ชู ILO 87-98 ลดช่องว่างทางสังคม ค้านเตะถ่วงพิจารณาใหม่

 

เนื่องในโอกาสวันกรรมกรสากล 2555 องค์กรแรงงานและองค์กรต่างประเทศที่ทำงานด้านแรงงาน ร่วมจัดงานเสวนาเรื่อง มาตรการลดช่องว่างทางสังคมในกลุ่มแรงงาน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 โรงแรมอิสติน มักกะสัน กรุงเทพ โดยวงเสวนาระบุว่าต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมไทย เป็นเพราะฝ่ายธุรกิจทุนสามารถกุมอำนาจรัฐ จนนำไปสู่ทางออกกฏหมายต่างๆที่ทำให้กลุ่มแรงงานแตกแยกย่อย จนขาดพลังในการต่อรอง กฎหมายต่างๆมุ่งควบคุมแรงงานมากกว่ามุ่งพัฒนาแรงงาน ความพยายามรวมตัวของแรงงานมักถูกขัดขวางจากรัฐและนายทุน โดยมักหยิบยกเหตุผลเรื่องความมั่นคงและบรรยากาศการลงทุน
 

 

ทิม เดอ เมเยอร์ ตัวแทนองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO กล่าวว่า อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87-98 ถือเป็นอนุสัญญาหลักที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดจุดประนีประนอมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง บนหลักการทำงานที่มีคุณค่าและเท่าเทียมกัน และเห็นว่าการสร้างทุนสร้างงานต้องคำนึงถึงความยุติธรรมทางสังคมด้วย

ขณะที่ ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักวิชาการกฎหมายแรงงาน กล่าวว่า ทุกวันนี้การชุมนุมรวมตัวเจรจาต่อรองของลูกจ้างทั้งในและนอกโรงงาน อาจถูกฟ้องร้องเลิกจ้าง และระบบยุติธรรมเกิดมิติใหม่ขึ้นคือเมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างมีความพยายามไกล่เกลี่ยต่อรองในเรื่องจำนวนค่าชดเชย แทนที่จะพิจารณาให้ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ได้รับสิทธิอย่างสมบูรณ์ตามกฎหมาย โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินชดเชยเร็วๆ

สอดคล้องกับความเห็นของ สุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ระบุว่า มีกฎหมายหลายฉบับที่ล้าหลังและสร้างปัญหาไม่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้มแข็ง และไม่คุ้มครองประชาชนอย่างแท้จริง จึงต้องมีการปฏิรูปกฏหมายเพื่อนำไปสู่การลดช่องว่างทางสังคม บนหลักที่ทุกคนเสมอภาคกันทางกฎหมาย

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า แม้ตัวแทนแรงงานจะชี้แจงว่าได้ออกมาตรการต่างๆเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างต่ำ 300 บาท เพิ่มสิทธิประโยชน์และขยายการคุ้มครองระบบประกันสังคม รวมทั้งเตรียมรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับ 87 และ 98 ที่จะช่วยให้เกิดสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวของแรงงานกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ยังถูกแตะถ่วงจากฝ่ายราชการการเมือง แม้ว่าจะเคยผ่านรัฐสภาไปแล้วในรัฐบาลชุดก่อน แต่ก็ถูกดึงเรื่องออกมาและก็จะกลับมาเริ่มพิจารณากันใหม่ในรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งถือเป็นเรื่องไม่จริงใจและไม่จำเป็น รองปลัดกระทรวงแรงงานก็พูดไปแล้วเมื่อเช้าว่าทุกฝ่ายเห็นชอบและเตรียมการรับรองแล้ว

นักสื่อสารแรงงานรายงาน