ยกระดับการสื่อสารในพื้นที่เปราะบาง

หลายคนพยายามเล่าถึงสถานการณ์การสื่อสารในประเด็นที่พวกเขาอยากถ่ายทอดให้สาธารณชนได้รับรู้ แต่ยังมีข้อจำกัดต่างๆเป็นอุปสรรค เช่น ช่องทางการสื่อสารที่ยังแคบ , เครื่องมือไม่พร้อม เช่น สัญญาณโทรศัพท์ขาดๆหายๆ ,ทุนที่ใช้ในการเดินทางและลงพื้นที่แทบไม่มี,ความรู้ที่ต้องการใช้ในการพัฒนาต่อยอด

ทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า หากมีการถักทอกันเป็นเครือข่ายและเกื้อหนุนทำงานร่วมกัน จะสามารถขจัดอุปสรรคหลายอย่างออกไปได้ ที่สำคัญคือจะทำให้เกิดช่องทางการสื่อสารที่มีพลังซึ่งสามารถขับเคลื่อนประเด็นปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้

ระหว่างวันที่ 15-16 กันยายน 2561 นักสื่อสารจากพื้นที่เปราะบางและชุมชนชายขอบ เช่น ชาวเลในพื้นที่อันดามัน ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่สูง ชาวไทไหญ่ในชายแดนภาคเหนือ มุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ คนทำงานในชุมชนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ-ภาคแรงงาน รวมถึงนักวิชาการและสื่อมวลชนอาชีพ รวมกว่า 40 คน ได้ร่วมหารือกันที่โรงแรมวิกทรี กรุงเทพฯ

กิจกรรมเริ่มต้นโดยหยิบยกกรณีศึกษา 1.พื้นที่ข่าวเล็กๆขยายสู่วงกว้างจนเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยนายวิชัย จันทวาโร ช่างภาพอิสระ ได้เล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งไปเก็บข้อมูลเพื่อทำสารคดี “นกเงือก”ที่เทือกเขาบูโด จังหวัดปัตตานี ซึ่งเขาได้เผชิญกับการลักขโมยลูกนกเงือกที่ถูกล้วงออกจากโพลง แถมยังมีการตัดไม้ทำลายป่า  เขาได้ถ่ายภาพและนำมาโพสต์ลงเฟสบุคซึ่งในตอนแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความ ขณะเดียวกันก็ปรึกษานักข่าวที่คุ้นเคย จนมีการนำไปเขียนเป็นข่าวลงในเวปไซ ต่อมาเรื่องราวแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสื่อมวลชนหลายสำนักได้เข้าไปทำข่าว และทางตำรวจยอมรับแจ้งความโดยมีการสืบสวนสอบสวนจนกระทั่งสามารถติดตามจนได้ลูกนกกลับคืนมา นอกจากนี้ยังมีลูกนกเงือกกตัวอื่นๆที่ถูกขโมยไปอีก สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทลายแก็งค์ค้าสัตว์ป่าได้

กรณีศึกษา 2 .คือปรากฏการณ์ของเพจ “สื่อเถื่อน”ซึ่งให้น้ำหนักการสื่อสารผ่านการถ่ายทอดสดจนมีผู้ติดตามชมจำนวนมาก โดยนายวันชัย พุทธทองและนายณขจร จันทวงศ์ ร่วมกันเล่าว่า สื่อเถื่อนเกิดจากความรำคาญในข้อจำกัดของสื่อใหญ่ ขณะที่การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้ทุนมากมาย แค่มีเพียงโทรศัพท์และไวไฟ แต่สามารถทำงานข่าวได้ทรงพลัง เช่น เมื่อครั้งถ่ายทอดสดการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ปรากฏว่าบางช่วงมีประชาชนเข้ามาชมนับล้านครั้ง

“ทางรอดที่ศึกษาจากสื่อไทย คือลดต้นทุน เดินสายเป็น organizerโดยมีหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจเข้ามากำหนดทิศทางข่าวได้ บางแห่งให้นักข่าวไปหาโฆษณาด้วย เราจึงเห็นว่าข่าวที่ควรได้ลงกลับไม่ได้ลง  มุ่งสร้าง digital content” นายสุภชาติ เล็บนาค นักศึกษาปริญญาโทด้านสื่อสารมวลชนจากออสเตรเลีย ได้เปิดมุมมองในวงหารือ “ข่าวของสำนักข่าวในเมืองไทยเน้นอารมณ์ สร้างอารมณ์ร่วม จนเรารู้สึกร่วม build จนบ้าบอ เมื่อความรู้สึกนั้นหมดไปแล้วก็จบ เหมือนเสียงก้องในห้องแคบ”

“ผมได้ไปดูงาน Hong Kong Free Press ที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติร่ม 2014 โดยมีการบริจาคตรงให้สำนักข่าว และสำนักข่าวชี้แจงให้ผู้สนับสนุนว่าปีนี้ต้องการเท่าไหร่ แต่สำหรับประเทศไทย ความน่าเชื่อถือของสื่อหลัก กลับไปสนใจ inflendcer ที่เป็นเพจต่างๆ ซึ่งใช้ภาษารุนแรง ไม่รักษาสิทธิของแหล่งข่าว อายุของแต่ละข่าวสั้นลง เหมือนจุดพลุ จึงสร้างความเปลี่ยนแปลงได้น้อย”

กิจกรรมต่อมาเป็นการหารือแลกเปลี่ยนระหว่างสื่อมืออาชีพ เช่น ภัทระ คำพิทักษณ์ อดีต บ.ก.โพสต์ทูเดย์, ฐปณีย์ เอียดศรีไชย จากข่าว 3 มิติ , สมฤทัย  ทรัพย์สมบูรณ์ อดีตบ.ก.ข่าวการเมืองสำนักข่าวเนชั่น , สมเกียรติ จันทรสีมา จากไทยพีบีเอส

ขณะที่มุมมองของนายภัทระเห็นว่า ทฤษฎีและช่องทางการสื่อสารได้เปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือผู้ส่งสาร อะไรที่เป็นตัวกลางตายหมดและนักข่าวที่เคยเป็นตัวกลางก็กำลังจะตาย การต่อสู้แบบเดิมผ่านไปแล้ว ช่องทางสื่อสารเดิมๆ เปลี่ยนไป  ใครที่รวมกลุ่มกันไปทำเป็นเรื่องเป็นราวเป็นข่าวจริงๆ ได้ เป็นข่าวที่ต้องยืนระยะก็จะอยู่ได้ เรากำลังอยู่บนรอยเลื่อนที่มันเลื่อนไปหมดแล้ว

ส่วนนางสาวฐปณีย์กล่าวว่า การทำงานเชิงลึก และเกาะติดสำหรับคนที่ทำหน้านักสื่อสาร ควรที่จะรักษาคุณภาพเอาไว้ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ของคนเล็กคนน้อยและเพจต่างๆ เกิดขึ้นมาก แต่ละคนต่างได้รับเสรีภาพด้านสื่อสารจากช่องทางการเกิดขึ้นของเพจที่ทุกคนทำงาน เรารู้สึกอิจฉา บางเรื่องเห็นเขาทำ เราทำไม่ได้แต่ เราขยายต่อให้ การเกิดขึ้นของสื่อภาคประชาชนช่วยลบความรู้สึกที่กดทับ อย่างไรก็ตามกระแสสังคมเคลื่อนตามด้วยข้อมูล ไม่ได้ใช้อารมณ์

นางสมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ อดีต บก. คมชัดลึก กล่าวว่าใครก็ตามเป็นเจ้าของข้อมูลและรู้จริงจะได้เปรียบ หากเรามีข้อมูลที่แน่น ที่ใช่ ซึ่งตอนนี้มีช่องทางเยอะมาก เมื่อก่อนต้องรอนักข่าวไป แล้วชาวบ้านจะไปสู้ได้อย่างไรกับนายทุน และไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่มีข้อมูลเพียงแต่ข้อมูลฝั่งชาวบ้านไม่ได้ออกไป ดังนั้นเวลานี้จึงเป็นโอกาสที่เจ๋งมาก หากช่วยกันฝึกวิทยายุทธ์ เพราะต่างมีของดีอยู่แล้ว หากช่วยกันฝึกนำเสนอและรูปแบบการสื่อสารโซเชี่ยล ไม่มีสูตรตายตัวและเปลี่ยนไปตามเวลา

หลังจากนั้นในภาคเย็นและเช้าวันรุ่งขึ้นเป็นการระดมความคิดเห็นเพื่อมองไปข้างหน้า โดยมี ผศ.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณะบดีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายณรรธราวุธ เมืองสุข และนายอินทรชัย พาณิชกุล เป็นวิทยากรกระบวนการโดยแบ่งกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม

ข้อเสนอและบทสรุปเป็นไปในลักษณะคล้ายๆกันคือในแต่ละพื้นที่ต่างมีประเด็นของตนเองที่พร้อมจะสื่อสาร ขณะที่เครื่องไม้เครื่องมือซึ่งมีกันในระดับหนึ่งและต้องการเสริมในเรื่องมุมมอง รวมทั้งพัฒนารูปแบบการสื่อสาร ซึ่งควรมีทีมส่วนกลางช่วยเป็นพี่เลี้ยงในช่วงต้น โดยทั้ง 3 กลุ่มต่างเห็นด้วยกับการเชื่อมร้อยงานด้านการสื่อสารร่วมกันเพื่อให้เกิดพลังเพราะลดการพึ่งพาสื่อกระแสหลัก ขณะเดียวกันจำกัดในเรื่องทุนนั้น มีข้อเสนอที่น่าสนใจคือเรื่องการระดมทุนในเชิงประเด็น เช่น หากต้องการขับเคลื่อนในเรื่องปัญหาที่ดิน ก็รับบริจาคเงินสักก้อนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการทำงานสื่อสารชิ้นนี้

—————-