มูลนิธิเอเชีย-LCC เสนอแผนยุทธศาสตร์ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-แรงงาน

เมื่อวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2554 มูลนิธิร๊อกกีเฟลเลอร์ประเทศสหรัฐอเมริกา, มูลนิธิเอเชีย ร่วมกับ ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน ได้จัดประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อประเมินและจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการช่วยเหลือด้านกฎหมายอย่างยั่งยืนแก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ณ บ้านชมเดือนรีสอร์ท อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยมีผู้เข้านักวิชาการ องค์กร และกลุ่มงานแรงงานภาคประชาสังคม องค์กรแหล่งทุน และองค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐและฝ่ายการเมือง ผู้นำแรงงานต่างๆเข้าร่วมกว่า 30 คน 

คุณชฤทธิ์ มีสิทธิ์  ผู้จัดการโครงการศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน กล่าวว่า หลังจากที่มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน (LCC) พบว่า เมื่อเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ 2550 แรงงานได้ถูกผลกระทบมากทั้งทางตรงและทางอ้อม คนงานถูกละเมิดสิทธิมากมายและหลายกรณีเป็นการอ้างสถานการเศรษฐกิจเพื่อล้มองค์กรสหภาพแรงงาน จากการให้ความช่วยเหลือได้พบว่าในหลายๆกรณีกระบวนการยุติธรรมเองก็มีปัญหาบางอย่างที่ทำให้แรงงานเข้าถึงสิทธิได้ยากและบางครั้งกระบวนการยุติธรรมเองก็กลับมาทำลายความหวังของคนงานเองจากขั้นตอนและระยะเวลาที่ยาวนาน

คุณสุนี ไชยรส ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานและอดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่มีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมรับฟังจากขบวนการคิดและระดมสมองของผู้นำแรงงานและคณะทำงานจากศูนย์ช่วยเหลือฯ เพื่อให้มีการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เพื่อให้การช่วยเหลือทางกฎหมายที่มีคุณภาพ และครบวงจร กระบวนการยุติธรรมที่เอื้อต่อผู้ใช้แรงงานและเสริมสร้างความเข้มแข็งขบวนการแรงงานเพื่อให้เข้าถึงสิทธิได้ง่ายขึ้น

จากปัญหาต่างๆ ที่ประชุมได้มีข้อเสนอต่อภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อประเด็นปัญหาดังนี้

1.  กระบวนการยุติธรรมที่เอื้อต่อแรงงาน  กลไกช่วยเหลือสิทธิ-กฎหมาย ไม่มีประสิทธิภาพ ,ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ/ศาลไม่เคารพสิทธิผู้เดือดร้อน , สังคมประณามผู้เรียกร้องสิทธิว่าก่อความวุ่นวาย , เจ้าหน้าที่รัฐเข้าข้างนายทุนและกฎหมายไม่เอื้อต่อการคุ้มครองแรงงานอย่างจริงจัง , ผู้เดือดร้อนขาดความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิและกฎหมาย จึงเสนอให้มีการแก้กฎหมายลดขั้นตอนการเข้าถึงสิทธิได้ง่ายขึ้นและสร้างดุลอำนาจในการเจรจาต่อรอง , เปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ/ศาลไม่เคารพสิทธิผู้เดือดร้อน โดยกำหนดกิจกรรมร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ-ศาลเพื่อให้เห็นความสำคัญของการร่วมตัวของแรงงานและเพิ่มหัวข้อการศึกษาอบรมของเจ้าหน้าที่รัฐ-ศาลให้เข้าใจสิทธิแรงงาน สร้างความ เข้าใจกับสังคมว่า การเรียกร้องของแรงงานเป็นสิทธิตามกฎหมายและสร้างความตระหนักในความสำคัญของการศึกษาอบรม

2.  การช่วยเหลือทางกฎหมายที่มีคุณภาพและครบวงจร  ปัญหาคือไม่มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงาน , พัฒนาบุคลากร(อส.สิทธิ อส.แรงงาน อส.นักกฎหมายและทนายความ) องค์กรแรงงานและผู้ใช้แรงงานขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม , ระบบการไกล่เกลี่ยในศาลแรงงาน , นายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐมีทัศนคติด้านลบ “ถ้าแรงงานเข้มแข็ง ไม่มีการลงทุน” โดยเสนอ จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงาน รวมถึงพัฒนาบุคลากร ปรับปรุงหลักสูตรอบรมผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานให้มีเรื่องของสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน กฎหมายและสังคม แก้ไขระบบการไกล่เกลี่ยในศาลแรงงานและต้องมีการรณรงค์สาธารณะให้เข้าใจประเด็นของสิทธิแรงงาน

3.  การสร้างความเข้มแข็งขบวนการแรงงาน เนื่องจากสหภาพแรงงานในประเทศไทยส่วนใหญ่มีการร่วมตัวเป็นแบบสถานประกอบการ ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพในการรวมตัว เพื่อสร้างอำนาจในการเจรจาต่อรองทั้งทุนและภาครัฐ รวมถึงการขาดทุนทรัพย์ในการบริหารจัดการ ดังนั้น จึงขอเสนอให้มีการจัดตั้งโรงเรียนผู้นำแรงงาน ปรับปรุงหลักสูตรให้กระชับ/สอดคล้องกับเงื่อนไขเวลาของผู้เข้าร่วม ประชาชนต้องร่วมกันรณรงค์เพื่อความเข้าใจเรื่องรัฐสวัสดิการและรัฐต้องกำหนดรัฐสวัสดิการเป็นนโยบาย และต้องมีการรณรงค์ส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพแรงงานระดับอุตสาหกรรมและจัดเก็บค่าบำรุงเป็นแบบก้าวหน้าหรือเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลักจากนี้ก็จะได้นำประเด็นและข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการแก้ไขแบบบูรณาการต่อไป

ดร.เอกพร รักความสุข อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พรรคความหวังใหม่ ให้ความเห็นว่า ขบวนการแรงงานต้องเปลี่ยนขบวนทัศน์ในการขับเคลื่อน เพราะการขับเคลื่อนเดิมๆไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ระบบไตรภาคีล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงแต่ควรใช้พหุภาคี  ดังนั้นหากจะมีการแก้ไขทางด้านกฎหมายต้องยกเลิกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ จะชื่ออะไรก็ได้แต่ต้องทำให้คนงานมีชิวิตให้ดีขึ้น และควรให้มีการพัฒนาทางการศึกษาด้านแรงงานผ่านกระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่กระทรวงแรงงาน และขบวนการแรงงานต้องเสนอภาพใหญ่ไม่ใช่ภาพเล็กและกำหนดประเด็นหลักเพียงข้อเดียวที่สำคัญก็จะได้รับการตอบสนองจากฝ่ายการเมืองมากขึ้น

คุณรัชฎาภรณ์  แก้วสนิท ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอทั้ง 3 กลุ่มที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและในส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการตั้งพรรคการเมืองของแรงงานนั้นอาจจะยังไม่ถึงเวลาเพราะเคยตั้งแล้วก็ไม่สามารถผลักดันให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนได้ แต่อาจจะเป็นภาระที่ทำให้การผลักดันปัญหาในมิติแรงงานนั้นอ่อนพลังลงไป

ร.อ.กานต์ ตระกูลสม กลุ่มงานกฎหมาย สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของทั้ง 3 กลุ่ม โดยเฉพาะระบบการไกล่เกลี่ยที่มีการไกล่เกลี่ยได้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วนการประเด็นให้การศึกษานั้น ไม่เป็นปัญหาเฉพาะภาคแรงงานนั้น แต่เจ้าหน้าที่เองก็ยังขาดองค์ความรู้ในด้านนี้ด้วยและก็ควรจะต้องมีกระบวนแก้ไขเพื่อปิดช่องว่างเหล่านี้ให้ได้

คุณไพโรจน์ พลเพชร สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ความเห็นว่า ควรปฎิรูปศาลแรงงานได้แล้วเพื่อให้ตรงกับปรัชญาของศาลแรงงานที่บอกว่า รวดเร็ว ประหยัด และเป็นธรรม แต่ในความเป็นจริงยังไม่เป็นอย่างนั้น และนักวิจัยควรสนับสนุนข้อมูลเพื่อให้มีการปฎิรูปศาลแรงงานอย่างเร่งด่วน และบทบาทของรัฐไม่มีระบบส่งเสริมให้ขบวนการแรงงานเข้มแข้ง ต้องพึ่งพาการศึกษาด้วยตนเองหรือ NGO ซึ่งควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้ามาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่นการสร้างสถาบันให้ความรู้ด้านแรงงาน และนักวิชาการเองจะต้องทำรายงานวิชาการเพื่อเปิดโปงประเด็นปัญหาของแรงงานให้สังคมได้รับรู้และเรียนรู้

คุณศักดิ์ชัย อัศวินอานนท์ รองอธิบดี/สำนักงานคดีแรงงานเขต 9 ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับการปรับกระบวนทัศน์ในภาพใหญ่ ในส่วนของอัยการสูงสุดนั้นสามารถสนับสนุนด้านการให้ความรู้เพราะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องเหล่านี้อยู่แต่ยังไม่ได้เข้าไปทำงานกับกลุ่มแรงงานมากนัก และบทบาทของอัยการนั้นไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มต้นแต่เป็นหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือคนงานในทางอ้อมจากการเป็นทนายความแก้ต่างในกรณีที่หน่วยงานรัฐดำเนินคดีในศาลแรงงาน

รศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี  ที่ปรึกษาโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ขอเสนอนี้คงยังไม่สมบูรณ์ในแง่ตัวอักษร คงต้องมีการปรับปรุงเพื่อนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมในมิติแรงงานเป็นผู้สร้างโลก และเรื่องต่างๆเหล่านี้เป็นหน้าที่ของใครที่จะต้องดำเนินการ หน่วยงานรัฐหรือขบวนการแรงงานเองที่จะต้องดำเนินการ และเห็นด้วยที่จะต้องมีการเปลี่ยนขบวนทัศน์ใหม่

รศ.ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นว่า การให้การศึกษาด้านแรงงานนั้นควรมีการเสนอข้อเสนอนี้ ให้เป็นประเด็นในเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อมีการวิจัยเชิงระบบและโครงสร้างและเชื่อมโยงกับหลายๆภาคส่วนก็จะทำให้การขับเคลื่อนในเรื่องนี้เป็นจริงมากขึ้นและแรงงานจะได้ไม่ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวเพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของทุกคน

คุณเรืองรวี พิชัยกุล ผู้ประสานงานโครงการ อาวุโส มูลนิธิเอเชีย รู้สึกดีใจที่ได้จัดที่ประชุมเชิงปฎิบัติการในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในโอกาสต่อไปก็เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะดำเนินการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมในมิติของแรงงานให้มีสิทธิในฐานะส่วนหนึ่งของประเทศและเข้าถึงสิทธิได้ง่ายขึ้นทั้งการปรับขบวนการยุติธรรมและสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานต่อไป

พรนารายณ์  ทุยยะค่าย  นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวพื้นที่สระบุรี รายงาน