สหภาพสแตนเล่ย์ทำบุญ100วัน เสวนาสรุปบทเรียนรู้ทันนายจ้าง

20140205_135001

สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย จัดงานครบรอบ 100 วันการต่อสู้ หลังถูกนายจ้างปิดงานไม่จ่ายค่าจ้าง ล้อมวงเสวนา “รู้ทันนายจ้างต่อขบวนการล้มล้างสหภาพแรงงานโดยผ่านกรณีศึกษาของสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย” นักวิชาการชี้กลยุทธการจ้างงานนายทุน หวังผลกำไรจนลืมความเป็นธรรม ทางสภาพการจ้างที่ตกลงกับสหภาพ มักใช้การจ้างงานหลากแบบ เลี่ยงการคุ้มครองสิทธิสภาพการจ้าง

20140205_124949f

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทยได้จัดงานครบรอบ 100 วันของการถูกปิดงานโดยมีทั้งพิธีทางสงฆ์ทั้งเวทีบันเทิงและในส่วนของเวทีทางวิชาการซึ่งเป็นเวทีเสวนาที่มีนักวิชาการด้านแรงงานและนักสหภาพแรงงานทั้งใหม่และเก่ามาร่วมเสวนาหลายท่าน ซึ่งมีนักสหภาพแรงงานจากหลายพื้นที่มาร่วมงานอย่างคับคั่ง เริ่มงานตั้งแต่เช้าถึงเย็น
หลังจากที่บริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์ค จำกัดได้ใช้สิทธิปิดงานคนงานจำนวน 44 คน ซึ่งเป็นคณะกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2556 และครบ 100 วัน ในวันที่ 5กุมภาพันธ์ 2557 ทางสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย จึงจัดงานครบ 100 วัน ขึ้นโดยกำหนดงานในช่วงเช้าเป็นพิธีทำบุญมีพิธีทำบุญเลี้ยงพระ มีวงดนตรีภาราดรมาร่วมขับกล่อมเสียงเพลงเพื่อคนงานช่วงพักรับประทานอาหาร ช่วงบ่ายเริ่มที่พิธีผูกข้อมือต่อด้วยการแสดงพระธรรมเทศนาในหัวข้อ “ผลของการแตกความสามัคคี” โดยพระคุณเจ้าจากวัดพิมพาราม ช่วงสำคัญอยู่ที่เวทีเสวนาในหัวข้อ “รู้ทันนายจ้างต่อขบวนการล้มล้างสหภาพแรงงานโดยผ่านกรณีศึกษาของสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย”

20140205_145353

สำหรับผู้ร่วมเสวนาทั้งหมดมี 6 ท่าน ได้แก่ 1.นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 2. นายลาเล่ อยู่เป็นสุขประธานสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย(TAM) 3. นายไพฑูรย์ บางหรง ประธานคณะทำงานกลุ่มอมตะเวลโกร์วสัมพันธ์ 4. นางสาวบุษรัตน์ กาญจนประดิษฐ์นักวิชาการด้านแรงงาน 5. นางสาวนัยนันท์ น้อยธิ ประธารสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทยและ 6. นางสาวเนาวรัตน์ หาญกุญเลาะคนงานที่แท้งบุตรในระหว่างถูกปิดงานโดยมี นายยงยุทธ์ เม่นตะเภา ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

เริ่มที่นางสาวนัยนันท์ ได้ให้รายละเอียดตั้งแต่ที่สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องเรื่อยมาจนถึงการยื่นข้อเรียกร้องสวนทางของนายจ้างสู่การพิพาทแรงงานและการปิดงานในที่สุดเพื่อเป็นการเสนอรายละเอียดให้ผู้ร่วมเสวนาท่านอื่นได้ร่วมรับรู้ถึงที่มาของปัญหา ซึ่งนางสาวนัยนันท์ได้เสนอรายละเอียดขั้นตอนการปิดงานของฝ่ายนายจ้างว่าไม่ถูกต้องอย่างไรและที่มาของสหภาพแรงงานสแตนเลย์เวิร์ค ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายนายจ้าง

นางสาวเนาวรัตน์ ได้กล่าวถึงความรู้สึกว่าในขณะตั้งครรภ์รู้สึกเครียดเพราะถูกปิดงานไม่มีรายได้จากที่มีรายได้สองคนกับสามีประมาณเดือนละสามหมื่นกว่าบาทมีรายจ่ายประจำทั้งรถทั้งบ้านแต่รายได้ลดลงรายจ่ายคงที่ก็เป็นกังวลหลายอย่างจนทำให้ตกเลือดและสูญเสียบุตรไปซึ่งก็ไม่มีมาตรการใดมาเยียวยาและไม่รู้ว่าสิทธิประกันสังคมจะยังมีสิทธิอะไรหรือไม่ แต่สามีก็คอยให้การสนับสนุนให้ต่อสู้จนกว่าจะสำเร็จ

20140205_1250351

ด้านนายชาลีได้ให้ความเห็นในเชิงนโยบายว่าการที่รัฐบาลยังไม่ยอมรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ที่ให้ความคุ้มครองสิทธิการรวมตัว เจรจาต่อรองของลูกจ้างมีปัญหา ซึ่งวันนี้ชัดเจนว่า นายจ้างต้องการล้มล้างสหภาพแรงงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของสมาชิกโดยที่ยอมรับสหภาพแรงงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ และพยายามให้สหภาพเก่ายอมรับข้อตกลงที่ทำร่วมกับสหภาพแรงงานใหม่ ที่ไม่เป็นธรรมต่อสมาชิก ด้วยการยื่นข้อเรียกร้องซึ่งอาศัยช่องว่างทางกฎหมายปิดงานลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้าง เป็นลักษณะที่ทำให้ได้รับความเดือดร้อน การถูกปิดงานระยะยาวนำมาทั้งความเสี่ยงที่อาจเสียสิทธิในเรื่องประกันสังคม

ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ได้เข้าพบหัวหน้าสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ช่วยแก้ไขระเบียบบางอย่างที่อยู่ในอำนาจช่วงที่ลูกจ้างถูกนายจ้างปิดงานซึ่งสามารถได้ โดยไม่ต้องให้รัฐมนตรีลงนาม เพื่อเยียวยาลูกจ้างผู้ประกันตนได้ทันท่วงที ในส่วนสหภาพแรงงานแห่งใหม่นั้นรัฐต้องมีการตรวจสอบว่า มีสมาชิกพอที่จะยื่นข้อเรียกร้องได้หรือไม่ หรือคุณสมบัติของสมาชิกถูกต้องหรือไม่ และมีการแทรกแซงการบริหารโดยนายจ้างหรือไม่ และความเป็นธรรมต่อสหภาพแรงงานที่มีอยู่เดิมและทำหน้าที่อยู่หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่มีผู้บังคับบัญชาที่สามารถให้คุณให้โทษได้นั้น ตนมองว่าคนที่มีอำนาจที่แท้จริงคือนายจ้าง และผู้บริหารอีกไม่กี่คนเท่านั้นเคยมีคำพิพากษาคดีนี้อยู่ ซึ่งหากต้องการตรวจสอบสามารถทำได้โดยการทำหนังสือถึงทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้นายทะเบียนสหภาพเป็นผู้ตรวจสอบ

20140205_13472920140205_125441

นายลาเล่ กล่าวในฐานะที่เป็นผู้ดูแลกรณีของสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทยมาตั้งแต่เริ่มแรก ว่า เดิมทีสหภาพฯนี้ขึ้นอยู่กับสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ต่อมาขอสมัครเป็นสมาชิกของสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ซึ่งตนเป็นรองประธานฝ่ายวิชาการอยู่ด้วยอีกทั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันคือนิคมอุตสาหกรรมเวลโกร์ว ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาตนได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในทุกทาง และอยู่ในเงื่อนเวลาที่ต้องรอ รวมถึงมาตรการเดินรณรงค์ทั่วนิคมเพื่อบอกเล่าปัญหาต่อสาธารณชน มีการไปยื่นเรื่องที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา และประสานงานทางนิคมฯในเรื่องการใช้สถานที่ในการชุมนุมมีทีมงานในการปราศรัย และส่งคนมาประจำในพื้นที่ชุมนุมเพื่อให้ความช่วยเหลือกัน มีการส่งเสริมพัฒนาฝีมือในการผลิตน้ำยาล้างจาน และดอกไม้ประดิษฐ์เพื่อหารายได้สนับสนุนการต่อสู้ ซึ่งจะกระจายสินค้าไปตามสมาชิกของสหพันธ์ฯ และเพื่อนพันธมิตรแรงงานอื่นๆ และร่วมกำหนดมาตรการการขับเคลื่อนต่อๆไปรวมถึงสรุปผลจากการเคลื่อนไหวในทุกๆครั้งอีกทั้งยอมรับหัวใจของพี่น้องที่ถูกปิดงานว่าเป็นนักสู้จริงๆมีเป้าหมายแน่นอนคือการกลับเข้าไปทำงานให้ได้

ส่วนนางสาวบุษยรัตน์ ได้แสดงข้อมูลของบริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คจำกัดว่า เป็นบริษัทที่มีสาขาอยู่หลายแห่งทั่วโลกมีคนงานเกือบ 5 หมื่นคน แต่ที่บริษัทดูแลอย่างดีมีเพียง 800 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานที่อยู่ในสัญญาจ้างแรงงาน แต่ระดับคนงานปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่อยู่ภายใต้ข้อตกลงสภาพการจ้างงาน บริษัทจึงหลีกเลี่ยงที่จะทำตามสิทธิสภาพการจ้างแรงงานที่จัดทำข้อตกลงร่วม เคยมีตัวอย่างในประเทศทางยุโรปที่แรงงานหญิงคนหนึ่งซึ่งตั้งครรภ์และทำงานหนักจนแท้งลูกก็เคยมีปรากฏมาแล้ว และทางบริษัทก็ไม่ได้ใส่ใจใดๆด้วยมองว่าลูกจ้างหญิงคนนั้นไม่ใช่ลูกจ้างที่อยู่ในการคุ้มครองของบริษัทโดยตรง

P20501042

ฉะนั้นเมื่อมาเกิดเหตุการณ์พิพาทแรงงานในประเทศไทย การปฏิเสธการตั้งครรภ์ของแรงงานหญิง โดยอ้างว่าไม่รู้ หรือการตั้งครรภ์ของแรงงานหญิงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง การปิดงานโยมีแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์ร่วมอยู่ด้วย จึงอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ “ทุน” จะกระทำต่อ “คนงาน” ใดๆอย่างไรก็ได้ และรัฐก็ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะถือว่า ไม่ใช่ลูกจ้างโดยตรง

อย่างไรก็ตามโดยหลักการแล้วตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในมาตรา 43 ก็ได้ให้ความคุ้มครองแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์ไว้ รวมถึงผลจากการความเครียดที่เกิดจากการถูกปิดงานจน และการไม่มีรายได้จนทำให้แรงงานหญิงแท้งลูก ในมุมของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็มีบทบัญญัติในการเรียกร้องเอาผิดต่อบริษัทในเรื่องนี้ได้เช่นเดียวกัน

ด้านนายไพฑูรย์ ได้วิเคราะห์จุดผิดพลาดต่อการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานสแตนเลย์ประเทศไทยว่า มีการกดดันช้าไปซึ่งหากถ้ามีการชุมนุมหน้าบริษัทตั้งแต่ช่วงพิพาทและปิดงานตั้งแต่แรกจะได้มวลชนมากกว่านี้แต่ปล่อยให้เวลานานเกินไปจึงทำให้มวลชนหมดอารมณ์ร่วม

จากนั้นนายยงยุทธ์ ผู้ดำเนินการเสวนาได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมรับฟังได้แรกเปลี่ยนความคิดเห็นและได้สรุปการเสวนาว่าการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายเป็นสิ่งสำคัญทั้งการรับรองอนุสัญญาILOฉบับที่87และ98 กฎหมายแรงงานอีกหลายฉบับที่ต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไข แต่ก็ติดปัญหาเรื่องอำนาจการต่อรองที่ขบวนการแรงงานไม่มีพลังพอนักการเมืองจึงไม่ใส่ใจแต่หากเรามีอำนาจทางการเมืองก็จะเป็นพลังที่จะผลักดันปัญหาในเชิงนโยบายได้ สำหรับกรณีของบริษัทสแตนเลย์ฯจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนซึ่งคงต้องมีการทวงถามไปยังสถานทูตอีกครั้งว่าคืบหน้าไปถึงไหนและคงต้องกดดันไปยังบริษัทร่วมทุนสัญชาติแคนนาดาด้วย ซึ่งหากยังไม่มีอะไรคืบหน้าคงต้องขอความช่วยเหลือไปยังกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)แม้ว่าไม่อยากให้ปัญหานี้เป็นประเด็นทางการเมืองแต่คงไม่มีทางเลือกหากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข

มงคล ยางงาม นักสื่อสารแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก รายงาน