เครือข่ายผู้หญิงเตรียมรณรงค์ข้อเสนอ 8 มีนา

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีร่วมกับเครือข่ายผู้หญิง สัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การสร้างเครือข่ายเพื่อกลไกการขับเคลื่อนของขบวนผู้หญิง” ข้อเสนอเบื้องต้น 6 ข้อ เตรียมรณรงค์ 8 มีนา “วันสตรีสากล”

เมื่อวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2560 กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การสร้างเครือข่ายเพื่อกลไกการขับเคลื่อนของขบวนผู้หญิง” ที่บ้านอิงเขา อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี

นางสาวนิไลมล มนตรีกานท์ ประธานกลุ่มบูรณาการสตรี กล่าวว่า การทำงานของผู้หญิงต้องประสานกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานหญิงในระบบ นอกระบบ และข้ามชาติ ซึ่งหวังว่า จะเกิดเครือข่ายแรงงานหญิงที่เข้มแข็ง ได้รู้ว่า กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในการขับเคลื่อนประเด็นแรงงานหญิงในเชิงนโยบายสวัสดิการต่างๆ เช่น การขับเคลื่อนสิทธิการลาคลอด 90 วัน ศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ ความปลอดภัยในการทำงาน ประกันสังคมกรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร ว่างงาน กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ดูเรื่องการล่วงละเมิดในสถานที่ทำงาน และการรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆในประเด็นสิทธิแรงงานหญิง ซึ่งมีมาร้องทุกข์ในประเด็นนายจ้างเลิกจ้างเนื่องจากตั้งครรภ์ หัวหน้างานที่เป็นผู้ชายล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งทางกลุ่มได้ให้ความช่วยเหลือ และบางประเด็นก็ส่งต่อให้กับองค์กรที่ทำงานประเด็นผู้หญิงและมีทนายความให้ความช่วยเป็นต้น

นางสาวนิไลมล ยังกล่าวอีกว่า การจัดการสัมมนาครั้งนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วย นักวิชาการ ผู้นำแรงงานหญิง ที่ปรึกษา รวมทั้งเครือข่ายแรงงานชาย องค์กรพัฒนาเอกชนมาร่วมกันในการนำเสนอเรื่อง “สถานการณ์การจ้างงาน /ความรุนแรงต่อผู้หญิงในครอบครัวและในที่สาธารณะ/นโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐ/สถานการณ์การเมือง” ซึ่งในเวทีมีการนำเสนอถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคต่างตั้งแต่อุตสาหกรรมแรกของโลกจนถึงการพัฒนาในประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยมีความเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจที่แรงงานหญิงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาแต่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในมุมมองของรัฐผู้คุมนโยบาย จากการทำงานเสนอสถิติตัวเลขกำลังแรงงานที่พบว่าผู้ชายทำงานมีจำนวนมากกว่าผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นแรงงานกในระบบของเอกชน ภาครัฐ แรงงานนอกระบบทั้งภาคอิสระ ภาคเกษตรกรรม ด้วยสรุปว่า การทำงานงานบ้านของผู้หญิงไม่นับว่าเป็นการทำงาน การรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานหรือองค์กรแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลจากมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ชายที่เป็นผู้นำ โดยสัดส่วนที่เท่ากันในตำแหน่งสหภาพแรงงานคือเหรัญญิก แม้แต่จำนวนสมาชิกในการรวมตัวผู้ชายก็มากกว่าผู้หญิง สะท้อนถึงสภาพการทำงานของผู้หญิงที่ยังไม่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ปัจจุบันสถานการณ์การจ้างงานเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แรงงานเริ่มมีความไม่มั่นคงในการมีงานทำ มีการจ้างงานที่หลากหลายมากขึ้น และอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานอีก นโยบายรัฐต่อการดูแลแรงงานเรื่องอนาคต จะเป็นอย่างไร การพัฒนาฝีมือแรงงาน การจ้างงานแรงงานผู้สูงอายุ ปัญหาการทำงานต่ำระดับความหมายคือ การทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมง ซึ่งเป็นคนที่มีประสิทธิภาพที่ควรทำงานได้สูงกว่านี้ ประสิทธิภาพสูง หรือวุฒิการศึกษาสูงแต่นายจ้างต้องการจ้างวุฒิที่มีจึงต้องทำงานต่ำกว่า ก็ต้องจำยอมทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิ การศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานเป็นต้น

นางสาวนิไลมล กล่าวต่อไปว่า ความรุนแรงในครอบครัว เด็กและสตรี ในที่สาธารณะในที่ทำงาน เนื่องจากผู้หญิงประสบกับปัญหาความรุนแรงตลอดเวลา ซึ่งความรุนแรงที่เห็นคือ ความรุนแรงทางกาย และทางวาจา ด้วยวัฒนธรรมจึงทำให้หญิงไทยไม่กล้าที่จะนำเรื่องออกสู่สาธารณะ ปัจจุบันมีการเรียกร้องความเท่าเทียมกันเรื่องสิทธิสตรี ข้อเสนอทางการเมืองให้รัฐธรรมนูญบรรจุประเด็นด้านสิทธิความเท่าเทียมหญิงชาย เรื่องเสรีภาพความเสมอภาคไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุไม่ว่าจะเพศ สีผิว เชื้อชาติ แต่ประเด็นแรงงานด้านสิทธิได้มาไม่เท่ากับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ และเรื่องการบริหารจัดการประกันสังคมถูกตัดออกไป วันนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ การร่างกฎหมายลูก กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ความเป็นตัวแทน ผู้หญิงต้องมีการเตรียมความพร้อมเสมออย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้ง การใช้อำนาจพิเศษของรัฐบาลในการจัดการกับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษผลกระทบความเดือดร้อนของชุมชน ชาวบ้าน สิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวกับแรงงานหญิงทั้งสิ้น

“จากการสรุปการพูดคุยและวางแผนการทำงานทั้งสร้างเครือข่ายผู้หญิง ร่วมกันมองถึงทิศทางการเคลื่อนไหว ซึ่งได้มีการเสนอเรื่องเวทีรณรงค์ข้อเรียกร้องเบื้องต้นโดยกลุ่มฯจะมีการจัดในวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งข้อเรียกร้องตอนนี้มีกลุ่มสตรีสรส.และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอ1. ให้รัฐรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการเป็นมารดา ให้ผู้ชายมีสิทธิในการเพื่อดูแลภรรยาช่วงคลอดบุตร 2. ให้รัฐเพิ่มสิทธิลาคลอดบุตรเป็น 120 วัน 3. รัฐจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่สอดคล้องกับชีวิตคนทำงาน เนื่องจากแรงงานทำงานเช้ากลับมืดและควรอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานมากนัก 4. รัฐต้องกำหนดให้มีการตรวจสุขภาพแรงงานหญิงต้องสารถตรวจมะเร็งปากมดลูกและเต้านมได้ฟรี แม้ว่าประกันสังคมกำหนดเรื่องการตรวจสุขภาพฟรีแต่ยังจำกัดอยู่ 5. รัฐต้องกำหนดให้มีสัดส่วนผู้หญิง ผู้ชายร้อยละ 50 ให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในทุกองค์กรทุกระดับไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น ระดับชาติอย่างส.ส. ส.ว. และองค์กรไตรภาคี 6. ให้รัฐกำหนดวันที่ 8 มีนา วันสตรีสากลเป็นวันหยุดประจำปี ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มยังเปิดรับข้อเสนอของทางเครือข่ายผู้หญิงกลุ่มอื่นๆอยู่ ” นางสาวนิไลมลกล่าว

ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย อดีตประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า การทำงานขับเคลื่อนประเด็นนโยบายต่างๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำแรงงาน นักวิชาการหลังจากประเด็นปัญหาการเลิกจ้างคนงานหญิงจำนวนมากกรณีคนงานไทยเกรียง ประเด็นการคลอดบุตรของคนงานหญิงที่ไม่สามารถจะดูแลให้นมบุตรได้ ซึ่งช่วงนั้นคุณอรุณี ศรีโต เข้ามาเป็นประธานกลุ่มและได้รับความช่วยเหลือทั้งข้อมูลทางวิชาการจากนักวิชาการ นักการเมืองหญิง ขบวนสหภาพแรงงานต่างๆก็เข้ามาขับเคลื่อนไม่ว่าหญิงหรือชาย จากการลาคลอด 90 วันสำเร็จได้ ตามมาด้วยการเคลื่อนไหว เรื่องการเคลื่อนไหวด้านความปลอดภัยในการทำงาน ประกันว่างงาน และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ศูนย์เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนลูกของคนงาน ซึ่งเคลื่อนไหวช่วงคุณวันเพ็ญ เปรมแก้วเป็นประธาน จนถึงวิไลวรรณ แซ่เตีย เป็นประธาน การได้ศูนย์เลี้ยงเด็กมาจากคำพูดของนายกทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศว่า กลุ่มอยากได้ตรงไหนบอกมาจนเกิดเป็นความร่วมมือของกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องเกิดศูนย์เลี้ยงเด็กทั่วประเทศในท้องถิ่น และศูนย์นำร่องที่ซอยวัดคู่สร้าง สมุทรปราการ เป็นศูนย์เลี้ยงเด็กลูกของคนงานศูนย์เดียว และมาได้เรื่องสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน ที่แม้ว่าไม่ใช่สถาบันที่สนองตอบตามข้อเสนอทั้งหมดแต่ก็ได้มาจากการเรียกร้องของขบวนการแรงงาน

“การจ้างงานปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงหมดแล้วในยุคนี้มากับเทคโนโลยีและเป็นการลดการจ้างงานทำให้เกิดความสะดวกต่อการบริการไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ร้านค้าทางอินเตอร์เน็ตคือการอำนวยความสะดวก กระทบต่อความมั่นคงในการทำงานหรือไม่ การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม การเกษียณอายุที่มีนั้นสอดคล้องหรือไม่ การกำหนดนโยบาย กรรมการไตรภาคีที่เคยเสนอให้มีสัดส่วนผู้หญิง การรับเรื่องราวร้องทุกประเด็นผู้หญิงแรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิ ปัญหาเกี่ยวกับเด็กสตรีจะทำเองหรือว่าบางประเด็นที่ต้องส่งให้องค์กรที่เชี่ยวชาญทำ ก็ดูประเด็นหลัก ต้องทำงานอย่างเกาะติด” นางสาววิไลวรรณ กล่าว

ส่วนนางสาวธนพร วิจันทร์ อดีตประธานกลุ่มฯกล่าวว่า การทำงานของสตรีต้องมีแนวคิดประชาธิปไตย ต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ความสำเร็จในการเคลื่อนไหวนโยบายไม่ว่าจะเป็นลาคลอด 90 วัน ประกันสังคมกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ว่างงาน ศูนย์เลี้ยงเด็กได้มาช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย ช่วงนี้การเคลื่อนไหวทำได้อยาก ปัญหาความแตกแยกทางความคิดทางการเมืองทำให้วันนี้การเคลื่อนไหวขาดพลัง กี่รัฐบาลแล้วที่การขับเคลื่อนไม่ส่งผลกับการเปลี่ยนแปลง ดั่งอดีตที่ผ่านมา เดิมสหพันธ์แรงงานสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตหนังแห่งประเทศไทยที่เป็นกำลังหลักทดถอยออกไปด้วยความต่างในความคิดเห็นทางการเมือง จะต้องมีการประสานกันทางความคิด ต้องเข้าใจประเด็นที่ทำให้แตกแยกแล้วปกครอง ต้องเข้าใจระบบชนชั้น ต้องชัดเจนเพื่อการเคลื่อนข้อเสนอของขบวนร่วมกันต้องทำให้ได้ และการเลือกตั้งที่จะมาถึงอย่างไรต้องมี กลุ่มต้องเตรียมตัวเตรียมนโยบายใคร พรรคไหนมีข้อเสนอที่ชัดเจนจะเสนอใครชัดเจนหรือไม่ว่าตัวแทนของแรงงาน ผู้หญิง ใช่หรือไม่ต้องดูเตรียมความพร้อมสักวันต้องเลือกตั้ง

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน