“สหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม”

ผู้นำแรงงาน นักวิชาการตั้งวงเสวนา สหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อถกเรื่อง SMU อดีต ปัจจุบัน แนวคิดสหภาพแรงงาน หรือขบวนการแรงงาน

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้จัดเสวนา เรื่อง สหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ

คุณปรีดา ศิริสวัสดิ์ ผู้แทนผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท กล่าวเปิดงานว่า ขบวนการที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมคือขบวนการแรงงาน สถานการณ์ของโลกที่มีการพัฒนาเพื่อให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้นทำให้การรวมตัวกันทำได้ยาก และขบวนการแรงงานมีการพูดคุยกันมานานไม่ว่าจะสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง การรวมตัวกันระดับสากล การสร้างอำนาจต่อรองด้วยการรวมตัวกันเป็นขบวนการทางสังคม ซึ่งมีการคุยเรื่องยุทธศาสตร์กันมานานแล้ว และแนวคิดสหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นไปได้แค่ไหนในการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงาน

นายทวีป กาญจนวงศ์ รองประธานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงันกล่าวเปิดงานว่า เรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคมของขบวนการแรงงานขอกล่าวถึงยุค 14 ตุลา 2516 ด้วยมีการร่วมกับชาวนาเรื่องราคาข้าวสารปี 2519 ต่อต้านการขึ้นราคารถเมล์ ปี2517 ช่วงนั้นเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมตลอด ไม่ใช่แค่เรื่องแรงงาน และทำให้ผู้ใช้แรงงานลืมตาอ้าปากได้ เมื่อมีการยึดอำนาจรัฐประหาร แรงงานก็ออกไปสู้ร่วมกับนักศึกษาให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย และทำให้ได้มาซึ่งสิทธิต่างๆ และอีกสถานการณ์หนึ่งคือช่วงหลัง 6 ตุลา2519 มีการออกไปต่อสู้อีกครั้งในช่วงเผด็จการครองแผ่นดิน และช่วงรัฐประหาร 2534 ก็ไปร่วมอีกครั้งในส่วนของขบวนการแรงงานในการต่อต้านเผด็จการ เชิดชูประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น ก็มีการเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน เคลื่อนไหวกับกลุ่มพีมูฟบ้าง ซึ่งมีหลายองค์กร ไม่ใช่แค่สมานฉันท์แรงงานไทยที่ได้เข้าไปร่วมเคลื่อนไหวทางสังคม แรงงานต้องออกไปสร้างแนวร่วม ไม่ควรอยู่คนเดียว แนวคิดทางสังคมของแรงงานไม่ว่าจะเป็นคนรอบโรงงาน ชุมชน ก็ต้องออกไปสร้างแนวทำงานร่วมกันต่อสู้กับประชาชนเช่นเดียวกันแรงงานนั้นไม่เห็นแก่ตัวยังต่อสู้ร่วมกับประชาชน สังคม แล้วเวลาแรงงานมีปัญหาก็จะได้แนวร่วมในการต่อสู้

 

รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ นักวิจัยเรื่องสหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นว่า โครงการเสวนาเรื่องสหภาพแรงงานในแนวขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในวันนี้ เป็นโครงการที่ต้องการทบทวนอดีต และปัจจุบันเพื่อก้าวไปสู่อนาคต และแลกเปลี่ยนความเห็นของภาคประชาชน ระหว่างสหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ เป็นการสร้างองค์ความรู้เรื่อง SMU (social movement unionism)หรือสหภาพแรงงานในแนวขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หมายถึง สหภาพแรงงานที่ไม่ได้จำกัดบทบาทอยู่แค่การเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าของแรงงานในระดับสถานประกอบการ มีการเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคม ร่วมกับขบวนการอื่นๆในระดับชุมชน สังคม และโลก ซึ่งความเป็นมาของ SMU ในต่างประเทศใช้คำนี้มากว่า 30 ปีแล้ว โดยใช้เรียกสหภาพแรงงานในกรณีต่างๆ คือสหภาพแรงงานในกิจการขนส่งในประเทศอินเดียที่มีการนัดหยุดงานและสามารถนำเพื่อนในชุมชนมาร่วมเดินขบวน กรณีต่อมาคือการนัดหยุดงานของคนงานในแอฟริกาใต้เพื่อต่อสู้กับระบบเหยียดผิวในยุคที่ปกครองโดยคนผิวขาว และการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานฟิลิปปินส์เพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการมาร์คอร์ส เป็นต้น

การถกเถียงในปัจจุบันเรื่องSMU มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ฝ่ายที่เห็นด้วยได้ยก ตัวอย่างเช่น กรณีการเดินขบวนของสหภาพแรงงานอเมริกันในรัฐLA เพื่อสนับสนุนสิทธิแรงงานข้ามชาติ กรณีการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานครูโรงเรียนรัฐบาลในอเมริกา เพื่อให้นักเรียนได้รับบริการมากขึ้นโดยสร้างแนวร่วมกับครูและผู้ปกครอง และกรณีการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานผู้หญิงในเม็กซิโกที่มีการร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมมาหลายสิบปี ฝ่ายที่เห็นด้วยกับSMU มักปฏิเสธ “สหภาพแรงงานในแนวกลุ่มผลประโยชน์”(business unionism) ซึ่งเป็น“สหภาพแรงงานที่เน้นการเจรจาต่อรองกับนายจ้างเพื่อผลประโยชน์เฉพาะของแรงงาน

ข้อโต้แย้งของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับSMU มองว่าแนวคิดนี้ ใช้ไม่ได้กับสหภาพแรงงานในประเทศที่มีการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐ หรือสหภาพแรงงานที่ยังพึ่งตนเองไม่ได้ โดยยกตัวอย่างเช่น สหภาพแรงงานในประเทศเกาหลีใต้ซึ่งได้รับคำยกย่องจากผู้สนับสนุนSMU ว่ามีลักษณะสู้รบมากแต่ต้องถูกทำลายเพราะถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐและตกอยู่ใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย กรณีสหภาพแรงงานในบังคลาเทศ มีปัญหาแรงงานถูกกดขี่มาก จึงจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อความจำเป็นเฉพาะหน้า เรื่องค่าจ้าง สวัสดิการพื้นฐานและสหภาพแรงงานยังไม่เป็นพลังอิสระ ต้องพึ่งNGOs หรือองค์กรระหว่างประเทศจึงไม่สามารถไปเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมได้

เมื่อมาดูแนวคิด SMU ในประเทศไทย มีนักวิชาการไทย 2 คนที่ใช้แนวคิดนี้ในการศึกษาสหภาพแรงงานไทยในระดับภาพรวมของขบวนการแรงงาน และในส่วนขององค์กรพัฒนาเอกชน มีโครงการพัฒนาผู้นำแรงงานเพื่อคุณภาพชีวิตและสังคม ที่ดำเนินงานโดยมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงันได้นำแนวคิดนี้ไปใช้ในหลักสูตรอบรมผู้นำแรงงาน

ในยุคที่มักถูกมองว่ามีความเป็น SMU  มากที่สุดในอดีต คือหลังเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ถึงก่อนรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เป็นยุคที่กรรมกรเคลื่อนไหวร่วมกับนิสิตนักศึกษา ชาวนา ในยุคนี้สมาคมลูกจ้าง สหภาพแรงงาน สามารถเป็นตัวแทนปกป้องสิทธิ ประโยชน์ของแรงงานได้ชัดเจน และมีบทบาทเป็นขบวนการทางสังคมที่ชัดเจน มีการขับเคลื่อนเรื่องระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ และขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม เช่น คัดค้านการขึ้นราคาข้าวสาร ราคาน้ำมัน และในช่วงแรกหลังปี2519 ก็ยังมีการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและสวัสดิการเช่นคัดค้านการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ การประกันสังคม การลาคลอดฯลฯ

กรอบความคิดเรื่องSMUใช้ประเด็นหลัก 2 เรื่องคือ ความเป็นตัวแทนทางชนชั้น ในมุมมองทางชนชั้นเป็นอย่างไร และความเป็นขบวนการทางสังคม ซึ่งข้อค้นพบเบื้องต้นจากการวิจัยพบว่าสหภาพแรงงานในปัจจุบัน มีการขยายบทบาทความเป็นตัวแทนแรงงาน เช่น พยายามที่จะปกป้องแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ ส่วนประเด็นทางสังคมนั้นคิดว่า ยังไม่ชัดเจนมากนักว่าสหภาพแรงงานเป็นขบวนการทางสังคมหรือไม่ แต่พบว่ามีการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง ทั้งในนามขององค์กร และส่วนบุคคล ซึ่งก็มีข้อสังเกตจากนักวิชาการต่างประเทศว่า ระหว่างบทบาทความเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ กับความเป็นขบวนการทางสังคมมีความสัมพันธ์หรือขัดแย้งกันอย่างไร เช่นหากสหภาพแรงงานไปร่วมกับขบวนการทางสังคมจะทำให้เข้มแข็งจริงหรือไม่ หรือเป็นเพราะสหภาพแรงงานเข้มแข็งจึงสามารถไปร่วมกับขบวนการทางสังคมได้ ดังนั้นต้องมาดูว่าแนวทาง SMU สามารถที่จะใช้ได้ทุกประเทศหรือไม่ หรือสามารถใช้ได้เฉพาะบางประเทศเท่านั้น

จากนั้นได้มีการเสวนา เรื่อง ขบวนการแรงงานไทยในปัจจุบันควรพัฒนาไปสู่การเป็นสหภาพแรงงานในแนวขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือไม่ อย่างไร โดยผู้ร่วมเสวนาบนเวทีประกอบด้วยผู้นำสหภาพแรงงาน โดยมีประเด็นดังนี้ 1). สหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในความเข้าใจเป็นอย่างไร 2). ขบวนการแรงงานไทยในปัจจุบันเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแล้วหรือยัง ดูจากอะไร และ 3). การพัฒนาขบวนการแรงงานให้เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมควรมีแนวทางอย่างไร ในระดับสหภาพ กลุ่มสหภาพ หรือระดับชาติ

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)กล่าวว่า สหภาพแรงงานในประเทศไทยผูกติดอยู่กับเงื่อนไขของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และรัฐก็ไม่ยอมรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพในการรวมตัว เจรจาต่อรองร่วม ที่ได้รับการคุ้มครอง ทำให้แรงงานไม่มีแนวคิดในการรวมตัว และทำงานเชิงสังคม แต่จะมีการทำงานแบบนอกรูปแบบกฎหมายคือการรวมตัวขององค์กรแรงงานแบบไม่จดทะเบียน อย่างกลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่มีการทำงานร่วมกับภาคประชาชนบ้าง คิดว่าประเด็นทางสังคมควรเริ่มจากตัวเรา เพราะแรงงานคือส่วนหนึ่งของสังคมด้วย ซึ่งการทำงานและการอยู่ร่วมกันในระดับองค์กร ระดับชุมชน การขับเคลื่อนประเด็นร่วมกันทางสังคมต้องมาร่วมกันผลักดัน เพราะมีประโยชน์เฉพาะหน้า และประโยชน์ร่วม ซึ่งก็อาจมีบางส่วนที่ต้องสูญเสียประโยชน์ ต้องมีทำงานร่วมกัน ต้องมาดูว่า จะทำประเด็นไหนร่วมกัน

นายสมศักดิ์ สุขยอด ประธานสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทยกล่าวว่าการต่อสู้ระดับสหภาพแรงงานเป็นการต่อสู้ภายในบ้าน เพื่อการเรียกร้องสิทธิสวัสดิการเฉพาะหน้า การต่อสู้ทางสังคมก็มีปัญหา เพราะแรงงานยังไม่มีเอกภาพ เนื่องจากภาคสังคมค้อนข้างใหญ่มากต้องอาศัยความร่วมมือของ ทุกฝ่ายในการร่วมมือกัน แต่วันนี้แรงงานยังคงแยกกันเป็นกลุ่มๆ ไม่รวมกันการที่จะเข้าไปทำงานเชิงสังคมจึงมองว่าต้องสร้างเอกภาพก่อน ซึ่งทุกฝ่ายต้องเปิดใจคุยกันในส่วนของผู้นำแรงงาน และต้องหาเป้าหมายร่วม มีการกำหนดนโยบายร่วมกันในการทำงานร่วมต้องทำงานเป็นทีมเดียวกันต้องมองไปข้างหน้า เหลือประเด็นหลักในการขับเคลื่อน

นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวว่า กลไกของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ทำให้ขบวนการแรงงานแตกแยก แต่ก่อนมีเพียงสภาองค์การลูกจ้างเดียว แต่เมื่อมีการให้ตำแหน่ง การเข้าไปร่วมกับรัฐในระบบไตรภาคีทำให้องค์กรต่างๆแย้งกันที่จะเข้าไป แต่ไม่ใช่ว่า ปัญหานี้จะทำให้ขบวนการแรงงานไม่ทำงานกับภาคประชาสังคม หรือไม่เป็นขบวนแรงงานเชิงสังคมได้ เพราะมันคือหน้าที่ในการเรียกร้องสวัสดิการ ในฐานะผู้ที่ได้รับการจัดตั้ง ซึ่งตรงนี้ต้องทำให้เป็นระบบประชาธิปไตย ก่อนรัฐธรรมนูญยังไม่การเขียนกำหนดเรื่องสหภาพแรงงานเลย ซึ่งขบวนการแรงงานต้องร่วมกันสร้างเอกภาพ ความคิดเห็นทางการเมือง ความแตกต่างทำให้พูดคุยกันไม่ได้ หากต้องการความเป็นประชาธิปไตยต้องเคารพความคิดเห็นต่าง และต้องไม่เลือกข้างยืนฝั่งใด ฝั่งหนึ่งต้องยึดถือเรื่องชนชั้น การที่เข้าไปร่วมขับเคลื่อนกับภาคประชาชนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยช่วงที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ ออกมาขับเคลื่อนชุมนุม การเข้าไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวนั้นแค่ไหน หากขบวนการแรงงานจะเป็นขบวนการทางสังคม คงไม่ใช่แค่การเข้าร่วมชูป้ายสนับสนุนเท่านั้น คิดว่าต้องมีส่วนร่วมในการกำหนด และมีบทมากมากกว่านี้ ซึ่งในส่วนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง เข้าร่วมผลักดันเรื่องผังเมือง ด้วยเห็นเรื่องผลกระทบต่อการพัฒนาเมือง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีสหภาพแรงงานที่เป็นสมาชิกกลุ่มฯถึงกับลาออกจากการเป็นสมาชิก เนื่องจากรู้สึกว่ากระทบกับสถานประกอบการที่เขาทำงานอยู่ อันนี้ก็ต้องมีการทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจ ต้องปรับวิธีคิดของสหภาพแรงงานในการมองให้กว้างออกมานอกรั้วโรงงานที่ทำงานอยู่ ให้เห็นเรื่องสังคม ชุมชนด้วย

นางสาวเรืองรุ่ง วิเชียร์พงษ์ ประธานสหภาพแรงงานเอส เอส แอล กล่าวว่า การทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นการสร้างความเป็นธรรม ซึ่งมองว่า การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิการลาคลอดของแรงงานหญิง สิทธิในการเป็นมารดาเป็นเรื่องเชิงสังคม ในอดีตกลุ่มแรงงานหญิงมีการเคลื่อนไหวให้มีการลาคลอด 90 วัน และการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในชุมชน แม้ว่า จะไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ แต่มองว่า การเคลื่อนไหวของแรงงานหญิงเป็นการขับเคลื่อนทางสังคม เพราะปัญหาหลักยังเป็นเรื่องของกองทุนงบประมาณ และแนวคิดรัฐ ซึ่งสหภาพแรงงานเอส เอส แอล ขณะนี้ได้สิทธิลาคลอด 120 วันโดยได้รับค่าจ้าง แต่ก็มองว่า อยากให้สังคมข้างนอกรั้วโรงงานตนเองได้สิทธิเหล่านี้ด้วย ปัญหาหลักก็เห็นเหมือนกับทุกคนคือ ขบวนการแรงงานต้องมีเอกภาพ ปัญหาที่ทำให้เสียงของแรงงานไม่ดังพอที่รัฐจะรับฟัง หรือไม่สามารถทำให้ขบวนการแรงงานเป็นขบวนการทางสังคมได้คือความไม่เป็นเอกภาพนี่คืออุปสรรค์ทางการเคลื่อนไหวเพราะไม่ไปทิศทางเดียวกัน คิดว่าอยากให้ แรงงานเรียนรู้ประวัติศาสตร์แรงงานไทย และต่างประเทศ บทบาทการต่อสู้ของผู้นำในอดีตว่า ทำไมถึงได้รับความยอมรับให้เป็นขบวนการทางสังคม

นายเซีย จำปาทอง  กรรมการสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีอะไรที่ทำให้คิดว่าสหภาพแรงงานไม่เป็นขบวนการทางสังคม เพราะแรงงานคือคนหนึ่งในสังคม เมื่อรัฐธรรมนูญมีการบังคับใช้ ต้องส่งผลกระทบต่อทุกคนรวมถึงแรงงานอย่างเราด้วย สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน สหภาพแรงงาน องค์กรต่างๆเคลื่อนไหวได้น้อยมาก เนื่องจากมีกฎหมายที่กำหนดเรื่องการชุมชน และแรงงานยังถูกคุมด้วยกฎหมายแรงงาน กฎหมายรัฐธรรมนูญ ประเด็นร่วมที่เคลื่อนไหวคือ กฎหมายประกันสังคม เรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่ผลคือเป็นแรงงานจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในระบบประกันสังคม หากมีการออกมาขับเคลื่อนเพื่อผลประโยชน์ตรงนี้ก็จะส่งผลสะเทือนกับรัฐแน่นอน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้เป็นประชาชนผู้เสียภาษี แล้วภาษีนั้นก็จะย้อนกลับมาจัดเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนทุกคน รวมถึงตัวเราหรือยัง แรงงานควรรู้หรือไม่ หรือถูกนำไปใช้อะไรบ้าง ระบบสหภาพแรงงานถือว่าเป็นระบบประชาธิปไตย มีการประชุม เลือกตั้งกรรมการบริหาร การแก้ข้อบังคับ ซึ่งสมาชิกมีการตรวจสอบการทำงาน รวมถึงงบประมาณ เงินค่าบำรุงสมาชิก ซึ่งกรรมการบริหารต้องจัดประชุมชี้แจงต่อสมาชิก แต่รัฐธรรมนูญที่ใช้ในการบริหารประเทศ ประชาชนกับไม่มีส่วนร่วม ประชาชนมีความเดือดร้อนเรื่องปากเรื่องท้อง รัฐกลับนำเงินไปซื้อเรือดำน้ำ รถถัง เครื่องบิน และสร้างรถไฟความเร็วสูง อย่างนี้ให้เปิดประชุมเพื่อชี้แจงความจำเป็นให้ประชาชนรับรู้ และประชาชนขอคัดค้านได้หรือไม่ เมื่อประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังมีการใช้กฎหมายพิเศษในการบริหารจัดการประเทศอยู่

ต่อมาช่วงบ่ายได้มีเวทีเสวนาเรื่อง “ขบวนการแรงงานไทยกับการเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” โดยผู้เข้าร่วมเสวนาบนเวทีประกอบด้วย นักวิชาการ และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่มีการออกมาขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมนั้น มาจากหลายสาเหตุ เช่นปัญหาตัวระบบที่เกิดขึ้น ความไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น การรวมตัวเคลื่อนไหมเพียงขบวน เฉพาะด้านนั้นไม่เพียงพอ ทำให้มีการเคลื่อนไหวในหลายประเด็นที่ต้องสร้างกระบวนการทางสังคม เป็นการรวมกลุ่มที่มากกว่ากลุ่มผลประโยชน์เฉพาะหน้า องค์ประกอบคือ มีเครือข่ายแนวราบ การเจรจาไม่ใช่แค่กระบวนการไตรภาคี ทำให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นมามากกว่าแนวคิดสหภาพแรงงานแบบเดิม จากประสบการณ์ของสมัชชาคนจน ที่มีชาวไร่ ชาวนาเคลื่อนไหวไม่ใช่ผลประโยชน์เฉพาะ การขยายระบอบประชาธิปไตย หากจะให้เกิดการบรรลุผลประโยชน์เฉพาะ อาจต้องมีมิติอีกมากมาย เพื่อสร้างขบวนการทางสังคม ทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ได้เกิดขึ้นแบบลอยๆ แต่ว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นจากบทเรียนที่เกิดมาก่อน

ในแง่ของ SMU ประเด็นที่สำคัญคือ ต้องก้าวข้ามประเด็นเฉพาะของตนเอง ห้ามแยกประเด็นปากท้องออกจากประเด็นการเมือง ผลประโยชน์เฉพาะต้องทำ และการวิเคราะห์วิถีชีวิตร่วมกัน ให้เห็นความเป็นแรงงาน ปัญหาแรงงานนอกระบบ ประเด็นที่มีผลทางปากท้องก็เป็นประเด็นที่ต้องคุยกัน ประเด็นเรื่องการตั้งพรรคกับขบวนการขับเคลื่อน คุณสุวิทย์ วัดหนู (อดีตผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)มองว่าการตั้งพรรค ต้องแยกจากขบวนการแรงงานที่เป็นขบวนการทางสังคม

นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า แนวคิดการทำงานเพื่อสังคมนั้นได้รวบรวมจากข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงาน หรือสหภาพแรงงานมีสมาชิกเพียงร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานที่มีอยู่ 38 ล้านคน เท่านั้น แล้วมาดูองค์กรสภาองค์การลูกจ้างที่เรียกว่าองค์กรนำ กับขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงาน ที่มีการเรียกร้องเมื่ออดีตคือ เรื่องข้าวเปลือกราคาถูก ข้าวสารราคาแพง สมัยคุณอารมณ์ พงศ์พงัน ได้เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการแปรสภาพข้าว ทำหน้าที่พิสูจน์อัตราแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเพื่อประเมินราคาให้กับชาวนาได้รับความเป็นธรรม นี่เป็นบทบาทของผู้นำแรงงาน หรือขบวนการแรงงานในอดีต มีการเคลื่อนไหวเรื่อง ข้าวปลาอาหาร ค่าโดยสารรถเมล์ ราคาน้ำมันสินค้าอุปโภคบริโภค นี้คือภาพการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานเมื่อในอดีต

ขบวนการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานในปัจจุบัน ซึ่งตนได้รวบรวมมาเพื่อให้เห็นภาพว่ายังคงทำหน้าที่ในการเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือไม่ ข้อเรียกร้องในหลายกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ และวันสำคัญอื่นๆตามวาระโอกาสที่สะท้อนผ่านทั้งข้อเรียกร้องและป้ายรณรงค์ ประกอบด้วย เรื่องต้านสิ้นค้าราคาแพง ที่อยู่อาศัย การศึกษา การปฏิรูประบบการศึกษา ศูนย์เลี้ยงเด็ก สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การจัดสวัสดิการทางสังคม ความเสมอภาคระหว่างเพศ การลาคลอด การปฏิรูปเมือง ที่มีการเรียกร้องการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย  สัดส่วนการมีส่วนร่วมทางการเมือง และยังมีการเรียกร้องแบบหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ การเคลื่อนไหวแบบเดิมของขบวนการแรงงานเป็นการรวมตัวขับเคลื่อนโดยสหภาพแรงงานในโรงงานเท่านั้น แต่ต่อมามีการเรียกร้องครอบคลุมไปถึงแรงงานกลุ่มอื่นๆด้วย เช่น แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และยังมีเรื่องการเชื่อมชาวไร่ ชาวนา มีเรื่องต้านทุนนิยมครอบโลก นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นยังมีอีกมากมาย ซึ่งอยากสะท้อนให้เห็นความพยายามในการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน และยังมีเรื่องกิจกรรมเชิงสังคม แบบช่วยเหลือน้ำท่วม ไฟไหม้ รวมถึงเรื่องที่เรียกกันว่า เป็นแนวสังคมสงเคราะห์ หรือกิจกรรมแบบ CSR เช่นการปลูกป่า งานวันเด็ก เป็นต้น ซึ่งเห็นว่า สหภาพแรงงานที่จะทำเชิงสังคมได้ คือต้องดูเชิงปริมาณ และคุณภาพ ทำให้ทุกคนรู้ว่า ทุกคนเป็นแรงงานแล้วเข้ามาร่วมขบวนการแรงงาน หากจะให้มีความเข้มแข็งเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่เรียกว่า เอกภาพในขบวนการแรงงาน เพราะขบวนการแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งขบวนการแรงงานต้องคิดให้ตกว่า จะเป็นขบวนการทางสังคมแบบไหน คือแบบรอสงเคราะห์ หรือว่าเป็นสังคมที่ต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตย

การที่มีพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยขึ้นมา เพื่อให้แรงงานมีสำนึกทางชนชั้น และต้องการที่จะให้รู้รากเหง้าว่าแรงงานมาจากรากเหง้าเดียวกัน และสำนึกของชนชั้นแรงงานที่มีการแบ่งแยกกัน  รู้เท่าทันชนชั้นปกครอง เพราะว่าในส่วนของสถิติแห่งชาติเวลากล่าวถึงกำลังแรงงานทั่วประเทศ 38 ล้านคน แสดงว่า ทุกคนเป็นแรงงานหรือไม่ แล้วเราก็แบ่งกันเองว่า นี่คือพนักงาน กรรมกร แรงงาน สำนึกทางชนชั้นหายไป และยังมีการพูดถึงบ่อยๆว่า ชนชั้นไหนก็เขียนกฎหมายเพื่อชนชั้นนั้น แต่เมื่อมีปัญหาทางสำนึกความเป็นชนชั้นเดียวกัน การเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ หรือประกันสังคมนั้น เพื่อใครครอบคลุมใครบ้าง ใครได้รับผลประโยชน์ การที่มีองค์กรอย่างสหอาชีวกรรมกร เป็นการรวมคนทุกสาขาอาชีพ ตามชื่อที่มี และการที่เป็นองค์กรทางสังคมก็ต้องคุยกันเพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน

นางสุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน ในสากลนั้นมองว่า เป็นเรื่องใหญ่กว่าขบวนการต่อสู้เชิงสังคม เพราะเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น แต่เมื่อยุคสมัยที่การต่อสู้ทางชนชั้นอ่อนตัวลง จึงมาเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะขบวนการแรงงานอ่อนแอลง  เป็นอีกยุคหนึ่ง บริบทของแรงงานจะถือตัวเองเป็นกำลังหลักในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือไม่ หรือว่า แรงงานเป็นเพียงขบวนหนึ่งในการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางสังคม มีความก้าวหน้าของการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลกไปทุกที่ เพราะแรงงานคือคนที่มาจากชนบท มีปัญหาเรื่องที่ดินมีความเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในมือของทุน แล้วทำไมไม่ต่อสู้ เพราะรากเหง้าของแรงงานคือคนในชนบท และขบวนการแรงงานต้องวิเคราะห์สังคมด้วยว่าใครมีพลังในการเปลี่ยนแปลง

ยุคหนึ่งในอดีตหลัง14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 เกิดการต่อสู้แบบ 3 ประสาน เป็นเรื่องอุดมการณ์ เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ไม่เอาเปรียบ และต้องตอบโจทย์วันนี้ว่า ต้องมีอุดมการณ์ จึงไม่ใช่การทำงาน CSR และขบวนการแรงงานจะทำอย่างไรที่ต้องต่อสู้กับสังคมได้ด้วย ต้องดูเรื่องความเป็นธรรมด้วยการเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อความเป็นธรรม และทุกกลุ่มต้องสู้เพื่อตนเองด้วยไม่ใช่ไปข้างหน้าโดยที่ไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง ต้องไม่ปล่อยให้พี่น้องแรงงานถูกกระทำเอาเปรียบ ต้องไปด้วยกันทั้งขบวนการสังคม  แล้วขบวนการแรงงานต่อสู้เพื่อแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ หรือไม่ แรงงานทุกกลุ่มต้องขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้มแข็งเอง และทุกคนไม่มีสิทธิทำแทน ต้องมีการปรึกษาหารือ ต้องให้แรงงานเหล่านั้นเป็นต้นเรื่อง และต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง แรงงานต้องไม่ใช่หางเครื่องของใคร ไม่ว่าระบบไหน ที่ผ่านมามองข้ามหัวแรงงานทั้งหมด หากยังก้าวข้ามไม่ได้แรงงานก็จะกลายเป็นหางเครื่องจริงๆ  ขบวนการพรรคการเมืองเป็นเรื่องแต่ละคนในการเข้าไปเป็นสมาชิกพรรค หรือตั้งพรรคการเมืองของแรงงาน

ในอดีตท่ามกลางขบวนการต่อสู้นั้น มีความรุนแรงถูกปราบปรามกันอย่างหนักหน่วงถูกจับกุมคุมขัง หนีเข้าป่า การต่อสู้สมัยนี้ก็มีเสียชีวิต ล้มตาย หายตัวกันไป การต่อสู้มีการปรับไปตามรูปแบบ วันนี้คนในชนบท แม้แต่แรงงาน การถูกเอารัดเอาเปรียบทำให้การต่อสู้ของชุมชนมีการต่อสู้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเหลืองหรือแดงมาสู้ด้วยกัน กับการที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำให้เกิดการต่อสู้ ชนบทมีความเปลี่ยนแปลง แต่ส่วนหนึ่งของชนบทปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เงินจากลูกหลานที่มาทำงานในเมืองสนับสนุนในการดำรงชีวิต ชนบทก็มีการต่อสู้เพื่อที่ดินทำกิน ต่อสู้เพื่อให้เป็นชุมชน สู้เพื่อรักษาฐานที่มั่นของชีวิตด้านทรัพยากร เป็นการสู้เพื่อสังคม และต้องตั้ง SMU ร่วมกันในการเคลื่อนไหว ต้องมีอุดมการณ์ร่วมกันให้ได้ ซึ่งบางเรื่องก็ต้องแยกกันเคลื่อนไหว แต่ต้องเห็นต่างได้ ทุกขบวนต้องเข้มแข็ง ต้องต่อสู้ และจะเข้าร่วมกันได้อย่างไร เพราะไม่มีผู้นำที่เชื่อมั่นได้เหมือนในอดีต หรือมีพรรคการเมืองที่เชื่อได้ ซึ่งต้องต่อสู้กันไป และต้องมาคิดด้วยกัน

นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า ประเด็นจุดเปลี่ยนสำคัญคือ หนึ่งค่าบำรุงสมาชิกสหภาพแรงงานที่เก็บได้น้อย มีผู้นำแรงงานมากกลุ่มและคิดแต่เรื่องตนเอง จุดเปลี่ยนสำคัญคือ การเปลี่ยนของเศรษฐกิจสังคมการเมือง และการเกิดเหตุการณ์ เดือนตุลาคม 2516  เนื่องจาก ชะตากรรมของแต่ละคนไม่ต่างกัน และมีกระแสแนวคิดที่ไม่ต่างกันทางชนชั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนก็มีการปรับตัวของแต่ละกลุ่ม ที่ต้องการทำให้ตัวเองอยู่รอด ด้านแรงงานมีพระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่เกิดขึ้น โดยมีการเปลี่ยนด้านสิทธิการรวมตัวจากสมาคมมาเป็น สหภาพแรงงาน เพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้างทำให้ผ่อนคลายมีการเรียกร้องสิทธิสวัสดิการผลประโยชน์ได้บ้างตามความเข้มแข็งระดับสหภาพ จึงเป็นสหภาพแรงงานที่ต่างคนต่างอยู่ แต่ละสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม และมีโอกาสต่อรองทำให้ชีวิตที่ดีขึ้น และจุดเปลี่ยนอีกอย่างคือกรณีรสช.(คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ)ที่เกิดขึ้นทำให้แรงงานเอกชนกับแรงงานรัฐวิสาหกิจแยกออกจากกัน เมื่อมีพระราชบัญญัติรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2534ที่แยกออกไปแบบไม่ใกล้ชิดต่อไป แม้มีการรวมตัวกันแบบหลวมๆของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)บ้าง แต่ก็ไม่แนบแน่นแบบเดิม และหลายสหภาพแรงงานก็เห็นว่า มีความกินดีอยู่ดีแล้ว ก็ไม่ได้ออกมาต่อสู้ร่วม แม้แต่เพื่อนสหภาพแรงงานด้วยกันเอง และหากถามการเคลื่อนไหวระดับสังคมคงไม่มีแน่นอน ในต่างประเทศที่มีการทำกิจกรรมเชื่อมโยงกับสังคมเสมอ ทำให้มีการสนับสนุนจากชุมชนและสังคม การเคลื่อนไหวทางสังคมอาจไม่ใช่เรื่องสลัม ทรัพยากร เท่านั้น

ข้อเสนอคิดว่า สหภาพแรงงานต้องเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยง และก้าวข้ามประเด็นเฉพาะส่วนตน ซึ่งทำให้มีการทำงานร่วมกันเป็นขบวนการที่ต้องผนวกร่วมวางแผนไปด้วยกันได้ และยุทธศาสตร์การจ้างงานมีความซับซ้อนมากขึ้น ยังมีทุนนิยมเชิงรับรู้ ไม่ต้องไปซื้อขายกันโดยตรงระหว่างผู้ค้ากับลูกค้า เป็นการบริการสินค้ารูปแบบใหม่ ผ่านระบบโซเซียลมีเดีย และจะทำอย่างไรให้เกิดการเข้าใจการเชื่อมโยงความหลากหลายทางอาชีพ และภูมิปัญญาที่ต้องช่วยกัน

นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า ในแง่ของแรงงานนอกระบบมีปัญหาหลายด้านเป็นแรงงานชั้นสองที่ไร้ค่า ปัญหาเรื่องสวัสดิการ ปัญหากฎหมาย  ปัญหาเรื่องประชาธิปไตย และยังมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิมากมาย ทำไมถึงไม่บอกว่า แรงงานนอกระบบเป็นแม่บ้าน ทำไมถึงบอกว่า แม่บ้านเป็นแรงงานนอกระบบ ทำไมไม่มองว่า มีอาชีพชาวนา หรือชาวนา คือแรงงานนอกระบบ เนื่องจากมีความต่างทางมิติ คือหากบอกว่า เป็นแรงงาน เพราะว่า ต้องการได้รับสิทธิในฐานะคนทำงานที่ต้องให้เกียรติ มีศักดิ์ศรีและได้รับการยอมรับ การที่เครือข่ายแรงงานนอกระบบเข้าเป็นสมาชิกของคสรท. และกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ซึ่งจะเห็นว่า เมื่อมีการเคลื่อนไหวจะมีข้อเรียกร้องของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติเข้าไปด้วย ทำให้เห็นแรงงานนอกระบบอยู่ในสายตา ด้วยมีการเรียกร้องการดูแลและคุ้มครอง ทำให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิ มีเสียงและพื้นที่

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสโป๊ปได้มีการพูดถึงสหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการขับเคลื่อนไปทั้งสังคม ทำให้ตนเองก็คาดหวังกับแรงงานในระบบ เพราะแรงงานในระบบมีกลไกในการต่อรอง มีการรวมตัว มีต้นทุนที่มากกว่าแรงงานนอกระบบ ทำให้เราคิดว่า สหภาพแรงงานในระบบที่มีความเข้มแข็ง ต้องมีการเรียกร้องเพื่อสังคมด้วยไม่ใช่เพียงแต่การเรียกร้อง เพื่อเพียงมีรายได้เท่านั้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอันดับ 3 ของโลก การที่จะเห็นคนจนที่ด้อยโอกาสจำนวนมาก หากขบวนการแรงงานปรับเปลี่ยนขยับตัวนิดหนึ่งสังคมจะขยับอีกหลายเรื่องทีเดียว ตอนนี้ สถานการณ์สังคมมีปัญหามากมาย และความจริงเราคือพวกเดียวกัน ความขัดแย้งก็มาก ก็ต้องรู้ว่าใครคือมิตร ใครคือศัตรู ต้องแยกให้ออกทั้งที่เราคือเราคือพวกเดียวกัน และควรมีการประสานงานกันอย่างไร มีท่าทีต่อกันในการประสานความร่วมมือกันอย่างไร เพื่อการทำงานเชิงสังคม และเชื่อว่าทุกคนมีความหวัง

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติได้รับการสนับสนุนจากขบวนการแรงงานอย่างมาก จนหลายคนที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ในขบวนการแรงงานในระบบเข้าเคลื่อนไหวอยู่ในแรงงานข้ามชาติหลายคน และภาพการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติขึ้นมา ซึ่งมีการซึมซับจากการทำงานร่วมกับแรงงานไทยในระบบ ลองมาคิดดูว่า การกล่าวถึงขบวนการแรงงานนั้นนับใครบ้าง นับแรงงานข้ามชาติด้วยไหม เพราะว่า การมองขบวนการแรงงานในการเคลื่อนไหวทางชนชั้น ต้องไม่มีคำว่า แรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานนอกระบบเกิดขึ้น หากอยู่ภายใต้บริบททางชนชั้น และตนเริ่มคาดหวังว่า ขบวนการแรงงานเป็นหัวหอกทางสังคมในประเทศไทย คำถามคือพวกเราเป็นแรงงานไหม เพราะปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นมีใหม่ ขบวนการแรงงานพร้อมที่จะเปิดรับอะไรใหม่ๆเพื่อการผลักดันการแก้ปัญหา และขบวนการแรงงานเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางชนชั้นหรือไม่ และสหภาพแรงงานจะวางบทบาทการเคลื่อนไหวทางสังคมยังไง เพราะขบวนการแรงงานจะเป็นตัวแปรตัวกันกระแทกความรุนแรงในการขูดรีดทางสังคม และเป็นตัวส่งต่อความรู้สึกให้สังคมได้รับรู้

สุดท้ายถึงเวลาของขบวนการแรงงานที่จะแย่งชิงคำว่า แรงงานกลับมาหรือว่า จะพัฒนาต่อไปเพื่อให้เป็นขบวนการทางสังคม และการวางบทบาทขบวนการแรงงานในการเคลื่อนไหวทางสังคม เชื่อมั่น ความเข้มแข็งต้องทำให้เป็นหัวหอก

นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การที่ตนเองผลักดันเรื่อง SMU ให้เป็นแนวทางของสหภาพแรงงาน เพราะอยากเห็นสังคมที่เป็นธรรม และอยากเห็นคนส่วนใหญ่ที่มีการรวมตัวกันและต่อรอง ซึ่งในอดีตขบวนการแรงงานไทยเคยเป็นSMUมาก่อนแล้ว ในประเทศที่เป็นระบอบประชาธิปไตยจะมีความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน และสิ่งที่จะทำให้เกิดอำนาจต่อรอง คือขบวนการแรงงานต้องเข้มแข็งทั้งในเชิงปริมาณ หรือคุณภาพ หากสหภาพแรงงานยังมีจำนวนสมาชิกน้อยมากจะทำให้ไม่เกิดความเข้มแข็ง

ความจริงแล้วขบวนการแรงงานที่เชื่อในแนวทางการเมืองมีทั้งกลุ่มที่เป็นขวาจัดชาตินิยม และอีกกลุ่มมาร์กซิสต์ที่ต้องการโค่นล้มระบอบทุนนิยม อีกแนวคือสหภาพแรงงานเชิงเศรษฐกิจที่ยอมรับระบอบทุนแล้วอยู่กับมัน อีกแนวหนึ่งก็เป็นสหภาพแรงงานแนวปฏิรูป คืออยู่ไปเพื่อปรับเปลี่ยน และอีกแนวคือ เชื่อว่าขบวนการแรงงานเป็นองค์กรนำแล้วขับเคลื่อนสังคม

ในอดีตประเทศไทยมีการนิยามแรงงานที่กว้างขว้าง เช่น ถวัติ ฤทธิเดช เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่เป็นกรรมกร และขบวนการแรงงานเคยมีพรรคการเมืองแล้ว และมีการผนวกเอาพี่น้องมา มีการรวมกันของความหลากหลายเข้ามา เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และทุกวันนี้จึงได้มีการผลักดันให้เกิดการรวมตัวกันแบบคสรท. ซึ่งจากการที่ไปดูงานต่างประเทศก็เห็นแนวการรวมตัวกันเป็นขบวนการทางสังคม SMUไม่ใช่ทฤษฎีที่ประเทศไทยคิด แต่ว่าเป็นแนวคิดที่สรุปจากบทเรียนและนำมาสู่การปรับเปลี่ยนซึ่งเป็นขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมในหลายประเทศ การที่คสรท.เข้ามารวมตัวกันหลวมๆ มีหลายส่วนเข้ามารวมกันอยู่เป็นการทำงานร่วมกัน มีการจ่ายค่าบำรุง มีการจัดทำธรรมนูญ และเอาประเด็นทางสังคมมาเป็นตัวตั้ง และมีมุมมองเป็นพี่น้องกัน ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้มีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการที่จะทำให้เป็นขบวนการแรงงานทางสังคม ซึ่งคิดว่าพี่น้องแรงงานกำลังขยับไปตรงนั้น ขบวนการทางสังคมเป็นขบวนการแรงงานไม่ใช่องค์กรพัฒนาเอกชนเท่านั้น มันคือขบวนการแรงงาน

สิ่งแรกที่คิดว่า จะทำให้ขบวนการแรงงานเป็นขบวนการทางสังคมนั้น ต้องทำความเข้าใจกันก่อน และการที่ยังไม่เกิดขึ้นเพราะสมาชิกน้อย ไม่มีพลังเลยต้องมีการปรับตัวใหม่ เพื่อให้เปิดกว้างมากขึ้น เริ่มจากคำนิยามว่า ใครที่เป็นแรงงาน ต้องคิดวิธีการจัดตั้ง คิดว่าจะจัดตั้งเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เป็นเรื่องยากเพราะติดกรอบ และการที่จะทำงานให้แรงงานมีสำนึกทางชนชั้น ทำได้ยากหากไม่มีอุดมการณ์ ซึ่งช่วง 14 ตุลาคม มีความรู้สึกทางชนชั้นเดียวกัน และเชื่อมั่นในอุดมการณ์ร่วมกัน ช่วงนั้นมีแนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และคิดชุดความคิดใหม่ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นออกมา หากไม่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสังคมก็ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้

รายงานโดย วาสนา ลำดี