เจตนารมณ์การผลักดันองค์กรอิสระ กับความปลอดภัยในการทำงาน

เจตนารมณ์การผลักดันองค์กรอิสระ : สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยสภาพแวดล้อมในการทำงาน

สมบุญ  สีคำดอกแค

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย

1  ตุลาคม พ.ศ. 2553

หากมองย้อนไปในอดีต 17 ปีที่ผ่านมา มีการเกิดโศกนาฏกรรม ซ้ำซากที่ทำให้เกิดการสูญเสียสุขภาพร่างกาย จิตใจ คนงาน  แล้วยังนำมาสู่การเกิดความหายนะมาสู่ครอบครัว ซ้ำร้ายยังเกิดการกล่าวขาน  ไปในทางไม่ดีไปทั่วโลก กับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่สะเทือนขวัญของแรงงานไทยได้แก่* ชุมชนคลองเตยถูกผลกระทบจากสารเคมีระเบิดที่คลองเตย (2 มี.ค.34) มีผู้เสียชีวิต 4 คน บ้านเรือน 642 หลังคาเรือนเสียหายในกองเพลิง*โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไฟไหม้ตึกถล่ม  จังหวัดนครปฐม จนทำให้คนงานวัยหนุ่มสาว ต้องตายถึง 188 ศพและบาดเจ็บถึง 469 ราย   (ในวันที่ 10 พ.ค. 36)*โรงงานรอยัลพลาซ่าถล่ม (วันที่ 13 ส.ค.36 ) มีคนงานข้าราชการ นักท่องเที่ยวตายรวม 167 รายบาดเจ็บกว่า 200 ราย กรณีไฟไหม้โรงแรมรอยัลจอมเทียน (11 ก.ค.40) ทำให้คนงาน นักท่องเที่ยว และพนักงานไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ตายรวมจำนวน 91 รายบาดเจ็บกว่า 50 ราย  โรงงานอบลำไยแห้งบริษัทหงษ์ไทยระเบิด (19 ก.ย. 2542) คนงานเสียชีวิต 36 คน บาดเจ็บ 2 ราย ชุมชนสันป่าตองบริเวณรอบโรงงานรัศมี 1 กิโลเมตร บ้านเรือน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล เสียหายกว่า 571 หลังคา เรือน และชาวบ้านบาดเจ็บ 160 ราย  จะเห็นว่าผลกระทบเหล่านี้ยังขยายตัวออกมาสู่คนในชุมชน  เช่น  ชุมชนแม่เมาะ จ.ลำปางจากการประสบอันตรายและเจ็บป่วย รวมถึงการเสียชีวิตนั้นยังต้องมีขบวนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ  ของญาติผู้อยู่ข้างหลัง  กว่าจะได้รับสิทธิทดแทนนั้นยากเย็นต้องใช้ระยะเวลานาน  แต่การสูญเสียบุคคลที่เป็นเสาหลักของครอบครัวไม่มีอะไรมาชดใช้ได้ จนทำให้นักวิชาการ NGO ด้านแรงงาน ผู้นำแรงงานได้เคลื่อนไหวช่วยเหลือผลักดันมาตลอด   ช่วงนี้เองที่สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ก่อเกิดขึ้น

เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 จากการรวมตัวกันของคนงาน “โรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายเนื่องจากการทำงานในโรงงานทอผ้าปั่นด้าย”  ที่เจ็บป่วยและปอดเสื่อมสมรรถภาพการทำงานของปอดอย่างถาวร การเรียกร้องสิทธิ์ตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทนนั้น  ยากเย็นมาก เพราะถูกปฏิเสธ ทั้งจากนายจ้าง และยังถูกปฏิเสธ จากกองทุนเงินทดแทน ต้องมีการฟ้องร้องกันเป็นร้อยคดี คนป่วยรวมกันหลายพันคน บางรายถูกปลดออกจากงาน บางรายทำงานไม่ไหวก็ต้องลาออกเอง แต่หลายรายก็ถูกนายจ้างปลดออกจากงานทั้งๆ ที่ป่วย อย่างไร้ความปราณี  ต้องต่อสู้คดีกับนายจ้างและสำนักงานกองทุนเงินทดแทน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมการต่อสู้คดีนี้ 16 ปี  แล้วก็ยังไม่มีคำพิพากษาฎีกาลงมา

การต่อสู้ของกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย  กลายมาเป็นผู้ป่วยจากการทำงานหลายๆ โรคจากหลายๆ โรงงานอุตสาหกรรม ในหลายพื้นที่และต้องเข้าเรียกร้องสิทธิ์ ผ่านสมัชชาคนจน  ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538  และต่อมาในรัฐบาลหลายสมัย โดยการช่วยเหลือให้คำปรึกษาจากที่ปรึกษาที่เป็นทั้งนักวิชาการในมหาวิทยาลัย NGOs ด้านแรงงาน  และหลายฝ่ายเริ่มมีความคิดร่วมกันว่า  การเรียกร้องสิทธิทำได้เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ปลายเหตุเท่านั้น  ในขณะที่ตัวเลขสถิติทางกระทรวงแรงงานก็มีลูกจ้างบาดเจ็บประสบอันตรายจากการทำงานปีละไม่มากไม่น้อยไปจาก 200,000 ราย  ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการประสบอันตรายจากากรทำงาน  ในส่วนโรคที่ได้รับสารเคมีหรือฝุ่นในโรงงาน หรือโรคสืบเนื่องจากการทำงานก็ยังเข้าสู่กองทุนเงินทดแทนยากลำบาก  ต้องเจ็บป่วยเรื้อรังตกงานหมดอาชีพไม่มีเงินรักษาตัว  ทำให้ชีวิตครอบครัวและอนาคตร่มสลายหาทางออกไม่ได้กลายเป็นคนที่จนที่สุดเพราะต้องสูญเสียสุขภาพการเรียกร้องทางนโยบายเริ่มเกิดขึ้น เช่น  เรียกร้องให้มีการผลิตแพทย์ และหน่วยงาน ที่เชี่ยวชาญสาขาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม  เรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านความปลอดภัยสถาบันคุ้มครองสุขภาพคนงาน โดยผลักดันเป็นกฎหมาย  ซึ่งท่านอาจารย์ธีรนาถ  กาญจนอักษร  ได้กรุณานำร่าง พ.ร.บ.มาเสนอให้หลายฝ่ายช่วยกันปรับปรุง  แล้วสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ  นำเรียกร้องในนามสมัชชาคนจน ยื่นข้อเสนอกับรัฐบาล สมัย พลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี  จนได้มติ ครม. 26 มีนาคม 2540 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง ใช้ระยะเวลาร่วมร่าง 6 เดือน  จนได้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับสมบูรณ์ร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการพ.ศ. …. แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ถูกระงับไปเสียก่อนจะถูกเสนอเข้า คณะรัฐมนตรี (ครม.)

ต่อมา ปี พ.ศ.2544 เริ่มมีการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย จึงได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และผลักดันข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งสถาบัน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ….(ฉบับบูรณาการ) ไปเป็นข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล  สมัยคุณลดาวัลย์  วงศ์ศรีวงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน  กระทรวงแรงงาน ก็ออก พ.ร.บ.ฉบับใหม่ คือ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... (ฉบับกระทรวงแรงงาน) และยื่นเข้าสู่ ครม.ไปควบคู่กับ ร่างพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานกระกอบการ พ.ศ. …. เป็น 2 ฉบับ ในขณะนั้น และถูกตีกลับมายังกระทรวงแรงงานใหม่

ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2544  กระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับใหม่ เข้าด้วยกัน ในส่วนของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ สมัชชาคนจน นักวิชาการ NGOs ผู้นำแรงงาน ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ในการพิจารณารวมร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ นี้ด้วย รวมกันแล้วใช้ชื่อ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานพ.ศ. …. (ฉบับบูรณาการ)  ซึ่งเป็นร่างที่ยอมรับได้ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย  โดยเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยฯ ยังคงอยู่เหมือนเดิม เช่น  มีการตั้งองค์กรอิสระที่เป็นนิติบุคคล  อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน   มีคณะกรรมการบริหารงานแบบเบญจภาคี  ปรับเป็น  จัตุภาคี  คือ นายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ และภาคีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ (ภาคีผู้ถูกผลกระทบ) โดยทำงานครบวงจร เช่น รักษา ฟื้นฟู ทดแทน  โอนสถาบันความปลอดภัยความ และกองทุนเงินทดแทน มาอยู่ในสถาบันเสริมความปลอดภัยฯ  ภายใน 5 ปี   โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.คุ้มครองส่งเสริมป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ

2.จัดการทางการแพทย์และฟื้นฟูสมรรถภาพของลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจาการทำงาน เพื่อให้สามารถกลับเข้าทำงานปร

ะกอบอาชีพได้ตามความเหมาะสมหรือดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุข

3 .ดำเนินการเพื่อคุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับเงินกองทุนเงินทดแทนให้เป็นไปอย่างมีหลักประกันสุขภาพและประสิทธิภาพ

 โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

 1.สำรวจ ศึกษาวิเคราะห์วิจัย และพัฒนา เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการวางเป้าหมาย นโยบาย และจัดทำแผนงานโครงการและมาตรฐานต่างๆ

 2.พัฒนาจัดทำมาตรฐานด้านสุขภาพและยกระดับมาตรฐานด้านสุขภาพความปลอดภัย

 3.ส่งเสริมให้สถานประกอบการได้มีการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานด้านสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ

4.กำกับดูแล และตรวจสอบสถานประกอบการให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ

5.เป็นศูนย์ข้อมูลและฝึกอบรมด้านสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ

6.ส่งเสริมและประสานบริการคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ

เมื่อมีการร่างกฎหมายแล้วเสร็จก็มีอันเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ต่อมา ปี 2547 กระทรวงแรงงาน  ก็ได้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ขึ้นมา ชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ….  ยื่นเข้าสู่ ครม. โดยเสนอตีคู่ไปกับ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. (ฉบับบูรณาการ)  โดย ครม.จึงมีมติรับหลักการให้รวมร่าง พ.ร.บ .ทั้ง 2 ฉบับ เข้าด้วยกันอีกเป็นครั้งที่สอง  โดยส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาพิจารณารวมร่าง 2 ฉบับ ผลออกมา  กลายเป็น ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญ  คือ ให้มีการจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการทำงาน โดยเอาดอกเบี้ยดอกผลของกองทุนเงินทดแทนมาเป็นกองทุน เพื่อให้นายจ้างกู้ไปจัดซื้ออุปกรณ์และการจัดการความปลอดภัยในการทำงาน และสนับสนุนงานวิชาการและการรณรงค์ ซึ่งการบริหารจัดการโดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่วนการจัดตั้งองค์กรอิสระ ตามร่างพ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ….ให้ไปอยู่ใน มาตรา 52 ของ ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ….  โดยมีเพียง 3 บรรทัด ว่าหากมีความพร้อมเมื่อใดให้จัดตั้งองค์กรอิสระ โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และเป็น องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ทางวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น(ซึ่งมีข้อสังเกตคือทำไมกระทรวงแรงงาน ถึง ไม่ยอมรับร่างฉบับบูรณาการที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานก็มีส่วนร่วม และทำไมต้องนำ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ขึ้นมาใหม่ เพื่อยื่นประกบโดยอ้างว่าเป็นร่างกฎหมายแม่บทในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน)

โดยแท้จริงแล้วร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. (ฉบับกระทรวงแรงงาน) จะอ้างเป็นกฎหมายแม่บทของความปลอดภัยในการทำงานไม่ได้ เพราะเป็นร่างกฎหมายที่อุ้มนายทุน อุ้มนายจ้าง และในสาระสำคัญของหลายๆ มาตรามีการเขียนล้อกับอำนาจหน้าที่ของร่างพ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ….ไปบรรจุไว้ในร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ….ในขณะที่ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ของกระทรวงแรงงานนั้น เน้นการบริหารโดยราชการที่ไปเพิ่มอำนาจให้ภาครัฐ โดยการสร้างองค์กรใหม่ในหน่วยงานภาครัฐ ที่เป็นคนทำงานก็เป็นคนเดิมๆ เจ้าหน้าที่รับผิดชอบคนเดิมๆ มีจำนวนเท่าเดิม ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับแรงงาน อีกทั้งมีการจัดตั้งกองทุนสุขภาพ  ที่ให้นายจ้างหรือองค์กรเอกชนกู้ยืมเงินในการปรับปรุงโครงสร้าง วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร ในด้านความปลอดภัยของโรงงาน ซึ่งจุดนี้เองการจะลงทุนเรื่องความปลอดภัยในการทำงานนั้น เป็นหน้าที่ของนายจ้างหรือผู้ลงทุนในการประกอบกิจการในแต่ละประเภทอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ไม่ใช่ให้รัฐหรือกระทรวงแรงงานมาออกกฎหมายมาให้นายจ้างกู้เงินไปลงทุนด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการ แต่ไม่ได้ให้ประโยชน์กับแรงงานที่เป็นผู้ถูกผลกระทบโดยตรง  ซึ่งมองว่าเป็นการแสวงหาผลกำไรมากกว่า และกระทรวงแรงงานยังอาศัยชื่อกฎหมายที่มีความปลอดภัยที่คล้ายคลึงกัน

ยกตัวอย่างกฎหมายฉบับนี้ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า กฎหมายความปลอดภัยฯ แต่เมื่อมาดูในส่วนเนื้อหาสาระจะพบว่าร่างกฎหมายฉบับของแรงงาน มีความแตกต่างจากฉบับของกระทรวงแรงงานอย่างมาก ดังนั้นเรื่องนี้ต้องอาศัยการติดตามอย่างใกล้ชิด ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้มีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. (ฉบับบูรณาการ) ที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระ มาทำหน้าที่ป้องกันและแก้ไขปัญหา เน้นการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม  ซึ่งต่อมาสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน ฯ สมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นักวิชาการ  NGOs ผู้นำแรงงาน กลุ่มคนงานที่เจ็บป่วยและประสบอันตรายจากการทำงาน ได้ร่วมกันคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ของกระทรวงแรงงาน จึงได้ตัด มาตรา 52 ออก

ทั้งนี้สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ก็ยังเสนอต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ไว้ เพราะเห็นว่าการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัยมา ก็มิได้เป็นการปฏิระบบสุขภาพความปลอดภัยแต่อย่างใด เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในขณะนี้ได้ เพราะขาดการมีส่วนร่วม เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ก็เป็นคนเดิม จำนวนเท่าเดิม ในหน่วยงานเดิมๆ ซึ่งน่าจะเป็นกฎหมายที่ล้าหลังกว่า พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ และขาดประสิทธิภาพในการทำงาน

ผู้ใช้แรงงาน  จึงใช้วิธีการเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 163 เพื่อเสนอกฎหมาย     (โดยพ.ร.บ.ฉบับนี้เคยมีการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อมาแล้วครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2541 แต่ช่วงนั้นการเข้าชื่อยังไม่มีกฎหมายลูกการเข้าชื่อจึงไม่เป็นผล)    แต่ในขณะนั้นการเข้าชื่อยังไม่ครบ 10,000 รายชื่อได้เพียง 9730 รายชื่อเท่านั้นเนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคมากมาย ทั้งงบประมาณ คนที่จะมาทำงาน และเวลา

ในวันที่ 8 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา  สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ผู้นำแรงงานเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น พื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ พระประแดง บางพลี สมุทรปราการ อยุธยา อ่างทอง รังสิต-ปทุมธานี และกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก  ได้ชุมนุมในวันนี้เพื่อประท้วงพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ทำตามสัญญาทั้งที่ได้เป็นรัฐบาล อีกทั้งยังได้เป็นถึงนายกรัฐมนตรี  ซึ่งในสมัยเป็นพรรคฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลเงา จะมีมติรับหลักการ ยึดถือ ร่างพ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. เป็นร่างของพรรค  แต่พอได้เป็นรัฐบาลตัวจริงกลับผ่านร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. (ฉบับกระทรวงแรงงาน) ไปยัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) และกำลังจะผ่านเข้าไปในวาระ 1 การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร อันใกล้จะถึงนี้   ทั้งนี้ในการชุมนุม ณ หน้าที่ทำการของพรรคประชาธิปัตย์ ประมาณเวลา 14.00 น. ซึ่งมีนายชุมพล  กาญจนะ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และนางเจิมมาศ  จึงเลิศศิริ ส.ส.กทม. ได้เข้าพบและรับหนังสือคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. (ฉบับกระทรวงแรงงาน) พร้อมทั้งรับปากว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด โดยนายชุมพล  กาญจนะ กล่าวว่าในฐานะที่ตนเป็นประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อมีใครเดือดร้อนตนจะเป็นผู้รับเรื่องไว้ เพื่อให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาและสั่งการ และจะติดต่อกลับไปตามที่อยู่ที่มีการระบุ  ไว้ในหนังสือที่ยื่นคำคัดค้านมานี้แต่ความเป็นจริงก็คือยังไม่มีอะไรคืบหน้า

ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ฯ มีความเป็นมาในการเดินทางกว่าจะได้เข้าสู่สภา ฯใช้ระยะเวลายาวนานถึง 15 ปี  ต่อปลายปี 52 โดยการสนับสนุนจากแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และด้วยความร่วมมือในการทำงานขององค์กรภาคี สนับสนุน  สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย ฯ สมัชชาคนจน  เช่น  เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก   มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   มูลนิธิเพื่อนหญิง   มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน  ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน  เครือข่ายภาคประชาชน กทม. ได้รวมตัวกันและเคลื่อนไหวผลักดัน

จนกระทั่ง เมื่อ วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน  2552  การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติ  และได้รับการพิจารณาเห็นชอบรับหลักการวาระ 1  ในคราวเดียวกันจำนวน 7 ฉบับ 5 ฉบับ เป็นร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน อีก 2 ฉบับ เป็นร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้มี ส.ส. รัชฎาภรณ์ แก้วสนิทพรรคประชาธิปัตย์ และ สส.สถาพร   มณีรัตน์พรรคเพื่อไทย   เป็นผู้เสนอร่าง  พ.ร.บ.ฉบับผู้ใช้แรงงาน และ รศ.ดร.วรวิทย์  เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  นางสมบุญ  สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการงาน และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย  ได้เข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญฝ่ายผู้ใช้แรงงานโดยการเสนอของ ส.ส.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท  พรรคประชาธิปัตย์ และนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย  ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ   คณะกรรมาธิการวิสามัญได้ เริ่มมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ  ตั้งแต่ 18 พฤศจิกายน 2552  โดยที่ประชุมให้พิจารณาร่าง  พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานซึ่งเป็นร่างหลักของรัฐบาลไปก่อน   แล้วค่อยนำ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. มาพิจารณาภายหลัง  เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง   2   ฉบับ ที่รับหลักการมาจากสภาผู้แทนราษฎร   มีความแตกต่างกันอย่างมาก  ที่ประชุมกำหนดว่า  จะเอา การจัดตั้งองค์กรอิสระ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย   ไปไว้ในหมวดใดหมวดหนึ่งของ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย ฯ  กรรมาธิการฝ่ายผู้ใช้แรงงานจึงได้ร่วมพิจารณากฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯไปด้วยและได้มีการเสนอขอแก้ไขบางมตราที่ผู้ใช้แรงงานเสียเปรียบไปได้หลายข้อ ซึ่งแต่ละข้อก็ผ่านไปด้วยความยากเย็นจนเสร็จ   และผลการพิจารณาเริ่มนำร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมฯ มาพิจารณาเข้าด้วยกัน  ตั้งแต่วันที่ 6 -7 -11 พฤษภาคม 2553 โดยที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ  มีมติร่วมกันให้บรรจุ  ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการตั้งองค์กรอิสระ ไว้ใน  พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ดังนี้

1. เพิ่มมาตรา   4   “สถาบัน”หมายความว่า สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน “คณะกรรมการบริหารสถาบัน”หมายความว่า คณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

2.  เพิ่มในหมวด 6/1  ดังนี้

หมวด 6/1

สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

มาตราที่ 51/1   ให้มี สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  เป็นองค์กรมหาชนที่ตังขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยองค์กรมหาชน  เพื่อทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) สงเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(2) พัฒนาสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(3) ส่งเสริมสนับสนุนและร่วมดำเนินงานด้าน  กับหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของภาครัฐและเอกชน

(4) จัดให้มีการศึกษาวิจัย  เกี่ยวกับการส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากรและด้านวิชาการ

(5) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน

มาตรา   51/2 สถาบันมีรายได้

(1) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนเดิม

(2) เงินที่ได้รับจากการจัดสรรจากกองทุนความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(3) เงินอุดหนุนจากภาคเอกชนหรือองค์กรอื่นรวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ

(4) ค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทนและค่าบริการต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินงานของสถาบัน

(5) รายได้หรือผลประโยชน์อื่น

มาตรา   51/3ให้มีคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงาน  เป็นประธานกรรมการ  อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน   ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ   ผู้แทนกรมควบคุมโรค  ผู้แทนกรมโรงงาน  อุตสาหกรรม  กับผู้แทนฝ่ายนายจ้าง  และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง  ฝ่ายละสองคน  และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้  ความเชียวชาญ  มีผลงาน หรือประสบการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  และต้องไม่ใช่ข้าราชการ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ จำนวนหนึ่งคน  ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ

ให้ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  เป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษา และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการบริหารมอบหมายได้

การได้มาและการพ้นตำแหน่งของกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และ ฝ่ายลูกจ้างและผู้ทรงคุณวุฒิ  ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยให้คำนึงทั้งให้มีหญิงและชาย

ผลการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปี ที่ 3 ครั้งที่  11 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันที่1 กันยายน 2553 ณ ตึกรัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว แต่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 1กันยายน 2553 ไม่เห็นด้วยกับการตั้งองค์กรอิสระที่ตั้งเป็นองค์กรมหาชน ประธานกรรมาธิการวิสามัญ นายนคร มาฉิม พรรคประชาธิปัตย์ จึงได้ขอถอนร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยฯออกมาปรับปรุงแก้ไขใหม่

จากนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้ประชุมกันในวันที่   7  ,10 ,14 กันยายน 2553  ผลสรุปของคณะกรรมาธิการวิสามัญ  ยืนยันให้เสนอร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯที่บรรจุการจัดตั้งองค์กรอิสระที่จัดตั้งองค์กรมหาชนเข้าไปใหม่ โดยท่านประธานกรรมาธิการขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญเข้าไปชี้แจงให้เหตุผลในสภาทุกคนพร้อมทั้ง   กรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) (การบรรจุการจัดตั้งองค์กรอิสระเข้าไปใหม่จึงมีแค่วัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่เท่านั้น) เพื่อป้องกันการซักถามและการตอบคำถาม

ผลการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปี ที่ 3 ครั้งที่  12 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันที่ 22 กันยายน 2553 เวลา 14.00 -15.00 น. ณ ตึกรัฐสภานั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 14 กันยายน 2553

           ทั้งนี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ได้พิจารณาอภิปรายคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรอิสระในรูปแบบองค์กรมหาชน เช่น ครั้งเมื่อ วันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา  แต่สุดท้ายทางท่านประธานกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร นายนคร มาฉิม ก็ได้หารือกับคณะกรรมาธิการวิสามัญ ขอตัดการจัดตั้งองค์กรอิสระในรูปแบบองค์กรมหาชน ออก

สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่าง  พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในวาระ 2และ 3ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว   ด้วยคะแนนเสียง 279ต่อ 12งดออกเสียง 1ไม่ลงคะแนน 14โดยมีสาระสำคัญ   คือ ให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จัดให้มีมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้หน่วยงานของตนไม่ต่ำกว่ามาตรฐานดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้รวมทั้ง

หมวด 6/1 ให้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ที่เป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน (ไม่เป็นองค์การมหาชน ตามที่ระบุไว้) ทั้งนี้ให้กระทรวงแรงงานต้องจัดตั้งสถาบันฯ ให้เสร็จภายใน 1 ปี ส่วนหน้าที่สถาบันฯ คงเดิมตามที่ระบุไว้ในรายงาน ดังนี้

“มาตรา 51/1ให้มีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นองค์องค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(2) พัฒนาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(3) ดำเนินการ ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานด้านความปลอดภัย
อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของภาครัฐและเอกชน 

(4) จัดให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากรและด้านวิชาการ     

แต่ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดการจัดตั้งองค์กรอิสระ  สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  แม้จะผ่านสภาในวาระ 2 -3 แล้วนั้น แต่ก็ยังไว้วางใจอะไรไม่ได้ในขณะนี้  เพราะก็ยังห่วงว่า     ต้องผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาเสียก่อน   ซึ่งจะทำอย่างไรให้ที่ประชุมวุฒิสภาเข้าใจความต้องการของผู้ใช้แรงงาน   ที่ต้องการให้มีการจัดตั้งสถาบันฯเป็นองค์กรอิสระ  อยู่ในหมวดที่ 6/1  มาตรา  51/1 มีมติรับรอง  แล้วจึงนำกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรรับรองใหม่อีกครั้ง  ให้ทันในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนี้   ที่จะมีการปิดสภาฯในเดือนพฤศจิกายน 2553  (ข่าวย้อนหลังhttps://voicelabour.org/?p=452 ) 

หลังจากนั้นจะทำอย่างไร  ที่ผู้เสนอร่างจะได้เข้าไปมี ส่วนร่วมร่าง    “องค์กรอิสระสถาบันฯส่งเสริมความปลอดภัยฯ” ได้อย่างไร  เพื่อการมีองค์ประกอบของสถาบันฯ  ที่ยังต้องมีหน้าตาที่สมบูรณ์ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ แบบมีส่วนร่วมจริงๆของทุกภาคี  ไม่ว่าจะเป็นภาคี  ภาครัฐ  นายจ้าง ลูกจ้าง ภาคีผู้ถูกผลกระทบจากการทำงาน  และผู้เชี่ยวชาญ   เพื่อการทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหา  แบบที่ผู้ใช้แรงงานและผู้เสนอร่างต้องการ    เช่น  ใครเป็นประธาน  ผู้อำนวยการ กรรมการมาจากไหน  และ  อำนาจหน้าที่ของสถาบัน  กิจกรรม  การบรรจุ  ว่ากองทุนงบประมาณ  และคน จะเอามาจากไหน  สถาบันอิสระนี้  ทั้งนี้ล้วนเป็นเรื่องใหญ่   ที่สำคัญอย่างยิ่ง   ที่จะต้องติดตามผลักดันการจัดตั้งองค์กรอิสระที่จะมาส่งเสริมด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ให้เป็นจริงได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานต่อไป.

                                                                                ——————————————–

ข้อสังเกต  :     วัตถุประสงค์ในข้อที่   (3) มีการจัดการทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาวินิจฉัยโรค พิจารณาการจ่ายเงินทดแทนและการฟื้นฟูสมรรถภาพของลูกจ้างที่เจ็บป่วยและประสบอันตรายจากการทำงานเพื่อสามารถกลับเข้าทำงานประกอบอาชีพได้อย่างปกติสุข

                        ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญตั้งแต่ดั้งเดิม  ข้อนี้ได้ถูกตัดออกไปเนื่องจาก   ทางท่านอาจารย์วรวิทย์ เจริญเลิศ  ได้เชิญองค์กร ANROAV  ประชุมระหว่างสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553มีข้อเสนอแนะจากANROAV ดังนี้ (ANROAV)คือองค์กรเครือข่ายผู้ประสบภัยจากการทำงานในทวีปเอเซีย

  1. สถาบันฯ ควรจะเน้นบทบาทงานวิจัยกับการให้ความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องสิทธิ .ความปลอดภัยฯ (Research + Education)  ข้ออ่อนที่พบในปัจจุบันของงานวิจัยมิได้เป็นงานวิจัยเชิงลึก ที่ศึกษาปัจจัยเชิงโครงสร้าง อำนาจ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเหตุการณ์จริงๆ ที่เกิดต่อผู้ประสบเคราะห์ ทำให้งานวิจัยที่ผลิตออกมาไม่สามารถนำมาช่วยเหลือคนงานได้ และงบประมาณในการทำงานวิจัยกับการศึกษาคนงานต้องมาจากกองทุนเงินทดแทน
  2. การที่สถาบันฯของกลุ่มเรา เข้าไปทำหน้าที่เองทุกเรื่อง เช่น การดูแลตรวจสอบสถานประกอบการ เป็นความเสี่ยง ในลักษณะนี้จะเกิดความขัดแย้งสูงที่รัฐหรือนายจ้างจะยินยอม  หรือกรณีเจอผู้ประสบเคราะห์ถูกละเมิดสิทธิ์ ในระยะยาวอาจเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายนายจ้างหรือรัฐโต้ตอบได้ ซึ่งหน้าที่นี้ควรจะเป็นของรัฐดีที่สุด และสถาบันฯควรเข้าไปติดตามการทำงานของรัฐโดยต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบที่เป็นประชาธิปไตย
  3. การที่สถาบันฯพยายามให้มีคณะทำงานที่มาจาก 5 ภาคี ถือ  ว่าดีที่สุดเพราะเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย แต่ถ้าสถาบันฯลดเหลือเพียง 4 ภาคี ควรจะให้ผู้ประสบเคราะห์ กับคนงานอยู่ด้วยกัน ไม่ควรนำไปรวมกับกลุ่มนักวิชาการหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากอาจเกิดกรณีที่จะเวลาเลือกภาคีผู้ถูกผลกระทบอาจสู้นักวิชาการไม่ได้                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                             

————————————-