ภาคประชาชน แรงงาน แถลงร่วม เสนอ 10 ข้อ ในโอกาสวันสิทธิมนุษยชน และ 85 ปีรัฐธรรมนูญไทย

แถลงการณ์เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม

เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรประชาธิปไตย ภาคประชาสังคม

ในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล และ 85 ปี รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยไทย เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรประชาธิปไตย และองค์กรภาคประชาสังคม ได้จัดการประชุมเสวนาวิชาการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน-ประชาธิปไตย ร่วมกันขึ้นเพื่อประมวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ในหัวข้อ “Leaving No One Behind กับความท้าทายแห่งยุคสมัย” เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2560 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง

ที่ประชุมร่วมกันอภิปรายในหัวข้อ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม: ความคืบหน้า ถดถอย กับการเปลี่ยนแปลงสู่คุณภาพใหม่” ในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และมิติทางการเมือง และพลเมือง ซึ่งความจริงแล้วสิทธิเหล่านั้นมิอาจแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด เนื่องจากสิทธิในแต่ละด้านล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เสริมส่งซึ่งกันและกันอย่างแนบแน่น

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยทั่วไป ยังคงเป็นประเด็นปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่ครั้งอดีตและในช่วงกว่าสามสี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทหารหรือพลเมือง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือการรัฐประหาร หรือจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือคนในก็ตาม ล้วนเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลชุดปัจจุบัน นับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ อย่างมากมาย เข่น การทำร้ายนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร ทหารเกณฑ์จนเสียชีวิต มีการซ้อมทรมานนักโทษ ทำร้ายร่างกายผู้ต้องขัง ผู้ต้องหา อุ้มหายประชาชนผู้บริสุทธิ์ การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การจับกุมนักวิชาการที่จัดประชุมทางวิชาการในมหาวิทยาลัย การจับกุมแกนนำชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอเทพา ฯลฯ  
นอกจากนี้กระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่มีการทำให้เกิดแพะในกระบวนการยุติธรรมมากมาย เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคกัน ประกอบกับความบกพร้องของระบบยุติธรรม ที่ต้องได้รับการปฏิรูปและปรับปรุงขนานใหญ่ เพื่อให้เป็นหลักประกันในสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ร่างกฎหมายต่อต้านการทรมานและอุ้มหาย ที่น่าจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแล้ว กลับนิ่งเงียบไม่มีความคืบหน้า จนสาธารณชนเกิดความสงสัยว่าหายไปไหน ทั้งที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย แล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ปัญหาการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก ปิดหู ปิดตาประชาชน ภายใต้ข้ออ้างเพื่อความมั่นคง และการปกป้องสถาบันกษัตริย์ เป็นการกระทำที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และขัดต่อหลักนิติธรรมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่างเว้น ทั้งนี้ผู้ได้รับผลกระทบยังรวมถึง นักกฎหมาย ทนายความ นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา นักพัฒนาสังคม ผู้นำชุมชน รวมถึงสื่อมวลชน อีกด้วย

สิทธิของกลุ่มเปราะบางเช่นเด็ก สตรี ผู้สูงวัย คนพิการ คนไร้รัฐ ชนเผ่าชาติพันธุ์ ผู้อพยพลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ ฯลฯ ก็ยังคงถูกล่วงละเมิด หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ยังคงเพิกเฉย ไม่ใส่ใจในการแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม
การละเมิดสิทธิจากภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมการผลิต การค้า ทรัพยากร พลังงานก็ยังดำเนินต่อไปไม่หยุดหย่อน แม้จะเกิดกระแสให้มีการสร้างข้อต่อระหว่างธุรกิจกับวิทธิมนุษยชน ตามกรอบแนวทางปฏิบัติของสหประชาชาติ (Global Compact) แล้วก็ตาม ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย ก็ยังใช้ CSR (Corporate Social Responsibility) ไปเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรตนเอง โดยไม่ใส่ใจในสาระสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังแต่อย่างใด ผู้ใช้แรงงานและชุมชนก็คงตกเป็นเหยื่อของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น บรรษัทธุรกิจต่างๆ กลับมีอิทธิพลย่างยิ่งต่อการตัดสินใจในภาครัฐมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ชายแดนใต้ที่เป็นไฟสุมขอน ก็ยังไม่มอดลงไปง่ายๆ ทั้งนี้จากปัญหาความขัดแย้ง และความไม่กลมกลืนทางชาติพันธุ์ ประกอบกับปัญหาอำนาจอิทธิพลในท้องถิ่น การกระทำที่ผิดกฎหมาย และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นได้สะสมมายาวนาน ซึ่งเป็นผลอันสืบเนื่องมาจากแนวนโยบายของรัฐที่ผ่านมา และในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนก็มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งนี้ด้วยทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม  การเจรจาเพื่อแสวงหาสันติสุขยังไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควรจะเป็น ชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ และทรัพยากรของชาติสูญเสียไปไม่น้อยนับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา

สิทธิมนุษยชนโดยสาระแล้ว เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่พึงจะจัดสรรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิ ในขณะที่รัฐพึงทำหน้าที่ตอบสนอง และดำเนินการให้สิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้จริง ตามพันธกิจการเคารพ ส่งเสริมคุ้มครอง และเติมเต็มสิทธิของประชาชน รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาจากการถูกล่วงละเมิด (Respect, Protect and Fulfill/ Remedy) และโดยพื้นฐานสิทธิมนุษยชนก็คือคุณธรรมสากล ที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม เสมอภาคกัน ไม่มีการแบ่งแยก ไม่เลือกปฏิบัติ หรือเลือกที่รัก มักที่ชัง

เมื่อคณะรัฐมนตรี มีมติที่จะกำหนดให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรประชาธิปไตย ภาคประชาสังคม ที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้ จึงขอเสนอแนะต่อรัฐบาล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าคำประกาศให้ สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ จะเกิดผลในทางปฏิบัติจริง พึงต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
1) สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนดำเนินการตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 โดยทันที ทั้งนี้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557

 

2) ปฏิรูปตำรวจให้สำเร็จสมบูรณ์ และเป็นผลดีต่อระบบยุติธรรม ตามมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม   ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดย

ก. แยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ข. กระจายอำนาจการบริหารสู่ท้องถิ่น

ค. ถ่ายโอนภารกิจบางส่วนไปยังหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ

ง. ประกันสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา การเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรม

3) ปฏิรูปกฎหมายโดยหลักสิทธิมนุษยชน

ก. ทบทวนกฎหมายที่ส่งผลกระทบ หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ทุกฉบับ เช่น

1. ร่าง พรบ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …

2. ร่าง พรบ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …

3. ร่าง พรบ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …

4. ร่าง พรบ. แร่ พ.ศ. …

5. ร่าง พรบ. สิ่งแวดล้อม พ.ศ.  …

6. พรบ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

ข. ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนให้ปลอดจากการสูญหายโดยการถูกบังคับ ตามมติ ครม.  โดยไม่ต้องรอให้กฎหมายเสร็จ พร้อมกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายนั้น

ค. ให้มีมติ ครม.ประกาศรับรองว่าการอุ้มหาย การซ้อมทรมาน เป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมาย และเร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

ง. เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตามที่ได้ประกาศไว้แล้วต่อสาธารณะโดยมิชักช้า

จ. การให้สัตยาบันต่อกติกากรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

ฉ. ยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช. ปลดปล่อยนักโทษการเมือง

4) คืนสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน  คืนสิทธิด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน กระบวนการประชาพิจารณ์ ไต่สวนสาธารณะ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และสิทธิมนุษยชน ต้องดำเนินการโดยไม่มีข้อยกเว้น ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชน และประชาชนคนเล็กคนน้อย จากการถูกล่วงละเมิดในทุกรูปแบบ รวมทั้งกรณีการสูญหายของบุคคล เช่นเดียวกับทนายสมชาย นีละไพจิตร อันได้แก่  นายกมล เหล่าโสภาพรรณ นายบิลลี่ พอลละจี รักจงเจริญ นายเด่น คำแหล้ และผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์อื่นๆ

5) รื้อฟื้นสถาบัน องค์กรที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และเปิดกว้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งถูกยุบเลิกโดยคำสั่ง คสช. เช่น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาพัฒนาการเมือง คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นต้น

6) พิจารณาแผนพัฒนาการเมือง ฉบับที่ 2 ซึ่งนำเสนอต่อ ครม. โดยสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) เมื่อ พฤศจิกายน 2559

7) ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ใช้อำนาจหรือประพฤติมิชอบอย่างจริงจัง ลงโทษสถานหนัก ทั้งทางวินัย แพ่ง อาญา ต่อบุคลากรในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเมือง ที่กระทำความผิด

8) พัฒนาระบบสวัสดิการสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนทุกระดับชั้น ทุกกลุ่มชน และเศรษฐานะ ทั้งนี้ภัยคุกคามต่อระบบหลักประกันสุขภาพต้องถูกขจัดให้หมดไป

9) คุ้มครองสิทธิของพลเมืองทุกคน โดยเฉพาะผู้มีบทบาทในการพิทักษ์ ปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนของบุคคล ชุมชน และสังคม

10) เพื่อให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  อย่างถาวร  รัฐพึงมีนโยบายและหลักปฏิบัติที่สามารถคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่  ฟังประชาชนในพื้นที่ด้วยความจริงใจ  เน้นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งการพัฒนาชุมชนและสังคม ที่ประชาชนมีส่วนร่วม

ทั้งนี้หากรัฐไทย ต้องการเดินในแนวทางที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาพอเพียง และวาระแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน (Post 2015 Agenda) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDG 2030) แล้ว ข้อเสนอซึ่งเป็นประเด็นท้าทายทั้ง 10 ประการข้างต้น น่าจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเจตจำนงและสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนคนไทย ให้ก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ได้เป็นอย่างดี และเป็นไปตามปณิธานที่ว่า Leaving No One Behind หรือการไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ที่มักจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน  (ครส.)

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) / Police Watch

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก (ศพด.)

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม (สสธ.)

และ เครือข่ายภาคีองค์กรภาคประชาสังคม ฯลฯ

10 ธันวาคม 2560

รายละเอียดติดต่อ บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์

เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

โทร 081 866 2136