ศาลแรงงานรับฟ้อง ทายาทแรงงานข้ามชาติ ให้เพิกถอนคำสั่งกองทุนเงินทดแทน

ภาพเว็บไซต์ไทยรัฐ

ศาลแรงานภาค 7 รับฟ้อง คดีทายาทแรงงานข้ามชาติในกิจการประมง ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม จากการเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน 

วันนี้ (19 มีนาคม 2561) นางละ นโยนท์ เซ็ง (HLA NYUNT SEIN)  พร้อมทนายความ ได้เดินทางไปยังศาลแรงงานภาค 7 จังหวัดกาญจนี เพื่อยื่นฟ้อง สำนักงานประกันสังคม จังหวัดเพชรบุรี เป็นจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จำเลยที่ 2 สืบเนื่องจากคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ได้มีคำวินิจฉัย ที่ 2/2561 ลงวันที่ 15 มกราคม 2561 เรื่องแจ้งคำสั่งเงินทดแทน เห็นว่า นายโก แรงงานข้ามชาติ ที่เสียชีวิตระหว่างการทำงานบนเรือประมง ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน และมีมติให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และยกอุทธรณ์ของโจทก์

จำเลยที่ 2 เห็นว่านายโก เป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ตามหนังสือสำนักงานประกันสังคม ที่ รง 0604/ว2190 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 เรื่องแนวปฎิบัติการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว (บัตรชมพู) ประกอบกับหนังสือสำนักงานประกันสังคม ที่ รง0607/ว 987 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 เรื่องการให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน และกิจการของนายจ้างไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องประเภท ขนาดกิจการ และท้องที่ที่นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบ ฉบับที่ 2 ที่ยกเว้นนายจ้างซึ่งประกอบกิจการประมงซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปีและไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย

นางละ นโยนท์ เซ็ง ภรรยาของผู้ตาย ไม่เห็นด้วย ต่อคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จึงใช้สิทธิทางศาลยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคม จังหวัดเพชรบุรี และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ต่อศาลแรงงานภาค 7 เพื่อขอให้ศาลพิจารณา เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 เนื่องจากเห็นว่า

1.       นายโก (ผู้ตาย) เป็นแรงงานข้ามชาติ สัญชาติเมียนมาร์ ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย และ

ได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี และลงทะเบียนเป็นแรงงานข้ามชาติกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน  โดยนายโก ได้รับอนุญาตให้อาศัยและทำงานในกิจการประมงทะเล ได้จนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 จึงถือได้ว่ารัฐได้จัดทำฐานข้อมูลส่วนบุคคลของนายโก รวมทั้งข้อมูลรายละเอียดที่ต้องการอื่นๆเพื่อความมั่นคงของประเทศไว้แล้ว ข้อมูลของผู้ตายดังกล่าวจึงสามารถใช้นำมาจัดทำฐานทะเบียนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ผู้มีสิทธิในกองทุนเงินทดแทนได้

การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าผู้ตายเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมายและได้รับการผ่อนผันให้อยู่

ในประเทศไทยได้ชั่วคราวถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 โดยไม่มีหนังสือเดินทาง ไม่มีใบอนุญาตทำงาน จึงไม่เป็นผู้มีสิทธิในกองทุนเงินทดแทนนั้น เป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อหลักการและเจตนารมณ์ในการคุ้มครองแรงงานตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ดังที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หมายเลขแดงที่ อ.821/2558 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 และคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีแรงงานที่ 15582/2558 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2558

2.       กรณีที่จำเลยที่ 2 เห็นว่า งานที่นายโกทำนั้น เป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้น ตามประกาศกระทรวง

แรงงาน เรื่องประเภท ขนาดกิจการ และท้องที่ที่นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบ ฉบับที่ 2 นั้น โจทก์เห็นว่า นายโก ได้รับอนุญาตให้ทำงานบนเรือประมง โดยได้รับค่าจ้างจายนางคมคาย วานิช ซึ่งเป็นนายจ้างที่ประกอบกิจการประมงตลอดทั้งปี และมีงานลักษณะอื่นที่อาศัยแรงงานของลูกจ้างอยู่ด้วย เพื่อให้กิจการของตนดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี และโดยสภาพที่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานประมงเป็นแรงงานที่ขาดแคลน นายจ้างที่รับลูกจ้างมาทำงานแล้วจะใช้แรงงานนั้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้ทำงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย เพื่อมิให้ลูกจ้างต้องว่างงานออกไปจากการเป็นลูกจ้างของตน ซึ่งจะทำให้นายจ้างมีความยุ่งยากในการจัดหาลูกจ้างใหม่ ดังนั้น กิจการของนายจ้างจึงเข้าข่ายการกิจการประมงที่ใช้ลูกจ้างตลอดปีและมีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย

การฟ้องสำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ครั้งนี้ นอกจากจะขอให้ศาลแรงงานพิจารณาพิพากษา เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้ว โจทก์ เห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อการคุ้มครองลูกจ้าง ที่รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติ โดยกฎหมายได้กำหนดให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้นมา เพื่อให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย ระหว่างการทำงานให้กับนายจ้าง โดยกองทุนจะเป็นผู้จ่ายแทนนายจ้าง อันเป็นการสร้างหลักประกันให้กับลูกจ้าง มิให้ต้องเสี่ยงกับฐานการเงินของนายจ้างหรือความไม่แน่นอนที่จะได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างหรือความล่าช้าที่จ้างจะชำระเงินทดแทน

แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม กลับกำหนดเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอันตรายจากการทำงาน เข้าถึงเงินทดแทนได้นั้นด้วยเงื่อนไขของการ เข้าเมือง เอกสารแสดงตน และใบอนุญาตทำงาน หากลูกจ้างไม่มีเอกสารตามเงื่อนไข สำนักงานประกันสังคมจะออกคำสั่งให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบเอง จึงทำให้เกิดขั้นตอนการเจรจา ต่อรองราคา เกิดความเสียเปรียบต่อตัวลูกจ้าง ในขณะที่สำนักงานประกันสังคม วางบทบาทตัวเองเป็นคนกลางในการเจรจา ไกล่เกลี่ย และจะทำการบันทึกผลการเจรจาในการจ่ายเงินทดแทน และหลายกรณีพบว่า ภายหลังที่สำนักงานประกันสังคมทำบันทึกข้อตกลงจ่ายเงินทดแทนจากนายจ้างแล้ว แต่นายจ้างกลับหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินหรือไม่สามารถติดต่อกับนายจ้างในการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง นอกจากนี้คำสั่งของคณะกรรมการฯ ยังมีลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงเงินทดแทนจากกองทุน ที่แตกต่างจากแรงงานไทย อันเป็นการขัดต่ออนุสัญญาองค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 19 ว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม (เรื่องเงินทดแทน กรณีอุบัติเหตุ) พ.ศ.2468 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญา มาตั้งแต่ปี 2511

ศาลแรงงานภาค 7 จังหวัดกาญจนบุรี มีคำสั่งรับฟ้อง นางละ นโยนท์ เซ็ง ภรรยาของผู้ตาย และศาลแรงงานได้ กำหนดนัด พิจารณา และสืบพยานโจทก์ ณ ศาลแรงงานภาค 7 จังหวัดกาญจนบุรี ในวันที่ 3 พฤษภาคม  2561 เวลา 09.3น.

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ นายวิชาญ ทำไร่ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 087-138-7897 E-mail: legal.wichan@gmail.com