แชต “เลิกจ้าง” สิทธิหน้าที่ของลูกจ้าง และนายจ้าง

20150204_122220

โดย นักสื่อสารแรงงาน

กลายเป็นกระแสที่สังคมหันมาสนใจข่าวสารด้านแรงงาน จากกรณีข่าวเลิกจ้างลูกจ้างทดลองงาน ที่แชตในเวลางาน มีความเห็นต่างๆมากมาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่ได้จากข่าวนี้ก็คือข้อกฎหมายที่ผู้พิพากษานำมาประกอบคำพิพากษานั่นคือประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา๕๘๓ ที่บัญญัติว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดีหรือกระทำการอันไม่สมควรต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้” ตามมาตรานี้จะเห็นว่า

๑.ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายขอนายจ้างกล่าวคือคำสั่งนี้ ต้องเป็นคำสั่งของนายจ้างหรือผู้ที่นายจ้างให้อำนาจไว้ และต้องเป็นคำสั่งที่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของลูกจ้างอีกทั้งต้องไม่เป็นคำสั่งที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติได้ไม่เหนือความสามารถของลูกจ้าง ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดข้อตกลงเกี่ยวสภาพการจ้างที่มีอยู่

๒.ลูกจ้างต้องไม่ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร

๓.ลูกจ้างต้องไม่กระทำผิดร้ายแรง ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องผิดวินัยร้ายแรงเท่านั้นแต่รวมถึงการเป็นปฏิปักษ์ต่อนายจ้างและการทุจริตต่อหน้าที่ด้วย

๔.ลูกจ้างต้องไม่กระทำการอันไม่สมควรต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต

อย่างน้อยข่าวนี้ก็ทำให้รู้ว่าลูกจ้างควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไร ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานะลูกจ้างที่ต้องระลึกเสมอว่า นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาและลงโทษ ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือบทลงโทษนั้นจะสมควรหรือไม่เพียงไร ซึ่งนายจ้างมักกระทำไปโดยอำนาจที่มีอยู่และมอบภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิไว้ที่ลูกจ้าง และข้อกล่าวหาที่นายจ้างใช้เป็นเหตุเลิกจ้างส่วนใหญ่จะเป็นข้อหาที่นายจ้างไม่ต้องรับภาระเรื่องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เช่นทุจริตต่อหน้าที่ ทำผิดระเบียบวินัยข้อนั้นข้อนี้ ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงฯลฯ เรียกว่า ใส่มาเป็นแพ็คเกต

เอาเป็นว่า ถ้าลูกจ้างมีปัญญาพิสูจน์และสู้จนสุดกระบวนการก็ยินดีจ่ายให้ แต่ถ้าโชคดีผลการไกล่เกลี่ยต้องจ่ายต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ถือว่า ไม่ขาดทุน มีหลายกรณีแม้นายจ้างเป็นฝ่ายผิดแต่ก็ไม่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่นนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย แต่พอลูกจ้างใช้สิทธิตามกฎหมาย ก็ถูกลิดรอนสิทธิด้วยขั้นตอนการไกล่เกลี่ย ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องภูมิอกภูมิใจว่า สามารถจบปัญหานี้โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ แต่เกือบทุกรายลูกจ้างไม่ได้สิทธิเต็มตามที่กฎหมายบัญญัติโดยข้อจำกัดอยู่ที่คำว่า “ไม่ต้องเสียเวลา” เป็นจริงดังคำกล่าวอ้างทุกประการเพราะขั้นตอนการต่อสู้นั้นยาวนานหลายขั้นตอนเหลือเกินเช่น ใช้สิทธิทางพนักงานตรวจแรงงานหรือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต้องเวลา ๖๐-๙๐ วัน หากมีการอุทธรณ์คำสั่งโดยใช้สิทธิทางศาลก็กินเวลายาวไปอีกโดยไม่สามารถระบุได้ว่าจะนานเท่าใดขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง สุดท้ายลูกจ้างก็ต้องยอมจำนนต่อกาลเวลา

ดังนั้น หน้าที่ของลูกจ้างคือ “ถ้าไม่อยากพิสูจน์ความถูกต้องก็ยอมจำนนทำตามคำสั่งท่านไปส่วนผู้ใดต้องการพิสูจน์ก็ต้องยอมรับสถานะพวกหัวแข็งที่ถูกปูนหมายหัวรอประหาร และต้องมีคุณสมบัติอึดทนนานในทุกสภาวะ ส่วนหน้าที่ของนายจ้างก็คือทำไปก่อนพิสูจน์ทีหลัง และต้องมีคุณสมบัติ “ดุร้าย เลือดเย็น” อย่างนี้หรือเปล่า ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งหลายอยากเห็น แต่สำหรับผู้เขียนการบังคับใช้กฎหมายเป็นเพียงข้อบ่งชี้สรรพคุณและวิธีการใช้ยาแต่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่เปรียบเสมือนแพทย์ที่ต้องวางแผนการรักษา ซึ่งจะเลือกใช้วิธีฆ่าเชื้อโรคแบบไหน จะรักษาตามอาการหรือรักษาที่ต้นเหตุของโรคก็อยู่ที่ท่าน”

**********