“อย่าปล่อยให้ 12 ล้านลอยนวล ไม่ขัดหลักการแต่ไร้ธรรมาภิบาล” 6 เงื่อนไขที่ทำให้กรรมการประกันสังคมเอาหูไปนา-เอาตัวไปนอก

“คุณก็รู้ว่าผมเป็นคนยังไง ผมไม่มีอะไรพวกนั้น คุณมั่นใจผมไหม จะมาถามอะไรจุกจิกๆนักหนา ผมจะไม่ทำก็ได้นะ ไม่เห็นจะเป็นไร นั่งกินของเก่าไป ห้องอาหารที่จะปรับปรุงใหม่ ก็จะทำไว้ให้ผู้ประกันตน คนที่มาติดต่อราชการได้ใช้ ผมจะไม่ทำก็ได้นะ เลิกไปเลยก็ได้ ไม่เห็นจะเป็นอะไร นั่งกินกันแบบเดิมไป บอร์ดอนุมัติให้ใช้วงเงิน 12 ล้านบาท งบประมาณนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์กองทุน ที่จะต้องนำกลับมาใช้จ่ายในการบริหารจัดการของคณะกรรมการและการบริหารของสำนักงานประกันสังคมและผู้ประกันตน”

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวตอบผู้สื่อข่าวเมื่อ 12-13 ตุลาคม 2561 กรณีถูกถามเรื่องการนำเงินกองทุนประกันสังคมจำนวน 12 ล้าน มาใช้ในการปรับปรุงห้องอาหารภายในกระทรวงแรงงาน

สอดคล้องกับที่ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 นายสุรเดช วลีอิทธิกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า “คณะกรรมการประกันสังคมมีมติเห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนประกันสังคมมาปรับปรุงห้องอาหารในวงเงิน 12 ล้านบาท ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่มีอะไรขัดระเบียบทางราชการ จะมีร้านค้ามากขึ้น ร้านตัดผม แอร์ตัวใหม่ ระบบท่อน้ำทิ้งใหม่”

หากไม่มีการนำเสนอข่าวจากสื่อมวลชนในกรณีนี้ ผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมทั้งมาตรา 33 , 39 และ 40 กว่า 15,734,754 คน คงไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นมานี้ ทั้งที่ก็เป็นเงินของตนเองที่ถูกนำไปใช้ในการดำเนินงานดังกล่าว

แน่นอนตัวเลขจำนวน 12 ล้านบาท ถือเป็นเงินที่เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินในกองทุนประกันสังคมในขณะนี้ที่มีอยู่ทั้งสิ้นกว่า 1,882,399 ล้านบาท (ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท) ถือได้ว่าเป็นกองทุนที่ไม่ต้องนำเงินใดๆส่งกระทรวงการคลังที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในประเทศไทยตอนนี้

กองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม (มีนาคม 2561) รายงานว่า ในไตรมาสแรกของปี 2561 (มกราคม-มีนาคม) กองทุนประกันสังคม

  • รายรับรวม 50,250 ล้านบาท มาจากเงินสมทบประมาณ 73 % (36,743 ล้านบาท) ผลตอบแทนจากการลงทุน 27 % (13,389 ล้านบาท)
  • รายจ่ายรวม 19,348 ล้านบาท โดยจ่ายประโยชน์ทดแทนให้ผู้ประกันตนใน 7 สิทธิประโยชน์ รวม 77.5 % (14,987 ล้านบาท) , ค่าบริหารสำนักงาน 1,298 ล้านบาท (6.71 %) และรายจ่ายอื่นๆ 3,063 ล้านบาท (20.44 % )

หลายคนคงมีคำถามตามมาว่าทำไมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและอดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม จึงกล่าวว่า “งบประมาณนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์กองทุน ไม่มีอะไรขัดระเบียบทางราชการ ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างถูกต้อง ที่จะต้องนำกลับมาใช้จ่ายในการบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคม”

เหล่านี้คือ 6 เงื่อนไขที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมควรได้รู้ เกี่ยวกับการนำเงินกองทุนประกันสังคมมาใช้ได้โดยตรง  โดยผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการประกันสังคมเพียงเท่านั้น

(เงื่อนไขที่ 1) กฎหมายประกันสังคมบัญญัติไว้ให้ดำเนินการได้

  • พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้ระบุไว้ในมาตรา 24 ว่า

“เงินกองทุนให้จ่ายเป็นประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้

คณะกรรมการอาจจัดสรรเงินกองทุนไม่เกินร้อยละสิบของเงินสมทบของแต่ละปี เพื่อจ่ายตามมาตรา 18 และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงาน

ในกรณีที่เงินกองทุนไม่พอจ่ายตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนหรือเงินทดรองราชการให้ตามความจำเป็น”

  • เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาที่มาตรา 18 ได้ระบุว่า

“กรรมการ ที่ปรึกษา กรรมการการแพทย์ กรรมการอุทธรณ์และอนุกรรมการ อาจได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง”

  • นี้จึงกล่าวได้ว่า เงินปรับปรุงโรงอาหารในกระทรวงแรงงานจำนวน 12 ล้านบาท จึงมาจากมาตรา 24 ที่อนุญาตให้คณะกรรมการดำเนินการได้โดยตรงไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

(เงื่อนไขที่ 2) เงิน 10 % ของเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 1.8 ล้านล้านบาท ก็คือกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท ที่คณะกรรมการประกันสังคมจะอนุมัติให้ใช้จ่ายอย่างไรในเรื่องใดก็ได้

  • พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 24 คือ ช่องโหว่สำคัญที่ทำให้เกิดการใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีความโปร่งใส
  • เงิน 100,000 ล้านบาทนี้ มากกว่างบประมาณของบางกระทรวงหรือบางองค์การมหาชน ที่คณะกรรมการประกันสังคมสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องผ่านกระทรวงการคลังหรือรัฐสภาพิจารณา โดยเป็นการตั้งงบประมาณกันเอง จัดการกันเอง และพิจารณากันเองภายในคณะกรรมการ
  • เงินของผู้ประกันตนในแต่ละปีจึงถูกนำไปใช้โดยที่ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิพิจารณา ออกความคิดเห็นใดๆ ทั้งๆที่เป็นเงินจำนวนมหาศาลที่มาจากผู้ประกันตนโดยตรง เช่น การไปดูงานต่างประเทศของคณะกรรมการประกันสังคมแต่ผู้ประกันตนกลับไม่ได้ประโยชน์ใดๆ
  • แม้ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องมาตลอดให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคม มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อเมื่อปี 2555 แต่ข้าราชการภายในกระทรวงแรงงาน นักการเมือง และกรรมการประกันสังคมบางกลุ่มกลับไม่ต้องการให้มีการแก้ไข เพราะจะไม่สามารถใช้เงินในส่วนนี้ได้อย่างอำเภอใจอีกต่อไป
  • ที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมมักอ้างว่า ค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงานอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 3 ของเงินสมทบเท่านั้น ซึ่งยังต่ำกว่าเพดานขั้นสูงตามกฎหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 10 ของเงินสมทบอยู่มาก
  • หากเปรียบเทียบอัตราส่วนของค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงานต่อค่าใช้จ่ายรวมของกองทุนประกันสังคมของประเทศไทยกับต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบว่า ประเทศไทยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงานต่อค่าใช้จ่ายรวมของกองทุน อยู่ที่ประมาณร้อยละ 7-8 ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 8-0.9 เท่านั้น
  • งานวิจัยจาก TDRI เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 24 เพื่อปรับเพดานขั้นสูงในการจัดสรรเงินกองทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงาน จากไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินสมทบในแต่ละปีให้ต่ำลง เช่น เหลือไม่เกินร้อยละ 5 ของเงินสมทบในแต่ละปี

(เงื่อนไขที่ 3) รายรับส่วนใหญ่กว่า 73 % มาจากเงินสมทบจากผู้ประกันตนและนายจ้าง ที่รัฐบาลจ่ายสมทบน้อยกว่า และยังคงค้างเงินกองทุนประกันสังคมกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท แต่กฎหมายกลับกำหนดให้รัฐเป็นเจ้าของเงินนี้เพียงฝ่ายเดียว

ทุกๆสิ้นเดือนผู้ประกันตนกว่า 4 ล้านคนจะต้องถูกหักเงินสบทบประกันสังคมตามสัดส่วนฐานเงินเดือน แต่ไม่ว่าจะอยู่มาตราใดจะสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน

  • มาตรา 33 ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสูงสุดฝ่ายละ 5 % แบ่งไปสมทบใน 3 กองทุน คือ กองทุนแรก 1 % สมทบในกองทุนเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และคลอดบุตร กองทุนที่สอง
    1 % สมทบในกองทุนว่างงาน และกองทุนที่สาม 6 % สมทบในกองทุนชราภาพและสงเคราะห์บุตร
  • มาตรา 33 รัฐสมทบเพียง 75 % โดยไปสมทบใน 3 กองทุน คือ กองทุนแรก 1.5 % สมทบในกองทุนเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และคลอดบุตร กองทุนที่สอง 0.25 % สมทบในกองทุนว่างงาน และกองทุนที่สาม 1 % สมทบในกองทุนเฉพาะสงเคราะห์บุตร (ชราภาพไม่ได้สมทบแต่อย่างใด)
  • มาตรา 39 ผู้ประกันตนจ่าย 432 บาทต่อเดือน รัฐสมทบ 120 บาทต่อเดือน
  • มาตรา 40 ผู้ประกันตนมี 3 ทางเลือก คือ จ่ายต่อเดือน 70,100,300 บาท แต่รัฐสบทบ 30,50,150 บาท ตามลำดับ
  • กฎหมายประกันสังคมไม่ได้กำหนดให้กองทุนเป็นนิติบุคคล ดังนั้นจึงทำให้ทรัพย์สินของกองทุนจึงกลายเป็นทรัพย์สินของรัฐไปโดยปริยาย ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วเงินในกองทุนส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกันตนและนายจ้าง
  • แปลว่าหากมีเงินในกองทุน 100 บาท จะเป็นส่วนที่มาจากนายจ้างและลูกจ้าง 78 บาท และจากรัฐผ่านเงินภาษีประชาชนอีก 22 บาท เท่านั้น แต่รัฐกลับมีอำนาจควบคุมดูแลเบ็ดเสร็จโดยขาดการมีส่วนร่วมของนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นเจ้าของเงินอย่างแท้จริง
  • ในหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลยังติดค้างการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นจำนวนถึง 6 หมื่นล้านบาทที่ยังไม่มีการชำระแต่อย่างใด (ตัวเลข 16 ตค. 61 จากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง)

(เงื่อนไขที่ 4) การบริหารกองทุนประกันสังคมยังคงอิงกับระบบราชการ

  • จุดด้อยสำคัญของการบริหารกองทุนประกันสังคม คือ การนำกองทุนไปอิงกับระบบราชการ ซึ่งมีความสามารถด้านการบริหารจัดการที่จำกัด ส่งผลต่อความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการกองทุน
  • กฎหมายไม่ได้กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคมต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐสภา ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ (หมายถึงไม่ได้มีกฎหมายบังคับให้เปิดเผย) แต่ให้ขึ้นตรงกับปลัดกระทรวงแรงงานเท่านั้น ซึ่งปลัดกระทรวงแรงงาน โดยตำแหน่ง ก็คือประธานคณะ กรรมการประกันสังคมนั้นเอง ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันโดยอัตโนมัติ
  • เลขาธิการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีผ่านการเสนอชื่อจากรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงแรงงาน ทำให้ในความเป็นจริงคณะกรรมการประกันสังคมจึงเป็นเพียงตราประดับความชอบธรรมของกระทรวงแรงงานที่ตัดสินใจหรือวางแผนมาแล้ว
  • ที่ผ่านมาทำให้คณะกรรมการประกันสังคมจึงไม่เคยเปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการต่อสาธารณะ เพราะมีเรื่องการอนุมัติต่างๆนานาเข้ามาเกี่ยวข้อง
  • ฝ่ายราชการมักมองว่าการบริหารจัดการ คือ องค์กรและข้าราชการที่มีศักยภาพ มีธรรมาภิบาล แต่ไม่ได้มองที่กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ใช้แรงงานว่าจะได้รับประโยชน์ที่แท้จริงได้บ้าง
  • ยกตัวอย่างรูปธรรม หากคณะกรรมการประกันสังคมอนุมัติเงินให้ปรับปรุงโรงอาหารกระทรวงแรงงานได้ แต่ทำไมการอนุมัติปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ละครั้งจึงมีความยากเย็น โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการสุขภาพ
  • หากพิจารณางบสถานะเงินกองทุนประกันสังคมแต่ละปี จะเห็นว่ารายได้จากเงินสมทบจะเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ย 2 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี เพราะมีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่ตลาดการจ้างงานทุกปี
  • นี้ไม่นับว่าผู้ประกันตนจำนวนมาก กว่าล้านคนแน่นอนที่จ่ายเงินสมทบ แต่เวลาเจ็บป่วยกลับไม่ได้ใช้ระบบประกันสังคม เพราะมีบริการสุขภาพจากบริษัทหรือสถานประกอบการภาคเอกชนอยู่แล้ว จึงทำให้มีเงินสมทบเหลือเป็นจำนวนมากในการจัดการเรื่องดังกล่าวนี้
  • จนบัดนี้ระบบบริการสุขภาพในระบบประกันสังคม ยังมีความย่ำแย่-ด้อยกว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาท) ในหลายกรณี
  • การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ แม้จะมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 กำกับไว้ แต่ก็พบว่าโครงการกว่าร้อยล้านบาทบางโครงการกลับมีผู้ผ่านการเสนอราคาเพียงรายเดียว เป็นต้น

(เงื่อนไขที่ 5) ปี 2561  คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาชุดที่ 13  อนุมัติการจัดสรรเงินกองทุนประกันสังคม เพื่อเป็นรายจ่ายในปี 2561 จำนวน 4,745,282,600 ล้านบาท (4.7 พันล้านบาท จากเงินที่สามารถใช้ได้ทั้งหมดกว่า 1 แสนล้านบาท) แน่นอนยังสามารถอนุมัติเงินได้อีกมหาศาลในการดำเนินการใดๆก็ได้ ดังเช่นการปรับปรุงโรงอาหารกระทรวงแรงงาน

  • 9 มกราคม 2561 มีประกาศคณะกรรมการประกันสังคมอนุมัติเงินรวม 3,800,138,800 บาท (3.8 พันล้านบาท) เพื่อจัดสรรให้สำนักงานประกันสังคมทุกจังหวัดและทุกเขตพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร รวมถึงทุกหน่วยงานในสำนักงานประกันสังคม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน
  • 16 มกราคม 2561 คณะกรรมการประกันสังคมมีมติที่ประชุมครั้งที่ 1/2561 อนุมัติเงินรวม 944,143,800 บาท (ประมาณ 900 ล้านบาท) โดยให้ใช้เงินดังกล่าวตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2561
  • แบ่งเป็นงบดำเนินงาน 365,215,500 บาท (300 กว่าล้าน) ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม อบรมสัมมนา ประกาศเกียรติคุณ มอบรางวัลต่างๆ , เผยแพร่ความรู้ประกันสังคมแก่ผู้ประกันและนายจ้างกลุ่มต่างๆ , สร้างภาพลักษณ์สำนักงานประกันสังคม , ออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ , ตรวจสอบสถานประกอบการ , ค่าซื้อของเยี่ยมผู้ประกันตนและผู้ทุพพลภาพ
  • งบลงทุน 461,122,600 บาท (400 กว่าล้าน) ได้แก่ ค่าครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และค่าพัฒนาปรับปรุงระบบสารสนเทศ
  • งบเงินอุดหนุน 42,300,000 บาท (40 กว่าล้าน) ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ , ค่าสมาชิกสมาคมการประกันสังคมระหว่างประเทศ , งบดำเนินการวิจัยภายใน
  • งบรายจ่ายอื่น 76,505,700 บาท (70 กว่าล้าน) ได้แก่ โครงการสถานพยาบาลต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพและป้องกัน , จ้างที่ปรึกษา , การจัดสมัชชาแรงงานนอกระบบ , งานคณิตศาสตร์ประกันภัย , การทำยุทธศาสตร์สำนักงานประกันสังคม , การจัดจ้างนักวิจัยภายนอกมาทำวิจัย

(เงื่อนไขที่ 6) กรรมการประกันสังคมไม่ใช่ตัวแทนลูกจ้างที่แท้จริง

  • ในหลายปีที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างล้วนแต่เป็นบุคคลหน้าเดิม บางคนก็มีผลประโยชน์อิงอยู่กับสำนักงานประกันสังคม เป็นเหตุให้วนเวียนกลับมาเป็นคณะกรรมการเสมอ ขณะที่ตัวแทนในส่วนของภาครัฐก็เป็นเพียงตัวแทนของกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงบประมาณ ที่เหลือเป็นฝ่ายเลขาธิการและที่ปรึกษา
  • ตัวแทนลูกจ้างก็ไม่ใช่ตัวแทนลูกจ้างทั้งประเทศจริงๆ กลไกการคัดเลือกหรือสรรหาคณะกรรมการก็ยังมีปัญหา แต่กลับให้คนเหล่านี้ดูแลเงิน 8 ล้านล้านบาท
  • กรรมการหรืออนุกรรมการประกันสังคมบางคน ยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น ไม่เข้าใจการทำงานของระบบสารสนเทศ หรือไม่เข้าใจเรื่องงานวิจัย กระทั่งรังเกียจแรงงานข้ามชาติ ก็พบว่าถูกคัดเลือกเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคมก็มี และต้องมาพิจารณาอนุมัติเงินกองทุนประกันสังคมในการใช้จ่ายเหล่านี้
  • การประกาศใช้มาตรา 44 ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการหยุดชะงักโดยเฉพาะการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคม ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นอิสระ

ดังนั้นจากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเห็นแล้วว่าการอนุมัติเงินจำนวน 12 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงโรงอาหารกระทรวงแรงงาน จึงเป็นเรื่องขัดกับหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนอย่างยิ่ง อีกทั้งยังสัมพันธ์อีกว่า ทำไมช่วงนี้รัฐบาลถึงมีแนวคิดจะจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคมเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่เงินกองทุนก็สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพได้ หากมีมืออาชีพมาบริหารงาน ไม่ใช่ให้ข้าราชการกระทรวงแรงงานหรือกรรมการประกันสังคมยุคโบราณ มาบริหารงานในยุค 4.0 แบบนี้

กฎหมายประกันสังคมที่ผู้ใช้แรงงานใช้อยู่ทุกวันนี้ จึงเปรียบได้กับสายไฟเก่าๆ ที่พันอยู่รอบบ้าน รอวันลัดวงจร สร้างความหายนะ และถึงแก่ชีวิตอันวอดวายให้กับผู้อยู่อาศัยทั้งปวง โดยที่สามารถวางระบบไฟฟ้าใหม่ได้ แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆทั้งสิ้น

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ 18 ตุลาคม 2561