รัฐทาสนายทุน ความรุนแรงรอบใหม่พื้นที่เหมืองแร่โปแตช อุดรธานี

รายงานพิเศษ  สงครามชาวบ้าน -รัฐทาสนายทุนความรุนแรงรอบใหม่พื้นที่เหมืองแร่โปแตช อุดรธานี

 

โดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา

จุดเริ่มต้นของความรุนแรง

 นับจากที่รัฐบาลไทยออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๒๓ เชิญชวนให้เอกชนยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริษัท อะกริ โปแตช จำกัดบริษัทสัญชาติแคนนาดา (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเอเชียแปรซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัดหรือ เอพีพีซี) ได้ทำสัญญาและได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทย โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (เดิมคือกรมทรัพยากรธรณี) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ประกอบกิจการเหมืองแร่ พัฒนา และหาประโยชน์จากแหล่งแร่ ที่บริษัทฯ ได้ทำการเจาะสำรวจและมีความเป็นไปได้ในเชิงพานิชย์ ตามสัญญาฉบับลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๒๗ และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกาบน ๒๕๓๗ มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม   

 ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกอาชญาบัตรพิเศษแก่บริษัทฯ จำนวน ๕๓ แปลง ครอบคลุมเนื้อที่ ๑๒๐,๐๐๐ ไร่ ในอำเภอเมืองอุดรธานีและอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จากการสำรวจนั้นพบว่าในจังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งแร่โปแตชที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง เกรดดี เป็นแร่โปแตชชนิดซิลไวท์ มีคุณภาพทัดเทียมกับที่พบในประเทศแคนาดา แร่ที่พบนี้อยู่ที่ระดับความลึกประมาณ ๓๐๐ – ๔๐๐ เมตร และในแหล่งอุดรเหนือมีปริมาณแร่สำรองประมาณ ๗๐๐ ล้านตัน  และในแหล่งอุดรใต้ มีปริมาณสำรอง ๓๐๐ ล้านตัน บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๗ ได้รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดินเพื่อผลิตแร่โปแตชในพื้นที่แหล่งอุดรใต้ จำนวน ๒๒,๔๓๗ ไร่ ครอบคลุมอำเภอเมืองอุดรธานี และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๗ ได้รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดินเพื่อผลิตโปแตชในแหล่งพื้นที่อุดรเหนือ จำนวน๕๒,๐๓๗ ไร่ ครอบคลุมอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอหนองหาน รวมแล้ว ๗๔,๔๗๔  ไร่ โดยหวังจะเปิดทำเหมืองแร่ใต้ดินในพื้นที่ทั้งหมด

จากรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้จัดทำรายงานตรวจสอบปัญหาความขัดแย้งจากโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เมื่อปี ๒๕๕๐มีความเห็นว่าโครงการนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อราษฎร และคุณภาพสิ่งแวดล้อมในวงกว้างมาก พื้นที่การขุดทำเหมืองใต้ดินนั้นซ้อนทับกับพื้นที่ที่มีราษฎรอยู่อาศัย ทำกิน ชุมชน เป็นที่ตั้งของเมือง เกือบแปดหมื่นไร่ จึงสร้างความวิตกกังวลให้กับราษฎรในหลายประการ เช่น การทำเหมืองใต้ดินอยู่ด้านล่างของที่อยู่อาศัย ทำกิน มีทั้งชุมชนชนบทและชุมชนเมือง ราษฎรกลัวว่าหากเหมืองใต้ดินถล่ม จะทำให้ที่ดินด้านบนถล่มตามไปด้วย จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งการรับรองต่อระบบป้องกันมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อมตามคำมั่นของผู้ประกอบการ ราษฎรไม่เชื่อมั่น เกรงว่าเมื่อทำเหมืองใต้ดินแล้ว การขุดเกลือ น้ำเกลือ ฝุ่นเกลือ จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อม ที่ดินทำกิน รวมถึงน้ำเกลืออาจไหลลงแหล่งน้ำสำคัญทำให้กลายเป็นน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม และเมื่อคิดค่าใช้จ่ายสำหรับระบบป้องกันมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อมให้ได้ผลตามคำมั่นแล้ว คาดว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากกว่ารายได้จากการขายแร่โปแตช หากเกิดปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็ม และสภาพแวดล้อมเสียหาย ฯลฯ ก่อให้เกิดค่า ใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาสูงมากซึ่ง เมื่อถึงเวลานั้นรัฐซึ่งหมายถึงคนไทยทั้งประเทศต้องเข้ามารับภาระในการแก้ไขปัญหา

กรณีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกากแร่หรือกองเกลือซึ่งในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเดิมที่ผ่านความเห็นชอบของ คชก. เมื่อปี 2543 นั้นระบุว่าจะมีกองเกลือที่มีความยาว ๑.๐๐๐ เมตร กว้าง ๖๐๐ เมตรและสูง ๔๐ เมตร จำนวน ๒๐ ล้านตัน ซึ่งกองเกลือดังกล่าวมีความสูงกว่าบ้านเรือนของประชาชนและต้นไม้ในพื้นที่โครงการ อันมีลักษณะเป็นภูเขาเกลือขนาดมหิมา และจะถูกทิ้งไว้โดยไม่มีสิ่งปกปิด เป็นเวลา ๕๐ ปี เมื่อถึงฤดูแล้งที่อากาศแห้งและลมพัดแรงฝุ่นผงเกลือก็จะฟุ้งกระจายไปในอากาศ เมื่อถึงฤดูฝนในกรณีฝนตกหนักหรือเกินน้ำท่วม เกลือปริมาณ ๒๐ล้านตัน จะถูกชะล้างลงสู่ดินและแหล่งน้ำต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อม ทำให้นาข้าวเสียหายได้อย่างรุนแรง ทำลายป่าไม้ และแหล่งน้ำธรรมชาติทุกแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นหนองน้ำ อ่างเก็บน้ำหรือแม่น้ำลำคลองในบริเวณหลายตารางกิโลเมตรโดยรอบ  

นอกจากนี้จากรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ยังอ้างถึงคำชี้แจงของผู้ประกอบการ ว่าการทำเหมืองแร่โปแตชจะทำเพื่อใช้ในประเทศไทยใช้เพียง ๒๐% ของที่ขุดได้ อีก ๘๐% ส่งออก โดยคณะกรรมการสิทธิฯ เห็นว่า หากเทียบกับการซื้อแร่โปแตชจากต่างประเทศเข้าใช้ ๒๐% ค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับผลเสียต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กับปัญหาความวิตกกังวล และความแตกความสามัคคีของราษฎรและสภาพแวดล้อมที่เสียหาย จะมีความคุ้มค่ามากว่า เพราะการทำเหมืองโปแตชนี้ทำให้รัฐมีรายได้ปีละประมาณ ๖๐๐ ล้านบาท คิดแล้วไม่เกินร้อยละ ๕  ของรายได้ของผู้ประกอบการเท่านั้น ตลอดทั้งการที่มีคนทำงานประมาณ ๙๐๐ คน นั้นนับเป็นการไม่คุ้มค่ากับผลเสียต่างๆ เป็นต้นว่า ดินเสีย มลพิษ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ 

ตั้งแต่ขั้นตอนการดำเนินการสำรวจและยื่นคำขอประทานบัตรของ บริษัทฯ ได้รับการคัดค้านจากประชาชนในท้องที่ โดยเมื่อปี ๒๕๔๕ ประชาชนในท้องที่ตำบลโนนสูง และตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองอุดรธานี ตำบลห้วยสามพาด และตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคมได้รวมตัวกันตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีขึ้น และแสดงตัวเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเหมืองแร่ใต้ดินอย่างจริงจังทุกขั้นตอนจนปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช

อุดรธานีเป็นที่รับรู้ในสังคมไทย และเผยให้เห็นว่านโยบายการพัฒนาเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสานไม่ได้มีเพียงในจังหวัดอุดรธานีเท่านั้นหากแต่มีโครงการลักษณะเดียวกันในอีก ๖ จังหวัดภาคอีสานรวมแล้วพื้นที่กว่า ๗ แสนไร่

ความรุนแรงกับการปักหมุดเขตเหมืองแร่

หากเริ่มต้นตั้งแต่บริษัทฯ ทำสัญญาสำรวจและผลิตแร่โปแตชกับกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อปี ๒๕๒๓ ก็ยาวนานมากว่า ๓๐ ปี และกระแสการคัดค้านการทำเหมืองแร่ในชุมชนอีสานก็ขยายวงกว้างขวางขึ้น เฉพาะในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีขบวนคัดค้านเหมืองแร่โปแตชนั้นยืดเยื้อเรื่อยมาจนเกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีกับแกนนำชาวบ้านหลายคน แต่บริษัทฯก็ไม่สามารถปักหมุดเขตเหมืองแร่เพื่อประกอบการขอประทานบัตรเปิดเหมืองแร่ได้

ทำให้ บริษัท เอพีพีซี เจ้าของกิจการเดิมตัดสินใจขายกิจการ ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙ บริษัทสินแร่เมืองไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อหุ้นของบริษัทเอเซีย แปซิฟิค รีสอร์ซเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเอพีพีซี และภายหลังเข้าดำเนินโครงการบริษัทอิตาเลี่ยนไทยได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีขณะนั้น ก็ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่าบริษัทฯ ขอถอนคดีความทั้งหมดที่บริษัทเดิมได้เคยดำเนินกับชาวบ้านอย่างไม่มีเงื่อนไขอันได้แก่คดีบุกรุกทำให้เสียทรัพย์, คดีหมิ่นประมาท ที่บริษัทฯเคยแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน ซึ่งมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นในช่วงของการรังวัดแนวเขตเหมืองแร่เพื่อประกอบคำขออนุญาตประทานบัตร และเรื่องรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอที่เป็นปัญหามาตั้งแต่ปี ๔๓ – ๔๙ บริษัทยินดีที่จะทำอีไอเอใหม่ และยื่นเข้าสู่ขบวนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการใหม่ 

 คราวนั้น อิตัลไทยพยายามถอดรูปเงาะ เพื่อจะบอกแก่ตลาดในโลกธุรกิจเหมืองแร่ว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เป็นแหล่งแร่โปแตชคุณภาพระดับโลก ปริมาณมหาศาล ปลอดปัญหาทางเทคนิค ปัญหาในข้อกฎหมาย และที่สำคัญปลอดปัญหามวลชน ขณะเดียวกันบริษัทก็เร่งรัดให้เกิดการปักหมุดรังวัดเขตเหมืองแร่ตามขั้นตอนประทานบัตร แต่เหตุการณ์กลับเผยในทางตรงข้ามเมื่อภาพสมานฉันท์ที่ว่าเป็นเพียงเกมส์ ลับ ลวง พลางเมื่อแกนกลุ่มอนุรักษ์ฯ ๕ คนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และ ๒ ใน ๕ เป็นคู่สามีภรรยาที่มีลูกสาวเป็นเด็กอ่อนแฝดสอง อายุเพียง ๒ เดือนเมื่อถูกหมายจับ ชาวบ้านทั้ง ๕ คนพร้อมด้วยเด็กแฝดอายุสองเดือนนั้นถูกควบคุมตัวในห้องขังศาลจังหวัดอุดรธานี ระหว่างขั้นตอนดำเนินเรื่องขอประกันตัวแม่ของเด็กแฝดทั้งสองต้องให้นมลูกในห้องขัง นั่นย่อมเป็นภาพที่ออกมาฟ้องสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี แม้จะเปลี่ยนผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทอิตาเลี่ยนไทยแล้วก็ตาม

เมื่อวันที่ ๒๐ เดือน ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ ศาลจังหวัดอุดรธานี ได้พิพากษาคดียกฟ้องแกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ในเครือของบริษัทอิตาเลียนไทย จำกัด มหาชน เจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตชแจ้งความดำเนินคดีกับ ๕ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ ว่าบุกรุกพื้นที่ของบริษัท โดยบริษัทฯ เป็นโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๙ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของบริษัท แล้วทุบทำลายหมุดปักเขตเหมืองแร่

การปักหมุดขอบเขตเหมืองแร่และโรงงานแต่งแร่อันเป็นเหตุการฟ้องร้องนั้นเป็นขั้นตอนในขบวนการขอประทานบัตรเพื่อเปิดเหมืองแร่ตามขั้นตอนกฎหมายแร่ พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งนับตั้งแต่บริษัทฯ ยื่นขอประทานบัตรมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ก็มีความพยายามลงปักหมุดในพื้นที่ โดยในเบื้องต้นพยายามเร่งรัดขั้นตอนจนเกิดความขัดแย้งเผชิญหน้ากับประชาชนในพื้นที่นับครั้งไม่ถ้วน จนทางจังหวัดได้พยายามแก้ปัญหาโดยตั้งคณะทำงานขึ้นมา ๓ ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหา และผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้ทำหนังสือแจ้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีว่ามีการระงับการรังวัดปัก ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๗ และต่อมามีการเจรจาตกลงว่าต้องมีการชี้แจงประชาคมหมู่บ้านในทุกหมู่บ้านในพื้นที่ก่อนที่จะมีการปักหมุดเขตเหมืองแร่ ดังกล่าว

ศาลได้พิพากษาศาลยกฟ้องแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ ทั้ง ๕ด้วยพิจารณาตามหลักการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่ได้กำหนดสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีสาระเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยได้เพิ่มอำนาจให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเห็นว่าบริษัทดำเนินการโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแร่ และฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ อันเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ดังนั้นศาลจึงเห็นว่าการคัดค้านการรังวัดปักหมุดของกลุ่มอนุรักษ์ฯ และเรียกร้องการมีส่วนร่วมจึงเป็นการกระทำการอันเป็นการร่วมกันในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน อีกทั้งเป็นการใช้สิทธิในการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน 

ในคำพิพากษาศาลยังระบุว่าโครงการเหมืองแร่โปแตช เป็นโครงการที่แสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แม้บริษัทจะอ้างว่าดำเนินการไปตามที่ระบุไว้ในสัญญากับรัฐบาลไทยแต่ประชาชนในพื้นที่โครงการฯ ก็จะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ หรือได้รับผลกระทบจากสัญญาโดยตรงด้วย จึงต้องคำนึงถึงกฎหมายมหาชนอันเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในรัฐนั้นประกอบด้วย นอกจากนี้ยังระบุว่าว่าในขณะที่ทำสัญญา ตลอดจนการดำเนินการตามสัญญาในแต่ละขั้นตอนในเวลาต่อมาไม่มีการเปิดเผยให้ประชาชนในพื้นที่และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ เช่น ในช่วงของการสำรวจ หรือ ในช่วงของการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น การเข้าถึงสัญญาในครั้งนี้ประชาชนต้องใช้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๕๙ และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๓๕ โดยคณะกรรมการวินิจฉัยฯ มีมติให้กรมทรัพยากรธรณีเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานที่มีลักษณะผูกขาดตัดตอนของเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องจึงมีโอกาสได้ทราบข้อเท็จจริงของสัญญาและขั้นตอนการดำเนินการตามสัญญาตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และศาลยังระบุเพิ่มเติมว่าการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชของบริษัทฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็ดำเนินการในลักษณะไม่โปร่งใส สร้างความสงสัยคลางแคลงใจและความวิตกกังวลให้แก่ชาวบ้านหลายกรณี เช่น กรณีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการให้ความเห็นชอบหรือรับรองการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนที่พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๕)  พ.ศ. ๒๕๔๕ จะประกาศใช้บังคับ และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องตลอดจนองค์กรเอกชนอื่นก็ได้ร่วมคัดค้านว่า การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนที่กฎหมายบังคับใช้เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการดำเนินการที่ไม่ครอบคลุมพื้นที่โครงการทั้งหมด หรือเป็นการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งนี่คือเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้บริษัทอิตาเลี่ยนไทยไม่อาจจะดันทุรังใช้รายงานอีไอเอเดิมได้แม้จะผ่านความเห็นชอบของ คชก.ไปแล้วก็ตาม

หมายเหตุว่าด้วยโครงการรุนแรงฯ

คำพิพากษาศาลดังกล่าวนี้ถือเป็นที่สุดเพราะไม่มีการอุธรณ์ และความขัดแย้งและการต่อสู้แบบกัดไม่ปล่อยของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีทำให้บริษัทอิตัลไทยเสียภาพพจน์ทางการลงทุนไปพอประมาณ ทำให้ต้องถอยทัพกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ และหาก นับแต่ปี ๒๕๔๗ ที่บริษัทได้ยืนของประทานบัตรหวังจะเริ่มขุดเหมืองมาจนบัดนี้ก็ยังไม่อาจจะเข้าปักหมุดขอบเขตเหมืองแร่ได้ทำให้ขั้นตอนอื่นไปไม่ได้ ซึ่งกินเวลาร่วม ๗ปี 

ร่วม ๑๐ ของการต่อสู้อย่างเข้มข้นนั้นได้มีมิติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี ๒๕๔๙ ให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ของโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี และโครงการเหมืองแร่โปแตชอื่นๆ ในภาคอีสาน ดังนั้นการต่อสู้เรื่องเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่ขอบเขตจังหวัดอุดรธานี แต่ได้เกิดแรงเคลื่อนไหวด้านการกำหนดนโยบายสาธารณะในการทำเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทยไปแล้ว ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้ทำความตกลงในระดับจังหวัดว่าจะยุติขบวนการอนุมัติ อนุญาต ตลอดจนการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่ไว้จนกว่าการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ ตามมติ ครม. จะแล้วเสร็จ

นอกจากนี้ความผิดพลาดของรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรัฐธรรมนูญใหม่ปี ๒๕๕๐มาตรา ๖๗ วรรค ๒ กำหนดให้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงจะต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และต่อมาก็ยังมีข้อกำหนดตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ๒๕๕๒ เรื่องการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ทำให้บริษัทฯลังเลว่าจะดำเนินการต่อไป อย่างไรดี แม้บริษัทฯ ได้ทำการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไปแล้วแต่ก็ยังไม่มีการยื่นผลการศึกษาดังกล่าวต่อ คชก. แต่อย่างใด

ต่อมาได้มีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงโรงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง และในที่สุดได้มีประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ๑๑ ประเภท เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ โดยประกาศดังกล่าวไม่ได้ยึดตามข้อเสนอของคณะกรรมการคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา ๖๗ วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (คณะกรรมการ ฝ่าย)ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่โดยตรงในการศึกษาและจัดทำข้อเสนอให้ประกาศกำหนดประเภทโครงการรุนแรง โดยผ่านขบวนรับฟังความคิดเห็นร่วมกันของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งยังผ่านการรับฟังความ คิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกภาค จนมีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงและเสนอข้อกำหนดออกมาจำนวน ๑๘ ประเภทโครงการรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยคัดกรองให้โครงการต่างๆ ที่จะเกิดผลกระทบได้

แต่การตัดเหลือ ๑๑ ประเภทโครงการรุนแรง ทำให้โครงการเหมืองแร่ใต้ดินที่มีเสาค้ำยันไม่เป็นโครงการรุนแรง จึงไม่ต้องประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการเหมืองแร่เหมืองแร่โปแตช ซึ่งในทางเทคนิคการทำเหมืองแร่นั้นออกแบบเป็นการทำเหมืองใต้ดินที่มีเสาคำยันจึงไม่เข้าเกณฑ์โครงการรุนแรงตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐

 ประกาศนี้ทำให้มีความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมือแร่ (กพร.) ได้จัดการประชุมชี้แจง เรื่องการขออนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐  ภายใต้กรอบมาตรา ๖๗ วรรค ๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐  ณ โรงแรมเซ็นทารา โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี ในวันเดียวกันรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้ออกหนังสือแจ้งไปยังอำเภอที่ตั้งโครงการว่าแจ้งว่าจะมีเจ้าหน้าที่ลงดำเนินการรังวัดการปักหมุดเขตเหมืองแร่ และวันเสาร์ที่ ๓๐ ได้พยายามลงดำเนินการรังวัดปักหมุดแต่ไม่เป็นผลเพราะมีการออกมาป้องกันพื้นที่ของกลุ่มชาวบ้านจำนวนมาก และต่อมาในวันอาทิตย์ที่ ๓๑ ได้มีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อปพร. จากอำเภอรอบนอกเข้าป้องกันบริษัทฯ และเจ้าหน้าที่ของ กพร. ลงรังวัดปักหมุด ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ออกมาชุมนุมคัดค้านการดำเนินการปักหมุดแบบสายฟ้าแลบดังกล่าว

การรังวัดครั้งนี้ได้จัดให้มีการระดมกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ ๑๐๐ คนอีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาสาสมัครรักษาความปอดภัยพลเรือน(อปพร.) ได้ออกมาทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันการรังวัดปักหมุดในแต่ละจุด ซึ่งได้จัดให้มีการปักหมุดกระจายเป็นหลายจุด

ในขณะที่กลุ่มชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้รวมกำลังชุมนุมคัดค้านการปักหมุดดังกล่าวเป็นจุดๆ ตามไปด้วยทำให้เกิดการปะทะกันเป็นระยะๆ ตามจุดที่ทำการปักหมุดดังกล่าวในเบื้องต้นได้มีรายงานผู้บาดเจ็บจากการปะทะดังกล่าวและการปะทะดังกล่าวยังจะดำเนินต่อไปโดยไม่สนใจความขัดแย้งที่เขม็งเกลียวขึ้นเป็นลำดับในพื้นที่ โดยทางบริษัทฯ และ กพร.ระบุว่าจะดำเนินการปักหมุดให้แล้วเสร็จภาย ๒ วันคือระหว่างวันที่ ๓๑ ตุลาคม – ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นี้

การเปิดฉากปะทะของฝ่ายเจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตชครั้งนี้นับเป็นการเปิดฉากรุกด้วยต้นทุนสูงอีกครั้งของบริษัทฯ แม้รู้แน่ว่าการประชาชนที่ยืนหยัดคัดค้านเหมืองแร่โปแตช มาอย่างต่อเนื่องยาวนานทุกรูปแบบนั้นจะไม่ยอมถอยหรือจำนนกับขบวนลักไก่อย่างที่ผ่าน ๆมา สิ่งที่ตามมาคือความสูญเสียและความขัดแย้ง

การปะทะกันครั้งนี้จึงถือเป็นการพยายามอย่างยิ่งยวดที่ก้าวขั้นบันไดประทานบัตรขุดแร่ให้ได้ เพื่อหวังว่าบันไดขั้นต่อไปที่จะก้าวขึ้นไปได้ง่ายมากขึ้น โดยการหนุนหลังของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยเป็นมือไม้อำนวยความสะดวก ไม่ยี่หระต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ที่นับวันจะทวีคูณขึ้นตามลำดับ และนั่นหมายถึง สงครามระหว่างชาวบ้านและนายทุน ที่มีรัฐฯหนุน ได้ปะทุขึ้นอีกรอบแล้วในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี.

/////////////////////////