14 สภาลูกจ้าง 1สหพันธ์ เตรียมยื่น12 ข้อเรียกร้องวันแรงงาน

P4240038

14 สภาองค์การลูกจ้าง 1 สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ ประชุมเตรียมจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 57 ยื่นข้อเรียกร้อง 12 ข้อ ประธานจัดงานย้ำ ทุกรัฐบาลไม่แก้ไขปัญหาแรงงานอย่างจริงจัง เน้นหากจริงใจต้องรับรองอนุสัญญาILO. ฉบับที่ 87 และ 98

วันที่ 24 เมษายน 2557 ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน นายทวี ดียิ่ง ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน กล่าวในฐานะประธานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี2557 ว่า การจัดงานของสภาองค์การลูกจ้าง 14 แห่ง กับ 1 รัฐวิสาหกิจ การจัดงานปีนี้เป็นช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการ ทางคณะทำงานทำงานวันแรงงานได้กำหนดว่าจะยื่นข้อเรียกร้องกับทางกระทรวงแรงงาน

P4240028P4240023

ปัญหาของผู้ใช้แรงงานยังคงเป็นปัญหาที่ถูกละเลยไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลทุกชุดซึ่งดูได้จากข้อเรียกร้องแต่ละปี ที่ยังมีข้อเรียกร้องที่ต้องเรียกร้องอยู่ เช่นอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการคุ้มสิทธิในการรวมตัวแจรจาต่อรองร่วม ที่เรียกร้องกันมานานมากแต่รัฐบาลทุกสมัยก็ไม่ให้สัตยาบัน อีกประเด็นที่หนักหนามากคือเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องคนงาน ค่าจ้างที่ปรับขึ้นมา 300 บาทนั้นยังถือว่าต่ำกว่าค่าครองชีพในปัจจุบันอย่างมาก และยังไม่มีการปรับขึ้น แม้ปีนี้ไม่ได้บรรจุเป็นข้อเรียกร้องเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง ด้วยนายจ้างเองมีก็มีการปรับตัวเรื่องการจ้างงานเพื่อลดสวัสดิการ และค่าใช้จ่าย โดยการหันไปจ้างแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่มีการเรียกร้องสวัสดิการค่าจ้าง และนายจ้างบางส่วนรวมทั้งนายจ้างขนาดเล็ก และขนาดกลางมีการหันไปจ้างแรงงานข้ามชาติ ซึ่งทำให้ลดเรื่องการจ่าย และจัดสวัสดิการก็เลี่ยงการจ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย การจัดสวัสดิการ เช่น ประกันสังคมให้กับแรงงานข้ามชาติ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในการจ้างงานกับแรงงานไทย ซึ่งในส่วนของสภาฯก็ได้ชี้แจงให้สภาพแรงงานต้องช่วยกันดูแลแรงงานข้ามชาติ ให้ได้สวัสดิการเหมือนแรงงานไทย ” นายทวี กล่าว

P4240047P4240043

ทั้งนี้ข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี 2557 มีทั้งหมด 12 ข้อดังนี้

1. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรอง

2. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของผู้ใช้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว

3. ให้รัฐบาลตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดกิจการเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยเพื่อ เป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน

4. ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยของลูกจ้างภาคเอกชน และเงินตอบแทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินได้อื่นๆ ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของลูกจ้าง

5. ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2550 ในมาตรา 9 (5) เพื่อให้มีการปฏิบัติต่อพนักงานรัฐวิสาหกิจในแนวทางเดียวกับข้าราชการพลเรือน

6. ให้รัฐบาลสนับสนุน และผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ และยุตินโยบายการแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน หรือยุบเลิกรับวิสาหกิจ

7. ให้รัฐบาลเร่งตราพระราชกฤษฎีกาสถาบันความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานพร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้กับสถาบันความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และประกาศยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน

P4240035P4240034

8. ให้รัฐบาลปฏิรูประบบประกันสังคม

8.1. ให้รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 39 กรณีการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนควรจ่ายเพียงเท่าเดียว
8.2 ให้รัฐบาลนิรโทษกรรมให้กับผู้ประกันตนมาตรา 39 กลับมาเป็นผู้ประกันตนได้
8.3 ให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 ในอัตรา 50% ทุกกรณี
8.4 ให้รัฐบาลแก้ไขให้รับบาลแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 33ได้โดยให้ถือว่าผู้ว่าจ้างเป็นนายจ้าง
8.5 ให้รัฐบาลยกระดับสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ
8.6 ให้สำนักงานประกันสังคมจัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคมต้นแบบเป็นของตนเอง

9. ให้รับบาลจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็ก และศูนย์เก็บน้ำนมแม่ในสถานประกอบกิจการ หรือใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมแล้วแต่กรณีโดยให้สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำค่าใช้จ่ายในกิจกรรมไปลดหย่อนภาษีได้

10. ให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกา การจัดเก็บเงินสะสม/ และเงินสมทบเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามบทบัญญัติว่า ด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์ในหมวด 13 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (มาตรา 163)

11. ให้รัฐบาลยกสถานะสำนักความปลอดภัยแรงงาน เป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน

12. ให้รัฐบาลประกาศรับรองคณะทำงานติดตาม และประสานงานข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2557

นายทวียังกล่าวอีกว่า ในปีนี้สถานการณ์ทางการเมืองที่มีปัญหาทำให้เป็นอุปสรรค์ ด้วยการที่เป็นรัฐบาลรักษาการทำให้การยื่นข้อเรียกร้องต้องยื่นต่อกระทรวงแรงงานโดยตรง โดยกำหนดการจะมีการทำบุญช่วงเช้าที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นก็ตั้งริ้วขบวนเดินรณรงค์ของผู้ใช้แรงงาน และต้องเดินเลี่ยงจากบริเวณชุมนุมไปอีกทางเพื่อเข้าสู่สนามหลวงเพื่อจัดกิจกรรม โดยปีนี้คณะทำงานฯได้สนับสนุนงบประมาณ 40,000 บาท ให้ทางมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยจัดทำและจัดแสดงนิทรรศการ ประวัติศาสตร์แรงงานไทย วันกรรมกรสากล ประกันสังคม ความปลอดภัย แรงงานนอกระบบ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ฯลฯ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน