ภาครัฐจับมือเอกชนพัฒนาฝีมือรองรับไทยแลนด์ 4.0

 

untitled-1

ภาพจากgoogle

รัฐจับมือสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เพิ่มทักษะแรงงานรองรับการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อพัฒนาศักยภาพของแรงงาน ให้มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และทักษะฝีมือที่สูงขึ้น รองรับการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 และการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต

วันที่ 12 กันยายน 2559 กระทรวงแรงงานรายงานว่า หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเป็นประธานในการลงนามความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ร่วมกับสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (ส.อ.ค.) ในการดำเนิน “โครงการสานพลังงานประชารัฐเพิ่มทักษะแรงงานรองรับการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0” ว่า จากการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเน้นขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมมากขึ้นเพื่อก้าวให้ถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าว พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของแรงงานในสถานประกอบการให้มีความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ และทักษะฝีมือให้สูงขึ้นทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงรองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจใจอนาคต โดยในระยะแรกการอบรมจะเน้นพัฒนาทักษะคอมพิวเตอร์เป็นหลัก เพราะนอกจากจะเป็นการยกประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ยังเป็นทางเลือกสำหรับผู้ต้องการเป็น New Startup ริเริ่มกับอาชีพใหม่ที่สร้างความท้าทายในยุคดิจิตอล โดยการพัฒนาด้านอี-คอมเมิรช์ อี-มาร์เก็ตเพลส ต่อยอดสร้างความได้เปรียบทางโลกธุรกิจในปัจจุบันด้วยซึ่งจะมีการฝึกนำร่องให้แก่แรงงานในสถานประกอบกิจการที่เป็นสมาชิกของสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ใน 6 จังหวัดนำร่อง  คือ ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา และระยอง โดยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักสูตรการควบคุมระบบอัตโนมัติ การใช้โปรแกรม Microsoft Excel ความรู้เบื้องต้นในการออกแบบเว็บไซต์และการประกอบธุรกิจในยุคไอที เป็นต้น มีตั้งเป้าหมายดำเนินการจำนวน 500 คน หลังจากนั้นจะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ

กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์เป็นอุตสาหกรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นดาวรุ่งที่สุดในการเป็นอุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 กระทรวงแรงงาน จึงมีแนวคิดการเดินไปด้วยกัน ด้วยการทำงานในรูปแบบประชารัฐในเรื่องการเตรียมคนซึ่งได้มีการหารือกับสมาคมฯ ในการออกแบบวางแผนพัฒนากำลังคนรองรับไทยแลนด์  4.0 ร่วมกัน จึงได้มีการจัดโครงการนี้ที่จะดำเนินการร่วมกับ 30 บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ จัดหลักสูตรการยกระดับทักษะฝีมือ รองรับไทยแลนด์ 4.0 ร่วมกัน

ในวันเดียวกัน กระทรวงแรงงานระดมสมองผู้ตรวจราชการ จัดทำแผนและแนวทางการตรวจราชการ ของกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กระทรวงแรงงาน 20 ปี ใน 8 ประเด็นการปฏิรูปเพื่อพัฒนากำลังคนของประเทศ ตอบโจทย์ความต้องการด้านแรงงานให้สอดรับนโยบาย Thailand 4.0

นายประวิทย์ เคียงผล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจราชการของกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ณ ห้องมิตรภาพ โรงแรมโรแมนติค รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่าการตรวจราชการนับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะช่วยสอดส่องดูแลให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้ปฏิบัติภารกิจได้ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงนโยบายกระทรวงแรงงาน ให้บรรลุเป้าหมายและเกิดผลสัมฤทธิ์   มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและผู้ตรวจราชการของทุกกรมในสังกัดกระทรวง ทั้งนี้ จากการระดมสมองได้มีความเห็นร่วมกันที่จะขับเคลื่อนแนวทางการตรวจราชการฯ ประจำปี พ.ศ.2560 ใน 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย

  1. นโยบายป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ
  2. นโยบายส่งเสริมการมีงานทำของคนไทย โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่ และ
  3. นโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์กระทรวงแรงงาน 20 ปี ที่มุ่งเน้นให้แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นอกจากนี้ ยังกำหนดประเด็นที่จะตรวจติดตาม ตามวาระการปฏิรูปกระทรวงแรงงานเพื่อพัฒนากำลังคนของประเทศ ระยะ 20 ปี ส่วนที่เหลือ อีก 5 ประเด็น ประกอบด้วย

  1. เรื่อง Safety Thailand เพื่อคุ้มครองแรงงานให้มีความปลอดภัยในการทำงาน  และตรวจติดตาม
  2. เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นเพื่อให้กระทรวงแรงงานเป็นองค์กรธรรมาภิบาล “ โปร่งใส ตรวจสอบได้” (Zero Corruption)
  3. เรื่องการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 0
  4. การปฏิรูปบทบาทกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างองค์กร กฎหมาย และการบริหารจัดการด้านการบริการ สุดท้ายคือ
  5. เรื่องการบริหารจัดการข้อมูล (Information Technology) เพื่อใช้ขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางการทำงานในอนาคตต่อไป