ย้อนอดีตก้าวสู่อนาคตกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี

เมื่อวันที่  21 – 22   พฤษภาคม 2554   กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียงได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการทำงานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน   ณ โรงแรมนิวแทรเวิล บีช รีสอร์ท จังหวัดจันทบุรี มีผู้นำแรงงาน จากสหภาพแรงงานที่เป็นสมาชิกของกลุ่มผู้ใช้แรงงานฯ เข้าร่วมกว่า 60 คน

นายบุญสม  ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง  กล่าวปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีฯ มีองค์กรสมาชิกทั้งหมด 24-25 สหภาพฯ   ซึ่งหลายสหภาพที่ตั้งใหม่อาจจะไม่รู้ความเป็นมาของการก่อตั้งกลุ่มฯ ที่มาจากการถูกกดขี่ด้านแรงงาน ทำให้ผู้ใช้แรงงานรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องสิทธิด้านสวัสดิการต่างๆ การสัมมนาในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย โดยหวังว่า ผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับความรู้ บทเรียนจากอดีต และแนวความคิดที่จะพัฒนาองค์กรสหภาพแรงงาน และกลุ่มฯในอนาคตกันอย่างไร

นายอนุสรณ์  อรรถศิริ   อดีตประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานอาณาเขตสระบุรีคนที่ 2 กล่าวว่า สมัยก่อนการก่อตั้งสหภาพแรงงานนั้น เกิดขึ้นได้ยากมาก เนื่องจากนายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนสหภาพแรงงาน และการจัดตั้งสหภาพแรงงานในขณะนั้น หากนายจ้างทราบก็ถูกเลิกจ้าง  แต่ผู้ใช้แรงงานในช่วงนั้นจะมีความรักความสามัคคีกันมาก โดยจะเห็นจากการชุมนุมของคนงานช่วงปี  2538  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ม็อบ ARASCO  ที่คนงาน  3  โรงงานผละงานประท้วงพร้อมกัน และเดินทางเข้าไปชุมนุมหน้ากระทรวงแรงงาน จนได้รับสวัสดิการ รวมทั้งมีการจ้างงานที่ดีกว่าเดิม  จากการรวมตัวชุมนุมของผู้ใช้แรงงานในเวลานั้น ทำให้มีการจัดตั้งองค์กรสหภาพแรงงานเพิ่มขั้นเรื่อยมา จนกระทั้งตั้งเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานอาณาเขตสระบุรี และเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียงจนถึงปัจจุบันนี้

นายณัฐนันท์ อรรถศิริธิติวุฒิ  รองประธานสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์  กล่าวว่า ขณะนั้นมีการเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับมวลสมาชิกได้ จึงได้ปรึกษาหารือร่วมกัน 2-3 สหภาพแรงงาน เพื่อจัดตั้งเป็นองค์กร ที่ไม่ต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ภายใต้แนวคิดที่ว่า เพื่อไม่ให้ฝ่ายรัฐเข้ามาแทรกแซง ควบคุมการดำเนินการ โดยใช้ชื่อว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง  ต่อมาเมื่อปี 2538 ได้มีพนักงานบริษัท กะรัต สุขภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทรอยัลปอร์ซเลน จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามไฟน์ ไชน่า จำกัดได้มีการรวมตัว เรียกร้องสวัสดิการจากนายจ้าง มีพนักงานเข้าร่วมทั้งหมด 4,000 – 5,000 คน เดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน เป็นอดีตการต่อสู้ที่เข้มข้น ผู้นำแรงงานมีความรัก ความผูกพันกันแน่นเหนียว คอยช่วยเหลือซึ่งกันละกัน การเรียกร้องในครั้งนั้นถือว่า ประสบผลสำเร็จ ได้ทะเบียนสหภาพกลับมาและตั้งชื่อทั้ง 3 บริษัท ว่า ม๊อบ อารัต โก้

ทางด้าน นางสาวธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีฯ กล่าวว่า ก้าวต่อไปกลุ่มฯ หรือทิศทางการทำงานกลุ่มฯ จะต้องสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง จัดเวทีแลกเปลี่ยนสมาชิกสหภาพแรงงาน กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีฯ ต้องเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในพื้นที่สระบุรี แนะนำขยายการจัดตั้งองค์กรสหภาพแรงงาน พร้อมทั้งรับเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้ใช้แรงงาน จัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารประเภทอุตสาหกรรมเดียวกัน  จัดการสื่อสารภายในกลุ่มฯ โดยใช้วิทยุชุมชน จัดทำแผนเคลื่อนไหว เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรภายนอก สร้างผู้นำแรงงานรุ่นใหม่แบบเข้มข้น เป็นต้น

ในการสัมมนาครั้งนี้ยังมีการฉายวีทีทัศน์  ประวัติการต่อสู้ของผู้นำแรงงานจากอดีตจนกระทั้งปัจจุบัน  ขบวนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน  สาเหตุและอุปสรรคในการจัดตั้งสหภาพแรงงานในแต่ละแห่ง

ทั้งนี้ผู้นำแรงงานทั้งหมดยังได้ระดมสมอง เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารงานกลุ่มผู้ใช้แรงงานฯ   การมีส่วนร่วมขององค์กรสมาชิกในอนาคต  ดังนี้

1. การสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง

2. จัดเวทีแลกเปลี่ยนกับสมาชิกสหภาพ

3. กลุ่มฯ ต้องศูนย์ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในพื้นที่  แนะนำการขยายสหภาพ  รับเรื่องราวร้องทุกข์

4. การสร้างผู้นำรุ่นใหม่

5. เปิดข้อบังคับแต่ละสหภาพแรงงาน

6. การสื่อสารโดยวิทยุชุมชนหรือสื่อจังหวัด

7. สร้างความแข็งแกร่งให้กับสมาชิกสหภาพแรงงาน

8. จัดทำฐานข้อมูลของแต่ละสหภาพแรงงาน

9. องค์กรสมาชิกต้องจ่ายค่าบำรุงตามกำหนดระยะเวลา/ การเก็บค่าบำรุงแบบก้าวหน้า การจัดกลุ่มศึกษาแยกประเภทอุตสาหกรรม

10. การยอมรับมติกลุ่มฯ

นงนุช   ไกรศาสตร์ และสวรรยา ผดาวัลย์  นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวพื้นที่สระบุรี รายงาน