เกษตรกรพันธสัญญา บุกเพื่อไทยยื่น 10 ข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

เกษตรกรพันธสัญญา 9 องค์ ขอพบนายกรัฐมนตรี ที่พรรคเพื่อไทยหวังช่วยแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในระบบพันธสัญญา เสนอกำหนดค่ามาตรฐานกลางปัจจัยการผลิต

วันนี้ (22ส.ค.54 ) 9 องค์กร เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา ประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรในระบบพันธสัญญาภาคเหนือ, เครือข่ายเกษตรกรในระบบพันธสัญญาภาคกลาง, เครือข่ายเกษตรกรในระบบพันธสัญญาภาคอีสาน, ชมรมผู้รับจ้างเลี้ยงสุกรในระบบพันธสัญญาเชียงใหม่-ลำพูน, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคเหนือ, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน, สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน, แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ นำโดย นายอุบล อยู่หว้าผู้ประสานงานเครือข่ายได้ เดินทางไปขอพบนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเวลา 10.30 น.  เพื่อยื่นข้อข้อเสนอการพัฒนาระบบการเกษตร แก่เกษตรกรรายย่อย โดยมีนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมารับหนังสือแทนนายกรัฐมนตรี ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ชั้น 5 โดยเครือข่ายมี ข้อเสนอ ดังนี้

  1. จัดทำและกำหนดค่ามาตรฐานกลางของปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย ยา อาหาร
  2. ตรวจสอบสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและสินค้าทางการเกษตรให้เป็นไปตามค่ามาตรฐานโดยมีตัวแทนของเกษตรกร  ผู้บริโภค  หน่วยงานภาครัฐ และผู้รับซื้อร่วมในการตรวจสอบ
  3. ส่งเสริมผลักดันเกิดความยุติธรรมในระบบการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญาโดยนำหลัก “การค้าที่ยุติธรรม” (Fair trade) มาเป็นหลักการในการดำเนินการ
  4. จัดตั้งระบบการไกล่เกลี่ยและการระงับข้อพิพาทที่เกิดจากความขัดแย้งหรือการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับข้อสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรพันธะสัญญา
  5. กำหนดให้ข้อตกลง ที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรพันธะสัญญาเป็นสัญญาที่มีแบบมาตรฐานความเป็นธรรม
  6. ส่งเสริมให้เกิดระบบสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญา  รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ มีข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจในการทำการเกษตร
  7. ปรับปรุงและพัฒนา ระบบการประกอบกิจการธุรกิจการเกษตรแบบพันธะสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
  8. ส่งเสริมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานด้านการอำนวยความยุติธรรมและการค้าที่เป็นธรรมในระดับพื้นที่ และหน่วยงานกิจการธุรกิจการเกษตรแบบพันธะสัญญาในระดับนโยบาย มีการบูรณาการปฏิบัติงาน
  9. ผลักดันให้มีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเพื่อการคุ้มครองเกษตรกรที่ผลิตภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญาให้ได้รับความยุติธรรม สร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารให้แก่สังคมและผู้บริโภค
  10. จัดตั้งกลไกระดับชาติเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในรูปแบบอนุญาโตตุลาการ ประกอบด้วยตัวแทนเกษตรกรพันธะสัญญา ตัวแทนบริษัทผู้ประกอบการ ตัวแทนภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง