เปิดเวทีสมัชชาปฏิรูปกรรมกร เสนอทางออกลดความเหลื่อมล้ำ

รับฟังข้อคิดเห็น หวังปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้ภาคประชาชนมีอำนาจมากขึ้น

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553 รศ. ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ในฐานะประธานกรรมการเครือข่ายผู้ใช้แรงงานเพื่อการปฏิรูป ในกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นในการหาทางออกเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี โดยเชิญนักสหภาพแรงงานทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่รวมถึงแรงงานนอกระบบจากหลายพื้นที่เช่น พื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ภาคตะวันออก รังสิตปทุมธานี ปราจีนบุรี ฯลฯ มาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นโดยครั้งนี้เป็นครั้งแรก

ประเด็นการจัดเวทีสมัชชาปฏิรูปฯในครั้งนี้จะเป็นเรื่องของกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานและการปฏิรูปค่าจ้างสำหรับผู้ใช้แรงงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำโดยวิทยากร ท่านแรก คือ นายบัณฑิต ธนะชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการด้านแรงงาน มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ได้นำเสนอเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นธรรมตามหลักสากลซึ่งไม่ได้หมายถึงแต่เพียงค่าจ้างอย่างเดียวแต่ต้องรวมถึงสวัสดิการและหลักประกันสังคมด้วย โดยต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนงานและครอบครัวด้วย และต้องไม่นำเรื่องการหักค่าตอบแทนมาเป็นเงื่อนไขในการลงโทษคนงาน

นายยงยุทธ เม่นตะเภาประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่มีการควบคุมจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศ และการกดค่าแรงลูกจ้างเพื่อดึงดูดนักลงทุน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์มีผลผลิตสูงขึ้นทุกปี ด้านคุณภาพก็เท่าเทียมกับทั่วโลกแต่ค่าจ้าง และคุณภาพชีวิตของคนงานไม่ได้ดีขึ้นเลยต้องพึ่งการทำโอที จึงจะพอดำรงชีวิตอยู่ได้ ขบวนการแรงงานเองต้องหันมาจัดการตัวเองให้สามารถสร้างอำนาจในการต่อรองโดยเฉพาะการผลักดันให้คนงานสามารถเลือกตั้งผู้แทนในเขตพื้นที่ที่ตนเองทำงานอยู่จะช่วยสร้างอำนาจและทำให้นักการเมืองมาใส่ใจคนงานมากขึ้น

ด้านนายเสรี วงษ์หนู อดีตประธานสหภาพแรงงานโรงงานทอผ้ากรุงเทพ และคณะกรรมการค่าจ้างพ.ศ. 2524-2525 ได้ให้ความเห็นว่า คนงานเป็นผู้จนเงิน จนสิทธิ จนศักดิ์ศรีไม่มีอำนาจในการต่อรอง สภาองค์การลูกจ้าง ควรมีแห่งเดียว ผู้นำต้องเรียนรู้ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ผู้ร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ควรยกเลิกคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเพราะไม่มีบทบาทในการกำหนดค่าจ้างเลย

ต่อมาได้มีการนำเป็นเรื่องการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมโดยมีวิทยากร 3 ท่าน เช่นกันท่านแรกนายตุลา ปัจฉิมเวช ทีปรึกษากลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ได้นำเสนอที่มาของการแก้ไขและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. ฉบับของคนงานในฐานะที่เป็นหนึ่งในทีมยกร่างกฎหมายฉบับนี้ และชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างองค์การมหาชนกับองค์กรอิสระที่อยู่ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี ว่าองค์มหาชนต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2543 ซึ่งมีข้อจำกัดมากกว่า

นายจะเด็จ เชาว์วิไลผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง ได้ให้ความเห็นว่า กฎหมายประกันสังคมเกิดขึ้นจากจิตวิญญาณการต่อสู้ของคนงานและคนเล็กคนน้อยในสังคมประสบความสำเร็จเพราะการมองเป้าหมายเป็นสำคัญโดยไม่สนใจเรื่องประเด็นความแตกแยกของผู้นำการมีแนวร่วมเพราะเป็นประเด็นทางสังคมแต่คนงานส่วนมากยังนึกว่ารัฐเป็นผู้จัดสรรให้จุดอ่อนของขบวนการแรงงานมักไม่ค่อยถอดบทเรียนจากการต่อสู้ของคนรุ่นเก่า ด้านนายชัยสิทธิ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เคยเป็นกรรมการบอร์ดประกันสังคมได้สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่มีการแอบแฝงผลประโยชน์มากมาย จึงต้องมีระบบในการตรวจสอบที่รัดกุมยิ่งขึ้น

สุดท้ายเป็นเรื่องการปฏิรูปกฎหมายแรงงานเพื่อความเป็นธรรมสำหรับผู้ใช้แรงงานโดยนายปรีชา เดชทองจันทร์ นายสุชาติ สุคนธ์กานต์ และนายชฤทธิ์ มีสิทธิ นักกฎหมายสิทธิแรงงาน ซึ่งมีความเห็นคล้ายกันว่าควรมีการปฏิรูปศาลแรงงานให้เป็นศาลชำนาญการ และปรับเงื่อนเวลาในการพิพากษาคดีแรงงาน กฎหมายแรงงานควรมีการบูรณาการให้สอดคล้องกันและให้แรงงานรัฐวิสาหกิจมาใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เหมือนเดิมและไม่ควรจำกัดสิทธิตัวแทนในการเจรจาฝ่ายลูกจ้างว่า จะต้องเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเท่านั้น ที่ปรึกษาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจดทะเบียน ควรมีการจัดทำเป็นประมวลกฎหมายแรงงาน

นายมงคล ยางงาม นักสื่อสารแรงงานศูนย์แรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่รายงาน