เจรจาไม่คืบ นายจ้างยื้อหวังบีบให้คนงานยอมรับข้อเสนอ

การเจรจาข้อพิพาทแรงงาน ระหว่างสหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทยกับบริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) ไร้ความคืบหน้านายจ้างยืนกานต้องทำงาน 3 กะ หวังลดอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานในอนาคต สหภาพแรงงานรู้แนวหากยอมรับการทำงาน 3 กะวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงแน่ ด้านนอกห้องเจรจามีสมาชิกของสหภาพแรงงานมารอฟังผลการเจรจากว่า 150 คน ทุกคนรอฟังผล ด้วยความหวัง เพราะต้องการกลับเข้าทำงานเร็วที่สุด 
 
สหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย)เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 20 ข้อ โดยมีการนัดเจรจาครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 และเช้าตรู่วันเดียวกันบริษัทประกาศปิดงาน 7 วัน โดยอ้างสาเหตุเครื่องจักรเสียจำเป็นต้องหยุดการผลิตชั่วคราว แต่เบื้องหลังยังคงมีการผลิต โดยเปิดรับพนังงานเหมาค่าแรงและแรงงานข้ามชาติมาทำงานแทนพนักงานประจำเป็นจำนวนมาก
 
โดยผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานนั้นหาผลสรุปได้แล้วเกือบทั้งหมดแล้วเหลือเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อย ขณะเดียวกันข้อเรียกร้องของนายจ้างที่ยื่นต่อสหภาพแรงงานทั้ง 3 ข้อ นั้นคือ 1.ขอเปลี่ยนเวลาทำงานจากเดิม 2 กะเป็น 3 กะ 2.เปลี่ยนแปลงระบบการจ่ายเบี้ยการผลิต โดยยกเลิกมาเป็นรูปแบบมาตรฐานการทำงาน ตามวิธีการมาตรฐานทั่วไป 3.ขอให้มีอายุขอตกลงเป็นเวลา 3 ปี ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้และสหภาพแรงงานยืนยันไม่อาจรับข้อเสนอของนายจ้างได้
 
วันที่ 17 มกราคม 2554 ณ ห้องประชุมเหมราช ห้อง เอ นิคมอุสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด อ.ปลวกแดง จ.ระยอง สหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทยกับบริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) เจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานครั้งที่ 6 ผลการเจราจาไม่มีความคืบหน้ายังหาทางออกร่วมกันไม่ได้ นายจ้างยืนยันต้องการให้สหภาพรับข้อเสนอ
 
สมาชิกรายหนึ่งบอกกับนักสื่อสารแรงงานว่า “รู้สึกไม่ค่อยดีกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้เลย ไม่รู้นายจ้างต้องการอะไร ทำงาน 3 กะ ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจริงหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่ผมคิดว่าเขาต้องการควบคุมเรามากกว่า ต้องการแยกพวกเราออกจากกัน” และกล่าวย้ำกับนักสื่อสารแรงงานอีกว่า “ข้อเรียกร้องของพวกเราก็ยอมทุกอย่างแล้ว แต่นายจ้างยังไม่ยอมจะให้ทำงาน 3 กะให้ได้ ผมไม่เอาหลอกครับ ยังไงก็ไม่เอา” 
 
นาย ชัยรัตน์ บุษรา ประธานสหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย กล่าวชี้แจ้งสมาชิกที่มารอรับฟังผลการเจราจาว่า “ตัวเลขที่นายจ้างเสนอมาหากทำงาน 3 กะนั้นน้อยมาก ค่ากะเพิ่มจากเดิม 720 เป็น 1,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น และต้องทำโอทีกว่า 300 ชั่วโมงต่อเดือน จึงจะมีรายรับประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน”และกล่าวต่ออีกว่า “ค่าแรงของพวกเราทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่ามันไม่พอ ที่พอจะให้เราอยู่รอดไปแต่ละเดือนได้เพราะอาศัยเบี้ยการผลิตและโอที หากทำงาน 3 กะเบี้ยผลิตก็หาย หากต้องการทำโอที่ก็คงต้องทำงานควงกะ”  
 
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าประนอมข้อพิพาทแรงงานเสนอทางออกให้ทั้งสองฝ่ายโดยเสนอให้เพิ่มรายได้รวมก่อนทำงานล่วงเวลา โดยต้องได้รับค่าจ้างอย่างน้อยเดือนละ 15,000 บาท ให้นายจ้างนำไปพิจารณา และในวันที่ 20 มกราคม 2553 เวลา 13.30 น. จะมีการเจราจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอีกครั้ง ที่สำนักงานนิคมอุสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด
 
วันที่ 18 มกราคม 2554เวลาประมาณ 14.00 น. ตัวแทนนายจ้างได้แจ้งข้อเรียกร้องฉบับใหม่แทนฉบับเก่าที่ถอนข้อเรียกร้องให้กับสหภาพแรงงาน แต่สหภาพแรงงานไม่เซ็นรับข้อเรียกร้อง ซึ่งมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมจากข้อเรียกร้องเดิมอีก 2 ข้อ คือ ขอไม่จ่ายค่าเดินทางจากเดิมเดือนละ 900 บาท โดยจะจัดรถรับส่งให้ และขอลดค่าเช่าบ้านจากเดิม 800 ต่อเดือนเหลือ 600 บาทต่อเดือน
 
ถอน! ยื่นใหม่! ประกาศปิดงาน! นโยบายของใครกัน?
 
คนงานแม็กซิส 1,000 กว่าคน ชุมนุมที่ป่ายางเพื่อเตรียมรับมือกับนโยบาย อำนาจ นายทุน ที่รวมกลุ่มกันมาเพื่อทำให้คนงานมีความอ่อนแอลง ไม่ให้มีการรวมตัว ไม่ให้เกิดความเข้มแข็ง ไม่ให้รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสภาพการจ้างใหม่ และล้มสหภาพแรงงานในที่สุด คนงานจึงรวมตัวและตั้งมั่นที่ป่ายาง เพื่อสิทธิของตนเอง
 
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 เวลา 13.00 น.ข้อพิพาทครั้งที่ 7 มีการเจรจาเกิดขึ้นฝ่ายตัวแทนนายจ้างได้อ้างสารจากประธานบริษัทฯว่า ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานจำนวน 20 ข้อ ที่ตกลงกันได้จะถูกยกเลิกทั้งหมดและให้กลับไปใช้สภาพการจ้างเดิมและจะไม่มีการเจรจาอีก ต่อมาเวลา 14.30 น. บริษัทฯได้ยื่นหนังสือถอนข้อเรียกร้องของบริษัทฯ 3 ข้อและได้ยื่นข้อเรียกร้องฉบับใหม่เพิ่มเติมจากฉบับเดิมเป็น 5 ข้อ คือ 1.เปลี่ยนสภาพการทำงานจาก 2 กะเป็น 3 กะ 2.ขอยกเลิกเบี้ยการผลิต 3.ขอยกเลิกค่าเดินทาง 4. ขอลดค่าบ้านจาก 800 เหลือ 600 บาทต่อเดือน 5. ข้อตกลงมีอายุ 36 เดือน การนำไปสู่การปิดงานในที่สุด เพราะวันที่ 22 มกราคม 2554 นี้สภาพการจ้างเดิมจะหมดอายุลง
 
ภาพของคนงาน 1,000 กว่าคนต้องถูกลอยแพเพียงเพราะอยากเปลี่ยนสภาพการจ้างงานใหม่ให้คุณภาพชีวิตของตัวเองดีขึ้นผิดด้วยหรือ! ทำงานหนัก เสี่ยงอันตราย สารเคมี ปอดหาย ตายในที่สุด ออกมาเรียกร้องเพื่อการจ้างงานที่ให้นายจ้างมองเห็นคุณภาพชีวิตของคนงานให้ดีขึ้น นโยบาย CSR ที่นายจ้างทำสู่สังคมอยู่คงต้องวอนนายจ้างกลับมาดูคุณภาพชีวิตของคนงานในบริษัทฯตัวเองบ้าง!!! เสียงสะท้อนจากคนงาน
 
 
อัยยลักษณ์  เหล็กสุข สราวุธ ขันอาสา นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ระยอง-ชลบุรี รายงาน