คนงานไทย-เทศ แห่เข้าศูนย์อ้อมน้อยฯรับความช่วยเหลือ กระอัก!จ่ายค่ารถเรือไปทำงานวันละ400ยังถูกเลิกจ้าง

คนงานอ้อมน้อยทั้งไทย พม่า กัมพูชาทุกข์หนัก กรอกแบบสอบถามร้องขอความช่วยเหลือเพียบ   ศูนย์ฯตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องทุกข์และให้คำปรึกษาปัญหาทางสิทธิแรงงานตลอดวัน  รายหนึ่งน้ำท่วมทางต้องเสียค่ารถเรือไปทำงานวันละ4-500 ติดต่อนายจ้างไม่ได้ 3 วันถูกเลิกจ้าง ขณะบริษัทโยโรซึ ไทยแลนด์ จำกัด ร่วมกับสหภาพแรงงานโยโรซึ ประเทศไทย นำของบริจาคมูลค่า 100,000 กว่าบาท ทำถุงยังชีพแจกจำนวน 250 ถุง พร้อมนมเด็ก และยารักษาโรค 

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 54 เวลา 11.00 น. ที่หน้าศูนย์ช่วยเหลือแรงงานอ้อมน้อยฯ บริเวณใต้สะพานข้ามแยกอ้อมน้อย มีคนงานและชาวบ้านจำนวนกว่า 300 กว่าคนมารับสิ่งของยังชีพและปรึกษาปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมที่ศูนยช่วยเหลือแรงงานฯ ซึ่งในการรับของบริจาคต้องมีการลงทะเบียนกรอกประวัติข้อมูลเบื้องต้น และเรื่องที่ต้องการรับความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือแรงงานฯแห่งนี้ ว่าจะให้ช่วยเหลือในด้านไหนบ้าง และที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานฯยังรับเรื่องร้องทุกข์และปรึกษาปัญหาทางด้านแรงงาน ปัญหาการไม่จ่ายค่าแรง-ค่าจ้าง ปัญหาการถูกเลิกจ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรม

เปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์ ไขปัญหาสิทธิแรงงาน

ขณะที่มีคนงานชื่อ น.ส.บุญญาพร  แซ่เอียว อยู่บริษัท บจก.เฟอร์เบส เป็นบริษัทเขียนโปรแกรมอุตสาหกรรมหนัก ติดตั้งตู้ระบบคอนโทรลของตู้คอนเทนเนอร์ เข้ามาที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานฯ เพื่อปรึกษาปัญหาทางด้านแรงงานกับเจ้าหน้าที่ศูนย์(อาจารย์ตุลา ปัจฉิมเวช นักสิทธิแรงงาน)

น.ส.บุญญาพร เล่าว่า “เข้าทำงานเมื่อเดือนมิถุนายน – ตุลาคม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม ได้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการแล้ว เค้ารับทราบ ในวันศุกร์ ที่ 28 ตุลาคม ไม่ได้ไปทำงานและไม่ได้โทรติดต่อกับนายจ้าง เพราะเส้นทางถูกตัดขาด ทางกระทุ่มแบนออกไปไม่ได้ โดนตัดขาด พุทธมณฑลสาย 5 ไม่รู้จะไปทำงานอย่างไร ถ้าไปทำงาน ไหนจะค่ารถ ค่าเรือ ไม่รู้จักกี่ต่อ ค่าใช้จ่ายไม่พอกับเงินเดือนที่ได้รับ วันหนึ่งก็ต้องจ่ายค่าเดินทางไปทำงาน 400-500 บาท ไม่ได้ติดต่อกับนายจ้างมา 3 วัน ทางฝ่ายธุรการโทรมาบอกว่า คุณขาดงานเกิน 3 วัน ทางบริษัทขอเลิกจ้างคุณโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ไปรายงานตัวที่ประกันคนว่างงานมา เค้านัดไปรายงานตัววันที่ 21 ธันวาคม 2554"

แรงงานพม่าร้องขอข้าวกิน

ในวันเดียวกัน แรงงานพม่ากว่า 10 คน ที่อาศัยอยุ่หอพักแรงงาน ในตลาดเก้าแสน ตำบลอ้อมน้อย สมุทรสาคร ได้เข้ามาขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานฯ ให้มีการลงไปช่วยเหลือเพื่อนชาวพม่า และแรงงานไทย เนื่องจากน้ำยังท่วมสูงเกือบเมตร และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ

หนึ่งในแรงงานเล่าว่า แรงงานที่อยู่ในหอมีมากกว่า 50 คน ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ ต้องการถุงยังชีพ และยารักษาโรค วันนี้ออกมาเพื่อพาเพื่อนไปหาหมอ เป็นไข้หวัด และขอถุงยังชีพกลับไปช่วยเหลือกันในหอพัก ตนเองและเพื่อนทำงานอยู่โรงงานไก่ นายจ้างประกาศปิดงาน และยังไม่รู้ว่าจะได้ค่าจ้างหรือไม่ ตอนนี้เดือดร้อนไม่มีอาหารกิน”

แรงงานขอทานกัมพูชา 7 คน หอบลูกขอนม – ถุงยังชีพกิน

ขอทานหญิงชาวกัมพูชาที่อาศัยบ้านเช่าบริเวณใกล้เคียง อุ้มลูกเดินลุยน้ำสูงเกือบถึงเอวออกมาขอถุงยังชีพและนมเด็กที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานฯ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องรายได้  ไม่มีอาหารและขาดนมให้ลูกกินมาหลายวัน หลังจากน้ำท่วมลำบากมาก  ความที่ไม่ใช่คนไทย และเป็นขอทานจึงไม่มีใครช่วยเหลือ ทั้งยังสื่อสารกับคนไทยได้ยาก วันนี้ต้องยอมอุ้มลูกออกมาเพื่อขอข้าวกิน แม้ว่าจะกลัวตำรวจจับก็ตาม ทั้งนี้ขอทานกลุ่มนี้ยังมีผู้ชายที่เป็นสามีอาศัยอยู่รวมกันอีก 10 กว่าคน

สหาภาพแรงงานโยโรซึ ร่วมนายจ้าง จัดถุงยังชีพ น้ำดื่ม และนมเด็กลงพื้นที่บริจาคแรงงานอ้อมน้อย

นายฮิโรโน  ฮายาซึ ประธาน บริษัทโยโรซึ ไทยแลนด์ จำกัด ร่วมกับสหภาพแรงงานโยโรซึ ประเทศไทย ซึ่งมีพนักงานและสมาชิกสหภาพแรงงานได้นำสิ่งของยังชีพและน้ำดื่มมาบริจาคมูลค่า 100,000 กว่าบาท ที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่

นายฮิโรโนริ  ฮายาซึ ประธานบริษัทโยโรซึ ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า “ขอแสดงความเสียใจกับคนไทยที่เจอปัญหาน้ำท่วม เราได้รับข้อมูลว่าปัญหาน้ำได้คลี่คลายลงบ้างแล้ว แต่ว่าในวันนี้ได้มายังจุดที่เจอปัญหาน้ำท่วม ว่าคนที่นี่ได้รับความลำบากจริงๆ วันนี้ได้นำสิ่งของที่ช่วยได้มาบางส่วน และหวังว่าปัญหาน้ำท่วมจะถูกแก้ไขโดยเร็วไว ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีด้วย”

นายสรวิศ  เศิกศิริ ประธานสหภาพแรงงานโยโรซึ ประเทศไทย กล่าวว่า “ รู้สึกอยากช่วยคนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่มีความเดือดร้อน มีความยากลำบากในที่อยู่ที่กิน จึงไปขอความอนุเคราะห์กับทางบริษัทให้นำสิ่งของมาบริจาคให้กับคนงานที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ซึ่งมีคนงานอาศัยอยู่จำนวนมาก และการกระจายสิ่งของเข้าไม่ถึงคนงาน”

นักเรียนจิตอาสา ช่วยบรรจุถุงยังชีพ

ในวันเดียวกันมีนักเรียนจาก รร.สมุทรสาครวิทยาลัย จำนวน 12 คน เข้ามาสอบถามกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ถึงความต้องการอาสาสมัครที่จะแพ็คถุงยังชีพหรือไม่

นายสุรศักดิ์  บุญหลง มัธยมศึกษาปีที่ 4 กล่าวว่า “ผมกับเพื่อนแบ่งกันออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 6 คน หาจิตอาสาทำสาธารณประโยชน์ในวิกฤตน้ำท่วม ซึ่งอีกกลุ่มหนึ่งแยกไปเก็บขยะตามบริเวณใต้สะพานนี้เหมือนกัน ผมรู้สึกอยากช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม อยากส่งกำลังใจให้เค้ารู้สึกว่ายังมีเพื่อน ยังมีกำลังใจอยู่ตรงนี้”

น.ส.เพชราภรณ์  จันทร์เพ็ญ มัธยมศึกษาปีที่ 4/7 เล่าว่า “อาจารย์ให้ทำโครงงานอาสาสมัครช่วยเหลือน้ำท่วม พวกเราก็เลยมาหาอาสาทำงานช่วยเค้าแพคของบ้าง อีกกลุ่มก็แยกไปเป็นอาสาเก็บขยะที่น้ำพัดพามาทิ้งไว้ ช่วยกันเก็บกวาดขยะให้ลงถังขยะ ให้ถูกที่ถูกทาง หนูรู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมถึงแม้จะช่วยไม่ได้มากเท่าไหร่ แต่หนูรู้สึกดีใจที่ได้ทำค่ะ”

อัยยลักษณ์ เหล็กสุข นักสื่อสารแรงงาน รายงาน