ลูกจ้าง อย.จี้นายกสอบด่วน นายจ้างฉวยปรับค่าจ้างโละสหภาพแรงงาน

ลูกจ้างพระนครศรีอยุธยา จี้ รัฐสอบด่วน! ล้มสหภาพแรงงาน สวัสดิการ ย้ายฐาน หรือปัญหาปรับค่าจ้างแน่ หลังนายจ้างนากาซิมาร่อนหนังสือเลิกจ้างคนงาน 407 คน ไม่แจงรายละเอียดค่าชดเชย สหภาพแรงงานโดดยื่นหนังสือนายกปูช่วยที

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมานาย ประวิทย์ โพธิ์หอม ประธานสหภาพแรงงาน นากาชิมา และลูกจ้างบริษัท นากาชิมา รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัดอีกนับร้อยเดินทางมารอพบนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปู) ที่หน้าบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด นคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังพระนครศรีอยุธยา

นายประวิทย์ โพธิ์หอม กล่าวเนื่องจากทางบริษัท นากาชิมา รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ส่งหนังสือไปที่บ้านของลูกจ้างว่าได้เลิกจ้างพนักงานแล้ว จำนวน 407 คนและไม่ได้แจ้งรายละเอียดในเรื่องค่าชดเชยเลย และยังมีค่าจ้างค้างจ่าย และสวัสดิการอื่นๆที่ลูกจ้างต้องได้ตามข้อตกลงของสหภาพแรงงานกับบริษัท ซึ่งในวันดังกล่าว นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้เดินทางมาเปิดรายการผลิตรถยนต์คันแรกของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัดหลังจากได้ประสบอุทกภัยตั่งแต่เดือนตุลาคม 2554 ซึ่งนายกเดินทางเฮลิคอปเตอร์ ช่วงเดินทางกลับลูกจ้างบริษัทนากาชิมาฯได้เดินทางมารวมตัวอยู่บริเวณทางเข้าหน้าบริษัท ฮอนด้าฯ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนความเดือนร้อน นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายตัวแทนเข้ามารับเรื่องร้องทุกข์ของลูกจ้างดังกล่าวไว้

นาย ชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ของศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูด้านสิทธิแรงงานพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้กล่าวหลังจากยื่นหนังสือให้กับ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายทวี นริสศิริกุล  และ ส.ส ของพรรคเพื่อไทย  นาย สุรศักดิ์  พันธ์เจริญวรกุล และหัวหน้าสำนักงานสวัสดิกาและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรอยุธยา ว่า " ขณะนี้มีลูกจ้างอีกหลาย บริษัทที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างตั่งแต่เดือนตุลาเลย และยังมีอีกหลายบริษัทใช้โอกาสนี้ ล้มสหภาพแรงงาน เพื่อลดอำนาจต่อรอง เลิกจ้างกรรมการลูกจ้างล้างสวัสดิการเดิมที่มี โดยอ้างเหตุผลไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ขอปิดกิจการ และย้ายฐานการผลิต โดยลูกจ้างไม่สามารถต่อรองได้เลยเนื่องจากสมาชิกไม่มีรายได้ที่จะมาเลี้ยงครอบครัว ต้องยอมรับสิ่งที่นายจ้างหยิบยื่นให้แม้ว่า บางบริษัทมีการเลิกจ้างพร้อมเปิดรับสมัครลูกจ้างกลุ่มเดิมเข้าทำงานในค่าจ้างใหม่ไม่มีสวัสดิการ ซึ่งลูกจ้างต้องยอมรับเพราะยังไม่รู้ว่าจะได้กลับเข้าทำงานเมื่อไร หากยังต้องรอยังไม่รู้ชะตากรรมว่าบริษัทจะประกอบกิจการต่อไปหรือไม่ จึงอยากให้ทางรัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องความเดือดร้อนของลูกจ้างบ้างเพราะอย่างน้อยก็เป็นประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน และอยากให้มีการตรวจสอบความจริงขบวนการเลิกจ้างของนายจ้างที่อ้างการได้รับผลกระทบ จากน้ำท่วม และการปรับขึ้นค่าจ้างด้วย เรื่องเจตนาในการเลิกจ้างนั้นเป็นเพราะเหตุผลใด เพราะช่วงนี้จะเป็นการเลิกจ้างส่วนของบริษัทที่มีการรวมตัวของลูกจ้างที่มีสหภาพแรงงาน และมีข้อขัดแย้งกันอยู่บ้าง เป็นความต้องการล้มสหภาพแรงงานหรือไม่ เป็นข้อข้องใจของลูกจ้างในขณะนี้"

 

จำลอง ชะบำรุง นักสื่อสารแรงงานศูนย์ข่าวอยุธยา รายงาน