พื้นที่สีเขียวปลุกเศรษฐกิจ “มักกะสัน” ปฏิรูปสังคม

พื้นที่สีเขียวปลุกเศรษฐกิจ “มักกะสัน” ปฏิรูปสังคม
นิติพันธุ์ สุขอรุณ
โพสต์ทูเดย์ 18 เมษายน 2558

พื้นที่สีเขียวเนื้อที่ราว 750 ไร่ ย่านมักกะสัน ซึ่งมีการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของ กำลังถูกเปลี่ยนให้เป็น “คอมเพล็กซ์” ขนาดใหญ่ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท

snapshot23

ทุกตารางนิ้วจะถูกปรับโฉมเป็นป่าคอนกรีต โรงซ่อมรถไฟอายุกว่า 100 ปี จะถูกรื้อถอน ไม้ใหญ่น้อยถูกโค่นล้ม และชุมชนดั้งเดิมจะถูกผลักออกนอกพื้นที่

ทั้งหมดเป็นไปเพื่อจัดสร้างพื้นที่พาณิชย์เต็มรูปแบบ เปิดทางให้ศูนย์การค้าขนาดยักษ์ โรงแรมหรู คอนโดมิเนียมกลางเมือง ฯลฯ เข้ามาแทนที่

ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯให้ภาพว่า พื้ที่มักกะสันควรค่าแก่การเก็บรักษา เพราะมีทั้งสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอาคารโรงงานซ่อมบำรุงหัวรถจักรที่มีอายุ 90 ปี ซึ่งวันนี้กลายเป็นมรดกสถาปัตยกรรมแหล่งสุดท้ายที่คงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศไทย

อีกส่วนคือมรดกทางธรรมชาติ เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีบึงน้ำ ลำคลอง และต้นไม้ใหญ่เก่าแก่ควรค่าแก่การเก็บรักษา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมมิติสิ่งแวดล้อมให้กับเมืองหลวง นั่นเพราะกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขาดแคลนสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว

หากเทียบเคียงสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร จะพบว่ามีเพียง 3 ตารางเมตร/คน ทั้งที่เกณฑ์ขั้นต่ำควรอยู่ที่ 5 ตารางเมตร ยังไม่นับความขาดแหล่งเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรม การเกษตร ซึ่งหากปรับปรุงและรักษาให้คงไว้ได้ มักกะสันก็จะกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริง

ปองขวัญ บอกว่า ภาครัฐและเอกชนต้องจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง ไม่ควรคิดเพียงการแปลงสิ่งต่างๆ ให้เป็นมูลค่าตัวเงินแต่ไร้ซึ่งคุณค่า โดยพื้นที่สีเขียวสามารถสะท้อนคุณภาพชีวิตของคนได้ การที่นักธุรกิจต่างประเทศจะเข้ามาลงทุน ต้องพิจารณาถึงตัวเลขความเป็นเมืองน่าอยู่ว่าเพียงพอกับคนของเขาหรือไม่ ถึงจะส่งคนมาทำงานในประเทศไทย

นั่นเพราะในต่างประเทศให้ความสำคัญกับจำนวนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรมาก ถึงขั้นคำนวณตัวเลขการผลิตออกซิเจน ความสามารถในการลดโลกร้อน และความสุขของประชาชน

“การเรียกร้องให้มักกะสันเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ คือการปฏิรูปสังคมจากภาคประชาชนที่เรียกร้องขอพื้นที่สีเขียว ซึ่งภาครัฐและเอกชนควรรับฟังก่อนจะพัฒนา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทั้งภาครัฐและประชาชนไปพร้อมกัน” อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าว

ภราเดช พยัฆวิเชียร นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย กล่าวว่า พื้นที่มักกะสันจำนวนกว่า 700 ไร่ คือจุดชุมทางจตุรทิศที่สำคัญของ กทม. โดยมีทางด่วน ทางรถไฟ รถไฟฟ้า ที่สามารถเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมเข้าถึงกันได้จากพื้นที่นอก กทม.

ดังนั้น เรื่องผังเมืองจึงสำคัญที่ต้องวางให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างผสมผสาน ทำให้เป็นพื้นที่คงคุณค่า แต่อาศัยประโยชน์สร้างเงินจำนวนมหาศาลได้ หลักการคือพัฒนาที่ดินให้ประชาชนทุกระดับชั้นได้ใช้ประโยชน์ ไม่เพียงแต่ผู้มีฐานะรายได้สูงเท่านั้นที่ครอบครองได้

เขาขยายความว่า นอกจากจะทำเป็นพื้นที่สันทนาการแล้ว ต้องเพิ่มชั่วโมงการใช้งาน อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการ จัดกิจกรรมกีฬาทั้งแบบกลางวันและกลางคืน เพราะหากเพิ่มชั่วโมงการใช้ประโยชน์ได้ จะทำให้มีการเฝ้าระวังดูแลกันเองจากประชาชน ที่สำคัญคือความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

ฉะนั้น การวางผังเมืองต้องประกอบด้วยนักวิชาการ นักผังเมือง และประชาคม ช่วยกันคิดว่าอยากได้สวนสาธารณะแบบไหน โดยยึดหลักความเป็นปอดของเมืองหลวง เป็นพื้นที่สีเขียว ผสมผสานกับการใช้งานทางด้านธุรกิจ

“การใช้พื้นที่มักกะสัน ไม่ควรเป็นพื้นที่ของคนบางกลุ่มเพื่อสร้างเป็นคอนโดหรู หรือสร้างเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ แต่ควรเป็นพื้นที่สำหรับคนทุกระดับ การทำให้คนมีที่ออกกำลัง เข้าห้องสมุด เรียนรู้กิจกรรม เที่ยวพิพิธภัณฑ์ เป็นการทำให้เกิดคุณค่าอย่างยั่งยืน แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าที่ตั้งเป้ารายได้จำนวนมหาศาล จะคงอยู่ได้ด้วยตัวเองบนระบบเศรษฐกิจหรือไม่ ก็ยังสงสัยอยู่ เพราะศูนย์การค้าทุกวันนี้มีเยอะมาก” ภราเดช กล่าว

ด้าน ยศพล บุญสม กรรมการบริษัท ฉมา สะท้อนความเห็นว่า กทม.เหมือนอีกหลายเมืองชั้นนำทั่วโลกที่เผชิญกับความท้าทายด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต ทั้งเรื่องมลภาวะ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประชากรรวมถึงความต้องการพื้นที่เพื่อสุขภาวะของพลเมืองทั้งทางกายและใจ สิ่งเหล่านี้คือประเด็นสำคัญที่เมืองยุคใหม่จำเป็นต้องเตรียมการพัฒนาครั้งสำคัญเพื่อปรับตัวให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน

อาทิตย์ โกวิทวรางกูร พลเมืองอิสระ กล่าวว่า ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งเรียกร้องขอพื้นที่สีเขียวใน กทม. ซึ่งย่านมักกะสันเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นพื้นที่สำหรับส่วนรวมอย่างแท้จริง และเชื่อว่าพื้นที่แห่งนี้จะบรรจุความฝัน ความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ หากผู้มีอำนาจยอมรับฟังและทำความเข้าใจ

ทั้งหมดคือความคาดหวังของชาว กทม. ซึ่งมีสิทธิเสนอแนะความคิดเห็นในฐานะพลเมืองเต็มขั้น