เครือข่าย 109 องค์กร เสนอนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท

เครือข่ายการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า  ยื่นข้อเรียกร้องรัฐจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท พร้อมแนบรายชื่อผู้สนับสนุนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า จำนวน 109 องค์กร และอีก 6,000 รายชื่อ ยันระบบคัดกรองทำเด็กตกหล่น ร้อยละ 30 ซึ่งเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2561เครือข่ายการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าโดย โครงการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า ประกอบด้วยองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม ด้านเด็ก สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ เครือสลัม 4 ภาค เครือข่ายแรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์ระบเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อขอให้พิจารณาสนับสนุนนโยบายการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า โดยแนบรายชื่อผู้สนับสนุนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า จำนวน 109 องค์กร และอีก 6,000 รายชื่อ

นางสุนี ไชยรส ผู้แทนคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ถึงการยื่นหนังสือครั้งนี้ว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้มีผู้สนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าจำนวน 109 องค์กร และอีก 6,000 รายชื่อ ซึ่งมีเป็นจการรวบรวมจากนักกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีแน่ใจว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการและคลาดหวัง ซึ่งโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เริ่มเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ดูแลเด็กตั้งแต่0-1 ปีเดือนละ 400 บาท ปี 2559 รัฐบาลขยับขึ้นให้เด็กอายุ 0-3 ปี เพิ่มเป็นเดือนละ 600 บาท  แต่มีเงื่อนไขเรื่องระบบคัดกรองและพบว่ามีเด็กตกหล่น เด็กยากจนทุกร้อยคนจะพบว่าตกหล่น 30 คน เพราะการตั้งเงื่อนไขเรื่องรายได้เฉลี่ยของครอบครัวไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ระบบคัดกรองมีความซับซ้อนอย่างมากแม้แต่คนจนจริงๆก็ตกหล่น ซึ่งอยากบอกว่า เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดควรเป็นสิทธิของเด็กถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้รัฐได้รับประโยชน์สูงสุด และเด็กก็ได้รับประโยชน์สูงสุดด้วยเช่นกัน คือสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าควรจะได้ตั้งแต่ 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท หากยังใช้ระบบคัดกรองต่อไปเด็กจะตกหล่นเข้าไม่ถึงสิทธิอีกจำนวนมาก ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกถึงการตกหล่นของเด็ก และมีจำนวนไม่น้อยที่ควรได้รับเงินตรงนี้โดยถือเป็นสวัสดิการพื้นฐาน

“ปัจจุบันนี้ ผู้สูงอายุ ผู้พิการได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพเท่ากันโดยถือเป็นสวัสดิการ รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การศึกษาฟรีสำหรับเด็กทุกคน แต่ทำไมเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด0-6 ปีจึงเฉพาะเด็กยากจนส่งผลให้มีการคัดกรองและตกหล่นทั้งระบบเลย” นางสุนี กล่าว

นางสุนี กล่าวอีกว่า ทำไมถึงยอมให้เรื่องสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด0-6 ปีทำให้เด็กต้องตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการดังกล่าว ต่อให้รัฐบาลมีแนวโน้มขยับให้รายได้เพิ่มสูงกว่า 3,000 บาท ถึงบัตรสวัสดิการของรัฐ 100,000 บาท ต่อปี แต่ยังใช้ระบบคัดกรองเช่นเดิม ใครจะทราบว่าใครมีรายได้เท่าไร และยังคงมีคนที่ตกหล่นจากระบบดังกล่าว ฉะนั้นเครือข่ายฯมีข้อเรียกร้องเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนประกาศออกมาในปีนี้ ให้จัดสวัสดิการพื้นฐานเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าอย่างน้อย 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท

ทั้งนี้ นายพันธ์ศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับข้อเสนอ และรายชื่อต่าง พร้อมรับปากว่า จะนำข้อเสนอกราบเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ภายในวันนี้ และท่านคงมีคำตอบให้กับทางเครือข่ายแน่นอน

 

โดยหนังสือที่ยื่นมีเนื้อหาดังนี้

 โครงการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า

วันที่ 9พฤศจิกายน 2561

จดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เรื่อง              ขอให้พิจารณาสนับสนุนนโยบายการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า

กราบเรียน       พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 เห็นชอบการดำเนินงานโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลัก กลุ่มเป้าหมายคือ เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจน รายได้เฉลี่ยของครอบครัวไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้เป็นการลดความเหลื่อมล้ำและให้เด็กได้รับสิทธิโดยตรง โครงการเริ่มต้นจากการให้ลงทะเบียนและมีการคัดกรอง เพื่อขอรับเงินอุดหนุนรายละ 400 บาท/เดือน เป็นเวลา 1 ปี และรัฐบาลได้ขยายความคุ้มครองให้แก่เด็กเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี ในปัจจุบันเพิ่มเงินอุดหนุนจาก 400 บาท เป็น 600 บาท/คน/เดือน แต่ยังคงจำกัดให้เจาะจงที่เด็กในครอบครัวยากจนรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือนเช่นเดิม องค์กรภาคประชาสังคมและสถาบันวิชาการ ได้มีการนำเสนอขอให้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าแก่เด็กทุกคน อย่างน้อย 0-6 ปีเดือนละ 600 บาท อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นสวัสดิการแก่เด็กเล็กทุกคน ซึ่งมีผลการวิจัยทั่วโลกยอมรับว่า เป็นช่วงวัยที่เป็นการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุด

ปัจจุบันสังคมไทยมีการพัฒนาการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้ามายาวนาน โดยเฉพาะการเรียนฟรีอย่างน้อย 12 ปี สวัสดิการคนพิการ สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล ขณะที่ยังคงนโยบายและการปฏิบัติเพื่อเจาะจงเด็กยากจนด้วยระบบคัดกรอง พบว่า ทำให้เด็กยากจนจำนวนมากในกลุ่มเป้าหมายมีการตกหล่น เข้าไม่ถึงสวัสดิการที่สำคัญนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลมีการทบทวนและประเมินนโยบายเงินอุดหนุนแก่เด็กเล็กนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการประเมินผลการปฏิบัติจากงานวิจัยและการร่วมรับฟังข้อเสนอจากเวทีภาควิชาการและภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ(กดยช.) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 และวันที่ 13 กันยายน 2561 ได้มีการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่อง การประเมินผลกระทบและการประเมินการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประเทศไทย (UNICEF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสถาบันวิจัยนโยบายทางเศรษฐกิจ (Economic and Policy Research Institute : EPRI) จากประเทศแอฟริกาใต้ ออกแบบและดำเนินการ โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดเก็บข้อมูลภาคสนาม ผลการศึกษาสรุปว่า การให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เด็กแรกเกิดที่ได้รับเงินและเด็กเล็กอื่นในครัวเรือนมีผลลัพธ์ทางโภชนาการดีกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนซึ่งไม่ได้รับเงินที่มีฐานะใกล้เคียงกัน ครัวเรือนที่ได้รับเงินมีการให้นมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน ครอบครัวที่ได้รับเงินเข้าถึงการบริการสุขภาพและสังคมมากกว่า และแม่ในครัวเรือนที่ได้รับเงินมีอำนาจตัดสินใจด้านการใช้จ่ายมากกว่าแม่ในครอบครัวระดับเดียวกันที่ไม่ได้รับเงิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยพบว่า มีอัตราการตกหล่นของกลุ่มเป้าหมายยากจน (exclusion error) ร้อยละ 30 กล่าวคือ มีเด็กแรกเกิดยากจนประมาณร้อยละ 30 ยังไม่ได้รับเงิน ซึ่งจากการศึกษาทั่วโลกพบว่า การแก้ไขลดอัตราการตกหล่นคนจนเป็นเรื่องยากหากไม่ทำให้เป็นนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า

นอกจากนี้ การนำเสนอภาระงบประมาณภายใต้รูปแบบสวัสดิการเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า สาหรับเด็กเกิดใหม่ในปีงบประมาณ 2562 จะใช้เงินจานวน 8,909 ล้านบาท คิดเป็น0.05% ของ GDP ครอบคลุมเด็กจำนวน 1,237,369 คน ในปี 2567 ใช้งบประมาณ 29,043 ล้านบาท หรือ 0.13% ของ GDP แต่ครอบคลุมเด็กทุกคน หรือจำนวน 4,033,710 คน แม้งบประมาณที่ใช้จะสูงกว่าการให้เงินอุดหนุนแบบเฉพาะเจาะจง แต่ถือว่าเป็นการลงทุนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนด้านอื่น ๆ ของประเทศ และอัตราเด็กเกิดที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ การใช้งบประมาณในอนาคตก็มีแนวโน้มที่ลดลง ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรเห็นเป็นภาระหากแต่เป็นการใช้งบประมาณลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ในครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบต่อนโยบายการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้าแล้วว่า “เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการขจัดปัญหาการเข้าไม่ถึงของกลุ่มเป้าหมายแท้จริง (Exclusion error) อันจะช่วยให้เด็กทุกคนได้การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน

“การให้สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้าอย่างน้อยเดือนละ 600 บาท” จึงเป็นสวัสดิการพื้นฐานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเด็กทุกคน โดยไม่ต้องแบ่งแยก “ความยากดี-มีจน” แต่ให้เด็กเล็กทุกคนได้รับการดูแลจากรัฐอย่างเสมอภาคเท่าเทียม สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 54 วรรคสองระบุไว้ว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา…เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ  อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย” และมาตรา 48 “สิทธิของมารดาในช่วงระหว่าง ก่อน และหลังคลอดบุตรย่อมได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ” ทั้งยังยืนยันว่า ประเทศไทยเคารพต่อข้อผูกพันที่มีต่อกติการะหว่างประเทศที่ได้เป็นภาคี อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ระบุว่า เด็กทุกคนมีสิทธิเข้าถึงระบบความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสม รวมทั้งพันธะสัญญาสากลขององค์การสหประชาชาติ เช่น การพัฒนาที่ยังยืน Sustainable Development Goals ที่มีนัยสำคัญถึง “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Leave No One Behind) ส่วนแนวคิดการยกระดับเกณฑ์รายได้ครัวเรือนที่จะได้รับสิทธิ์เงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เท่ากับเกณฑ์รายได้โครงการสวัสดิการแห่งรัฐนั้น แม้จะเป็นแนวคิดที่ดีเพราะเป็นการขยายสิทธิ์ไปสู่ประชากรเด็กเล็กจำนวนมากขึ้น และอาจบรรเทาปัญหาการตกหล่นเด็กเล็กยากจนเนื่องจากความไม่ชัดเจนของระดับรายได้ได้บ้าง แต่เนื่องจากยังต้องมีกระบวนการคัดกรองรายได้จึงจะยังทำให้มีเด็กเล็กยากจนที่ตกหล่นเนื่องจากสาเหตุอื่น เช่น การเข้าไม่ถึงข่าวสารหรือได้รับข้อมูลผิดพลาด การอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การขาดเอกสาร การไม่อยากถูกตราหน้าว่าเป็นคนจน ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเมื่อเป็นการให้สิทธิแก่เด็กเล็กแบบถ้วนหน้า

คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้าและองค์กรเครือข่าย ตามรายชื่อในท้ายจดหมายนี้ รวมทั้งผู้สนับสนุนจำนวนมาก(ตามรายชื่อที่แนบมาพร้อมนี้) ขอสนับสนุนมติของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ(กดยช.) ครั้งที่ 3/2561 และขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบต่อการที่ประเทศไทยจะมีนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วหน้าเพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนอย่างคุ้มค่าที่สุดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติต่อไป ตลอดจนป้องกันที่จะไม่ทิ้งเด็กให้ตกหล่นอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ขอแสดงความนับถือ

สุนี ไชยรส

คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า

รายงานโดย นักสื่อสารแรงงาน