มติครม.แรงงานอายุ 60 ปีต้องเกษียณ

20160311_164506

นักวิชาการแรงงานชี้ ข้อดี และข้อด้อยของกฎหมาย หลัง ครม.มีมติกำหนดอายุเกษียณในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยให้ได้ค่าชดเชย

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวถึงมติครม.วันที่ 4 มกราคม 2560 ว่า จากประเด็นการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น ตามจริงแล้วมีหลายข้อแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานถึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพียง 4 ข้อตามที่มีมติออกมา ซึ่งข้อที่หนึ่งเรื่องอำนาจคณะกรรมการค่าจ้างในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่ได้มีอะไรที่ใหม่ ซึ่งร่างกฎหมายเดิมได้มีการเสนอให้มีการยกเลิกอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้แต่ละปีมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ว่าหากมองเพียงค่าจ้างขั้นต่ำกับคนทุกกลุ่มจริงแล้วเดิมก็ไม่ได้แบ่งแยกมีความครอบคลุม และบางอาชีพมีกฎหมายเฉพาะแยกออกไปดูแล เช่น แรงงานนอกระบบ คนทำงานบ้าน นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นคนพิการ นิสิต นักศึกษา คนพิการ ผู้สูงอายุ

ประเด็นที่สอง เรื่องการที่มีการยกเลิกบทบัญญัติให้นายจ้างส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่อธิบดีนั้นเป็นประเด็นปัญหากับลูกจ้าง ที่เห็นว่าเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ เนื่องจากนายจ้างอาจหลีกเลี่ยงการประกาศให้ลูกจ้างได้รับรู้เรื่องการปรับเปลี่ยนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และส่งผลกระทบต่อลูกเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง แล้วอ้างถึงการกระทำการผิดข้อบังคับอันนี้เป็นประโยชน์ต่อนายจ้างหากนายจ้างต้องการที่จะเลิกจ้างลูกเนื่องจากการรวมตัว ด้วยอ้างกฎระเบียบ ซึ่งถือเป็นความผิดร้ายแรงเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ซึ่งของเดิมดีอยู่แล้ว นายจ้างต้องปิดประกาศให้ลูกจ้างได้รู้เมื่อเปลี่ยนแปลงข้อบังคับการทำงาน หรือหากลูกจ้างต้องการรู้ก็มาขอดูที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้หากต้องการที่จะเรียกร้องให้นายจ้างเปลี่ยนข้อบังคับที่มองว่ามีผลกระทบต่อลูกจ้าง

ประเด็นที่สาม และประเด็นที่ 4 หากถามว่าเป็นคุณกับลูกจ้างในแง่กฎหมายนั้นเป็นคุณ เนื่องจากมีโรงงาน หรือสถานประกอบการจำนวนมากที่ไม่มีการกำหนดการเกษียณอายุไว้ในสภาพการจ้างหรือข้อบังคับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อลูกจ้างที่ต้องทำงานไปโดยไม่มีกำหนด หรือต้องลาออกจากงานไปโดยไม่ได้รับอะไรเลยเมื่อทำงานไม่ไหว เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่กระทรวงแรงงานเสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา118/1ให้ลูกจ้างที่ทำงานมาอายุครบ 60 ปี ถือว่าเป็นการเกษียณอายุ และนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีการกำหนดเป็นอายุงานไว้ ในกรณีที่ทำงานอายุงาน 10 ปี ได้รับเงินชดเชยการเกษียณอายุ 10 เดือน ของเงินเดือนสุดท้าย กรณีอายุงาน 6 ขึ้นไปไม่ถึง10 ปี ได้รับเงินชดเชย 8 เดือน กรณี 3ไม่ถึง 6 ปี รับเงินชดเชย 6 เดือน เป็นต้น ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ คือกฎหมายปัจจุบันกำหนดการเกษียณอายุไม่ใช่การเลิกจ้างนายจ้างจึงอาจจ่ายให้ตามที่ตกลงกัน แต่อันนี้เมื่อมีการกำหนดว่าเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างนายจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากไม่จ่ายก็มีความผิดตามมาตรา 144 กำหนดโทษสำหรับนายจ้างที่ฝ่าฝืนไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุเกษียณอายุ และหากนายจ้างต้องการจ้างต่อก็ต้องจ่ายสวัสดิการตามเดิมที่ลูกจ้างพึงมีพึงได้

“ในส่วนของมติครม.ที่เสนอเรื่องการกำหนดการเกษียณอายุไว้ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากได้ประโยชน์จากเดิมที่นายจ้างไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาลพูดถึงเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการจ้างงานที่อาจขยับขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ในประกันสังคมคือ 55 ปี เมือส่งเงินสมทบครบ 15 ปี รับสิทธิบำนาญหรือบำเหน็จชราภาพ ซึ่งตอนนี้มีความต้องการที่จะขยายเรื่องอายุการรับสิทธิออกไปด้วยประเด็นนี้ถือว่าสอดคล้องกับนโยบาย แต่อีกหลายประเด็นที่ขบวนแรงงานมีการเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกับไม่มีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี” นายบัณฑิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันนี้ 4 มกราคม 2560  ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี    พร้อมด้วย พันเอก อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้ร่วมแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี  พร้อมสรุปสาระสำคัญดังนี้ กรณีร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังนี้

  1. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้อำนาจคณะกรรมการในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับกลุ่มลูกจ้างต่าง ๆ
  2. ยกเลิกบทบัญญัติให้นายจ้างส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย
  3. เพิ่มมาตรา 118/1 ให้กรณีการเกษียณอายุเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างในกรณีที่มิได้ตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุลูกจ้างไว้ให้ลูกจ้างเกษียณอายุ เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
  4. เพิ่มเติมบทบัญญัติ มาตรา 144 กำหนดโทษสำหรับนายจ้างที่ฝ่าฝืนไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุเกษียณอายุ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน