรไปสอบถามผู้บริหารประกันสังคมที่คุ้นเคยกันท่านหนึ่ง

“ผู้ใหญ่เขามองว่าการประกันตามมาตรา 39 มีแต่ขาดทุน เพราะผู้ประกันตนส่วนใหญ่อายุมาก ทำให้ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเยอะ ขาดทุน พอขาดส่งจึงมักถูกตัดทิ้ง แม้จะอุทธรณ์ แต่ก็มักไม่สำเร็จ” คำตอบของผู้ใหญ่ ทำให้ผมถึงบางอ้อ และรู้สึกดำดิ่งในศรัทธาต่อหน่วยงานนี้เข้าไปอีก “คุณรู้มั้ยปีๆ หนึ่งมีผู้ประกันตนหลายหมื่นคนที่ต้องเสียสิทธิ์เพราะขาดส่งเงินสมทบทั้งแบบตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ”

“นี่ถ้าเป็นบริษัทประกันเอกชน เขาคงไม่ปล่อยลูกค้าชั้นดีลอยคอแบบนี้หรอกครับ” ผมบ่นให้ผู้บริหารสปส.ท่านนั้นฟัง ซึ่งท่านก็ได้แต่หัวเราะ และบอกว่าไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากรอการ “อภัยโทษ” ให้ผู้ประกันตนกลับเข้ามาอีกซึ่งเคยทำไปแล้วครั้งสองครั้ง

อย่างไรก็ตามผมได้ทำเรื่องอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการอุทธรณ์ของสปส.ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 โดยทางสำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 บอกให้ผมหมั่นโทรไปสอบถามว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว ซึ่งผมก็โทรไป 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งที่โทรไปรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเผือกร้อน เพราะโยนกันไป-มาเป็นว่าเล่นและไม่ได้รับคำตอบใดๆ จนปัจจุบัน

ระหว่างที่ยังผลการพิจารณาจากคณะกรรมการอุทธรณ์ ด้วยใจคอตุ๊มๆ ต่อมๆ เพราะไม่รู้ว่าจะล้มหมอนนอนเสื่อด้วยโรคภัยวันไหนเพราะชีวิตนี้ไม่มีหลักประกันสุขภาพเหลืออยู่เลย ล่าสุดได้มีหนังสือจากสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 อีก 1 ฉบับ

“ตามที่ท่านได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร จากสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 เป็นเงินเดือนละ 400 บาท เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์นั้น สำนักงานประกันสังคม ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าท่านได้รับเงินเกินสิทธิ/ไม่มีสิทธิไปเป็นจำนวนเงิน 800 บาท เนื่องจากท่านสิ้นสภาพเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 ดังนั้นจึงขอให้ท่านนำส่งคืนเงินจำนวนดังกว่าให้สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพหานครพื้นที่ 3 ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 โดยเป็นเงินสดหรือธนาณัติ พร้อมทั้งระบุเลขบัตรประชาชนในธนาณัติด้วย

“หากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้ว ท่านยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการคืนเงิน ท่านอาจมีความผิดฐานครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นเพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหกเดือน หรือปรับไม่เกินสมพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยสำนักงานประกันสังคมจำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป”

นอกจากนี้ตอนท้ายหนังสือยังระบุว่า “กรณีที่ท่านไม่ชำระเงินคืนภายในกำหนดเวลา จะมีผลต่อการรับประโยชน์ทดแทนกรณีอื่นๆ”

ความรู้สึกแรกที่อ่านหนังสือฉบับนี้จบ “เฮ่ย กูถูกขู่” ทั้งๆที่ไม่ใช่ความผิดของผู้ประกันตนเลย ในเมื่อคุณตัดสิทธิประโยชน์เราเอง ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผลอุทธรณ์จะออกมาอย่างไร แต่พวกคุณเลือกที่จะตัดสิทธิประโยชน์ทุกอย่างออกไปก่อน ที่สำคัญพวกคุณดันไม่ประสานงานกันเอง ยามนี้กลับเอาความผิดพลาดมาออกคำสั่งขู่อีก แทนที่จะแจ้งกันดีๆ

พฤติกรรมเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนของการทำงานแบบโยนภาระให้กับผู้ประกันตนอย่างชัดแจ๋

ผมจำไม่ได้ว่าเคยเขียนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมไปแล้วกี่ครั้ง แต่ครั้งนี้ก็จะเรียกร้องอีกเพราะเชื่อว่าหากปล่อยไปเช่นนี้เรื่อยๆ ระบบนี้จะไปไม่รอดและตายคามือระบบราชการแน่

ในเมื่อเป้าหมายใหญ่ของการก่อตั้งระบบประกันสังคมคือการมีระบบสุขภาพสำหรับลูกจ้างและคนทำงาน แต่ดูเหมือนสปส.กำลังลางเลือน และคิดแต่จะกอดทรัพย์สินที่ผู้ประกันตนฝากเอาไว้เพราะเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองคือเจ้าของ

ทางออกคือ ต้องดึงเอาทรัพย์สินเหล่านี้และการให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนออกจากระบบราชการก่อน พร้อมทั้งปฎิรูปกลไกลต่างๆ เสียใหม่ซึ่งสถาบันการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาและชี้ช่องเอาไว้แล้ว เพียงแต่เบื้องต้นการจะเตะหมูออกจากปากหมาเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่หากผู้นำรัฐบาลและสังคมร่วมกันจริงๆ ก็มีความเป็นไปได้ และจะเป็นคุณประโยชน์มหาศาลสำหรับประเทศชาติ

///////////////////////