เมื่อจุดเปลี่ยนของสหภาพแรงงานญี่ปุ่นกำลังมาถึง : ฤา จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของสหภาพแรงงานรถยนต์ในประเทศไทย

Ta

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

แม้การเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างประจำปีจะปรากฏบ่อยครั้งในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์จากค่ายบริษัทญี่ปุ่น แต่เราต้องไม่ลืมว่าในประเทศไทยนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นสินค้าหลักสำคัญของไทยในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ของประเทศ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10.6 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าส่งออกของประเทศไทยทั้งหมด มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้กว่า 7 แสนคน (เฉพาะแรงงานมีฝีมือประมาณ 4 แสนคน)

นอกจากนั้นแล้วในอุตสาหกรรมนี้มีแรงงานรวมกลุ่มกันมากที่สุดกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆที่มีการจ้างงานในประเทศไทย จากตัวเลขเมื่อธันวาคม 2556 ของสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW) กับ สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (ALCT) ที่เพียง 2 องค์กรนี้ มีสหภาพแรงงานรวมกันแล้ว 112 แห่ง สมาชิกรวมกันกว่า 81,252 คน อีกทั้งยังมีความเข้มแข็งในการเจรจาต่อรองมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งจากตัวเลขโบนัสประจำปี, การขึ้นค่าจ้างประจำปี รวมถึงสวัสดิการต่างๆที่เกี่ยวข้องเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

แน่นอนนี้คือสถานการณ์ในประเทศไทย ณ ปี 2557 และปฏิเสธไม่ได้ว่านี้คือ ผลจากการรวมตัวแบบสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่สหภาพแรงงานแบบสถานประกอบการในญี่ปุ่น

t2

แต่ ณ วันนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลเจรจาค่าแรงประจำปี หรือที่เรียกกันว่า “ชุนโตะ” นี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีก็ว่าได้ ที่สหภาพแรงงานญี่ปุ่น นำโดยสมาพันธ์สหภาพการค้าญี่ปุ่นหรือ Japanese Trade Union Confederation (JTUC-RENGO) ที่มีสมาชิกประมาณ 6.8 ล้านคน ได้มีการหารือกันว่า จะมีการผละงานเพื่อโต้ตอบข้อเรียกร้องถ้าบริษัทไม่ปรับขึ้นค่าจ้างให้ในปีนี้ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังจะหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดและฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตามมีการสำรวจจากสำนักข่าวเกียวโต ระบุว่า มีบริษัทญี่ปุ่นเพียง 17% เท่านั้นที่จะปรับขึ้นค่าจ้างให้ลูกจ้างในการเจรจาปีนี้ แม้ว่านายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ซึ่งขึ้นบริหารประเทศเมื่อปลายปี 2555 ได้ขอร้องให้ภาคเอกชนแบ่งปันกำไรบางส่วนให้ลูกจ้างที่จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่ต้องรับภาระด้านภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะปรับเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2557 นี้ก็ตาม

ทั้งนี้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในญี่ปุ่นกำลังจับตามองไปที่บริษัทโตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งทำกำไรมหาศาลในช่วงที่ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงอย่างมากในปี 2256 ที่ผ่านมา ว่าจะขึ้นค่าจ้างให้คนงานมากน้อยเท่าใดในการเจรจาครั้งนี้ซึ่งจะเกิดขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2557

ที่ผ่านมาค่าแรงของคนงานที่ทำงานในค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอยู่ในสภาพแช่แข็งและต้องเผชิญกับการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคงมากขึ้่นทุกปี พนักงานกว่า 1 ใน 3 ไม่มีงานประจำ ค่าแรงต่ำกว่า และสิทธิประโยชน์น้อยกว่าคนรุ่นก่อนมาก

นับแต่เกิดวิกฤติการเงินเมื่อปี 2551 พบว่า มีการเลิกจ้างคนงานโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการจ้างงานชั่วคราว มีการย้ายคนงานไปทำแผนกที่ลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าเดิม ไม่ให้ทำงานล่วงเวลา (โอที) หรือบางแห่งใช้วิธีลดค่าจ้างแทน สถานการณ์นี้เกิดขึ้นมากในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทอิเลคทรอนิคส์ เช่น โซนี่

ในกลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้างมักจะหางานบริษัทใหม่ได้ยากและกลายเป็นลูกจ้างชั่วคราว หลายคนฆ่าตัวตายจากการไม่สามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้เนื่องจากทำงานกับบริษัทเดิมมายาวนานหลายสิบปีจนผูกพัน

อย่างไรก็ตามภายหลังการรับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่ประกาศใช้นโยบาย “อาเบะโนมิคส์” ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผ่านการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่มีมานานนับ 2 ทศวรรษ ได้ส่งผลให้บริษัทต่างๆมีผลประกอบการดีขึ้นกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บางบริษัทมีกำไรกว่า 10 เท่าของผลประกอบการ เช่น กลุ่มบริษัทนิปปอน สตีล และนี้เป็นที่มาสำคัญของการเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีในปีนี้

ต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมาการเผชิญหน้าระหว่างสหภาพแรงงานและนายจ้างแทบไม่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่น การพิพาทแรงงานในญี่ปุ่นนั้นมีลักษณะพิเศษ คือ เกิดขึ้นน้อยมากและเป็นเวลาสั้นๆ ส่วนใหญ่แล้วการหาข้อยุติข้อพิพาทมักจะใช้วิธีการประนีประนอม มากกว่าการนัดหยุดงาน

จำเป็นที่เราต้องเข้าใจก่อนในเบื้องต้นร่วมด้วยว่า ระบบแรงงานสัมพันธ์ในประเทศญี่ปุ่นที่ดำเนินมาตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีลักษณะเด่นดังนี้

P5010417PA070507

(1) โดยทั่วไปแล้วสหภาพแรงงานของญี่ปุ่นเป็นสหภาพแรงงานแบบสถานประกอบการ (1 บริษัท 1 สหภาพแรงงาน) ต่อมาในปี 1989 (2532) สหภาพแรงงานของญี่ปุ่นได้รวมกันก่อตั้ง Japanese Trade Union Confederation (JTUC-RENGO) ขึ้นมาเป็นองค์กรแรงงานหลักในระดับประเทศ โดยถือว่าเป็นตัวแทนของคนงานที่เข้าเป็นสมาชิก ในช่วงก่อตั้งมีคนงานเข้าร่วมประมาณ 8 ล้านคน บทบาทสำคัญขององค์กร คือ การเป็นตัวแทนองค์กรแรงงานในการประชุมเจรจาเรื่องต่างๆกับภาครัฐ สร้างแรงกดดันให้กับรัฐในการปรับปรุงสภาพการจ้างงานและการออกกฎหมายใหม่ๆ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา JTUC-RENGO มีอำนาจตัดสินใจแทนสมาชิกน้อยมาก เนื่องจากองค์กรสมาชิกหลายแห่งยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับสหภาพแรงงานแบบสถานประกอบการมากกว่า ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับคนงานจึงมีลักษณะประนีประนอม และน้อยครั้งมากที่จะนำไปสู่การนัดหยุดงาน

(2) ตามธรรมเนียมปฏิบัติในการเจรจาขึ้นค่าจ้างประจำปีนั้น มักเป็นการเจรจาแบบปิดลับ แค่พอเป็นพิธี และคาดว่าจะยุติลงโดยเร็ว ทั้งนี้ที่ผ่านมามีบริษัทไม่กี่แห่งที่รับฟังและปฏิบัติตามข้อเรียกร้องเรื่องการขึ้นค่าจ้าง และบางทีบริษัทก็รู้ว่าอาจเป็นเพราะจะไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบใดๆจากสหภาพแรงงานอยู่แล้ว จึงมักเพิกเฉยต่อข้อเสนอดังกล่าว

(3) กระบวนการแรงงานสัมพันธ์ที่ผ่านมาของสหภาพแรงงานญี่ปุ่นกับบริษัท คือ สหภาพแรงงานญี่ปุ่นมีการผละงานน้อยมาก ที่ผ่านมาแม้ข้อเรียกร้องจะถูกปฏิเสธหรือเพิกเฉย แต่สหภาพแรงงานก็มักนิ่งเงียบและไม่มีการโต้ตอบด้วยมาตรการใดๆ เมื่อเทียบกับประเทศบ้านอย่างเกาหลีใต้ที่การผละงานเป็นยุทธวิธีปกติในการเผชิญหน้า

tamtam.

แน่นอนส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานด้วย ในญี่ปุ่นมีแรงงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแค่
18 % เท่านั้น (แต่ก็ยังมากกว่าประเทศไทย ที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพียง 4.3 %) จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานที่น้อย สัมพันธ์กับสภาพการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ญี่ปุ่นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อช่วงปี 1990 บริษัทในญี่ปุ่นมีการนำสภาพการจ้างงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเข้ามาใช้ โดยเฉพาะการว่าจ้างบริษัทอื่นให้ทำการผลิตแทนบางส่วน (outsource), การสร้างระบบการทำงานไม่เต็มเวลาขึ้นมา เป็นต้น เหล่านี้ทำให้ความสำคัญของการมีสหภาพแรงงานในการเจรจาต่อรองลดความสำคัญลงไปด้วย เนื่องจากการจ้างงานมีลักษณะแบบปัจเจกบุคคลมากขึ้น

(4) วัฒนธรรมแรงงานสัมพันธ์ของญี่ปุ่นมุ่งเน้นการประสานความร่วมมือมากกว่าที่จะเลือกการเผชิญหน้า ด้วยวิธีคิดที่ถูกปลูกฝังมาว่า “ความอยู่รอดของประเทศชาติไม่ใช่ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง ดังนั้นลูกจ้างต้องเสียสละผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อที่จะเป็นพนักงานผู้มีความรักต่อบริษัทและต่อประเทศชาติ” กระบวนการแรงงานสัมพันธ์จึงอยู่ในบรรยากาศราบเรียบมาโดยตลอด การผละงานแทบไม่เคยเกิดขึ้นหรือมีน้อยมากเพียงไม่กี่สิบครั้ง ใช้เวลาไม่กี่วัน แรงงานเข้าร่วมแค่หลักพัน การผละงานครั้งใหญ่ คือ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ญี่ปุ่นมีการผละงานประท้วงประมาณ 5,000 ครั้ง พนักงานเข้าร่วมประมาณ 3.6 ล้านคน สำหรับคนงานที่มีอายุ 20-40 ปี การผละงานและการประท้วง เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์และความทรงจำเพียงเท่านั้น

ดังนั้นสถานการณ์ที่สหภาพแรงงานญี่ปุ่นนำโดย Japanese Trade Union Confederation (JTUC-RENGO) จะผละงานเพื่อตอบโต้การเจรจาที่จักถูกเพิกเฉยจากบริษัทต่างๆในครั้งนี้ จึงถือเป็นวาระสำคัญที่ต้องจับตามองมิใช่น้อย และจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการดำเนินงานสหภาพแรงงานในญี่ปุ่นอย่างแน่นอน

**ข้อมูลในการเขียนตั้งต้นมาจากเรื่อง Workers’ union puts pressure on Japan Inc. to raise wages, strikes may be on the horizon สืบค้นจาก http://japandailypress.com/workers-union-puts-pressure-on-japan-inc-to-raise-wages-strikes-may-be-on-the-horizon-1744375/ เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2557 และเพิ่มเติมข้อมูลจาก http://en.wikipedia.org/wiki/RENGO