สนช.ผ่านร่าง กม.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิ -สวัสดิการ

สภานิติบัญญัติ ผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานใหม่ เพิ่มค่าชดเชย 20 ปี 400 วัน ลาคลอด 98 วัน รอประกาศใช้ปี 2562

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้มีการพิจารณาให้ร่างแก้ไขพรบ.คุ้มครองแรงงานผ่านการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว โดยสาระสำคัญคือการปรับเพิ่มอัตราค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่20 ปีขึ้นไปได้ค่าชดเชยอัตราใหม่เป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน โดยเป็นการปรับเพิ่มเติม สำหรับคนที่ทำงานมาครบ 20 ปี โดยมีการลงคะแนนเสียง 179 งดออกเสียง 5 องค์ประชุม 184 เสียง ขณะที่อัตราค่าชดเชยในช่วงอายุงานอื่นๆยังคงเดิมดังนี้

1.ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน

  1. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง

90 วัน

  1. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
  2. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
  3. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน

นอกจากนี้กฎหมายใหม่ ยังเพิ่มสิทธิอื่นๆ เช่นสิทธิลาคลอด กำหนดให้ลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร 98 วัน จากเดิมมีสิทธิลา 90 วัน โดยมีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างลา 45 วัน และอีก 45 วันไปรับจากกองทุนประกันสังคม สำหรับ 8 วันที่เพิ่มขึ้นมา ในกรณีที่ลูกจ้างลาครบ 98 วัน นายจ้างจะค่าจ้างระหว่างลา หรือไม่ก็แล้วแต่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกัน ทั้งนี้วันลาเพื่อคลอดดังกล่าว รวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนจะคลอดด้วย ซึ่งปัญหาที่ผ่านพบว่าการ ลาเพื่อคลอดบุตร บางฝ่ายตีความว่า ต้องคลอดก่อนจึงจะมีสิทธิลาหรือ ตีความว่า ไม่รวมการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอด จึงต้องเขียนให้ชัดเจน อีกทั้งหากวันลาคลอด 98 วัน ไปตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักร้อน หรือ พักผ่อนประจำปี ก็ให้นับรวมวันหยุดดังกล่าวในระหว่างลาคลอด ด้วย การประชุมสนช.ใช้เวลาพิจารณาในวาระ 2 -3 ใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมงจึงมีมติผ่านเป็นกฎหมาย

ด้านนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวกับhttps://mgronline.comว่า ตามสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่แล้ว โดยที่ประชุม สนช. เห็นชอบทั้งหมด 25 มาตรา หลังจากนั้นรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 30 วันจะมีผลบังคับใช้ทันที ถือเป็นของขวัญปีใหม่ได้ และน่าจะบังคับใช้ได้ก่อนเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 ทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้สิทธิประโยชน์  7 ประเด็นใหญ่ๆคือ 1.ลากิจธุระจำเป็นได้ค่าจ้าง 3 วันทำงานต่อปี  2.ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ลาก่อนคลอด หลังคลอดได้ 98 วัน 3.กรณีนายจ้างมีการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนนิติบุคคล หากลูกจ้างไม่ยินยอม ก็สามารถรับค่าชดเชยพิเศษตามกฎหมายฉบับนี้ โดยหากทำงานมาครบ 20 ปีก็ได้รับ 400 วัน  4.ได้รับค่าชดเชยใหม่กรณีเลิกจ้างจะเพิ่มเป็น 6 อัตราจาก 5 อัตรา คือ อัตราที่ 1 ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปีได้ค่าขดเชย 30 วัน อัตราที่  2  ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน  อัตราที่ 3 ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปีจะได้รับเงินชดเชย 180 วัน  อัตราที่ 4  ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย  240 วัน  อัตราที่  5   ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินชดเชย  300 วัน และอัตราที่ 6  ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินชดเชย 400 วัน 5.กรณีย้ายสถานประกอบการไปที่อี่น หากลูกจ้างไม่ตามไปก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ และได้สิทธิชดเชยตาม 6 อัตรา ซึ่งกฎหมายเก่าไม่ได้เลย เราต้องตามไป แต่ของใหม่ให้สิทธิเราเลือกได้  6.กรณีค่าตอบแทน หากนายจ้างไม่จ่ายค่าตอบแทน จะเป็นในบางอาชีพ อย่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) คนขับรถส่งของ ก็เป็นงานที่ไม่มีค่าล่วงเวลา แต่จะได้ค่าตอบแทนเป็นหลัก หากเกินเวลาปกติ โดยของเดิมดอกเบี้ยให้ร้อยละ 7.5 ต่อปีกรณีลูกจ้างไปฟ้องขอ แต่กฎหมายใหม่ให้ได้สูงสุดถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และ 7.ให้สิทธิเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย โดยลูกจ้างมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่กำหนด

นักสื่อสารแรงงานรายงาน