เครือข่ายแรงงานทวงสภาฯเร่งพิจารณากฎหมายประกันสังคม

เครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงานยื่นจดหมายเปิดผนึกทวงถามความจริงใจสภาผู้แทนราษฎรถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับภาคประชาชน หวั่นถูกดองยาว หลังไม่มีวี่แววนำเสนอ

เวลา 10.30 น. วันที่ 26 เมษายน เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ได้ร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึก ติดตามการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของนักการเมืองจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอที่บริเวณหน้ารัฐสภา  เพื่อเรียกร้องความจริงใจต่อรัฐสภาในการพิจารณากฎหมายของภาคประชาชน หลังจากที่เคยเดินรณรงค์มาเรียกร้องแล้ว 2 ครั้งแต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า ในฐานะประธานคณะทำงานผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,624 รายชื่อของผู้ใช้แรงงาน  ได้เดินรณรงค์เพื่อยื่นหนังสือ ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งประธานรัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์  นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม และวันที่ 5 เมษายน ให้มีการหยิบยกร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของฝ่ายแรงงานเข้าสู่การพิจารณา เพราะนี่คือความต้องการของฝ่ายแรงงาน 

“หลังจากที่สภาประกาศขยายเวลาปิดการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. 2555 ออกไปเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555 โดยอ้างว่าจะได้พิจารณาร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุมหลายฉบับให้เสร็จสิ้นเพื่อไม่ให้งานดำเนินการล่าช้า คือเช่น ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดฝาง พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ. … เป็นต้น แต่พบว่า ทางสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีท่าทีว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับดังกล่าว หรือร่างกฎหมายของภาคประชาชนฉบับใดเลย หลังจากที่มีการเลื่อนการปิดการประชุมสภาฯ มีเพียงการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การปรองดองเท่านั้น จึงอยากให้สภาหันมาทำงานพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับภาคประชาชนด้วย เพราะแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบกว่า 34 ล้านคนกำลังรอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้อยู่ อยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานทุกคน ” นางสาววิไลวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ เนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายแรงงานระบุว่า

1. จากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติรับรองและให้ความสำคัญต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อรัฐสภาโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการใช้สิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางอ้อม ดังนั้น จึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของประธานรัฐสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังถือว่าเป็นการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

2. การที่รัฐสภาอ้างเรื่องการมีกฎหมายในส่วนของภาคประชาชนที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก ทำให้มีการขยายการเปิดประชุมรัฐสภาออกไปไม่มีกำหนด แต่อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมา กลับพบว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่มีการหยิบยกกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมาพิจารณาตามที่ได้อ้างแต่อย่างใด นี้เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญว่า นักการเมืองได้ใช้ข้ออ้างดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์และเป้าหมายทางการเมืองของตนมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน

อนึ่ง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานประกอบด้วย ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา  สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน  มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน