สหพันธ์แรงงานธนาคารฯ ยื่นโนติสแบงก์ชาติ

อดีตผู้ว่า ธปท. ออก กม. ลูกขัดต่อ กม. แม่ 2 ฉบับ เอื้อแบงก์พาณิชย์เปิดทำการในวันหยุดประเพณี
 
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหนังสือแจ้งธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยข้อกฏหมายคุ้มครองแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เกี่ยวกับการให้พนักงานมาทำงานในวันหยุดทำการธนาคารพาณิชย์ สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินฯ (สธง.) เห็นว่าผู้ว่าการ ธปท. คงไม่แตะการใช้อำนาจของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยโดยออกประกาศ ธปท. ที่ สนส. 63/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ประกอบกิจการสาขาธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฏหมายลูก แม้จะขัดต่อ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันเงิน พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันเป็นกฏหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย (กม. แม่) จึงยื่นหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ว่าการ ธปท. แสดงเจตนาปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด
 
นายธีรคม ไวชนะ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย (สธง.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2554 คณะกรรมการ สอง. ได้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่อง การใช้พนักงาน/ลูกจ้างแบงก์ทำงานในวันหยุดทำการของธนาคารพาณิชย์ ในสาขาห้างสรรพสินค้าหรือในสาขาเปิดทำการเจ็ดวัน
 
คณะกรรมการ สธง. ได้พิจารณาวิเคราะห์ หนังสือของ ธปท. ที่ ธปท.ฝนส.(21) 260/2554 ถึง สธง. โดยบอกกล่าวว่าได้แจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยข้อกฏหมายคุ้มครองแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานเกี่ยวกับการให้พนักงาน ลูกจ้าง มาทำงานในวันหยุดทำการของธนาคารพาณิชย์แล้ว
 
ประธาน สธง. กล่าวต่อไปอีกว่า พวกเราเห็นว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้พิจารณาประเด็นการใช้อำนาจของอดีตผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งได้ออกประกาศ ธปท.ที่ สนส. 63/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์การประกอบกิจการสาขาธนาคารพาณิชย์ ข้อ 5.4 วันและเวลาทำการปกติ และการเปลี่ยนแปลงวันและเวลาทำการ ขัดกับ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มาตรา 37 วรรคสอง ระบุว่า “ในปีหนึ่งๆ ให้สถาบันการเงินมีวันหยุดตามประเพณีตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด” ซึ่งตามบทบัญญัติ ดังกล่าวไม่ได้บัญญัติยกเว้นอนุญาตให้ปฏิบัติเป็นประการอื่น ประกอบกับตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 29 “ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้า     ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” และวรรคสี่ “ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฏกระทรวง” (กฏกระทรวงที่ 4/2541) ออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ไม่ใช่งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดประเพณี ตามที่กำหนดไว้ในกฏกระทรวง
 
พวกเราจึงเห็นพ้องกันว่า ให้ สธง. มีหนังสือบอกกล่าว ให้ผู้ว่าการธนาคารปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด (พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มาตรา 37 วรรคสอง และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 29 วรรคแรก และ  วรรคสี่) โดยให้ดำเนินการกับธนาคารพาณิชย์ ที่เปิดทำการในวันหยุดตามประเพณี ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศกำหนดใน   ราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น หากผู้ว่า ธปท. ยังเพิกเฉย ถือว่ามีเจตนาอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ฝ่าฝืน มาตรา 37 วรรคสอง ของ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน วรรคสอง และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 29 อาจมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้น ไม่ปฏิบัติหน้าที่ โดยชอบด้วยกฏหมาย ประธาน สธง. กล่าวในที่สุด
 
ชัยสิทธิ สุขสมบูรณ์  รายงาน