ภาครัฐไกล่เกลี่ยเหลวนายจ้างกู๊ดเยียร์ประกาศปิดงานต่อเฉพาะสหภาพแรงงาน ลูกจ้างชุมนุมรอเจรจา

นายจ้างกู๊ดเยียร์ประกาศปิดงานเฉพาะสหภาพแรงงาน เพื่อลดอำนาจการต่อรอง เรียกพนักงานที่ไม่เป็นสมาชิกกลับเข้าขบวนการผลิตเพื่อทำงาน กรรมการสหภาพแรงงานห่วงพนักงานชั่วคราวจะถูกละเมิดสิทธิยกเลิกสัญญาจ้าง เนื่องจากเป็นสมาชิกสหภาพ ประกาศพร้อมสู้เคียงข้างสมาชิก

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 เวลา ประมาณ 19.00 น. นายพงษ์ศักดิ์  เปล่งแสง ตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.กระทรวงแรงงาน และนายดำรงค์  เปรมสวัสดิ์ หัวหน้า กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จังหวัดปทุมธานี ได้มาเป็นคนกลางเข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างนายจ้าง บริษัทกู๊ดเยียร์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่เลขที่ 50/9 หมู่ 3 ถ.พหลโยธิน กม. 36 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และสภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทย แต่ยังหาข้อยุติการเจรจาในครั้งนี้ไม่ได้
 
เช้าวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 นายสมภพ มาลีแก้ว นักวิชาการแรงงาน ชำนาญการพิเศษ กระทรวงแรงงาน และ นายสมใจ อภิรมย์ เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จังหวัดปทุมธานี ได้เข้าร่วมเจรจาระหว่างนายจ้างบริษัท กู๊ดเยียร์ และ นายอรรคพล ทองดีเลิศ ประธานสหภาพคนทำยางแห่งประเทศไทย ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ และทางนายสมภพ แจ้งให้มีเจรจาอีกครั้งในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 เวลา 09.00 น. ณ กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จังหวัดปทุมธานี 
 
ต่อมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 เวลาประมาณ 18.00 น. ทางบริษัท กู๊ดเยียร์ ได้ประกาศปิดงานสมาชิกสหภาพคนทำยางแห่งประเทศไทย มีผลบังคับใช้ ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 และนายอรรคพล ทองดีเลิศ ได้แถลงการณ์กับสมาชิกคนทำยางฯ ว่าทางบริษัทประกาศปิดงานสมาชิกสหภาพฯ แล้ว
นายสมยศ บุญเนตร รองประธานสหภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ขณะนี้นายจ้างได้ใช้มาตรการประกาศปิดงานเฉพาะส่วนที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานคนทำยาง ซึ่งมีอยู่จำนวน 600 กว่าคน รวมทั้งพนักงานลูกจ้างชั่วคราวของบริษัทอีกราว 100 คน ที่สหภาพแรงงานได้เปิดรับเป็นสมาชิก ปัจจุบันนี้บริษัทมีพนักงานทำงานประมาณ 800 คน “สิ่งที่สหภาพแรงงานเป็นห่วงมากขณะนี้คือพนักงานชั่วคราวที่นายจ้างปรับมาจากพนักงานเหมาค่าแรง โดยให้เป็นพนักงานชั่วคราวทำงานสัญญาจ้างระยะสั้น 11 เดือน แล้วต่อสัญญาใหม่อีกครั้งซึ่งมีอยู่ประมาณ 150 คนในบริษัทฯ ว่าจะมีการยกเลิกสัญญาจ้าง เนื่องจากการใช้กลยุทธิ์จากการปิดงานพนักงานทั้งหมด มาเป็นเฉพาะพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานคาดว่าเป็นการลดอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานที่มีการชุมนุมเพื่อรอการเจรจาอยู่ในขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามสหภาพแรงงานจะยืนต่อสู้เคียงข้างกับสมาชิกทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ หรือพนักงานชั่วคราวหากต้องประสบปัญหาจากการที่ถูกปิดงาน” นายสมยศกล่าว
 
ขณะนี้พนักงานบริษัทกู๊ดเยียรยังคงชุมนุมอยู่บริเวณริมถนนพหลโยธิน และพร้อมต่อการเจรจาเพื่อหาข้อยุติกับนายจ้างโดยมีข้อเรียกร้องจำนวน 15 ข้อ คือ 1. ขอให้บริษัทฯ เปลี่ยนความหมายคำว่า “พนักงาน” จากเดิมเป็นพนักงาน หมายถึง พนักงานที่ตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร 2.  ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าจ้างและผลประโยชน์อื่นให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานในลักษณะและคุณภาพอย่างเดียวกันและปริมาณเท่าเทียมกัน 3. การกำหนดมาตรฐานเวลาในการทำงานให้ใช้เวลาที่ 450 พอยท์ (เจ็ดชั่วโมงครึ่ง) 4. การกำหนดมาตรฐานเวลาในการทำงานในกรณีที่ให้มีการทำงานติดต่อกันระหว่างเวลาพัก ให้บริษัทฯ จ่ายค่าล่วงเวลาเท่าครึ่งในเวลาพัก 30 นาที 5.  ขอให้บริษัทฯขยายขั้น (ขีด) ของพนักงานรายชั่วโมงปีละ 2 ขั้น (ขีด) ทุกบัญชีค่าจ้างเพิ่มขึ้นขั้นละ 2 บาท  6. ให้บริษัทฯปรับค่าจ้างทั่วไปทุกเครื่องที่รัฐบาลมีการประกาศการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นจำนวนตามที่รัฐบาลประกาศ  7.  ในกรณีที่บริษัทฯเลิกจ้างเนื่องจากลดกำลังคนยุบตำแหน่งงาน ปิดโรงงานขายกิจการโอนหรือ ควบกิจการ ให้บริษัทฯจ่ายเงินชดเชยพิเศษตามอายุงานปีละ 30 วัน และให้พนักงานที่ทำงานอายุงาน 15 ปีขึ้นไป ที่เกษียณอายุ หรือขอเกษียณได้โดยรับเงินช่วยเหลือพิเศษอายุตามงานปีละ 30 วัน รวมทั้งพนักงานรายชั่วโมง (รายได้รวมตลอดปีสุดท้าย) x 8 = ค่าจ้างต่อวัน 12 x 208 พนักงานรายเดือน (รายได้รวมตลอดปีสุดท้าย) x 8 = ค่าจ้างต่อวัน 12 x 191 และ 8. โครงการรักษาพยาบาล การรักษาพยาบาลคนไข้นอกวงเงิน 1,000 บาท คนไข้ในค่าห้องวันละ 2,000 บาท ค่ารักษาวงเงินครั้งละ 20,000 บาท และค่ารักษาส่วนเกินให้บริษัทสำรองจ่ายเหมือนเดิม และขอเน้นกรณีขอให้บริษัทจัดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้กับพนักงานที่เกษียณอายุต่ออีก 5 ปี เนื่องจากพบว่าเมื่อแรงงานเกษียณอายุแล้วมีการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น
 
ทั้งมีข้อเรียกร้องเรื่องให้บริษัทฯ จัดเงินกู้ฉุกเฉินให้พนักงาน 1 เดือนเหมือนเดิม จัดเครื่องแบบของพนักงานให้เป็นแบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งโรงงาน ทั้งเงินโบนัสขอให้บริษัทฯ จ่ายเงินสมนาคุณพิเศษเป็นจำนวน 20,000 บาท และจ่ายเงินโบนัสกลางปีเป็นจำนวน 25,000 บาท และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 ทางนายจ้างเรียกตัวแทนสหภาพแรงงานคนทำยางฯ เข้าประชุมและได้ตกลงกันว่า จะทำสัญญา 2 ปี และจะได้เงินสมนาคุณปีแรก 1,900 บาท ปีที่ 20,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก 800 บาท ค่าห้อง 1900 บาท และคนผู้ป่วยในวงเงินไม่เกิน 20,000บาท และเงินเกษียณอายุ 25 ปีขึ้นไปให้ 60 วัน
 
รายงานโดย นายวาสุเทพ  บุญคุ้ม นักสื่อสารแรงงานศูนย์แรงงานจังหวัดปทุมธานี