สมานฉันท์แรงงานแถลงจุดยืนปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ


คสรท. และสรส.จัดแถลงข่าว จุดยืนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เสนอต้องเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมทั้งควบคุมราคาสินค้า ย้ำไม่เห็นด้วยที่จะปรับ 2-15 บาท ควรปรับขึ้นเท่าไรต้องคุยเชิงข้อมูล

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ ได้ร่วมกันแถลงข่าว “จุดยืนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ” ที่กระทรวงแรงงาน

โดยนางสาวธนพร วิจันทร์ รองประธานคสรท. เป็นผู้แทนในการแถลงดังนี้ ว่า ได้มีการประกาศจุดยืนคัดค้านเกี่ยวกับนโยบายแนวทางการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ หลายครั้งในรอบปี 2560 กับการใช้กลไกของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งที่ผ่านมาเงื่อนไขในการปรับค่าจ้างแต่ละครั้งไม่สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ภายใต้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รัฐบาลมีข้ออ้างเสมอว่า นักลงทุนจะหนี จะย้ายฐานการผลิต เมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ปรับค่าจ้างแล้วสินค้าจะแพงขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วค่าจ้างแรงงานต่อผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ จากแนวคิดแบบนี้เป็นแนวคิดที่ขาดความเข้าใจ และมองระบบเศรษฐกิจแบบคับแคบ ไม่มองถึงคุณภาพชีวิตของคนงาน ไม่มองว่าการมีกำลังซื้อของคนงานจะก่อให้เกิดห่วงโซ่ของการผลิต เกิดการจ้างงาน รัฐสามารถเก็บภาษีทั้งคนทำงานและผู้ประกอบการได้เพิ่มขึ้น เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจซึ่งจะมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(GDP)อย่างแท้จริง มิใช่ GDPเทียมดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลกลับให้ความสำคัญนักลงทุนมากกว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน  จึงจะเห็นได้ว่าคนงานแต่ละคนมีค่าจ้างที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) นั้นคือ คนทำงาน 1 คน ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้อีก 2 คน ซึ่งผลจากการสำรวจหนี้คนของคนงานโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) พบว่าคนงานมีหนี้สินเฉลี่ยต่อวันถึง 225.87 บาท ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนงานและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มเติมความเหลื่อมล้ำให้เลวร้ายยิ่งขึ้น
การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นเป็นหลักประกันที่สำคัญให้แก่คนทำงาน เพราะยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองได้ ซึ่งจากสถิติการจดทะเบียนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างกับกระทรวงแรงงานพบว่ามีเพียง ปีละ 300 – 400 ฉบับ และครอบคลุมลูกจ้างเพียงแค่ 2 แสนคนเศษเท่านั้น การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมเป็นหลักการทางสากล ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดให้ “ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิได้รับค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่เท่าเทียมและยุติธรรมเอื้ออำนวยต่อการประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว” รวมทั้งหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศดังที่กล่าวมาข้างต้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องยึดถือและปฏิบัติดังที่รัฐบาลปัจจุบันได้ยืนเสมอมาว่าการบริหารประเทศจะยึดหลักการทางสากล และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติได้ “ประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”ดังนั้นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามหลักการดังกล่าวในปี 2561จะเป็นเครื่องพิสูจน์การกระทำและความจริงใจของรัฐบาล

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ได้เคยนำเสนอข้อมูล เหตุผล ความจำเป็น ผลการสำรวจของพี่น้องคนงานในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต่อรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรัฐบาลได้เข้าใจ พิจารณาถึงเหตุผล สาระของความเป็นจริง  ดังนั้นจึงขอประกาศจุดยืน หลักการในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 ต่อรัฐบาลดังนี้

1. รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเป็นธรรมตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)และค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ

2. รัฐบาลต้องยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด

3. รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทีมวิชาการ ที่เป็นอิสระ และมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี 

4. รัฐบาลต้องกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี

5. รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคสรท. กล่าวว่า ตามที่คสรท.เคยประกาศว่า ค่าจ้างควรปรับขึ้นเป็น 700 บาทนั้นด้วยเนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีการปรับมานานแล้วตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งการกำหนดปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำว่าควรจะปรับขึ้นเท่าไรในปัจจุบันก็ต้องมาคุยกันเนื่องจากข้อมูลการสำรวจค่าครองชีพของคสรท. คือ ค่าจ้างต้องเลี้ยงดูครอบครัวอย่างน้อยรวม 3 คน ตามหลักการสากล และต้องเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งตัวเลขจะปรับขึ้นเท่าไรต้องคุยกัน ด้วยทราบว่า กระทรวงแรงงานก็มีการสำรวจข้อมูลมาเช่นกันจึงเห็นว่าต้องนำข้อมูลมาคุยกัน ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นเท่าไร โดยรัฐต้องมาดูแลด้านสวัสดิการต่างๆเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงรัฐเอาต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยแม้ยังไม่ปรับขึ้นค่าจ้างปัจจุบันค่าครองชีพก็ปรับขึ้นแล้ว ซึ่งคสรท.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขึ้น 2-15 บาทแน่นอน หลักการต้องเท่ากัน เพราะไม่ว่าจะที่ไหนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็เท่ากันหมด

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้นัดคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายเข้าพบเพื่อพูดคุยในเวลา 13.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน