สหภาพร้องประกันสังคม หยุดใช้การจ้างงานสัญญาจ้าง 4 ปี

 

สหภาพ ร้องหยุดใช้การจ้างงานสัญญาจ้าง 4 ปี ร่างข้อบังคับดังกล่าว ได้เปลี่ยนสภาพการจ้างพนักงานประกันสังคม

โดย วาสนา ลำดี

                เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ที่สำนักงานประกันสังคม มีการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) โดยมีการหยิบยกเรื่องการรับเรื่องราวร้องเรียนจากสหภาพพนักงานประกันสังคม (สพปส.)ซึ่งได้มีการส่งหนังสือถึงทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง เรื่อง “ร่างข้อบังคับคณะกรรมการประกันสังคมว่าด้วยการบริหารพนักงาน พ.ศ. ….” ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานกำหนดโครงสร้างการบริหารงานทุนหมุนเวียน โดยคณะทำงานได้จัดทำโครงสร้างการกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติของตำแหน่ง อัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน อำนาจหน้าที่ ระยะเวลาการจ้าง การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการเลิกจ้างพนักงาน โดนการยกร่างข้อบังคับคณะกรรมการประกันสังคมว่า ด้วยการบริหารพนักงาน พ.ศ. …. ตามกรอบประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนว่า ด้วยมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของกองทุนหมุนเวียนลงวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียนพ.ศ. 2558 โดยคณะทำงานฯ นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยพนักงานราชการ พ.ศ.2557 มาเป็นต้นแบบในการยกร่าง ซึ่งร่างข้อบังคับดังกล่าว ได้เปลี่ยนสภาพการจ้างพนักงานประกันสังคมซึ่งจ้างตามระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการบริหารและจัดการพนักงานพ.ศ.2540 ในประเด็นสาระสำคัญดังนี้

  1. จากการจ้างตลอดชีพ ด้วยวิธีการสรรหาบรรจุ และแต่งตั้ง เกษียณอายุราชการเมื่อมีอายุตัว 60 ปี เป็นการจ้างตามสัญญาจ้าง 4 ปี และอาจต่อสัญญาได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
  2. จากการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนค่าจ้าง เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนค่าจ้าง และประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อต่อสัญญาจ้าง
  3. จากสาเหตุการออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุ และการกระทำผอดวินัยอย่างร้ายแรงเป็นการออกจากงานเนื่องจากเลิกจ้างก่อนครบสัญญา 4 ปี การไม่ต่อสัญญา การกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง การกระทำผิดตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง

สหภาพพนักงานประกันสังคมพิจารณาเห็นว่า การตราพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 ออกมาบังคับใช้นั้น ก็ด้วยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การบริหารทุนหมุนเวียนมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง และเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังของรัฐโดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง กำกับ และบริหารทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ และบังเกิดผลเป็นรูปธรรม และเพื่อให้การบริหารงานบุคคลของทุนหมุนเวียนเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชการบริหารทุนหมุนเวียนดังกล่าว คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน จึงออกประกาศ ว่าด้วยมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของทุนหมุนเวียน ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ออกมาบังคับใช้กับการบริหารงานบุคคลของทุนหมุนเวียนทั้งหมด โดยข้อ 1 ให้นิยาม “พนักงาน” หมายความว่า บุคคล ซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างจากทุนหมุนเวียน เพื่อปฏิบัติภารกิจของทุนหมุนเวียนที่มีลักษณะเป็นงานประจำ โดยมีกำหนดเวลาการจ้างงานไม่เกินคราวละ 4 ปี และอาจมีการต่อสัญญาจ้างต่อเนื่องได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น

ทุนหมุนเวียนรัฐบาลไทยมีกว่าร้อยทุน ขนาดเล็กอาจเงินทุนไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนมากมักจะมีลักษณะที่ขาดความมั่นคงมีวัตถุประสงค์ระยะสั้น การดำเนินการขอบเขตจำกัด แหล่งที่มาของรายได้ไม่แน่นอน มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ อาจถูกยุบเลิกหรือยุบรวมทุนหมุนเวียนอื่นๆ การจ้างงานระยะยาวกับทุนหมุนเวียนขนาดเล็กจึงมักมีปัญหา คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนจึงกำหนดให้มีการจ้างงานพนักงานได้คราวละไม่เกิน 4 ปี และอาจต่อสัญญาจ้างต่อเนื่องได้ตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกระทรวงการคลัง กรณีทุนหมุนเวียนขนาดเล็กมีเงินไม่เพียงพอในการจ่ายค่าชดเชยหากมีการจ้างงานระยะยาว จะเห็นว่า การจ้างงานคราวละไม่เกิน 4 ปีมีความเหมาะสมกับทุนหมุนเวียนขนาดเล็ก ทำให้มีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เกิดปัญหาส่งผลกระทบต่อกระทรวงการคลัง

แต่สำหรับทุนหมุนเวียนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นทุนหมุนเวียนขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเงินทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท มิใช่ส่วนหนึ่งของส่วนราชการ หากเป็นทั้งหมดของส่วนราชการระดับกรม ไม่ได้มีภารกิจระยะสั้น หากแต่มีภารกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุดควบคู่ไปกับการมีนายจ้าง และผู้ประกันตน มิได้มีขอบเขตการดำเนินการจำกัด หากแต่มีผลบังคับกับนายจ้าง และผู้ประกันตนทั่วประเทศ ทั้งคนไทย และคนต่างชาติ มีแหล่งที่มาของรายได้แน่นอนตามพระราชบัญญัติของกฎหมาย เป็นทุนหมุนเวียนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

การนำมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของทุนหมุนเวียนในเรื่องสัญญาจ้างคราวละไม่เกิน 4 ปี ตามประกาศคณะกรรมการฯ มาเป็นกรอบในการจัดทำข้อบังคับสำหรับบริหารพนักงานฯจึงเป็นการลิดรอนสิทธิ และเป็นการทำลายความมั่นคงแห่งนิติฐานะของพนักงานประกันสังคม โดยมิได้ก่อให้เกิดประสิทธิภาพหรือประโยชน์แก่ราชการของสำนักงานประกันสังคม เป็นการทำลายประสิทธิภาพ ทำลายประโยชน์ของราชการสำนักงานประกันสังคม

 

สหภาพฯในส่วนของสำนักงานฯมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะทั้งหมดแล้ว จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวสหภาพฯพิจารณาแล้วเห็นว่า

  1. สำนักงานประกันสังคมมิได้รับประโยชน์ใดๆจากการเปลี่ยนสภาพการจ้างพนักงานดังกล่าวที่พอจะยกขึ้นเป็นข้ออ้างแห่งความชอบธรรมในการลิดรอนสิทธิพนักงานฯในการทำลายความมั่นคงในการทำงานของพนักงานฯ ในการทำลายความมั่นคงแห่งนิติฐานะของพนักงานฯ ในการละเมิดหลักธรรมาภิบาล ในการละเมิดหลักความรับผิดชอบต่อสังคม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ พนักงานฯ และสำนักงานประกันสังคม
  2. สำนักงานประกันสังคมมิได้มีข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนดังกล่าว
  3. ระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการบริหารจัดการพนักงาน พ.ศ. 2540 บังคับใช้มากว่า 20 ปี มีการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว มีประวัติความเป็นมาผ่านการใช้งานจริงเห็นทั้งข้อดี และข้อเสีย เคยเป็นนวัตกรรมการบริหารงานบุคคลที่ล้ำสมัย เมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมาเป็นความภาคภูมิใจของสำนักงานประกันสังคม และพนักงานประกันสังคม

สหภาพฯมีความเห็นว่า การพัฒนาการบริหารจัดการพนักงานประกันสังคม ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงานประกันสังคม พ.ศ.2559-2562 ควรพัฒนาต่อยอดบนรากฐาน และแนวทางซึ่งมีลักษณะเป็นการเฉพาะของสำนักงานประกันสังคมเอง เนื่องจาก ระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการบริหารและการจัดการพนักงาน พ.ศ.2540 มีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 เป็นต้นแบบ ระเบียบหรือข้อบังคับว่า ด้วยการบริหารพนักงานประกันสังคม จึงควรยกร่างโดยการนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาเป็นต้นแบบ โดยยึดหลักการบริหารตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การบริหารจัดการพนักงานต้องเป็นไป เพื่อผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของสำนักงานประกันสังคมความมีประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า โดยให้พนักงานประกันสังคมปฏิบัติหน้าที่อย่างมีคุณภาพ คุณธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี และให้ยึดหลักความเสมอภาค หลักความสามารถ หลักความมั่นคง และหลักความเป็นกลางทางการเมืองในองค์กร ซึ่งสหภาพพนักงานประกันสังคม เชื่อว่า วิธีนี้จะสามารถพัฒนาสำนักงานประกันสังคมได้อย่างก้าวกระโดด สู่องค์กรที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ สำนักงานฯมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนากำลังคม 20 ปี พ.ศ.2560-2579วาระการปฏิรูปกระทรวงแรงงาน 8 วาระ และวาระปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม 12 วาระ วาระหนึ่งคือ การปฏิรูปการบริหารงานบุคคลตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงานประกันสังคม พ.ศ.2559-2562 เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “พัฒนาการบริหารจัดการทุนมนุษย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับทิศทางของโลกในปัจจุบันและอนาคต และเพื่อให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรที่ดึงดูดและได้รับความสนใจจากคนดีคนเก่ง และสามารถธำรงรักษาคนดี และเก่ง ให้อยู่ร่วมกันในการพัฒนาสำนักงานประกันสังคมอย่างก้าวกระโดดสู่องค์กรยั่งยืน” โดยมีพันธกิจเพื่อให้พนักงานประกันสังคมกว่า 4 พันคน มีสภาพการจ้างที่มั่นคงมีความก้าวหน้า ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับภาระงาน และความสามารถ มีความสุขเกิดความผูกพันกับองค์กร ลดอัตราการลาออกจากงาน เพื่อพัฒนาให้พนักงานประกันสังคมมีศักยภาพก้าวทันโลก เพื่อการแลกเปลี่ยนพนักงานประกันสังคมระหว่างประเทศในอนาคต เพื่อการเตรียมความพร้อมให้พนักงานเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนงานประกันสังคม คือ

  1. ผู้ประกันตนทั้งแรงงานในระบบ และนอกระบบในประเทศดำรงชีวิตด้วยความมั่นคง เป็นธรรม และต่อเนื่อง
  2. ผู้ประกันตนไทย ทั้งใน และนอกประเทศ ได้รับการดูแลตามเหตุสมควร ครอบคลุมทั่วถึง และต่อเนื่อง
  3. ระบบประกันสังคมไทย มีความเป็นสากล อย่างสมเหตุสมผล เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายบนรากฐานของกองทุนที่มั่นคง มีเสถียรภาพ อย่างยั่งยืน
  4. ระบบประกันสังคมไทยมีความโดดเด่นในการร่วมเป็นส่วนสำคัญของการวางรากฐานระบบประกันสังคมอาเซียน

ด้านนายมานิตย์ พรหมการีกุล กรรมการประกันสังคมฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ในการประชุมของบอร์ดได้มีการปรึกษาหารือ และแสดงความคิดเห็นกันและให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวอย่างมาก ด้วยเป็นเรื่องสิทธิแรงงาน โดยกรรมการฝ่ายลูกจ้างทั้งหมดไม่เห็นด้วยต่อการใช้สัญญาการจ้างงานระยะสั้น ซึ่งมองว่า ไม่ต่างกับการจ้างงานปัจจุบันในระบบเอกชนที่จ้างลูกจ้างชั่วคราว ที่ไม่มีการดูแลคุ้มครองด้านสิทธิสวัสดิการเป็นการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมเป็นระบบข้าราชการที่ทำงานกับนายจ้าง และผู้ประกันตน ควรมีการดูแลแรงงานดีกว่านี้ ทั้งนี้ในที่ประชุมยังไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องการจ้างงานแบบใหม่ที่เป็นสัญญาจ้าง 4 ปี โดยให้นำไปพูดคุยกันในครั้งต่อไป ส่วนกรรมการประกันสังคมฝ่ายลูกจ้างทั้ง 5 คนนั้นไม่เห็นด้วยอยู่แล้วกับการจ้างงานรูปแบบดังกล่าว

ส่วนนักวิชาการ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนข้อคิดเห็นลง www.facebook.com/voravidh.chareonloet ต่อประเด็นดังกล่าวว่า “กรณี มีข่าวเกี่ยวกับประกันสังคมว่า จะมีการเปลี่ยนการจ้างงานลูกจ้างประกันสังคมจากการจ้างงานที่ไม่มีกำหนดเวลาจนอายุ 60 ปี มาเป็นสัญญาจ้าง 4 ปี เป็นวิธีการที่จะนำเอาระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่นเข้ามาใช้ เพื่อลดต้นทุนแรงงานและผลักความเสี่ยงในการมีงานทำและความไม่มั่นคงในงานให้กับลูกจ้าง ถ้าผู้ใช้แรงงานยอม ให้เรื่องนี้ผ่านไปได้ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประบบประกันสังคมแต่ไปในทิศทางของการแปรรูป เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของสหภาพพนักงานประกันสังคมที่จะออกมาต่อสู้เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทำงานทุกคน”