คสรท. ร่อนแถลงเรียกร้องให้แรงงานข้ามชาติต้องสามารถรวมกลุ่ม เจรจาต่อรองได้

FB_IMG_13811181328677034

คณะกรรมการสมานแรงงานไทย (คสรท)ออกแถลงข่าว เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล 18 ธันวาคม 2557 (18 December: International Migrants Day 2014)

แรงงานข้ามชาติต้องสามารถรวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง เพื่อเข้าถึงความเป็นธรรม”

วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี ทางองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันแรงงานข้ามชาติสากล” ซึ่งได้ถูกกำหนดขึ้นมาครั้งแรกในปี ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) เพื่อสร้างความตระหนักและปกป้องสิทธิจากการถูกเอารัดเอาเปรียบของแรงงานข้ามชาติในภาคส่วนต่างๆของโลก

เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า “แรงงานข้ามชาติ” คือ กลุ่มคนที่มีส่วนในการสร้างผลิตภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างน้อย 5 % ของ GDP แต่ในแง่คุณภาพชีวิตแล้วประชากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางสูงมาก เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิหลายด้าน

ปัญหาสำคัญที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญเป็นส่วนใหญ่ คือ ความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิหลายด้าน ได้แก่ การถูกบังคับให้ทำงานหนักแต่รับค่าแรงต่ำ เงื่อนไขการทำงานมักไม่ปลอดภัย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สกปรก เสี่ยงต่อภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ ไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้อย่างทันท่วงที การถูกกีดกันเรื่องการเข้าถึงการศึกษา รวมทั้งหากประสบอุบัติเหตุจากการย้ายถิ่นหรือในระหว่างทำงานก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานไทย

แม้ในกลุ่มที่มีบัตรอนุญาตทำงานก็มิได้มีกลไกที่จะช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา จำนวนมากถูกหลอกลวงโดยขบวนการค้ามนุษย์ ถูกกระทำรุนแรงทั้งทางกายและทางเพศ ถูกรังแกและเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ นี้ยังมินับกลุ่มที่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์แสดงสถานะใดๆยิ่งเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมากยิ่งขึ้น รวมถึงกลไกการเข้าถึงประกันสังคมก็ยังไม่เอื้อต่อลักษณะเฉพาะของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วและมีระยะเวลาการทำงานในประเทศไทยเพียง 4 ปี

นอกจากนั้นแล้วในปลายปี 2558 จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งมีเป้าหมายเป็นไปเพื่อส่งเสริมอาเซียนให้เป็นตลาดและฐานผลิตเดียว มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และการลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุนอย่างเสรี อย่างไรก็ตามกลับพบว่ารัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อแรงงานข้ามชาติน้อยมาก โดยเฉพาะความไม่มั่นคงในการจ้างงานในอาชีพต่างๆ ช่องว่างทางรายได้ และสวัสดิการระหว่างผู้ใช้แรงงานที่มีระดับฝีมือแตกต่างกัน และระหว่างแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่างประเภทกัน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชาในประเทศไทย เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากประมาณ 6 แสนคนในปี 2544 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2557 ทั้งนี้ร้อยละ 80 เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ตระหนักร่วมกันว่าภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน แรงงานทุกคนไม่ว่าจะเป็น “พลเมือง” หรือ “ไม่ใช่พลเมือง” ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและการมีความมั่นคงทางสังคม ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิของทุกคน ดังนั้นแรงงานทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยจึงมีความชอบธรรมในการเข้าถึงสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำ ด้วยเหตุนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำทุกวิถีทางที่จะสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติทุกคนได้เข้าถึงสิทธิและการคุ้มครองด้วยเช่นกัน

ในฐานะที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเป็นองค์กรด้านแรงงานที่ทำงานใกล้ชิดกับแรงงานข้ามชาติมาโดยตลอด เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตระหนักถึงบทบาทสำคัญของแรงงาน

ข้ามชาติที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย และขอให้รัฐบาลดำเนินการ ดังนี้

(1) สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ต้องได้รับการเคารพ ส่งเสริมและตระหนักถึงหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐาน ในเรื่องเสรีภาพในการรวมตัวและสมาคม โดยต้องดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้แรงงานข้ามชาติสามารถเป็นผู้ก่อตั้ง เป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ ทั้งนี้ขอให้มีการแก้ไขโดยตัดคำว่า “สัญชาติไทยออก” เพื่อให้มีความเป็นสากลมากขึ้น โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลด้านเชื้อชาติ และเป็นการส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวและต่อรองของแรงงานทุกคนในประเทศไทย อีกทั้งรัฐบาลต้องลงนามรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 โดยไว ซึ่งรับรองสิทธิในการรวมกลุ่ม การจัดตั้งสหภาพแรงงาน และการเจรจาต่อรอง เพื่อการเข้าถึงความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

(2) รัฐบาลต้องลงนามรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว ค.ศ. 1990 (International Convention on the Protection of the Rights of All Migrant Workers and Member of their Families 1990) เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการจัดการ และให้การปกป้องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ

เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากลปี 2557 เราขอยืนยันในหลักการที่ว่าแรงงานข้ามชาติทุกคนไม่ว่าจะทำงานอะไร เป็นใคร มีสถานะทางกฎหมาย หรือทางสังคมอย่างไร คือ “กรรมกร” ที่ต้องมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เราไม่ยอมรับกระบวนการแบ่งแยกเพียงเพราะพวกเราไม่ใช่ชนชาติเดียวกันหรือเพียงเพราะมิใช่ “แรงงานไทย” เพราะแท้ที่จริงแล้วพรมแดนเหล่านั้น เป็นเพียงสิ่งที่รัฐสร้างขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกและลดทอนอำนาจของกรรมกรเท่านั้น วันนี้รัฐไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะไม่คุ้มครอง “กรรมกรทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย” เพราะ “กรรมกรมิใช่เพียงเครื่องจักรในการผลิตที่เมื่อมีปัญหาก็ทอดทิ้ง แต่กรรมกรเป็นผู้มีศักดิ์ศรีที่ได้มาด้วยการต่อสู้”

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน