เครือข่ายแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติเรียกร้องรัฐคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

 

voicelabour4

เครือข่ายแรงงาน แถลงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานต่างๆที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการแรงงานและการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ดำเนินการให้มีมาตรการที่เข้มงวดต่อขบวนการนายหน้า ค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิแรงงาน ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานทางสากล

วันที่ 18 ธันวาคม 2557 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและเอกชน เครือข่ายองค์กรที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติ และภาคประชาสังคม ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล 18 ธันวาคม 2557 (International Migrant Day 2014) โดยมีเนื้อหาดังนี้

การย้ายถิ่นข้ามชาติ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญในทุกภูมิภาคทั่วโลกในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ท่ามกลางกระแสทุนเสรีนิยมยุคโลกาภิวัตน์ สหประชาชาติได้คาดการณ์ว่าใน พ.ศ. 2593 จะมีผู้ย้ายถิ่นถึง 257 ล้านคนในโลก โดยที่จำนวนดังกล่าวยังเป็นตัวเลขที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งมีการคาดการไว้ว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษแห่งการย้ายถิ่นข้ามชาติและปรากฏการณ์นี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมโลกอย่างมหาศาล

ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องการกำลังแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชา ลาวและเมียนมาร์ ที่มีมากกว่าหนึ่งล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ทำงานในงานที่สกปรก เสี่ยงอันตรายและยากลำบาก ประเด็นดังกล่าวจึงกลายเป็นนโยบายระดับชาติที่ต้องได้รับการจัดการ และที่ผ่านมามีระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงก่อนปี 2547 เป็นการจัดระบบคนต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาคนหลบหนีเข้าเมือง ช่วงหลังปี พ.ศ. 2547 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการหลายรูปแบบที่จะปรับสถานะแรงงานข้ามชาติ จากการเป็นบุคคลที่มีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมายมาสู่สถานะผู้เข้าเมืองถูกกฎหมาย ให้กลายเป็นแรงงานที่มีสัญญาจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี และเป้นความต้องการของแรงงานข้ามชาติเองและองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจนมาถึงยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)และรัฐบาลปัจจุบันที่ได้มีความพยายามดำเนินการทางนโยบายรวมทั้งมาตรการต่างๆ ทุ่มเททรัพยากรที่หลากหลาย ทั้งงบประมาณ เวลาและบุคคลากรในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ

สิ่งที่เป็นประเด็นท้าทายกับการย้ายถิ่นทั้งในระดับประเทศและสากล คือ การให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อันเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่นำมาสู่นโยบายของ คสช. ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 70/2557 เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์ เพื่อนำไปสู่การจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติในประเทศ และการสร้างมาตรฐานในการทำงานของแรงงานข้ามชาติที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและนายจ้างซึ่งประกอบกิจการ บางประเภทที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเป็นอย่างมาก และเพื่อขจัดการบังคับใช้แรงงานหรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงาน และนำไปสู่แนวปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามแม้ที่ผ่านมารัฐบาลไทยและหน่วยงานต่างๆจะได้ใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติและขบวนการหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติทั้งที่เข้ามาและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและแรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้ามา แต่ก็ยังมีปรากฏการจากบุคคล คณะบุคคลที่ยังละเมิดต่อกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ในประเด็นขบวนการนายหน้า ค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิแรงงาน จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ชื่อเสียง และบทบาทของประเทศไทย ในเวทีโลก ดังที่ทราบก่อนก่อนหน้านี้เรื่องการปรับชั้นประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ต้องเข้มงวดเรื่อง ค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน

เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและเอกชน เครือข่ายองค์กรที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติ และภาคประชาสังคม ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานต่างๆที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการแรงงานและการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ดำเนินการให้มีมาตรการที่เข้มงวดต่อขบวนการนายหน้า ค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิแรงงาน และหา ใช้ มาตรการ และกลไกที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและสามารถเข้าถึงบริการและการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน ให้เกิดขึ้นได้จริง ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานทางสากล ต่อไป

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน