เครือข่ายผู้หญิง ยื่น 4ข้อ ต่อกระทรวงพัฒนาสังคม 

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่าได้มี ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (วีมูฟ) ร่วมกับกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีและองค์กรเครือข่ายแรงงานกว่า 30 คน นำโดย รศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี รองประธานโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้องเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2560 พร้อมหารือแนวทางการดำเนินงานเพื่อบรรลุข้อเสนอ กับ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดพม.

รศ.มาลีกล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรหญิงมากกว่าประชากรชาย ซึ่งทุกปีของวันสตรีสากล 8 มีนาคม ขณะที่ปีนี้สมัชชาสตรีซึ่งประกอบด้วยผู้ทำงานด้านสิทธิสตรีต่างๆ ได้มาร่วมจัดทำข้อเสนอและมอบให้รัฐบาลนำไปพิจารณา โดยเรียกร้อง 4 ข้อหลัก ดังนี้ 

1.รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ซึ่งระบุถึงสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา อาทิ สิทธิในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องมาจากการคลอดบุตร วันลาคลอดและดูแลบุตรที่เพิ่งคลอดไม่น้อยกว่า 14 สัปดาห์ (3 เดือนครึ่ง) โดยต้องได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ที่ได้รับอยู่แล้ว นายจ้างไม่สามารถเลิกจ้างแรงงานหญิงระหว่างตั้งครรภ์ ลาคลอด หรือระยะให้นมบุตร และการคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก โดยให้บิดาสามารถลางานมาดูแลบุตรและมารดาหลังคลอดบุตรได้ 

2.รัฐต้องจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและปรับเปลี่ยนเวลาเปิด – ปิดศูนย์ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงาน 

3.รัฐต้องกำหนดให้มีสัดส่วนหญิง – ชาย 50 : 50 ในคณะกรรมการทุกมิติ 

4.รัฐต้องกำหนดวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันหยุดราชการและวันหยุดตามประเพณี นอกจากนี้ มีข้อเรียกร้องย่อย อาทิ รัฐต้องให้ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิตรวจมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมฟรี, รัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้กับลูกแรงงานนอกระบบ ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีทุกคน, รัฐต้องให้ลูกจ้างเอกชนและพนักงานรัฐวิสาหกิจชาย ลาไปดูแลภรรยาและบุตรหลังคลอดโดยได้รับค่าจ้าง 30 วัน

ขณะที่ นายไมตรีกล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวแม้จะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อาทิ พม. กระทรวงแรงงาน แต่เราก็จะรับมาและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น พร้อมจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบเพิ่มเติมเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับ พม. โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน จริงๆปัจจุบันมีอยู่ 1.9 หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ รองรับเด็กอายุ 2-5 ขวบ มีครูผู้ดูแลเด็กประจำศูนย์ประมาณ 3-5 คน ซึ่งครูต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ถือว่าค่อนข้างครอบคลุมอยู่แล้ว ส่วนจะให้บริการมีคุณภาพระดับไหนขึ้นอยู่กับผู้บริหารท้องถิ่น อย่างบางแห่งผู้บริหารให้ความสำคัญก็มีบริการรถรับส่งถึงบ้าน ส่วนเรื่องสัดส่วนหญิงชาย 50ต่อ50 นั้น พม.ถือเป็นกระทรวงที่มีสัดส่วนผู้ทำงานเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อย่างพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ขณะนี้มีพมจ.ผู้ชาย 30 คน พมจ.ผู้หญิง 44 คน มีตำแหน่ง พมจ.ว่าง 2 ตำแหน่งก็มีผู้หญิงมารักษาการ ยิ่งบ้านพักเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ ขณะนี้มีหัวหน้าบ้านพักฯผู้ชาย 20 คน หัวหน้าบ้านพักผู้หญิง 44 คน และว่าง 3 ตำแหน่ง อย่างไรก็ดี ในการแต่งตั้งโยกย้ายบริหาร พม.ตนให้ความสำคัญสัดส่วนหญิงชายเป็นลำดับแรกๆ เพราะผู้หญิงมีเอกลักษณ์ในการทำงานคล่องตัว ราบรื่น นิ่มนวล และโปร่งใส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในที่ประชุมเครือข่ายผู้หญิงก็ยอมรับว่าข้อเสนอเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่เรียกร้องมายาวนาน เพียงแต่ทำไม่สำเร็จ พร้อมให้ความสำคัญถึงการผลักดันข้อเรียกร้องรัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO 183 ที่ครอบคลุมถึงข้อเรียกร้องอื่นๆให้บรรลุผล พร้อมให้ความสำคัญกับเวลาเปิดปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน 08.00-15.00 น. ที่ตรงกับเวลาเข้าทำงาน และปิดศูนย์ก่อนเวลาเลิกงานของผู้ปกครอง ซึ่งต้องปรับปรุงให้เอื้อต่อความเป็นจริง โดยนายไมตรีก็ชี้แจงว่าศูนย์จะมีครูเวรที่รอส่งเด็กจนถึงคนสุดท้ายที่ผู้ปกครองมารับ