แรงงานกับการเมือง ข้อเท็จจริงจากประวัติศาสตร์แรงงานไทย

DSCN8621

รายงาน กลุ่มศึกษามุมมองใหม่ ครั้งที่ 2
เรื่อง แรงงานกับการเมือง กรณีศึกษาจากประวัติศาสตร์แรงงานไทย
21 กันยายน 2557 ณ ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน กรุงเทพฯ
จัดโดย มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท

ความเป็นมา

แนวคิดที่กำหนดว่าแรงงานต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ปรากฎเป็นรูปธรรมในข้อบังคับขององค์กรแรงงานมาช้านาน กระทั่งปัจจุบัน แม้ยังมีหลายองค์กรที่ใช้ข้อบังคับแบบนี้อยู่ แต่ก็มีการพูดถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมมีอำนาจต่อรองในทางการเมืองกันมากขึ้นแล้ว เพราะในขบวนการแรงงาน โดยเฉพาะองค์กรนำที่ขับเคลื่อนในระดับนโยบายแรงงานต่างตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาสำคัญๆของผู้ใช้แรงงานไม่อาจแก้ไขได้ในระดับสถานประกอบการ ทั้งในเรื่องหลักประกันทางด้านรายได้ สวัสดิการทางสังคม และความมั่นคงในการทำงาน โดยล้วนต้องอาศัยการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ซึ่งก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องผ่านกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองในการออกกฎหมายข้อกำหนดต่างๆ ทุกวันนี้จึงได้เห็นความพยายามของฝ่ายแรงงานในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งในฐานะนักการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆไปจนถึงความพยายามในการตั้งพรรคการเมืองของแรงงานเอง แต่ก็ยังไม่ปรากฎผลสำเร็จใดๆ

การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของฝ่ายแรงงานนั้น สำหรับประเทศไทยก็มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เรื่อยมาตั้งแต่ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และหากกล่าวถึงต่างประเทศ องค์กรแรงงานที่เข้มแข็งและมีอำนาจต่อรองสูงก็เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานโดยรวม การจัดกลุ่มศึกษา 2 ครั้งต่อเนื่องจากนี้ จะใช้กรณีศึกษาทั้งจากประวัติศาสตร์ของแรงงานไทยเองและจากประเทศในยุโรป ซึ่งคาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อพัฒนาการด้านการเมืองของแรงงานไทยต่อไปได้เป็นอย่างดี

ผู้เข้าร่วม ผู้นำจากสหภาพแรงงานต่างๆจำนวน 35 คน เกือบทั้งหมดเป็นผู้นำแรงานรุ่นใหม่

หัวข้อศึกษา แรงงานกับการเมือง กรณีศึกษาจากประวัติศาสตร์แรงงานไทย

ผู้บรรยาย นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

DSCN8634 DSCN8684

คำว่า การเมือง (Politics) มีที่มาจากยุคกรีกโบราณที่การอยู่ร่วมกันเป็นลักษณะ นครรัฐ (Polis) และให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองเพื่อใช้อำนาจรัฐสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีของประชาชน

ส่วนเรื่องของ ประชาธิปไตย ก็มาจากความต้องการค้นหาระบบการปกครองที่สร้างความสุขความเป็นธรรมในสังคม โดยยึดหลักการแสวงหาเหตุผลความถูกต้อง มีอิสรเสรีภาพ และเคารพสิทธิผู้คนโดยเสมอภาค ซึ่งพัฒนาการของประชาธิปไตยก็เกิดจากความต้องการถ่วงดุลอำนาจกันของฝ่ายปกครอง จึงสร้างรัฐสภาขึ้นเพื่อดึงตัวแทนจากประชาชนของแต่ละฝ่ายเข้ามาร่วมประชุมกัน จนเกิดการปฏิวัติในทางการเมืองการปกครองที่เพิ่มสิทธิของพลเมืองและจำกัดอำนาจชนชั้นปกครอง ซึ่งรวมๆแนวคิดการเมืองการปกครองก็มีหลายแบบ เช่น เสรีนิยม สังคมนิยม สังคมประชาธิปไตย หรือแม้แต่แบบ 1 ประเทศ 2 ระบบคือ เศรษฐกิจทุนนิยม แต่การเมืองเป็นสังคมนิยม

ในประวัติศาสตร์แรงงานของไทย นับตั้งแต่สังคมโบราณยุคพ่อขุนในแบบของรัฐสุโขทัย ผ่านยุคอยุธยาที่มีกฎหมาย ระบบศักดินา แบ่งคนในสังคมเป็นชนชั้นต่างๆ จนถึงช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ ไพร่-ทาส (คือประชาชนทั่วไป) ล้วนต้องเป็นแรงงานเกณฑ์ที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียง ไร้ช่องทางที่จะแบ่งปันประโยชน์ทางสังคม นอกจากจะหนีจากอำนาจรัฐที่กดขี่ด้วยการซ่องสุมกันเป็นกบฎซึ่งโทษถึงตาย

แม้ภายหลังเปิดประตูการค้าหลังทำสนธิสัญญาเบาริ่งในสมัย ร.4 ที่มีแรงงานจีนเป็นแรงงานรับจ้างรุ่นแรกๆของสังคมไทย และพยายามใช้การรวมกลุ่มแบบ อั้งยี่ เพื่อต่อสู้เรื่องการถูกขูดรีดค่าจ้างแรงงาน แต่ก็ถูกรัฐออกกฎหมายมาควบคุมการรวมตัวหลังเกิดปัญหาเกิดมีกลุ่มแก็งอิทธิพล ปัญหาของแรงงานในมุมมองรัฐไทยจึงกลายเป็นเรื่องความมั่นคงที่ต้องควบคุมมากกว่าส่งเสริมตลอดมา

การปฏิรูปประเทศในสมัย ร.5 ทำให้เกิด รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่รวมศูนย์อำนาจการบริหารแบบกระทรวง ทบวง กรม ระบบการปกครองที่แบ่งเป็น มณฑล จังหวัด และมีการยกเลิกระบบเกณฑ์แรงงาน ไพร่-ทาส และขุนนาง ทำให้แรงงานไทยกลายเป็นแรงงานอิสระ และมีส่วนอย่างสำคัญในการทำงานเพื่อพัฒนาประเทศในด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการต่างๆ (ไฟฟ้า ประปา โทรเลข โทรศัพท์ รถราง รถไฟ ป่าไม้ เหมืองแร่ ฯลฯ) แต่สิทธิทางการเมืองก็ยังไม่มี จึงเกิดกระแสเรียกร้องการปกครองแบบ  ปาลิเม้นท์ (รัฐสภา) หรือ คอนสติติวชั่นโมนากี (กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ) จากกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นนำและชนชั้นกลางในสังคม จนถึงขั้นเกิดกบฎเรียกร้องเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งในส่วนของแรงงาน (ยุคนั้นเรียก กรรมกร) ก็มี ถวัติ ฤทธิเดช นักหนังสือพิมพ์ผู้มีสำนึกแบบชนชั้นแรงงงาน ได้ผลิตหนังสือพิมพ์ชื่อ กรรมกร เพื่อเผยแพร่เรื่องสิทธิแรงงานและผลิตอุดมการณ์ประชาธิปไตยในหมู่กรรมกร จนมีส่วนร่วมในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 แรงงานจึงมีสิทธิรวมตัวกันได้ตามกฎหมาย โดยมีสมาคมที่จดทะเบียนเป็นแห่งแรกคือ สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม นำโดยถวัติ ฤทธิเดช และต่อมาการได้สมาชิกพฤฒิสภาซึ่งเป็นเลขาธิการ พรรคสหชีพ ของฝ่ายรัฐบาล คือ เธียรไท อภิชาติบุตร์ มาเป็นประธาน สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย องค์กรแรงงานที่ผนวกรวมเอาพี่น้องแรงงานทุกสาขาอาชีพแบบไม่แยกชนชาติเข้าไว้ด้วยกัน ก็เกื้อกูลให้ฝ่ายแรงงานมีความเข้มแข็ง มีอำนาจต่อรองสูงในการเรียกร้องค่าจ้าง สวัสดิการ และกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้เพิ่มขึ้น

แต่รัฐประหาร 2490 ทำให้เกิดเผด็จการ ระบอบอำมาตยาธิปไตย ที่พยายามทำลายองค์กรที่เข้มแข็งของกรรมกรโดยการสนับสนุนจัดตั้ง สมาคมกรรมกรไทย เพื่อแบ่งแยกและเป็นฐานอำนาจทางการเมืองให้รัฐบาลด้วย แม้กรรมกรจากทั้ง 2 ฝ่ายจะพยายามสร้างเอกภาพโดยการรวมกันเป็น “กรรมกร 16 หน่วย” และมีพลังมากพอที่จะเรียกร้องกฎหมายแรงงานฉบับแรก ปี 2499 ได้ มีความพยายามตั้งพรรคการเมือง พรรคสังคมนิยม และ พรรคกรรมกร โดยผู้นำของกรรมกรรถไฟ แต่ก็ต้องถูกทำลายยกเลิกไปเมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารเมื่อปี 2501 แล้วขึ้นปกครองประเทศด้วยระบบอบเผด็จการทหาร มีผู้นำแรงงานถูกกวาดล้างจับกุมคุมขัง และที่ถูกยิงเป้าประหารชีวิตคือ ศุภชัย ศรีสติ ด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์

สิทธิแรงงานเกิดขึ้นอีกครั้งภายหลังการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ทำให้ประชาธิปไตยหวนคืนสู่สังคมไทย ถือเป็นยุคเฟื่องฟูที่มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมากมาย แต่เพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นำสู่การรัฐประหารให้อำนาจเผด็จการกลับมาครอบงำสังคมไทย มีผู้นำแรงงานไม่น้อยที่รับผลกระทบต้องหนีเข้าป่าร่วมกับนักศึกษาประชาชนจำนวนมาก มีผู้นำที่ถูกจับกุมคุมขัง เช่น อารมณ์ พงศ์พงัน ปัญญาชนคนสำคัญของขบวนการแรงงานไทย

หลังจากนั้นบรรยากาศการเมืองเริ่มคลี่คลายสู่ ประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่มีการดึงเอาผู้นำแรงงานซึ่งขณะนั้นเริ่มแตกแยกแนวคิดกันไปร่วมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ เป็นวุฒิสมาชิกแต่งตั้ง มีความพยายามในการตั้งพรรคการเมืองของแรงงานชื่อ พรรคแรงงานประชาธิปไตย โดยผู้นำของสภาแรงงานสายแรงงานรถไฟ แต่ก็มีภาพพจน์ใกล้ชิดกับทหารด้านความมั่นคง ต่อมาก็เกิด พรรคแรงงาน ที่เกิดคำถามถึงแนวทางของพรรค การดึงผู้นำแรงงานบางคนไปมีตำแหน่งทางการเมืองก็ยังมีอย่างต่อเนื่องซึ่งภายหลังก็ปรากฎชัดว่า ไม่สามารถขับเคลื่อนประเด็นความต้องการของแรงงานให้เป็นชิ้นเป็นอันได้ เช่น ไม่สามารถคัดค้านการแยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงานในยุค รสช.(2535)ได้ หรือในยุครัฐประหาร คมช.(2549) ก็ได้เพียงกฎหมายความปลอดภัยที่ผิดเพี้ยนไปจากความต้องการของแรงงาน ได้เพียงบางเสี้ยวของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน (ม.11/1) ที่ก็ยังเกิดปัญหาทางปฏิบัติในปัจจุบัน

แต่ก็มีความพยายามของฝ่ายแรงงานที่จะมีตัวแทนเข้าสู่อำนาจการเมืองในวิถีทางปกติ โดยสมัครรับเรื่องตั้งทั้ง ส.ส. และ ส.ว แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ภายใต้สังกัดของพรรคการเมืองอื่นๆที่เมื่อได้เป็น ส.ส.แล้วก็ไม่สามารถผลักดันนโยบายด้านแรงงานได้ เช่น ส.ส.สถาพร มณีรัตน์ ตัวแทนจากสหภาพแรงงาน กฟผ. ส่วนที่พยายามตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็มี เช่น พรรคสังคมธิปไตย ที่ประกอบด้วยอดีตผู้นำแรงงานหลายคน มี พรรคการเมืองใหม่ ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ที่มีฐานมาจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการชนะใจคนงานโดยได้คะแนนเสียงต่ำมาก

จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายแรงงานต้องช่วยกันขบคิดว่า ฝ่ายแรงงานจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยมีอำนาจต่อรองให้เกิดนโยบายที่ดีต่อแรงงานได้อย่างไร ในความเป็นจริงที่ว่า แม้แรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีจำนวนรวมกันเกือบ 40 ล้านคน แต่การถูกทำให้แบ่งแยกเป็นแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ รวมทั้งเข้าร่วมการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง ก็ทำให้พลังของแรงงานดูจะไม่ชัดเจนและไม่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากเพียงพอ

DSCN8700 DSCN8720

ในช่วงของการแลกเปลี่ยน มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย

– บุญเทียน ค้ำชู (ประธานมูนิธิไพศาลฯ) / เข้าสู่การเมืองในช่วงราวปี 2521 สังกัดพรรคราษฏร เป็นที่ปรึกษาเงา ปัญหาอยู่ที่พอเราเข้าไปแล้วทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง พอเราบอกว่าเราเป็นแรงงานจะเสนอแก้ปัญหาแรงงานให้กับคนงาน ก็เกิดท่าทีที่ไม่ดีในคณะกรรมการพรรค ไม่เห็นด้วยคิดว่าเราจะไปเรียกร้องอย่างเดียว ถูกดูถูก เคยลงสมัครวุฒิสมาชิกก็ถูกปฏิเสธ ระดับพรรคยังไม่เคยให้ความสำคัญ แรงงานเองก็ยังไม่เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ

– องอาจ เชนช่วยญาติ (เครือข่าย สร.ธนาคารและสถาบันการเงิน) / ตราบใดที่ยังไม่มีพรรคการเมืองของเราเอง ก็จะไม่มีสิทธิอะไร สู้เจ้าของพรรคที่มีเงินไม่ได้ต้องทำตามเขาทุกอย่าง เรื่องชื่อก็สำคัญ อยากให้ตั้งชื่อที่มีกลิ่นของความเป็นแรงงานให้คนงานได้เห็นว่านี่คือตัวแทนของแรงงานจริง และที่เห็นว่าไม่ประสบความสำเร็จคือ คนงานยังขาดการศึกษา ไม่มีการจัดการศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง ทำให้คนงานไม่มีสำนึกทางชนชั้น เสนอให้รณรงค์ให้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตที่ทำงาน

– เชิดชัย เวียงวิเศษ (สร.ธนาคารกรุงเทพฯ) / ผู้นำแรงงานส่วนใหญ่จะฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การทำแรงงานให้มีพรรคแรงงานจริงๆ ตัวจริงเสียงจริง ณรรงค์ให้ได้จริงๆ มีสิทธิ์แน่นอน
นิไลมล มนตรีกานนต์ (สร.กสท.) / คนงานรัฐวิสาหกิจก็เหมือนกับเอกชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัดก็ต้องกลับไปเลือกตั้งต่างจังหวัดเหมือนกัน การเลือกตั้งส่วนใหญ่คนงานจะเลือกจะไม่ได้เลือกเพราะเขาเป็นปากเป็นเสียงให้เรา แต่จะเลือกเพราะชอบพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่ใกล้ตัวเรา เลือกตามครอบครัว

– เพิ่มศักดิ์ กุยเหลี่ยน (สร.เคมีไทยอาซาฮีโซดาไฟ) / พรรคการเมืองไม่ได้เรียนรู้ตามความคิดของแรงงาน พรรคที่ผ่านมาไม่เคยชูนโยบายชัดเจนในเรื่องแรงงาน คนงานไม่สนใจการเมือง ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำสนใจแต่เรื่องปากท้องของตัว เลี้ยงครอบครัว

– นราทิพย์ เกล้าเจริญ (สร.ผบ.ขนส่งทรัพย์สินฯ) / เราไม่มีทุน ไม่สามารถต่อรองกับพรรคการเมืองใหญ่ๆได้ การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ จึงทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม

– สุพรรณ นิวาท (สร.วายเอสภัณฑ์) / คนงานไม่เคยถามว่ามีผู้แทนของเราไหม มีแต่ถามว่าพรรคไหนมีนโยบายเรื่องแรงงานบ้าง เสนอก่อนเลือกตั้งให้แรงงานจัดคุยเรื่องการเมือง ผลประโยชน์ของแรงงานที่จะได้จากการมีพรรคการเมือง

– จิตตินันท์ สุขโน (สร.ไทรอัมพ์ฯ) / คนงานในโรงงานไม่มีสิทธิเลือกผู้แทนที่อยู่ในพื้นที่ทำงาน ต้องกลับไปเลือกที่ต่างจังหวัด ไม่มีความเชื่อมั่นในผู้แทนสายแรงงาน ไม่ไว้ใจ พอเข้าไปแล้วสถานะเปลี่ยนเป็นคนละแบบ จะขับเคลื่อนอะไรก็กลัวผิดระเบียบพรรค ไม่เข้ากับนโยบายพรรค

– กุสุมา บัวสุวรรณ (สร.โตโยต้าประเทศไทย) / แรงงานสนใจปัญหาเรื่องค่าจ้างไม่สนใจการเมือง เป็นเรื่องไกลตัว ตัวแรงงานไม่พร้อมที่เข้าไปเป็นนักการเมือง แต่เชื่อว่าเราสามารถรวมตัวกันส่งผู้แทนเข้าไปได้

– ธนัสถา คำมาวงศ์ (สร.สยามโตโยต้า) / เสนอให้สภาทั้งหมดที่มีอยู่รวมกันตั้งพรรคการเมือง ให้มีตัวแทนจากทุกสภาเป็นกรรมการพรรค อย่างน้อยปาร์ตี้ลิสต์น่าจะมีความหวัง หากมีการให้การศึกษา ผู้ที่มีสิทธิ์เลือกผู้แทนที่ต่างจังหวัดก็เลือกคนไป ส่วนเลือกพรรคขอให้เลือกพรรคของแรงงาน น่าจะมีความเป็นไปได้

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน


DSCN8679
DSCN8690 DSCN8699 DSCN8702 DSCN8725

 

 

 

 

DSCN8672